กว่าจะถึง...วัน'อังคาร'

กว่าจะถึง...วัน'อังคาร'

เส้นทางชีวิตและมุมมองแห่งยุคสมัยของ 'อังคาร จันทาทิพย์' ดับเบิ้ลซีไรต์กวีนิพนธ์คนแรกของประเทศไทย

 

สิ้นเสียงประธานคณะกรรมการรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A. WRITE) ประกาศผลการตัดสินประจำปี พ.ศ.2562 ประเภทกวีนิพนธ์ ได้แก่ ‘ระหว่างทางกลับบ้าน’ ของ อังคาร จันทาทิพย์ ก็มีเสียงฮือฮาจากผู้มาร่วมงานบริเวณวังสวนผักกาด สถานที่จัดงานประกาศผลรางวัลซีไรต์แบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เพราะผู้ได้รับรางวัลปีนี้เป็นดับเบิลซีไรต์กวีนิพนธ์เป็นครั้งแรก หลังจากมีดับเบิลซีไรต์มาแล้ว 3 คน

 

z1

 

  • เส้นทางนักเขียน

อังคาร จันทาทิพย์ เกิดในครอบครัวชาวนา อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น มีผลงานบทกวี ‘คนรักของความเศร้า’ (2542) ‘วิมานลงแดง’ (2544, ได้รับรางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ),‘ที่ที่เรายืนอยู่’ (2551) ‘หนทางและที่พักพิง’(2552, ได้รับรางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ) ‘หัวใจห้องที่ห้า’ (2555,ได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊กอะวอร์ด, รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ, รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน(ซีไรต์) 2556) ‘ระหว่างทางกลับบ้าน’ (2560 ได้รับรางวัลชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด, รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ, รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน(ซีไรต์) 2562) ได้รับรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง (Mekong River Literature Award : MERLA) ปี 2562 แรงบันดาลใจที่ีทำให้เขาสนใจการเขียนบทกวีมาจากการอ่าน

“ในวัยเด็ก พี่สาวพี่ชายเรียนหนังสือในตัวอำเภอ ทุกวันเสาร์อาทิตย์เขาจะยืมหนังสือจากห้องสมุดโรงเรียนมาวางไว้ ผมก็หยิบมาอ่านต่อ ได้อ่านนิยาย ‘ลูกอีสาน’ ของคำพูน บุญทวี ‘สร้อยทอง’ ของนิมิต ภูมิถาวร เรื่องสั้นของ สุรชัย จันทิมาธร พอเข้าเรียนมัธยมก็ไปอ่านหนังสือในห้องสมุดประจำโรงเรียน โรงเรียนที่ผมเรียนอยู่จะมีครูสอนภาษาไทยเป็นนักเขียนชื่ออาจารย์ประยูร ลาแสง นามปากกา ‘พระไม้’ ทำชมรมวรรณศิลป์ ชั่วโมงกิจกรรมเราก็เลือกชมรมวรรณศิลป์ คุณครูให้เด็กทุกคนในชมรมเขียนบทกวีเขียนกลอนมาส่ง ครูเห็นเรามีแววกว่าเพื่อน ก็ได้รับคำแนะนำว่างานนี้สำนวนนี้ของเธอถ้าแก้ตรงนี้ๆ แล้วเอามาส่งครูใหม่ พอเราแก้กลับไปส่ง ครูก็บอกว่า สมบูรณ์แล้ว สมควรจะลองส่งไปรับการพิจารณาจากหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง แมกกาซีนส่วนกลาง 

