ต่างวิถี ‘ไทย-สหรัฐ’ การเรียนรู้ในความปกติใหม่

ต่างวิถี ‘ไทย-สหรัฐ’ การเรียนรู้ในความปกติใหม่

ขณะที่รูปแบบการเรียนการสอนในยุค 'โควิด-19' ต้องปรับเปลี่ยนสู่ความปกติใหม่ 'new normal' หัวใจของระบบการศึกษา ยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสและพื้นที่ให้ผู้ปกครองไม่ว่าจะยากดีมีจนเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้

 

ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาที่สถานการณ์โควิด-19 เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน ฉันมักถูกปลุกตอนเช้าด้วยเสียงเด็กๆ ที่พ่อแม่มาส่งเข้าโรงเรียนฝั่งตรงข้ามบ้าน หลังจากนั้นช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้ยินเสียงเด็กๆ ส่งเสียงวิ่งเล่นกัน ช่วงบ่ายๆ เย็นๆ ถนนหน้าบ้านจะกลับมาคึกคักอีกครั้งตอนพ่อแม่มารับเด็กๆ กลับจากโรงเรียน นอกเหนือไปจากนี้ชุมชนแถบนี้จัดว่าสงบเงียบมาก ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนๆ

โรงเรียนประถมแฟรงคลิน (Franklin Elementary School) ย่านเวสต์ เอลลิส (West Allis) รัฐวิสคอนซิล สหรัฐอเมริกา เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงประถมศึกษาปีที่ 5 มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 345 คน ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด โรงเรียนจำเป็นต้องหยุดการเรียนการสอนเหมือนโรงเรียนอื่นๆ แต่ยังมีบริการอาหารเช้ากับอาหารกลางวันให้นักเรียนวันจันทร์กับวันพุธสำหรับครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือและได้รับผลกระทบจากโรคระบาด สำหรับช่วงเปิดเทอมหน้าร้อนที่ใกล้เข้ามานี้ โรงเรียนกำลังเปิดรับสมัครนักเรียนซึ่งแน่นอนว่ายังคงต้องเรียนแบบ new normal ทางไกลจากที่บ้าน

เมื่อโรงเรียนต้องปิดตัวลง การเรียนออนไลน์ ดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ถูกพูดถึงและถูกหยิบยกมาใช้ แต่ในหลายบริบทหลายพื้นที่ ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่มีคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้าน ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่มีมือถือหรือไอแพดหน้าจอขนาดใหญ่ และไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่เข้าถึงสัญญาณไวไฟเพื่อเปิดรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต ปัญหาอุปสรรคที่ว่ามานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัจจัยเงื่อนไขที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบอยู่เช่นเดียวกัน

ขณะที่หลายประเทศได้พยายามอย่างหนักในการออกแบบการเรียนทางไกลจากที่บ้าน เพื่อสร้างทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้นักเรียนเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ได้มากที่สุด เช่น นิวซีแลนด์ได้จัดระบบการเรียนทางไกลหลากหลายรูปแบบ ทั้งการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลการศึกษาให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง และผู้สอน การจัดรายการส่งเสริมความรู้ระดับต่างๆ ผ่านวิทยุ ที่เปิดฟังได้จากแอพบนมือถือ และการออกอากาศบทเรียนทางโทรทัศน์ 

แต่ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ บุคคลสำคัญที่สามารถเป็นผู้ชี้แนะและช่วยเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษาในช่วงเวลานี้ได้ คือ ‘พ่อแม่ผู้ปกครอง’ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ผู้ปกครองทุกคนที่มีความรู้และมีเวลาเพียงพอดูแลการเรียนรู้ของเด็กๆ จากที่บ้าน โดยเฉพาะเด็กๆ จากครอบครัวยากไร้ที่ผู้ปกครองยังคงต้องออกไปทำงาน

 

RT

 

อย่างไรก็ตาม องค์กรสปริงบอร์ด คอลลาโบเรทีฟ (Springboard Collaborative) ที่ทำงานด้านการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา กล่าวชัดเจนว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม ‘ผู้ปกครอง’ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ระบบการศึกษาต้องสร้างโอกาสและสร้างพื้นที่ให้ผู้ปกครองไม่ว่าจะยากดีมีจนเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้ ผลการทำงานของสปริงบอร์ดในช่วงที่ผ่านสามารถดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนของเด็กๆ ได้ถึงร้อยละ 91 ซึ่งเป็นผู้ปกครองที่มีปัญหาด้านการอ่านกว่า 1 หมื่นคน จากโรงเรียนใน 14 พื้นที่

สปริงบอร์ด ตอกย้ำว่า แม้แต่ผู้ปกครองที่ไม่มีการศึกษาและมีเวลา ขอเวลาแค่ 15 นาทีต่อวันก็สามารถช่วยให้เด็กเรียนรู้ด้านการอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจากการวิเคราะห์สถิติด้านการเรียนรู้จากผู้เรียน 10 ล้านคน พบว่า เวลาเพียง 15 นาที เป็นมาตรฐานเวลามหัศจรรย์แห่งการเรียนรู้ด้านการอ่าน

