‘จูบ' ทักทาย...ใครคิดว่าไม่สำคัญ

‘จูบ' ทักทาย...ใครคิดว่าไม่สำคัญ

เมื่อ 'โควิด-19' ทำให้พวกเขาไม่สามารถ 'จูบแก้ม' ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยเป็นมา ความโหยหาการทักทายแบบเดิมๆ นั้นลึกซึ้งมากกว่าความเคยชิน แต่มันคืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่บนความใกล้ชิดทางกายภาพ

 

การทักทายเพื่อนและคนรู้จักด้วยการจูบแก้ม การกอดและการจับมือ นับเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำคัญที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของคนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

แต่การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรน่า ทำให้วิถีปฏิบัติดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงกระทันหัน โดยที่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเมื่อไหร่สถานการณ์ถึงจะปลอดภัยและวิถีชีวิตจะกลับคืนสู่สภาพเดิม

ความกลัวต่อการแพร่กระจายของไวรัสมรณะทำให้ประเพณีปฏิบัติต่างๆ ต้องหายไป เพราะการอยู่ใกล้ๆ กันหรือการสัมผัสทางกายอย่างใกล้ชิดกลายเป็นสิ่งต้องห้ามและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แดเนียล เรจจิโอ ชาวประมงที่อาศัยอยู่ในเมืองมาร์เซย์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เคยทักทายเพื่อนๆ ด้วยการ ‘bise’ หรือ การจูบที่แก้มซ้ายและขวา ซึ่งเป็นธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวฝรั่งเศส นับตั้งแต่การแพร่กระจายของโรคโควิด-19 เขาเปลี่ยนไปใช้การชนข้อศอกเป็นการทักทายแทน

“จะให้บอกว่าเราไม่คิดถึงการทักทายแบบเดิมคงไม่ได้ แต่การไม่ได้ทักทายด้วยการจุ๊บแก้ม ไม่ใช่ว่ามิตรภาพของเราจะสิ้นสุดลงหรือเราจะเลิกคบค้าสมาคมกัน” แดเนียล กล่าวในขณะที่ขายปลาตะเพียนทะเลที่บริเวณท่าเรือเก่าแก่ของมาร์เซย์

อีวอน ทาเปียส ชายวัยเกษียณซึ่งรับจัดทัวร์เดินเท้าในมาร์เซย์ใช้วิธี ‘การทักทายแบบอู่ฮั่น’ หรือการใช้เท้าทักทายแทนการจูบแก้มหรือจับมือ ซึ่งเป็นวิธีทักทายที่ตั้งชื่อตามเมืองอู่ฮั่นที่เป็นต้นตอของการระบาดของไวรัสมรณะ

“ผู้คนทางตอนใต้ [ของฝรั่งเศส] ยังถวิลหาการทักทายด้วยการสัมผัสทางกาย ตอนนี้เราจึงสัมผัสกันผ่านฝ่าเท้าไปก่อน” เขากล่าวพลางชี้ไปที่ด้านในของรองเท้า

 

gree2

 

วัฒนธรรมการทักทายด้วยการจุ๊บแก้มเป็นเรื่องปกติในมาร์เซย์แม้แต่ผู้ชายด้วยกันเอง “มันเป็นสถานที่แรกที่ผมจุ๊บแก้มผู้บริหาร ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะได้จุ๊บนายธนาคาร” ฌอง-ฟรองซัวส์ โชเน่ต์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์อารยธรรมแห่งยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งย้ายมาจากกรุงปารีสเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมากล่าว

ห่างออกไปทางตะวันตกตามแนวชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผู้คนจากเมืองมองต์เปลิเย่ร์เป็นแฟนตัวยงของการทักทายด้วยการจุ๊บแก้ม พวกเขาทักทายกันด้วยการจูบแก้มซ้าย-ขวา 3 ครั้งอย่างกระตือรือร้น

“พวกเราคิดถึงการจุ๊บแก้มจริงๆ มันทรมานใจทุกครั้งที่เราต้องคอยหยุดตัวเองไม่ให้ทำแบบนั้น” เมโลดี้ ริโคด์ นักเรียนในมองต์เปลิเย่ร์กล่าว ก่อนจะเสริมว่าตอนนี้เธอกำลังลังเลว่าจะใช้วิธีทักทายอย่างไรระหว่างการใช้มือแสดงท่าทาง หรือการทักทายแบบอินเดียด้วยการพนมมือทั้งสองข้างระหว่างอก

