วินาทีจากลาของ‘ตั้ว-ศรัณยู’ จากมุมพี่ชาย‘เอก-ธเนศ’

วินาทีจากลาของ‘ตั้ว-ศรัณยู’  จากมุมพี่ชาย‘เอก-ธเนศ’

คนที่กำลังจะจากไป อาจหลงลืมอะไรบางอย่าง ‘เอก-ธเนศ’ จึงพยายามทำให้ห้วงเวลาสุดท้ายของน้องชาย‘ตั้ว-ศรัณยู’เป็นไปครรลองแห่งธรรม(ชาติ) จากโลกนี้ไปอย่างสงบ

 

การแสดงครั้งสุดท้ายของตั้วคือ การแสดงธรรม สำหรับผมแล้ว มันยิ่งใหญ่มากกับการเกิดเป็นมนุษย์คนหนึ่ง” ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ พี่ชายคนโตของ ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง เล่าถึงวินาทีที่น้องชายจากไป เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ในวันนั้นนอกจากเขา ยังมีลูกตั้ว เปิ้ล(ภรรยา) ลุง น้อง ทีมงาน ฯลฯ รวมๆ 15 คน ยืนอยู่ข้างเตียงในช่วงที่ลมหายใจของตั้วค่อยๆ แผ่วเบา

เมื่อถามเรื่อง การจากลาของน้องชาย ธเนศ เล่าว่า สองสามวันนั้น เขาคุยกับตั้วตลอด แม้ตั้วจะไม่พูด แต่รับรู้ และในที่สุดก็ตัดสินใจจากไปอย่างสงบ

ในฐานะพี่ชายที่สนใจธรรมะ เคยบวชเรียน ฝากตัวเป็นศิษย์ของพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญนานกว่า 3 เดือน แม้ย่างเข้าเดือนที่ 4 ไม่อยากสึก แต่พระอาจารย์ไล่ให้กลับมาอยู่กับครอบครัว โดยใช้ความถนัดทางการแต่งเพลง ร้องเพลง และการเป็นนักแสดง สร้างประโยชน์ให้ส่วนรวมและทางธรรม

 ธเนศ บอกว่า เขาพยายามทำหน้าที่พี่ชายให้ดีที่สุด  ทำไปตามที่สมควรทำ 

"น้องๆ ตรงนั้นบอกว่า ดีจังที่พี่เอกนำพี่ตั้ว และทำให้ทุกคนอยู่ในบรรยากาศความสงบ ”

  

IMG_0965  (ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ )

 

 สายสัมพันธ์พี่น้อง

ผมก็เพิ่งทราบเมื่อไม่นานว่าตั้วป่วย ก็ได้คุยกันทางโทรศัพท์ เพราะผมเป็นห่วง ตั้วบอกว่า รักษาด้วยการฉายแสง่ ไม่พูดคำว่ามะเร็งเลย  หลังจากนั้นตั้วไปอยู่โรงพยาบาลหกวัน เพราะกินอาหารไม่ได้แล้วเหมือนที่เปิ้ล(ภรรยา)เล่าทุกอย่างในวันแถลงข่าว ตอนนั้นเขาไม่ยอมบอกใครเลยว่าป่วยหนัก สำหรับผมไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตั้วไม่บอกใคร เพราะผมเองก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน

ถามว่าสนิทกันไหม...ผมเป็นพี่ชายคนโต ตั้วเป็นน้องต่อจากผม ก็สนิทกัน เติบโตมาด้วยกัน ตอนเด็กๆ ผมอยู่สมุทรสงคราม ตั้วย้ายมาอยู่กับคุณลุงคุณป้าที่ขอตั้วมาเลี้ยงตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ คุณลุงรักตั้วมาก จึงเปลี่ยนนามสกุลตั้วมาเป็น วงษ์กระจ่าง คนก็เลยไม่รู้ว่าเราเป็นพี่น้องกัน ตอนที่ตั้วเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ช่วงปิดเทอมใหญ่ ตั้วจะกลับบ้านที่สมุทรสงคราม เราก็เล่นน้ำด้วยกันตามประสาเด็กบ้านนอก และไม่นานผมและพี่น้องก็ย้ายมาอยู่กับคุณลุงที่กรุงเทพฯ