สปริงบอร์ดใช้วิธีอธิบายทำความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงความจำเป็นของการศึกษา แม้ผู้ปกครองไม่สามารถอ่านหนังสือได้ แต่ผู้ปกครองสามารถร่วมสนทนาตั้งคำถามก่อน ระหว่างและหลังการอ่าน จากความพยายามที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ปกครองกลุ่มที่ว่าได้ช่วยให้ลูกๆ ของพวกเขาอ่านเนื้อหาต่างๆ ที่ต้องเรียนในช่วงเวลา 3 เดือนจบได้ภายใน 5 สัปดาห์

ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ โรงเรียนวัดบางขวาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส บอกว่า นอกจากการเรียนผ่านดีแอลทีวีตามนโยบายจากส่วนกลางแล้ว เขายังเพิ่มทางเลือกห้องเรียนออนไลน์ และการจับคู่บัดดี้ให้กับนักเรียน เพราะนักเรียนบางคนเมื่ออยู่บ้านต้องช่วยพ่อแม่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว การมีบัดดี้เหมือนได้มีเพื่อนคู่คิดและมีที่ปรึกษา แต่สิ่งที่จำเป็นต้องทำ คือ การแบ่งเวลาไปหานักเรียนถึงที่บ้าน เพื่อพูดคุยกับนักเรียนและผู้ปกครอง

ในช่วงที่ผ่านมาโรงเรียนประถมแฟรงคลิน ส่งเสริมให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกันที่บ้าน เช่น การประดับตกแต่งบ้านด้วยข้อความและกระดาษสีส่งกำลังใจให้คุณหมอและพยาบาล แล้วถ่ายรูปผลงานเผยแพร่ผ่านโซเชียลีเดีย หรือแม้แต่การจัดขบวนพาเหรดรถยนต์ของครูในโรงเรียน วิ่งไปตามเส้นทางที่ตั้งบ้านของเด็กๆ ให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองได้มีโอกาสส่งเสียงทักทาย และพบเจอกันแบบ social distancing เพื่อสร้างความตื่นเต้นขณะกักตัวอยู่บ้านขึ้นมาได้บ้าง

จากรายงานขององค์การยูเนสโก นักเรียนราว 1.6 พันล้านคน จาก 190 ประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของ 'โคโรน่าไวรัส' ถึงตอนนี้โรงเรียนกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่มีแผนการเปิดเรียนอย่างชัดเจน ขณะที่บางประเทศทยอยเปิดเรียนอย่างเป็นทางการแล้ว เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน อิสราเอล เยอรมันนีและนิวซีแลนด์ มาตรการภาพรวมส่วนใหญ่หลังเปิดเรียนเน้นวางโต๊ะเรียนให้ห่างกันประมาณ 2 เมตร ตรวจสอบอุณหภูมิของนักเรียนก่อนเข้าโรงเรียน ล้างมือฆ่าเชื้อก่อนเข้าชั้นเรียน อนุญาตให้ครูเปิดสอนและทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่ยังคงสั่งปิดสนามเด็กเล่น หลายโรงเรียนออกกฎให้นักเรียนใส่หน้ากากอนามัย จัดระยะห่างโต๊ะรับประทานอาหาร รวมถึงการลดจำนวนเด็กในแต่ละห้องเรียน

 

Franklin Elementary School

 

สำหรับประเทศไทย กระทรวงการศึกษาประกาศแจ้งช่วงเวลาเปิดปิด ภาคเรียนที่ 1/ 2563 ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 13 พฤศจิกายน 2563 ข้อมูลจากสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2562 ระบุว่า มีนักเรียนอยู่ที่ราว 10.84 ล้านคน จากโรงเรียน 41,073 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนระดับประถมศึกษามากที่สุดถึง ร้อยละ 43 ลำดับถัดมา คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 21 ระดับอนุบาล ร้อยละ 16 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 11 และสายพาณิชย์กับอาชีวะ ร้อยละ 9

โควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนโลกการเรียนรู้ของเด็กๆ ไปอย่างสิ้นเชิง แน่นอนว่าในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะออกแบบการเรียนการสอนให้เด็กยังคงเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรและความพร้อมด้านอื่นๆ ของเด็กเอง ครูจำเป็นต้องสร้างทางเลือกที่เหมาะสมให้กับเด็ก และใช้โอกาสนี้เข้าไปทำความรู้จักครอบครัวของเด็กให้มากขึ้นเพื่อรับทราบปัญหาและเสนอทางแก้ไขเท่าที่จะเป็นไปได้

ส่วนผู้ปกครองสามารถเป็นฮีโร่ได้ด้วยการไม่ละเลยการสร้างวินัยในการเรียนให้กับพวกเขา