จะปฏิรูปการเรียนรู้กันอย่างไร  เด็กไทยจึงจะเท่าทันโลก

จะปฏิรูปการเรียนรู้กันอย่างไร   เด็กไทยจึงจะเท่าทันโลก

ระบบแพ้คัดออก แม้จะสร้างเด็กเก่งได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ได้ทอดทิ้งเด็กไร้คนดูแลเอาใจใส่จำนวนมากไว้ข้างหลัง เด็กชนบทก็เก่งได้ ถ้าได้รับโอกาสทางการศึกษา

 เด็กเยาวชนไทยชนะเลิศการแข่งขันได้รางวัลโอลิมปิกสาขาวิชาต่างๆ เป็นจำนวนมากทุกปี สะท้อนถึงความรู้ความสามารถที่ไม่ด้อยไปกว่าใคร ดีใจกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของเขา เพราะบุคคลเหล่านี้อยู่เบื้องหลัง ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน ดูแลเด็กตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ฝึกให้มีระเบียบวินัย ดูแลอาหารการกิน ส่งไปโรงเรียน เฝ้ารอรับกลับบ้าน ดูแลทำการบ้าน สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์เสริมการเรียน วันหยุดพาไปเรียนพิเศษ เมื่อเด็กเบื่อก็หาวิธีกระตุ้นจูงใจให้ขยัน เด็กเหล่านี้จึงมีความพร้อมและมักได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง

เมื่ออยู่ในโรงเรียนก็จะมีครูหน้าชั้น หลังชั้น อบรมสั่งสอนใกล้ชิด เด็กได้รับความอบอุ่นทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน และเมื่อต้องลงสนามแข่งขันอย่างสนามโอลิมปิกวิชาการ เด็กกลุ่มนี้ก็ยิ่งจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เด็กจึงมีความพร้อม มีศักยภาพสูง ไม่ว่าจะลงแข่งขันสนามไหน ก็มักจะไม่พลาดรางวัล จึงไม่แปลกที่เมื่อจบการศึกษามัธยมปลาย เด็กบางโรงเรียนจึงสอบเข้าเรียนคณะที่ต้องได้คะแนนสูงเช่นแพทย์ศาสตร์ได้ยกชั้น

ความสำเร็จของเด็กที่กล่าวข้างต้น ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน แต่เขามีโอกาสเรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งในบ้าน และในโรงเรียน เด็กมีความพร้อมทั้งทางกายภาพ ทางอารมณ์ เพราะอยู่กับคนที่รักเขาเอาใจใส่เขา มีเพื่อนดี ครูดี สื่อและกระบวนการเรียนการสอนดี สภาพแวดล้อมดี เด็กก็เก่งก็ดีได้

แต่เด็กในชนบทที่ห่างไกลเมืองหรือลูกหลาน คนยากจนในเมืองไม่มีโอกาสอย่างนั้น เด็กในครอบครัวยากจนในเมืองมักอยู่บ้านที่มีสภาพแออัด โอกาสพูดคุยดูแลกันน้อย มักอยู่กับทีวีหรือโทรศัพท์มือถือ ติดเกมส์ ติดเพื่อน

ส่วนเด็กชนบทถ้าพ่อแม่ทำงานไกลบ้าน ก็ต้องอยู่กับญาติพี่น้องผู้สูงวัย โอกาสเรียนรู้น้อย ถ้าขาดเงินค่าใช้จ่ายด้วย ก็อาจต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ติดยาเสพติดรุนแรง หรือเลยเถิดไปถึงขั้นก่ออาชญากรรมรุนแรงตามสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมเต็มไปด้วยความรุนแรง ความอัตคัดขัดสน และการขาดความอบอุ่นทางจิตใจ

โอกาสการศึกษาเรียนรู้ของเด็ก ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือในชนบท เริ่มจากความรักความดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีปัญหาก็ส่งผลให้ลูกขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาด้วย ยิ่งระบบการศึกษาที่เอาการแข่งขันเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ การใช้ระบบแพ้คัดออก แม้จะสร้างเด็กเก่งเด็กดีมีอนาคตได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ได้ทอดทิ้งเด็กไร้คนดูแลเอาใจใส่จำนวนมากไว้ข้างหลัง เด็กชนบทก็เก่งได้ ถ้าเขาได้รับการดูแลที่ดีพอและมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

สังคมไทยใส่ใจกับการศึกษามาตั้งแต่สมัย ร.5 ซึ่งเปลี่ยนการศึกษาในบ้าน วัด และวังมาเป็นโรงเรียน และมีการปฏิรูปการศึกษามาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่เน้นการศึกษา 3 ด้าน จริยศึกษา พุทธิศึกษา พละศึกษา ปี พ.ศ. 2494 ยุคจอมพล ป. ก็เพิ่มหัตถศึกษาเข้าไปอีก ปี พ.ศ. 2540 เน้นการศึกษาไปสู่สังคมแห่งปัญญาและการเรียนรู้ และออก พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ให้สิทธิและโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเสมอกันตลอดชีวิต 

