Gadget ยุคใหม่ ‘สายย่อ’

Gadget ยุคใหม่ ‘สายย่อ’

ยิ่งโลกกว้างและไร้พรมแดนมากขึ้นเท่าไร จะสังเกตได้ว่าเทรนด์ของ Gadget และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะถูกย่อส่วนให้เล็กลง (หรือไม่ก็บางลง)

เหตุผลหนึ่งของความเล็กและบางนั้นคงจะสัมพันธ์กับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ที่จำนวนไม่น้อยหลงใหลความ ‘Minimalist’ อะไรที่มากไปก็นับเป็น ‘ส่วนเกิน’ เรียกได้ว่ายิ่งน้อยยิ่งดี ยิ่งเรียบง่าย ‘ยิ่งโดน’

  • ใหญ่ก่อนย่อ

อีกเหตุผลที่ทำให้ขนาดรวมถึงรูปร่างหน้าตาของ Gadget ในยุคเก่ากับยุคนี้แตกต่างกันมาก เช่น จากโทรศัพท์มือถือขนาดมหึมาเสมือนกระบอกน้ำอย่าง Motorola DynaTAC 8000X ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2526 ด้วยรูปทรงที่บางคนมองว่าคล้าย ‘กระดูกหมู’ ‘กระดูกหมา’ จนกลายเป็นชื่อเล่นเรียกติดปากของคนไทย

ยุคของเครื่องมือสื่อสารชนิดพกพา แต่ยังเป็นระบบอนาล็อก ค่อยๆ พัฒนาให้มีขนาดเล็กลงและทรงประสิทธิภาพมากขึ้น กระทั่งเป็นยุคของโทรศัพท์มือถือดิจิทัล ซึ่งในตอนนั้น Motorola ก็ยังเป็นเจ้าตลาดของเครื่องมือสื่อสารชนิดนี้อยู่ โดยมีค่าย Nokia ตามมาติดๆ มี Nokia 1011 เป็นปฐมบทโทรศัพท์มือถือระบบ GSM (Global System for Mobile Communications เป็นมาตรฐานของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่ได้รับความนิยมมากที่สุด) เครื่องแรกของโลก มีจุดเด่นคือสัญญาณแรงมาก และเริ่มพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด

moto

หากเจาะจงเรื่องการออกแบบ พัฒนาการของอุปกรณ์ไอทีต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย อาทิ โทรศัพท์มือถือทรงเหลี่ยมและใหญ่มากกลายเป็นทรงมนมากขึ้น เล็กลง บางรุ่นเป็นฝาพับ บางรุ่นเล่นกับรูปทรงแปลกตาเช่นทรงใบไม้ ทรงแคปซูล และอีกมากมาย จนกระทั่งกลายเป็น PDA Phone ที่พัฒนาเป็นสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน

กับ Gadget อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ถึงจะไม่ก้าวกระโดดเท่าโทรศัพท์มือถือ แต่จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไอทีแบบใดก็มีรูปร่างหน้าตาและขนาดที่กะทัดรัดกว่ายุคบุกเบิกแทบทั้งสิ้น

ลองดูคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเครื่องปัจจุบันหรือเครื่องล่าสุดที่ได้ใช้ ถึงจะเปลี่ยนผ่านมาถึงยุคที่คนนิยมใช้ Laptop หรือ Notebook มากกว่า แต่พนันได้เลยว่าไม่ว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเครื่องล่าสุดที่คุณได้ใช้นั้นจะใหญ่โตและหนาเตอะแค่ไหน ถ้าได้เห็นขนาดของคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกจะต้องอึ้ง เพราะมันใหญ่โตมโหฬารแบบเทียบกันไม่ติด

ซึ่ง คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก นั้นพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ.1946 หรือ พ.ศ.2489 โดย ดร.จอห์น ดับเบิลยู มอชลีย์ และ เจ เพรสเพอร์ เอคเกิร์ต ชาวอเมริกัน ทั้งสองได้เงินทุนจากกองทัพสหรัฐอเมริกาเพื่อพัฒนาเครื่องมือสำหรับคำนวณวิถีกระสุนปืนใหญ่ จนได้เป็นเครื่อง ENIAC (Electronics Numerical Integrator and Computer) มาดูกันที่ขนาดของเจ้าเครื่องนี้คือต้องใช้พื้นที่วางระบบ 15,000 ตารางฟุต หนักถึง 30 ตัน กินไฟมากถึง 150 กิโลวัตต์ ถึงขั้นว่าถ้าเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์นี้ ไฟฟ้าในเมืองฟิลาเดลเฟียจะตกทั้งเมือง ขณะที่สเป็กเครื่องถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน

  • เล็กๆ สเป็ก Gen Z

หลังจากนั้นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าค่อยๆ บีบรัดให้ทุกอย่างกระชับแต่ศักยภาพดีขึ้น เกิดเป็น Desktop Computer (คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ) และ Laptop หรือ Computer Notebook (คอมพิวเตอร์พกพา) ถึงในช่วงแรกจะมีขนาดเทอะทะ แต่ได้มีการปรับขนาดลงจนเหมือนกับที่เห็นในทุกวันนี้ เช่น MacBook Air หรือ Notebook จากค่ายอื่นๆ ที่บางเฉียบ แต่ยัดสเป็กแรงๆ มาให้ได้ใช้งานกันอย่างจุใจ