ทั้งๆ ที่ตั้วไม่ได้บอกใครว่าป่วย แต่มีคนอยู่ตรงนั้น(โรงพยาบาล)เยอะพอควร ช่วงวันแรกๆ ผมบอกน้องๆ ว่า ใครจะร้องไห้ก็ร้อง พอมาช่วงวันหลังๆ ผมบอกว่า ถ้าไม่ไหวก็หลบไปร้องในห้องน้ำ โดยเฉพาะตอนที่หมอมากระซิบว่า อัตราการเต้นหัวใจต่ำลงมาก ผมก็กังวลว่า “จะเกิดอะไรที่ไม่สมควรแห่งธรรม” เหมือนที่เราเห็นบ่อยๆ ว่า เวลาที่คนจะจากไปในช่วงลมหายใจสุดท้าย ก็จะมีคนตรงนั้นปล่อยโฮ ร้องไห้สนั่นห้อง

ผมก็คุยกับเปิ้ลและหลาน รวมถึงทุกคนตรงนั้นว่า ต้องระวังไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น เพราะไม่อยากให้ตั้วกังวล ผมให้ความสำคัญตรงนี้ เมื่อทุกคนเข้าใจ จังหวะนั้นต่างทำหน้าที่ตามธรรมได้ดีมาก 

ช่วงสองวันสุดท้าย ผมคุยกับตั้วว่า “สู้นะ...แต่ถ้าอยากจะพัก ก็ตัดสินใจเอง ไม่ต้องห่วงอะไร ให้อยู่กับความรู้สึกสบายๆ ถ้าหลับไปแบบสบายๆ ตื่นมาก็สบาย จะไปตื่นที่ไหนก็ช่างมัน” 

  20171211125308923 (1)

 

แม้ตั้วจะไม่พูด แต่ได้ยิน และเข้าใจ เขาเองก็สนใจธรรมะ เรื่องเหล่านี้เข้าใจไม่ยาก เพียงแต่ในช่วงเวลานั้นเผลอลืมกันได้ ผมก็ใช้เวลาทบทวนให้ตั้ว ทำแค่นี้แหละ เรื่องอื่นไม่มีอะไรสำคัญกว่านี้ ลูกและภรรยาก็ให้ความมั่นใจเขาว่า ไม่ต้องกังวล

บรรยากาศตอนนั้นไม่มีใครพูดว่า “อย่ายอมนะ ต้องอยู่ต่อ อย่าทิ้งพวกเราไป” ถ้าพูดอย่างนั้นจะทำให้เขาว้าวุ่นใจ หากตั้วอยากพักแล้วจะทำให้เขาสับสน ทรมานใจมากกว่าทรมานกาย ผมมองว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจะไม่เป็นไปตามธรรมชาติที่สมควรจะเป็น

 

วาระสุดท้ายแห่งความสงบ

       น้องๆ บอกว่า “ดีจังเลยที่พี่เอกนำพี่ตั้ว และทำให้ทุกคนอยู่ในบรรยากาศความสงบ” คนที่รักตั้วสัมผัสได้ถึงสิ่งที่ผมตั้งใจทำ เพื่อที่จะทำให้ตั้วและทุกคนเห็นธรรม อย่างน้อยๆ ผมก็ได้ทำหน้าที่พี่ชายเต็มที่ อีกอย่างตั้วเป็นคนของประชาชน คนก็ให้ความสนใจ เมื่อผมเล่าบรรยากาศแห่งธรรม คนอ่านก็ได้ประโยชน์ไปด้วย

ผมเองก็ไม่ได้คิดว่า ผมจะทำหน้าที่อะไร อะไรที่เหมาะสม สมควรแห่งธรรม ก็ทำตามนั้น ถ้าปฎิบัติตามธรรมที่สมควรมันเกิดประโยชน์จริงๆ ผมก็ไ่ม่ได้มีภูมิธรรมอะไร เป็นแค่ชาวพุทธคนหนึี่งที่สนใจธรรมะตามวัย

หลังจากที่ตั้วจากไปอย่างสงบ ทุกคนบอกว่า เป็นภาพที่ดีงามกับการจากไปของคนๆ หนึ่งรู้สึกได้ถึงความสงบ แน่นอนว่ามีความโศกเศร้า แต่มีความสงบในความเศร้านั้น ไม่ใช่ความเศร้าแบบทุรนทุราย ทุกข์ทรมาน