 

20200606131409395_1

 

ยิ่งเมื่อศึกษาข้อมูลสิบปีย้อนหลังกระทรวงที่ดูแลด้านการศึกษาได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวกว่า 2 แสนล้านบาท ครูทุกหน่วยงานรวมกันกว่า 700,000 คน สร้างโรงเรียนมากมายกว่า 41,000 โรง เพื่อดูแลนักเรียนราว 12 ล้านคน ประเมินทรัพยากรที่ใช้สนับสนุนการศึกษาดูแล้วก็ไม่ใช่น้อย แต่ทำไมเสียงสะท้อนมากว่าการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์สังคม ผลิตคนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพไม่ตรงกับความต้องการของสังคม เกิดอะไรขึ้นกับวงการศึกษาไทย ปัญหาการศึกษาไทยอยู่ตรงไหน

ยิ่งในภาวะวิกฤติ เช่นช่วงโควิด-19 ซึ่งมีปัญหาการเลือกสอนแบบออนไซด์ ออนแอร์ ออนไลน์ ก็สะท้อนถึงการขาดความพร้อมรับมือการศึกษาแก่เด็กในช่วงวิกฤติ แล้วยิ่งช่วงสภาพปกติใหม่ (new normal) ที่ไม่รู้อนาคต สังคมไทยจะจัดการศึกษาอย่างไร

บทเรียนการศึกษาไทยสะท้อนได้ว่า การศึกษาที่แท้ไม่ใช่เรื่องระหว่างครูกับนักเรียน หรือการสอนเด็กในโรงเรียนเท่านั้น แต่เป็นทุกเรื่องที่แวดล้อมและส่งผลต่อชีวิตเขา เด็กที่มีปัญหา เช่น ถูกรังแก ขาดพ่อแม่ผู้ปกครองดูแล ขาดสารอาหาร ขาดเงินและเครื่องมืออุปกรณ์การเรียน จึงมักขาดความพร้อมที่จะเรียนไปด้วย

แต่เด็กที่ยังไม่พร้อมเรียนไม่ได้หมายความว่าไม่มีศักยภาพ การไม่เตรียมความพร้อมให้เด็ก และไม่ได้จัดการศึกษาและพัฒนาไปตามศักยภาพที่แท้จริงของเด็กต่างหาก ที่ทำลายโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ของเด็กจำนวนมากไปโดยไม่รู้ตัว

ในสภาวะปกติใหม่ สังคมไทยจะพัฒนาเติบโตต่อไปได้ต้องอาศัยเด็กและเยาวชนที่จะขึ้นมาแทนผู้ใหญ่ สังคมไทยหลังวิกฤติจึงควรจะต้องใส่ใจกับการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ จึงต้องปฏิรูปการเรียนรู้ที่ไม่แยกการเรียนการสอนออกจากวิถีชีวิตของเด็กในครอบครัวและชุมชน แนวคิดดีๆที่ให้ “เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้” จะเป็นจริงได้ ต้องมีอิสระและมีความร่วมมือกันในท้องถิ่น ทั้งครอบครัว หมู่บ้าน วัด/มัสยิด/โบสถ์ และโรงเรียน จึงจะช่วยให้เด็กเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างทั่วถึง

ควรต้องปรับเปลี่ยนหลักคิดหลักปฏิบัติจากเรียนระบบแพ้คัดออก เป็นการเรียนรู้ตามศักยภาพของเด็กทั่วหน้าอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทุกห้องเรียนทุกชั้นเรียนต้องเป็นชั้นเรียนกิ๊ฟ ที่ต้องวิเคราะห์ประเมินศักยภาพเด็กก่อนเรียน และออกแบบการเรียนการสอนตามศักยภาพของเด็กนักเรียน ก็จะช่วยเด็กไม่ให้ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

การพัฒนาครูและสื่อฯ ที่ผ่านมา ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงควรต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมยกระดับการผลิตและการใช้สื่อการเรียนการสอนให้เป็นปัจจุบันและทันสมัย ไม่อาจปล่อยให้ครู ผู้ปกครอง และชุมชนเองทำกันเองตามลำพัง รัฐต้องช่วยสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งในส่วนโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย อยากเห็นการเรียนรู้ผ่านเกมส์ออนไลน์ต่างๆ เหมือนกัน เพราะกระตุ้นความสนใจของเด็กได้ดีกว่าสื่อการสอนแบบเดิมๆ

การศึกษาขยายโลกทัศน์เด็กให้กว้างขึ้น แต่การเรียนรู้ ช่วยให้เด็กรู้จักคิด รู้จักวิธีค้นคว้าหาความรู้ รู้จักนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จึงต้องปฏิรูปการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อให้เด็กไทยคิดเป็น ค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆเป็น เอาความรู้ไปใช้ได้จริง สังคมไทยก็จะเติบโต พึ่งตนเองได้ พัฒนาได้ แม้ในสภาวะวิกฤติ