คุณครูให้คัดต้นฉบับเป็นลายมือ แล้วไปห้องสมุดเปิดดูที่อยู่ของสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ มติชนสัปดาห์วิจารณ์ แนวหน้าสุดสัปดาห์ บอกว่างานสไตล์นี้น่าจะเหมาะกับหนังสือพิมพ์เล่มนี้นะ ลองส่งไปดู ส่งไปตอนแรกยังไม่ได้ อีกสักพักใหญ่ๆ ก็ได้ลง มันทำให้เราดีใจ มีความมั่นใจ ขณะเดียวกัน ครูก็ทำร้านเช่าหนังสืออยู่ในตลาด แล้วให้เรามาดูแลร้าน ทำให้ได้อ่านหนังสือมากขึ้น ตอน ม.4 ม.5 ผมเริ่มมีงานลงตีพิมพ์แล้ว ได้เงิน 300-400 เขาส่งธนาณัติมาให้ รู้สึกตื่นเต้น คิดว่าจะเขียนอะไรต่อ เขียนยังไงดี โลกของการอ่านก็กว้างขึ้น 

งานเขียนเล่มแรกๆ ใช้ฉันทลักษณ์หลากหลายมาก ทุกประเภท พอมาทำ ‘ระหว่างทางกลับบ้าน’ ผมเลือกหยิบเอากลอนสุภาพมาใช้อย่างเดียว เพราะฉันทลักษณ์บางประเภทอาจไม่เหมาะสมกับการเล่าเรื่องยาวๆ พอยุคสมัยเปลี่ยน ฉันทลักษณ์บางประเภทอาจไม่ตอบโจทย์คำ แต่ละยุคสมัยมีถ้อยคำที่แตกต่างกัน ภาษาในยุคสมัยของเรา มันเป็นภาษาพูด เป็นภาษาของเรื่องเล่าที่ไม่จำเป็นต้องเป็นบาลีสันสกฤต ต้องอลังการ มันหมดยุคที่คนจะมองว่ากวีนิพนธ์เป็นงานอยู่บนหิ้ง"

เขาบอกว่า รูปแบบหรือเรื่องราวในกวีนิพนธ์ไทยในยุคนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ต้องสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจได้ บางครั้งอาจเป็นแค่เรื่องเล่าธรรมดาที่เข้าถึงได้ง่ายๆ  

"กลุ่มของถ้อยคำที่นำเสนอมันจะต้องไม่เก่าและเชย มันถึงจะสื่อสารกับคนในสมัยยุคปัจจุบันนี้ได้ มันเป็นน้ำเสียงของแต่ละยุคสมัย 15-20 ปีที่ผ่านมา กวีร่วมสมัยที่โดดเด่นในยุคนั้นเขาก็มีภาษาของเขา มีชุดคำ มีรูปแบบการนำเสนอของเขา พอมาถึงยุคสมัยของเราที่เราปฏิสัมพันธ์กับผู้คน กับโลก กับสังคม ด้วยรูปแบบวิถีชีวิตแบบนี้ ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันหรือภาษาที่มันไม่ยากจนเกินไป ฟังดูแล้วไม่เชย ไม่เลยยุคสมัย มันถึงเหมาะกับความเป็นยุคสมัยปัจจุบัน 

นักเขียนจะต้องหาตัวตน หาลักษณะเฉพาะของตัวเองให้เจอ คนที่มุ่งมั่นกับการทำงาน คิดหาวิธีการนำเสนอ คิดหาเรื่องราวการนำเสนออยู่ตลอด เขาจะเจอมันเอง วิธีการเล่าเรื่องมันไม่ต้องยากจนเกินไป มันเหมาะกับตัวเรา"

สำหรับอังคาร งานแต่ละเล่มจะไม่เหมือนกัน ผลงานเล่มแรก เล่มที่สอง เล่มที่สาม เป็นเหมือนการต่อยอดไปเรื่อยๆ 

"เราพยายามไม่ทำซ้ำผลงานเก่า พยายามหนีจากประเด็นเดิมๆ วิธีการแบบเดิมๆ ถ้าเกิดทำซ้ำแล้วไม่เกิดความหมายใหม่ผมถือว่าเป็นความล้มเหลวชนิดหนึ่ง ถ้าจะทำซ้ำ มันต้องเกิดน้ำเสียง เกิดอะไรใหม่ ผมจะไม่ใช้ความรู้สึกนำทางอย่างเดียว ผมพยายามออกแบบงานแต่ละชิ้น แต่ละสำนวน ให้ไม่เหมือนคนอื่น ให้มันน่าสนใจในแบบของเรา"

