ชุบชีวิต 'ห้างนิวเวิลด์' ตำนานความทันสมัยย่าน 'บางลำพู'

ชุบชีวิต 'ห้างนิวเวิลด์' ตำนานความทันสมัยย่าน 'บางลำพู'

ส่องตึกร้าง "ห้างนิวเวิลด์" ย้อนความทรงจำห้างดังแห่งย่าน "บางลำพู" เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว ผ่านมุมมองนิวเวิลด์-โอลด์ทาวน์ วิเคราะห์จุดจบของสิ่งแปลกปลอมในพื้นที่เมืองเก่า กับคำถามท้าทาย...นิวเวิลด์บางลำพูจะกลับมาได้ไหม

 

อาคารร้างเก่าคร่ำทรุดโทรมหลังนั้นยังคงแทรกตัวอยู่อย่างเงียบเชียบ ผู้คนที่เดินผ่านไปมา หากไม่ใช่คนในย่านนี้หรือมีอายุอานามมากพอ อาจจินตนาการไม่ออกเลยว่าตึกพังๆ หลังนี้เคยเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยในนาม ‘นิวเวิลด์’

36 ปีที่แล้ว ห้างนิวเวิลด์ ถือเป็นแลนด์มาร์กของย่านบางลำพู โดดเด่นด้วยบันไดเลื่อนและลิฟท์แก้ว เป็นแหล่งรวมแฟชั่นและร้านค้าทันสมัย ก่อนจะถูกตัดสินให้กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมของพื้นที่ทางวัฒนธรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และจบลงด้วยโศกนาฏกรรมจากการรื้อถอนที่ยืดเยื้อยาวนาน

 

-New World-

เสียงพูดคุยเบาๆ ดังแทรกความมืดภายในตัวอาคารที่ไม่เคยมีใครย่างกรายเข้ามากว่า 6 ปี เป็นความทรงจำที่ผูกโยงสถานที่และเรื่องราวในชีวิตไว้ด้วยกัน ในบทสนทนานั้นมีคำสำคัญให้ได้ยินเสมอๆ เช่น ลิฟท์แก้ว บันไดเลื่อน ร้านเสื้อผ้า สมใจนึก แก้วฟ้า อาหารอร่อย ฯลฯ

 

20200617210810689

ภาพ: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์

แม้จะเป็นเพียงแค่การทดลองเปิดพื้นที่ภายในอาคารห้างนิวเวิลด์ให้คนภายนอกได้เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ ‘ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town’ ที่ดำเนินการโดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ทุกรอบการเข้าชมตลอดระยะเวลาการจัดงานตั้งแต่วันที่ 13 -21 มิถุนายน ที่ผ่านมา ก็ได้เสียงตอบรับดีเกินคาด ทั้งจากคนในชุมชนบางลำพูเอง คนรุ่นเก่าที่พกความทรงจำมารื้อฟื้น คนรุ่นใหม่ที่ต้องการสัมผัสกลิ่นอายของอดีต รวมถึงผู้ที่หลงใหลในแสงเงา ร่องรอยความเก่า และเรื่องราวที่ไม่จำเป็นต้องปรุงแต่งจนเกินงาม

สมปอง ดวงไสว อดีตครูจากโรงเรียนวัดสังเวชวิศยาราม ผู้ริเริ่มการค้นหาต้นลำพูต้นสุดท้าย กล่าวถึงความสำคัญของย่านบางลำพู ระหว่างการเสวนาเล็กๆ ในหัวข้อ ‘New World Old Town’ ว่า ที่แห่งนี้เป็นทั้งแหล่งศิลปวัฒนธรรม แหล่งการศึกษา แหล่งเสื้อผ้า แหล่งอาหารและบันเทิงครบครัน

“แม้หน่วยงานของรัฐไม่เคยระบุว่าบางลำพูมีตัวตนจริง แต่ชาวบ้านเรียกบางลำพูตลอด เดิมตรงนี้เขาเรียกว่าตำบลตลาดยอด ถัดไปเป็นแขวงวัดสามพระยา ไม่มีมีเลยครับที่เรียกบางลำพู แต่บางลำพูอยู่ในหัวใจคน”