ฟาติมา บูลามาต หญิงสาวจากโมร็อกโกที่อาศัยอยู่ในเปอตี บาร์ด ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงานในมองต์เปลิเย่ร์ก็เลิกทักทายเพื่อนๆ ด้วยการสัมผัสทางกายแล้ว

“ฉันทำสัญญาณอย่างที่คุณยายของฉันทำ ด้วยการเอามือขวาวางไว้ตรงหัวใจและจ้องมองหน้าเพื่อนอย่างจริงจังเพื่อให้พวกเขารู้สึกถึงความรักของฉัน” เธอกล่าว

 

gree6

 

โมฮัมเหม็ด เวอร์เดนี่ นักแสดงชาวตูนีเซียบอกว่า การทักทายด้วยการสัมผัสทางกายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีท้องถิ่น “พวกเราชอบจุ๊บแก้มกัน 2 ครั้ง 3 ครั้ง หรือ 4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับแต่ละภาค มันเป็นเรื่องที่แปลกมากที่ต้องทักทายกันด้วยคำพูดว่า ฮัลโหล อย่างที่ทำในตอนนี้” โมฮัมเหม็ดกล่าว

ความใกล้ชิดทางกายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ทาง สังคมของคนในอีกฝั่งหนึ่งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นั่นคือตูนิเซียและแอลจีเรีย

นาเซอร์ จาบี้ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอลเจียร์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางกายภาพมีความสำคัญมากในอัลจีเรีย “พวกเรามีการสัมผัสตัวกันมาก พวกเราถ่ายทอดความอบอุ่นและการแสดงออกผ่านท่าทางของเรา” นาเซอร์กล่าว

“การกอดและจูบเป็นสัญญาณของความเมตตาและคำขอบคุณ” โมฮัมเหม็ด จูอิลี่ นักสังคมวิทยาชาวตูนิเซียชื่อดังกล่าวเสริม

 

gree7

 

ด้าน เจเนวีฟ โซเอีย นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสบอกว่า อัตลักษณ์ของชาวเมดิเตอร์เรเนียนตั้งอยู่บนความใกล้ชิดทางกายภาพ จำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมากในอิตาลี สเปนและฝรั่งเศสจากโรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมเหล่านั้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวเมดิเตอร์เรเนียน

จาเวียร์ เออร์ร่า นักจิตวิทยาชาวสเปนกล่าวว่า ความกลัวในไวรัสมาก่อนทุกสิ่งอย่างแม้แต่ในประเทศที่ให้ความสำคัญมากกับการใกล้ชิดทางกายอย่างสเปน อย่างไรก็ตามการทำตัวให้คุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอาจเป็นเรื่องยาก

“พฤติกรรมของเรากลายเป็นนิสัยไปแล้ว ในสเปน เราได้รับการบอกตั้งแต่เด็กว่า “ให้จูบคนนั้นสิ” พอมาตอนนี้กลับมีคำสั่งออกมาให้ปฏิบัติทันทีว่า “ห้ามแตะต้องตัวใครเลย” ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกือบจะผิดธรรมชาติ” จาเวียร์กล่าว

ฌอง-ฟรองซัวส์ กล่าวเสริมว่า การที่ผู้คนหันมาใส่ 'หน้ากากอนามัย' หรือ 'หน้ากากผ้า' กันอย่างแพร่หลายเพื่อป้องกันการแพร่และการติดเชื้อโรคอาจเป็นการทำลายประเพณีดั้งเดิมครั้งใหญ่กว่าการไม่จูบหรือไม่จับมือกัน “ในสังคมของเรา การสวมหน้ากากเป็นเรื่องผิดธรรมชาติมาก”

 

gree1

 

มานูเอล อามาโยเนส อาจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยกาตาลุนย่าในบาร์เซโลนากล่าวว่า ไวรัสดังกล่าวทำให้คนรู้สึกบอบช้ำทางจิตใจ “เรากำลังสร้างแนวปฏิบัติทางสังคมใหม่เพื่อตอบสนองกับโรคระบาดครั้งนี้ แต่มันก็ช่วยให้เรามองหาวิธีอื่นๆ ในการแสดงอารมณ์ความรู้สึกได้มากขึ้นกว่าเดิม"

เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับชาวประมงอย่างแดเนียลซึ่งบอกว่า การสวมหน้ากากสอนให้เขายิ้มด้วยดวงตาของเขา "และเรายังสามารถเพิ่มคำกล่าวทักทายเพื่อชดเชยกริยาท่าทางที่เราไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เช่น คำว่า เพื่อน และ พี่ชาย" เขากล่าว

..............

ที่มา: สำนักข่าวเอเอฟพี