 

  IMG_1773 อังคาร จันทาทิพย์

 

  • ผลผลิตจากวาทกรรม

สิ่งที่อังคารพูดเสมอเมื่อกล่าวถึงตัวเองคือ วาทกรรมเกี่ยวกับสังคมชนบทและสังคมเมือง มีผลทำให้เขาเติบโตมาแบบที่เป็นอยู่

“ในเรื่องการศึกษา จะมีคนในชนบทส่วนหนึ่งคิดว่าอาชีพเกษตรกรรม ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน มันยากลำบาก เขาจะพยายามให้ลูกได้รับการศึกษา การผลักลูกหลานหรือคนรุ่นถัดมาออกมาจากสังคมเกษตรกรรมหรือบ้านของตัวเอง ชุมชนของตัวเอง อาจจะไม่ใช่เรื่องถูกเสมอไป พอเข้ามาอยู่ในเมือง สังคมชนบทไม่ถึงกับล่มสลายแต่ความเข้มแข็งลดน้อยถอยลง แต่มันก็มีคนส่วนหนึ่งรู้สึกว่าการเป็นนายของตัวเอง เป็นเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน เป็นชีวิตที่ดี เขาสามารถเลือกเส้นทางของเขา มีหลายส่วนหลายคนกลับไปสู่รากเหง้าเดิม"

นั่นทำให้บทกวีที่ได้รับรางวัลซีไรต์ทั้งสองเล่มในปี 2556 และ 2562 มี 'แก่น' หรือใจความสำคัญที่ต้องการนำเสนอในเรื่องเดียวกัน

“บทกวีในซีไรต์เล่มแรกกับซีไรต์เล่มที่สองมีความเกี่ยวข้องกัน ปัญหา ประเด็น ปรากฏการณ์หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้้นในสังคมไม่ได้หนีไปจากเดิม เพียงแต่เงื่อนไขบางอย่างของยุคสมัยเปลี่ยนไป การดำเนินชีวิต ปัจจัยการดำเนินชีวิต อาจจะเปลี่ยน รูปแบบหรือพล็อตที่เราจะวางในการเล่าเรื่องมันก็ต้องเปลี่ยน

พอเราทำงานเสร็จแล้ว มันหมดหน้าที่เราแล้ว การประเมินคุณค่ามันอยู่ที่คนอ่าน อยู่ที่คนอื่น หน้าที่ของเราต่อไปคือ กลับมาดูมันซ้ำว่ามีข้อเด่นข้อด้อยยังไงที่ยังต้องปรับปรุงหรือสามารถหยิบไปต่อยอดได้กับงานชิ้นถัดไป ประเด็นที่เรายังรู้สึกว่าค้างคา ยังเขียนได้ไม่ดีพอ เหตุการณ์ที่เราเคยเขียนมันยังคงอยู่ มันยังเกิดขึ้นอยู่ เราอาจจะหยิบเอาเหตุการณ์หรือเอาประเด็นนั้นมาเขียนใหม่แล้วพล็อตเรื่องใหม่ ด้วยวิธีการมุมมองแบบใหม่

กระดูกสันหลังของงานเขียนใน ‘หัวใจห้องที่ห้า’ เราวางโครงสร้างของเล่มในบทท้ายๆ พูดถึงเรื่องพ่อกับแม่ที่เพิ่งเสียชีวิต มันเป็นความสะเทือนใจ ผมหยิบมันมาต่อยอดในเล่ม ‘ระหว่างทางกลับบ้าน’ ด้วยประเด็นที่พยายามให้มันเคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต ลูกหลานก็กระจัดกระจายไปตามเส้นทางของตัวเอง พอเรากลับบ้านไปหลายๆ ครั้่ง เริ่มมองเห็นว่ามันไม่ใช่เฉพาะครอบครัวของเราที่เป็นแบบนี้ แต่เป็นส่วนใหญ่ในสังคมชนบท เกี่ยวเนื่องกับวาทกรรมผลักคนออกจากเกษตรกรรมทุกข์ยาก"