อาจารย์สมปอง ย้อนความเป็นมาของห้างนิวเวิลด์ ที่ถือเป็นหนึ่งในความทรงจำทั้งดีและร้ายของย่านนี้ว่า เริ่มต้นจากหนุ่มนักสู้ชีวิตที่ชื่อ ‘แก้ว ผูกทวนทอง’ เขาเป็นลูกเลี้ยงของสามีภรรยาชาวจีนแคะที่มีอาชีพตัดรองเท้าอยู่ริมถนนจักรพงษ์ ด้วยฝีมือและความขยัน ร้านตัดรองเท้าเล็กๆ ก็ขยายกิจการออกไป ก่อนจะผลิตรองเท้าที่รู้จักในชื่อ ‘BIG BUFFALO’ และพัฒนาจนกลายเป็น ‘แก้วฟ้าพลาซ่า’

“ส่วนนิวเวิลด์นี้ คุณแก้ว กล้าหาญขอเช่าพื้นที่บริเวณหัวมุมถนนไกรสีห์จากองค์ชายใหญ่ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล มาสร้าง ทีนี้มันไม่มีจุดขาย พื้นที่แคบๆ ตึกแถวขนาบสองข้าง แต่เมืองไทยตอนนั้น แค่บันไดเลื่อนคนก็ตื่นตาตื่นใจ” 

 

20200617211051518

ภาพ: กอบภัค พรหมเรขา

ถึงจะไม่ใช่ห้างแห่งแรกที่มีบันไดเลื่อนและลิฟท์แก้ว แต่ทั้งสองสิ่งที่เกิดขึ้นในห้างแห่งนี้เมื่อปี 2526 คือจุดขายที่ทำให้นิวเวิลด์กลายเป็นแลนด์มาร์กของย่านไปในที่สุด

“บันไดเลื่อนแห่งแรกของเมืองไทยเกิดที่ไดมารู ผมก็ไปขึ้น เช่นเดียวกันลิฟท์แก้วครั้งแรกเกิดขึ้นที่โรบินสัน ราชดำริ คนก็แห่ไป ตัวที่สองสร้างมาสูสีกันก็คือพาต้ากับนิวเวิลด์ แต่ที่นี่เป็นที่เดียวที่เราเห็นป้อมพระสุเมรุและแม่น้ำเจ้าพระยาได้จากด้านบน”

เมื่อได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี ทางห้างมีการต่อเติมอาคารจาก 4 ชั้น เป็น 11 ชั้น โดยไม่รอการอนุญาตอย่างเป็นทางการ ทำให้กรุงเทพมหานครฟ้องร้องดำเนินคดี จนในที่สุดศาลได้ตัดสินให้ทางห้างรื้อถอนส่วนต่อเติมชั้น 5-11 ออกไป ซึ่งระหว่างดำเนินการรื้อถอนนั้นห้างยังเปิดให้บริการชั้น 1-4 อยู่ กระทั่งปี 2547 เกิดเหตุพื้นแตกและถล่มลงไปยังชั้นล่าง มีผู้บาดเจ็บและร้านค้าได้รับความเสียหาย ห้างจึงต้องปิดตัวลงด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย

แต่ใช่ว่าเรื่องราวของห้างแห่งนี้จะจบ หลายปีต่อมามีภาพบ่อปลากลางห้างเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ กลายเป็นแรงดึงดูดอย่างใหม่ให้มีผู้คนแวะเวียมาที่อาคารหลังนี้อีก สำนักงานเขตจึงประกาศสั่งปิดตึกร้างอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ขนย้ายปลาและสูบน้ำออกทั้งหมด เป็นการปิดฉากห้างนิวเวิลด์อย่างถาวร

 

-Old Town-

หากลากเส้นความเก่าใหม่ผ่านมิติของเวลา การเกิดขึ้นและล้มหายย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ทว่าเมื่อขยับมุมให้กว้างขึ้นจะเห็นร่องรอยการปะทะกันระหว่างแนวคิดการอนุรักษ์และพัฒนา ซึ่ง ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งต้นจากคำว่า ‘นิวเวิลด์’ ที่ไม่ใช่ชื่อห้าง และ ‘โอลด์ทาวน์’ ที่ไม่ใช่แค่เมืองเก่า

“ผมมองของคำนี้ในฐานะที่เป็นโลกทัศน์ทางความคิด นิวเวิลด์ ก็คือโลกใหม่ ถ้ามองในฐานะวิธีคิด มีเซนต์ของการใหความสำคัญกับสิ่งใหม่่ ความทันสมัย ตึกอาคารล้ำๆ แล้วก็คุณค่าในแบบสากล ขณะที่อีกคำคือ โอลด์ทาวน์ คำนี้จะมีเซนต์ในทางตรงกันข้าม คือจะให้ความสำคัญกับ ตึกเก่า ของเก่า รากเหง้าทางวัฒนธรรมดั้งเดิม และคุณค่าของความเป็นท้องถิ่น