สำหรับคอมพิวเตอร์ในกลุ่ม Laptop อาจเป็นเรื่องปกติที่จะเล็กและบางเพื่อตอบโจทย์การใช้งาน ซึ่งเท่าที่ผ่านมาอย่างน้อยๆ คือ 10 ปี ที่เทรนด์การย่อขนาดคอมพิวเตอร์พกพาจนกลายเป็น Netbook เกิดขึ้นโดยยึดหลักว่าต้องมีขนาดหน้าจอเล็กประมาณ 7-10 นิ้ว และน้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลกรัม เช่น Acer Aspire One, MSI Wind, ASUS Eee PC เป็นต้น ซึ่งข้อเสียของเน็ตบุ๊คคือมักจะมีสเป็กไม่ดี ทำให้ใช้งานได้ไม่เต็มไม้เต็มมือ

แต่กับกลุ่มคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเป็นประเด็นน่าสนใจมากว่า ในยุคนี้ แม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะยังต้องย่อส่วนจนเล็กแบบพกพาได้ หลายคนอาจเคยเห็น Mac Mini จากค่าย Apple ซึ่งเป็นเสมือน CPU ของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะค่ายนี้ ทว่าอีกฝั่งคือผู้ไม่ฝักใฝ่ผลไม้แหว่ง ก็มี ThinkCentre M90n จากแบรนด์ Lenovo ที่ไม่เพียงแค่จะมาต่อกรได้ แต่ยังถือไพ่เหนือกว่าในบางเรื่องด้วย โดยเฉพาะเรื่องขนาด สเป็ก และราคา

ว่าด้วยเรื่องขนาดก่อน เป็นเซอร์ไพรส์แรกเลยสำหรับการเป็น CPU คอมพิวเตอร์ โดยปกติ CPU อาจไม่เข้าข่าย Gadget เท่าไรนัก แต่ความเล็กมากจนแทบจะเท่ากับ Power Bank หรือ External Harddisk สักอันหนึ่ง ก็ทำให้ CPU เครื่องจิ๋วนี้กลายเป็นอุปกรณ์ไอทีที่น่าจับตามองมากในยุคมินิมัลครองเมือง

โดยปกติ CPU ของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะจะมีขนาดใหญ่พอสมควรเพื่อใส่ฮาร์ดแวร์มากมายลงไป แตกต่างจากความกล้าหาญของนักออกแบบของเลอโนโวที่ยัดทุกอย่างเข้าไปในกล่องเล็กๆ ทั้งพอร์ตครบๆ ซึ่งคนที่เคยใช้ Netbook หรือแม้กระทั่ง Laptop บางๆ จะรู้ดีถึงความหงุดหงิดใจเมื่อจะต้องเสียบอุปกรณ์ต่างๆ แต่หาพอร์ตบางพอร์ตไม่เจอ (เพราะเน้นความบางเลยไม่ใส่มาให้)

07_ThinkCentre_M90N_Nano_Business_resize

จะว่าไป ‘ความกั๊ก’ ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับ Gadget ต่างๆ ที่ชูความเป็นไซส์มินิเลยทีเดียว เพราะการ ‘ไล่เบา’ จากเครื่องไปถึงสเป็ก ทำให้หลายคนยอม ‘แบก’ ขนาดที่ใหญ่โตและน้ำหนักมากๆ ของเครื่องปกติ เพื่อแลกมาด้วยสเป็กดีกว่า นี่เป็นจุดที่ CPU ในซีรีส์ ThinkCentre M90n ค่อนข้างเหนือกว่าคู่แข่งเล็กน้อย เช่น ให้หน่วยประมวลผล 8th Generation Intel® Core™ vPro™ i7 Processors (ในรุ่นสูงสุด) ซึ่งสายคอมพิวเตอร์จะรู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเห็นคอมเล็กๆ จัดสเป็กนี้ให้

ดูเหมือนว่าการพกพาคอมพิวเตอร์ไปไหนมาไหนจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่การถือสมาร์ทโฟน, แทบเล็ต, เน็ตบุ๊ค หรือแลปท็อป อีกต่อไป เพียงหามอนิเตอร์, เม้าส์ และคีย์บอร์ด เอาดาบหน้า (ซึ่งปัจจุบันอุปกรณ์พวกนี้ก็มีแบบพกพาเช่นกัน) คนยุคใหม่อาจหยิบ CPU ใส่กระเป๋ากางเกงเอาไปใช้งานที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องศักยภาพของฮาร์ดแวร์แบบที่เคยเป็นมา

...เพียง 74 ปี นับตั้งแต่คอมพิวเตอร์เครื่องแรกถือกำเนิด โลกหมุนไปไกลขนาดนี้แล้วหรือ