ในหนังสือ ‘ระหว่างทางกลับบ้าน’ อังคารเริ่มต้นจากบทกวีชื่อ ‘บ้านไม่มีใครอยู่’ ญาติพี่น้องกลับมาเจอกันตอนทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พ่อกับแม่ หลังจากนั้นทุกคนก็แยกย้ายกันไปหมด 

"จากจุดนี้ผมเริ่มมองออกไปที่ครอบครัวเพื่อนบ้าน ขยายออกไปสู่ชุมชนขยายไปที่สังคมส่วนใหญ่ เรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบโลก การอพยพของโรฮิงญา คนในแต่ละพื้นที่มีวัฒนธรรม มีตำนาน มีเรื่องเล่า เช่นเดียวกับคนอีสานที่มีตำนานมีเรื่องเล่ามีความเชื่อเรื่องพญาแถน นาค แม่น้ำโขง ในเล่มมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนที่เสียชีวิตไปแล้วหลายคน หมายถึงว่าคนคนหนึ่งเกิดขึ้น มีชีวิตขึ้นมาแล้ว เขาเลือกเส้นทางเดินของชีวิตยังไง แล้ววันหนึ่งเขาเสียชีวิตลง มันเป็นการเดินทางของชีวิตๆ หนึ่ง ขณะเดียวกันระหว่างทางของเขาก็ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอื่นๆ ในโลกที่แตกต่างหลากหลาย เขาไปพบเจออะไรบ้าง เหมือนกับทุกคนตอนนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างทาง"

 

  z2

 

  • เปิดพื้นที่ของหัวใจ

ตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน ชีวิตของมนุษย์มีการอพยพโยกย้ายถ่ายเทจากที่แห้งแล้งมาสู่ที่อุดมสมบูรณ์ มีความคิดความเห็นที่แตกต่างกันไป ขอเพียงเปิดพื้นที่ของหัวใจย่อมเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง

“ตอนมัธยม 3 มัธยม 4 ผมมีความรู้สึกอยากเป็นนักข่าว มันเท่ มันเป็นภาพจำ สมัยสื่อสิ่งพิมพ์บูม ช่วงปี 2530 กว่าๆ เป็นต้นมา จะมีแมกกาซีนรายปักษ์รายเดือนมากมายเปิดพื้นที่ให้กับงานวรรณกรรมค่อนข้างกว้าง แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนแพลทฟอร์มจากกระดาษไปสู่ออนไลน์ เราก็ต้องปรับตัว ถ้าเขาสามารถเลือกทำในสิ่งที่เขารักได้แล้วมีความสุขแล้วเขาไปสู่ความสำเร็จ ผมว่ามันเป็นเรื่องดี เราต้องชื่นชมคนอื่นได้ ยกย่องคนอื่นให้เป็น บางทีปัญหาที่มันกำลังเกิดขึ้นอยู่ ความขัดแย้งของประเทศหรือการเมือง อาจจะเริ่มต้นจากประเด็นแบบนี้เหมือนกัน ถ้าเราเปิดพื้นที่ของหัวใจหรือความคิดของเราให้กับความแตกต่าง ให้กับคนที่คิดไม่เหมือนเราไม่ได้ ผมว่า...นี่ล่ะมันจะเป็นปัญหา"

นอกจากการเขียนหนังสือแล้ว อังคารบอกว่าหน้าที่หลักของเขาคือ 'การขัดเกลาตัวเอง'

