#ThereIsHelp ฟีเจอร์ใหม่จาก 'ทวิตเตอร์' ตัวช่วยเหยื่อความรุนแรงทางเพศ

#ThereIsHelp ฟีเจอร์ใหม่จาก 'ทวิตเตอร์' ตัวช่วยเหยื่อความรุนแรงทางเพศ

ทวิตเตอร์ ร่วมกับองค์กรในไทยเปิดบริการใหม่ เพื่อลดปัญหาความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรีในช่วงมาตรการล็อคดาวน์จากการระบาดของ 'โควิด-19' โดยแจ้งเบอร์สายด่วนองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทันที เมื่อมีการค้นคำที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศ

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ ความรุนแรงทางเพศต่อเด็กและสตรีทั่วโลกเพิ่มสูงมากขึ้น (gender-based violence) ในขณะที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นที่มาของมาตรการล็อคดาวน์ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ

ตามรายงานของ UN Women ระบุว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีสตรีและเด็กผู้หญิงอายุ 15-49 ปีกว่า 243 ล้านคนทั่วโลกเผชิญกับความรุนแรงทางเพศและการทำร้ายร่างกายจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงดังกล่าว

ขีดเส้นใต้เฉพาะประเทศไทย นอกจากข่าวสารที่ปรากฎรายวันแล้ว จากการเก็บสถิติในช่วงที่ผ่านมา ดร.รัชดา ไชยคุปต์ นักวิจัยอาวุโสและอาจารย์สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก เปิดเผยว่าความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เดือนมกราคมซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ความรุนแรงต่อสตรีและเด็กผู้หญิงแม้จะเกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทว่ากลับไม่มีรายงานหรือมีการรายงานน้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากในช่วงเวลาที่มีการล็อคดาวน์และมีคำสั่งให้อยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้หญิงที่อาศัยอยู่กับคู่ครองที่มีความรุนแรงถูกแยกตัวออกจากผู้คนและหนทางต่างๆ ที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือพวกเธอได้

เมลิสสา อัลวาราโด ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก UN Women Asia Pacific ชี้ว่ามีเพียงผู้หญิงไม่ถึง 4 คนจาก 10 คน ที่ประสบกับความรุนแรงดังกล่าวแล้วมีการรายงานถึงอาชญากรรมเหล่านี้ หรือมีการขอความช่วยเหลือ

ด้วยข้อจำกัดจากสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ สื่อสังคมออนไลน์อย่าง 'ทวิตเตอร์' ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาและเพิ่มช่องทางที่สะดวกในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ โดยร่วมมือกับทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาผ่านบริการแจ้งเตือน #ThereIsHelp

สำหรับในประเทศไทย ทวิตเตอร์ได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือเด็กและสตรี อาทิ มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี องค์กรสาธารณประโยชน์ที่มีจุดประสงค์หลักในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเด็ก รวมทั้งผู้หญิงที่ถูกข่มขืนหรือถูกบังคับให้ค้าประเวณีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ, มูลนิธิเพื่อนหญิง องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ให้ข้อมูล ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทางการเงินแบบฉุกเฉินแก่ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ถูกกระทำรุนแรง และการค้ามนุษย์ และศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ที่ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ให้บริการความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับรายงานเกี่ยวกับปัญหาสังคมรวมถึงความรุนแรงทางเพศ การค้ามนุษย์ การทารุณกรรมเด็ก การถูกทอดทิ้ง และการถูกแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ

 

Monrawee Ampolpittayanant - Public Policy Manager, Southeast Asia (2)


มนรวี อำพลพิทยานันท์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะและการให้เพื่อสังคม ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวิตเตอร์ กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นของความรุนแรงต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ที่ทวิตเตอร์ตระหนักถึงและได้ทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ด้วยความเชื่อว่า

"การร่วมมือกันเป็นหัวใจสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็กผู้หญิง"


"ทวิตเตอร์มุ่งมั่นที่จะแก้ไขและยื่นมือช่วยเหลือผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ และเชื่อว่าการร่วมเป็นพันธมิตรผ่านบริการแจ้งเตือน #ThereIsHelp จะช่วยให้องค์กรในแต่ละประเทศสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนว่าสามารถเข้าถึงและได้รับความช่วยเหลือในยามที่พวกเขาต้องการมากที่สุด และในขณะเดียวกันก็ช่วยให้องค์กรเหล่านี้มีช่องทางในการติดต่อและเข้าถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออีกด้วย"

สำหรับลักษณะการทำงานของฟีเจอร์นี้คือ บริการการค้นหาทันที หรือ 'search prompt' บนทวิตเตอร์ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวการใช้งานใน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม รวมถึงประเทศไทย โดยรองรับภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศ

"การใช้งานง่ายมาก เพียงแค่พิมพ์คำที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศอย่างเช่น ความรุนแรงทางเพศ ล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงต่อผู้หญิง ความรุนแรงในครอบครัว หรืออื่นๆ ลงไปในช่องการค้นหาบนทวิตเตอร์ ผู้ใช้งานก็จะพบกับการแจ้งเตือนภาษาไทยที่จะแจ้งเบอร์โทรติดต่อสายด่วนไปยังองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ทันที" มนรวี อธิบายขั้นตอนการทำงาน

โดยเบอร์โทรศัพท์ขององค์กรที่จะปรากฏขึ้นเมื่อทำการค้นหาเป็นภาษาไทย ได้แก่ มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (โทร. 1134) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 (โทร. 1300) และ มูลนิธิเพื่อนหญิง (โทร. 02-513-1001) นอกจากนั้น การแจ้งเตือน #ThereIsHelp ยังรวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ที่รู้จักสตรีหรือเด็กผู้หญิงที่กำลังเผชิญกับปัญหาความรุนแรงทางเพศ ให้ติดต่อเพื่อแจ้งเรื่องไปยังองค์กรทั้งสามเหล่านี้ด้วย

"ในขณะที่เหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดระหว่างที่มีการล็อคดาวน์ในประเทศไทย ทวิตเตอร์หวังว่าการร่วมมือกับมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง และศูนย์ช่วยเหลือสังคม จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น และสร้างการรับรู้ต่อสตรีและเด็กผู้หญิงว่ามีองค์กรเหล่านี้ที่พร้อมช่วยเหลือพวกเขาอยู่เสมอ" ผู้แทนจากทวิตเตอร์ กล่าวถึงความคาดหวังและว่า ฟีเจอร์ดังกล่าวพร้อมให้บริการแล้วใน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งประเทศไทย และยังมีแผนที่จะขยายการให้บริการนี้ออกไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเร็วๆ นี้

หนึ่งในพันธมิตรของโครงการดังกล่าว ดร.สนองวิชญ์ ภูวันทมาตย์ ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 เผยว่า "การเปิดให้บริการ #ThereIsHelp ระบบการแจ้งเตือนบนทวิตเตอร์ที่จะช่วยแจ้งเบอร์โทรสายด่วนเพื่อสตรีและเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ นับเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศสามารถได้รับความช่วยเหลือเมื่อยามต้องการ”

นอกจากการยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีที่กำลังเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ ในประเทศไทย ทวิตเตอร์ยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย (@Samaritans_Thai) เปิดตัวบริการแจ้งเตือน #ThereIsHelp ขึ้นในประเทศไทยเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตนเองอีกด้วย

"ทวิตเตอร์มุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศไทย และต้องการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้งานชาวไทย เพื่อช่วยเหลือสังคมไทยให้มากยิ่งขึ้น" มนรวี กล่าวทิ้งท้าย