เพราะตั้วทำให้เกิดบรรยากาศแห่งธรรม ทำให้เกิดกุศลในวงกว้าง สมกับที่ตั้วทำงานด้านศิลปะการแสดงและบันเทิงเพื่อสาธารณชนมาทั้งชีวิต แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางโลก

จนมาถึงวาระสุดท้ายของตั้ว คนก็ได้เห็นการแสดงครั้งสุดท้ายคือการแสดงธรรม สำหรับผมแล้ว มันยิ่งใหญ่มากกับการเกิดเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นการจากไปอย่างสงบ 

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ พี่ๆ น้องๆ ยังห่วงว่า ถ้าต้องตัดสินใจบางอย่างทางการแพทย์ เพื่อให้ตั้วอยู่กับเรานานๆ เราสมควรจะใส่ท่อช่วยหายใจไหม พวกเรายังไม่ได้ตัดสินใจ แต่เสียงส่วนใหญ่บอกว่า ให้ปล่อยตั้วไปตามธรรมชาติ เพราะตั้วเคยบอกว่า ไม่ปรารถนาให้ยื้อชีวิต แต่คนในครอบครัวก็ทำใจยาก

ในที่สุดตั้วตัดสินใจให้เห็นชัดเจน เมื่อทุกคนมาพร้อม ตั้วคงรู้สึกหมดห่วง ช่วงที่อัตราการเต้นหัวใจตกลงเรื่อยๆ เขานอนนิ่งๆ เหมือนกำลังจะหลับ ใช้เวลาเพียง 20 นาทีก็จากไป เหมือนที่บอก ตั้วสงบ จนเราต้องสงบตาม เพราะที่ผ่านมาอัตราการเต้นหัวใจไม่มีลงๆ ขึ้นๆ เหมือนเขาตัดสินใจแล้ว

ในวาระสุดท้าย ตั้วก็ยังดูแลพวกเรา ตัดสินใจเอง ไม่เป็นภาระลูกและภรรยา ช่วง 6 วันสุดท้ายเขาตัดสินใจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จากอัตราการเต้นหัวใจนิ่งมาสองสามวัน เขาตัดสินใจจากไปภายใน 20 นาที

 

ใครว่า...ลุงเอกไม่ร้องไห้

ลูกตั้ว ที่เป็นหลานผม ถามว่า “ทำไมลุงเอกไม่ร้องไห้เลย เข้มแข็งจัง หนูอยากทำได้เหมือนลุง”

ผมบอกว่า “รู้ได้ยังไง ลุงไม่ร้องไห้ ลุงร้องข้างใน ถ้าไม่ไหว ลุงก็แอบไปร้องไห้ในห้องน้ำ” และหลานก็แอบสังเกตเห็น แล้วบอกว่า “หนูเห็นตอนลุงเอกร้องไห้แล้ว”

ในงานศพวันแรก หลานก็ร้องไห้ ตอนที่แขกยังไม่มา ผมก็เลยจูงมือหลานทั้งสองมานั่งตรงหน้าพ่อเขา ให้นั่งนิ่งๆ แล้วบอกว่า เมื่อมีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นในใจ ให้เราเป็นผู้ดู ดูเฉยๆ เหมือนดูอะไรสักอย่าง 

ถ้าเศร้าขึ้นมา ก็รู้ว่าเรากำลังเศร้า พอเราเห็นแล้วว่า เราเศร้า นั่นแปลว่าเราไม่เศร้า  ผมก็บอกไปแบบนี้ ตามประสาเด็กวัดที่เคยบวชเรียน ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ง่ายที่จะทำได้ 

อย่างน้อยๆ อานิสงส์ของพ่อเขา จะทำให้หลานเริ่มสนใจเรื่องนี้(ธรรมะ) แม้เขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม แต่จะเป็นเชื้อเอาไว้ หากวันหนึ่งหลานเจอความทุกข์หรือคิดถึงพ่อ วิธีการเหล่านี้จะแวบขึ้นมา เขาก็ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ และเขาก็จะพ้นทุกข์จากความเศร้านั้นๆ อย่างที่บอก มันเป็นอานิสงส์ของตั้ว เหมือนตั้วแสดงธรรมครั้งสุดท้าย อยู่ที่เราจะคว้าธรรมะจากที่ตั้วให้มาได้มากน้อยแค่ไหน ผมในฐานะพี่ชาย ลุงของหลาน และพี่ของน้องๆ ผมก็พยายามรวบรวมธรรมที่แสดงตัวขึ้นมาให้ทุกคนที่สนใจในเวลานั้นได้เห็นและรับรู้ พอเกิดกุศลขึ้นมาก็อุทิศให้ตั้ว 