"ผมจะไม่พยายามผลักใครไปอยู่ในฟากฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ผมจะฟังสิ่งที่เขาพูด อ่านสิ่งที่เขาเขียน มันเป็นเสรีภาพของเขา จริงๆ ความเห็นต่างของสังคมมนุษย์มันมีตั้งแต่โบราณแล้ว แต่วิธีการจัดการของคนแต่ละยุคสมัยมันไม่เหมือนกัน แล้วเงื่อนไขของยุคแต่ละยุคก็ไม่เหมือนกันด้วย"

สำหรับงานเขียนในแนวอื่นๆ เขาออกตัวว่า เคยลองแล้ว ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย แต่ทำได้ไม่ค่อยดี "วันหนึ่งผมอาจจะทำสิ่งที่ผมค้างไว้ อาจจะนำเสนอมันผ่านเรื่องสั้นหรือนิยาย ถ้ามันไปต่อไม่ได้ หรือไปต่อได้ก็ไม่ดี ผมจะไม่ดันทุรัง ขณะเดียวกัน บทกวี ผมคิดว่าน่าจะพอเขียนเป็นแล้ว ก็ยังรักที่จะเขียนอยู่ มีประเด็นที่ตกค้างอยู่หลายๆ เรื่องที่อยากเขียน ผมเริ่มต้นใหม่เสมอนะ รางวัลเป็นหลักกิโลเมตรของชีวิต เราจะไม่พะวงกับมันมากเท่าไร แต่จะพะวงกับสิ่งที่เรากำลังจะทำต่อไปมากกว่า เราจะทำได้ดีกว่าเดิมไหม ไม่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ก็อย่าเลวลง"

เมื่อถามถึงความสุขในชีวิต แน่นอนว่า มันคือการได้อ่านหนังสือ เขียนบทกวี รวมถึงพูดคุยกับเพื่อนฝูง

"ถ้าไม่ใช่เรื่องการเขียน ผมพอใจกับอะไรง่ายๆ ตกเย็นมา นั่งมองเมฆ มองลมไป ดูลมไป วันหนึ่งอาจจะเกษียณตัวเองออกจากงานประจำ ผมอยากอยู่เฉยๆ ในที่ๆ เราอยากจะอยู่ ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำคือ อ่านหนังสือให้เยอะขึ้น เขียนหนังสือให้ดีขึ้น มีสมาธิกับการคิดมากขึ้น

ชีวิตมันไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ อยู่แบบไม่ต้องเร่งรีบบีบรัดตัวเองเกินไป อยากให้ชีวิตมันช้าลงกว่านี้ ตอนผมทำงานก็ทำงานช้า ผมทำอะไรช้าๆ หมด ผมรู้สึกว่ามันยังไม่ดีพอ มันควรจะช้าลงกว่านี้ด้วยซ้ำ เดินให้มันช้าลง มองผู้คน และสิ่งรอบข้างให้ละเอียดมากขึ้น

เมื่อโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราก็ต้องปรับหลายๆ อย่าง ตื่นเช้ามาผมอ่านหนังสือเล่ม 60-70 เปอร์เซ็นต์ของชีวิตผมยังอ่านหนังสือเล่มอยู่ ขณะเดียวกันโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ผมก็เข้าไปอยู่เหมือนกัน เด็กรุ่นใหม่ ถ้าเขาอ่านหนังสือแล้วรู้สึกอยากจะเขียนบทกวี เขาเขียนแล้วมีความสุขกับมัน เขาก็จะขวนขวายของเขาเอง ครูคนแรกของเราก็คือหนังสือนะ 

การทำงานเขียนมันเป็นความโดดเดี่ยว บางทีเราก็ต้องออกมาจากความโดดเดี่ยวไปหาความรู้จากพื้่นที่ของการเสวนา หรือพื้นที่ของค่ายวรรณกรรมหรือการอบรมการเขียน แต่สุดท้ายคุณก็ต้องกลับมาสู่ความโดดเดี่ยวของการสร้างงานอยู่ดี"