ซึ่งในความเป็นจริงของชีวิต การแบ่งขั้วแบบคู่ตรงข้ามอย่างนี้มันใช้ไม่ได้หรอก แต่ในสังคมไทย โดยเฉพาะในเรื่องของการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ทัศนะแบบคู่ตรงข้ามแบบนี้ยังมีพลังค่อนข้างมากและหลายครั้งนำมาซึ่งปัญหามากกว่าการหาทางออก”

แน่นอนว่าตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นที่ย่านบางลำพูแห่งนี้ ดร.ชาตรี พาย้อนไปดูก่อนปี 2525 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญคือการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี

“ก่อนที่จะมีแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์เมืองเก่า บางลำพูคือย่านเศรษฐกิจสำคัญที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2500 เป็นย่านทันสมัย น้องๆ วังบูรพา เป็นแหล่งเสื้อผ้า ชุดนักเรียน ห้างร้าน ร้านอาหาร รายล้อมด้วยส่วนราชการที่สำคัญ ย่านบางลำพูคึกคักมาก หนาแน่นไปด้วยผู้คนและกิจกรรม มีทิศทางการพัฒนาย่านไปแบบสมัยใหม่อย่างเต็มที่ สัญลักษณ์ของการเป็นย่านสมัยใหม่ สะท้อนให้เห็นจากการมีห้างดังๆ เกิดขึ้นหลายห้าง ไม่ว่าจะเป็น แก้วฟ้า ตั้งฮั่วเส็ง และนิวเวิลด์

โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของนิวเวิลด์ประมาณ พ.ศ.2526 คือ สัญลักษณ์ของโลกสมัยใหม่ที่ชัดเจนในพื้นที่นี้ และกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของย่านบางลำพูในต้นทศวรรษที่ 2530 แต่ทิศทางการพัฒนาแบบนี้มันหยุดชะงักลงหลัง พ.ศ.2525 เมือเกิดแนวคิดการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น ที่ตามมาด้วยการตั้งคณะกรรมการกรุงฯ และการถือกำเนิดขึ้นของไอเดียว่าด้วยเมืองเก่าหรือ โอลด์ทาวน์ เป็นครั้งแรกในสังคมไทย”

 

20200617210609155

ภาพ: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์

แนวคิดโอลด์ทาวน์เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่มองว่า เมืองเก่ากำลังถูกคุกคามจากความเป็นสมัยใหม่จนทำให้สภาพกายภาพทั้งหมดเสื่อมโทรมและต้องการการปกปักรักษา โอลด์ทาวน์กรุงรัตนโกสินทร์ก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องมีการออกกฎระเบียบต่างๆ มาควบคุม โดยหัวใจสำคัญก็เพื่อลดความแออัดของย่านเมืองเก่า ซึ่งแน่นอนว่า บางลำพูอยู่ในแผนนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการย้ายสถานที่ราชการ เปิดพื้นที่ทำสวนสาธารณะ บูรณะโบราณสถาน ควบคุมภูมิทัศน์ทางสายตา ที่ตามมาด้วยกฎหมายควบคุมอาคารไม่ให้สูงเกิน 16 เมตร เป็นต้น

แม้แนวคิดดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานของการ ‘หยุดเวลา’ ในอดีตของเมืองเก่าเอาไว้ มากกว่าการมองว่าเมืองเก่ามีพลวัตรและมีชีวิตที่เปลี่ยนตลอดเวลา การมุ่งรักษาโอลด์ทาวน์ทางกายภาพมากกว่าจิตวิญญาณ ส่งผลตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือการปะทะกับแนวคิดการพัฒนาเมืองก่อนหน้านี้ที่มุ่งสู่ความเป็นเมืองสมัยใหม่ หรือไอเดียแบบ ‘นิวเวิลด์’

“สังเกตการตั้งชื่อห้างที่เปิดในปี 2526 ว่า นิวเวิลด์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันเป็นการตั้งชื่อในช่วงเวลาเดียวกันกับการเกิดขึ้นของแนวคิดโอลด์ทาวน์ของคณะกรรมการกรุงฯ พอดี ในทัศนะผมมันเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของโลกทัศน์สองอันที่มาเผชิญหน้ากัน