ผมบอกหลานว่า เวลาเขานึกถึงพ่อ ก็เป็นบุญของพ่อ เราก็ทำหน้าที่ลูกที่ดี ผมทำแค่นี้ตามประสาชาวบ้าน ถ้าใครเห็นประโยชน์ลองทำดู แต่ไม่ใช่เหมาะกับทุกคน แต่ละคนต้องเรียนรู้เอง อย่าถือสาระว่า สิ่งทีี่ผมพูดเป็นหลักการอะไร แต่ละคนต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง

 

มีใครบ้าง...ไม่กลัวตาย

เกิดมาก็ต้องตาย ถามว่ากลัวไหม กลัวอยู่แล้ว ก็ต้องเรียนรู้ว่าทำยังไงไม่กลัว ผมก็อยู่ในขั้นตอนการเรียนรู้ทุกวัน ก็ต้องฝึก เพราะทุกคนเข้าใจและรู้ดีว่าชีวิตไม่เที่ยง แต่ไม่คิดว่าสิ่งนี้จะเกิดกับตัวเอง ไม่คิดว่าจะเป็นตัวเราที่ตายในวันนี้ ถ้าคิดว่าเราตายได้ในวันนี้หรือพรุ่งนี้ สิ่งที่ยังไม่ได้ทำหรือค้างคาใจ ก็จะค่อยๆ ทำไป สำหรับผม เมื่อเกิดความกลัวไม่อยากตายตอนนี้ เพราะยังไม่ได้ทำสิ่งที่คิดไว้ ผมก็เลยต้องฝึก ผมมีบทภาวนาที่ผมแต่งทำนองและคำร้องชื่อ ‘เพลงวันเดียว’

ผมคิดว่า ในโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่จะช่วยเราให้แก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยั่งยืนตลอดไปได้เลยนอกจากธรรมะ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ธรรมะจำเป็นต่อชีวิตแค่ไหน ผมเองก็เคยไม่เข้าใจมาก่อน แม้ในโลกนี้มีวิธีแก้ปัญหาเยอะแยะ แต่แก้แล้วก็มีปัญหาใหม่ที่สืบเนื่องมาจากปัญหาเดิมไม่จบสิ้น

ถ้าถามว่า พูดอย่างนั้น ต้องไปบวชสิ...สำหรับผมไม่ต้องบวชครับ ทำตามสมควรแห่งธรรมที่เราอยู่บนโลกนี้ และไม่ใช่ว่ามีธรรมะอย่างเดียวแล้วไม่ทำอย่างอื่นเลย คนเราต้องมีธรรมะประกอบในชีวิต และผมพยายามใช้ชีวิตที่เหลือทำทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรม

ผมสนใจเรื่องความตายมาหลายปีแล้ว กิจกรรมที่ผมทำทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน ผมมีเพลงเกี่ยวกับความตายหลายเพลง มีกลุ่มคีตะธรรมภาวนาไปแสดงในงานศพ ไม่มีค่าใช้จ่าย แค่มีข้าวให้กิน และผมจะไปแสดงก็ต่อเมื่อครอบครัวนั้นสนใจและเข้าใจเรื่องทางธรรม ไม่อย่างนั้นจะเกิดอกุศลกัน ผมจะไม่นำเสนอ เพราะเรื่องนี้ละเอียดอ่อน

ตอนนี้ผมไม่ได้ใช้ดนตรีทำมาหากินแล้ว แต่ใช้ดนตรีอุทิศให้ครูบาอาจารย์ที่แนะนำให้ทำประโยชน์ให้คนอื่น การใช้ดนตรีเพื่อสร้างชื่อเสียงจบแล้ว โครงการที่ผมจะทำต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความตาย ดนตรีเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่ง แต่ไม่ใช่สื่อหลัก