และรูปธรรมของการเผชิญหน้าดังกล่าว อย่างเช่น การฟ้องร้องและบังคับให้นิวเวิลด์รื้ออาคารตั้งแต่ชั้น 5-11 ที่สูงเกินกฎหมาย เพื่อรักษาภูมิทัศน์ของเมืองเก่าเอาไว้ เป็นผลทำให้นิวเวิลด์ต้องหยุดชะงักและทำการค้าขายอยู่ได้แค่ 4 ชั้น สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลง”

ไม่เพียงห้างนิวเวิลด์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ การย้ายออกของสถานที่ราชการ ทำให้ย่านเมืองเก่าและบางลำพูเงียบลง การไหลเวียนของผู้คนในย่านน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนอย่างมหาศาล

 

20200617210809185

ภาพ: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์

ดร.ชาตรี มองว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2530 เรื่อยมา ทำให้เกิดการย้ายเข้ามาของคนกลุ่มใหม่ที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมการท่องเที่ยว เกิดไลฟ์สไตล์แบบใหม่ ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เติบโต แต่ชุมชนและย่านกลับเงียบลง

“สุดท้ายคำว่า ถนนข้าวสาร เข้ามาแทนที่คำว่า ย่านบางลำพู ตรงนี้สำคัญ เป็นจุดตัดทางประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวเริ่มนำเศรษฐกิจชุมชน คนแปลกหน้านานาชาติเข้าแทนที่คนท้องถิ่น ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดกระแสใหม่บนฐานจากชุมชนและคนดั้งเดิมในพื้นที่ ซึ่งผมขอเรียกว่าเป็นความต้องการเข้ามา Redefining (นิยาม)โอลด์ทาวน์บางลำพูจากคนในบางลำพูเอง

โดยปรากฎการณ์นี้อาจจะนับจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2540 ที่อาจารย์สมปอง ดวงไสว และพวกพ้องในชุมชนเริ่มตามหาต้นลำพูต้นสุดท้ายในพื้นที่จนเจอ ตามมาด้วยการเกิดประชาคมบางลำพู ตามมาด้วยการเกิดชมรมเกสรลำพูราวปี 2544 ซึ่งความเข้มแข็งนี้นำมาซึ่งการสร้างกิจกรรมรูปแบบใหม่ที่ รวมถึงการออกไปร่วมรณรงค์ประเด็นทางสังคมอื่นๆ ในพื้นที่เมืองเก่าด้วย”

ทั้งหมดนี้ทำให้นิยามของโอลด์ทาวน์มิได้มีแค่กายภาพของวัด ตึกเก่า ป้อมและกำแพงเมืองอีกต่อไป แต่ขยายไปถึงวิถีชีวิตและเรื่องราวของผู้คนในย่าน วัฒนธรรม อาหาร ดนตรี ตลอดจนความทรงจำของคนเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งได้กลายมาเป็นหัวใจของโอลด์ทาวน์

“โครงการ New World Old Town ครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของกระบวนการ Redefining Oldtown ของชุมชนบางลำพู กิจกรรมนี้ได้เสนออีกสเต็ปหนึ่งของการนิยามโอลด์ทาวน์ เพราะเข้ามาเล่นกับอาคารที่ผมต้องบอกว่า น่าเกลียด...ในทัศนะแบบทางการนะ ที่สำคัญยังเป็นอาคารที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของการละเมิดกฎหมายความสูงของอาคารด้วย ทำลายภูมิทัศน์เมืองเก่าด้วย และยังปิดฉากลงด้วยโศกนาฏกรรม เพราะฉะนั้นภาพลักษณ์นี้มันแย่มาก

แต่ชุมชนและกลุ่มอาจารย์หน่อง (ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์) ได้เข้ามาพลิกให้สาธารณชนได้เห็นเรื่องเล่าอีกชุด ความทรงจำอีกด้าน และความสัมพันธ์ระหว่างอาคารนี้กับชุมชนและผู้คนในย่านผ่านกิจกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ผมมองว่ามันได้เข้ามาเขย่านิยามโอลด์ทาวน์อีกครั้ง” ดร.ชาตรี กล่าวทิ้งท้าย

 

20200617211052710 ภาพ: กอบภัค พรหมเรขา

ถึงวันนี้...แม้ว่าประตูอาคารนิวเวิลด์จะถูกปิดสนิทอีกครั้ง แต่ความคิดที่จะรื้อฟื้นย่านเก่าและความทรงจำของผู้คนได้ถูกเปิดกว้าง ท้ายที่สุดไม่ว่าโครงการนี้จะถูกพัฒนาไปในรูปแบบใด นี่จะเป็นอีกครั้งที่บางลำพูสร้างนิยามใหม่ให้กับความเป็นเมืองเก่า