‘BNK48 : One Take’ สารคดีไทยเรื่องแรกบน Netflix ของ ‘โดนัท มนัสนันท์’

‘BNK48 : One Take’ สารคดีไทยเรื่องแรกบน Netflix ของ ‘โดนัท มนัสนันท์’

อีกครั้งกับหนังสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องจริงหลังม่านการแสดงของวงไอดอล BNK48 การต่อสู้เพื่อการมีตัวตน การแข่งขันเพื่อหาที่ยืนบนเวทีที่แสงไฟส่อง ด้วยมุมมองของผู้กำกับสาวที่พิสูจน์ฝีมือแบบเทคเดียว “ผ่าน!”

ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการได้ชื่อว่าเป็น Original Content ของแพลตฟอร์มบันเทิงออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix โดยเฉพาะกับสื่อประเภทสารคดีหรือ Documentary ที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักของวงการบันเทิงบ้านเรามาแต่ไหนแต่ไร ทว่า ‘โดนัท’ มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ดาราสาวที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับ กำลังพิสูจน์ฝีมือด้วยสารคดีไทยเรื่องแรกที่ได้เป็น Original Documentary บนเน็ตฟลิกซ์

BNK48 : One Take เป็นภาพยนตร์สารคดีลำดับที่สองที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับวงไอดอล BNK48 ถัดจาก Girls Don’t Cry ของผู้กำกับ ‘เต๋อ’ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่ฉายไปเมื่อปี 2561 แม้จะเล่าเรื่องของวงเดียวกัน ทว่าไม่เกี่ยวข้องกัน โดยที่โดนัทนิยามว่าใน Girls Don’t Cry เล่าในมุมมองคนที่ชื่นชอบ แฟนคลับ คนที่ให้กำลังใจ แต่ One Take ถูกเล่าในฐานะ 'คนไม่รู้จัก'

  • One Take, First Take!

จากคนที่ข้อมูลเกี่ยวกับ BNK48 เป็นศูนย์ ต้องได้รับโจทย์ใหญ่คือต้องทำหนังเกี่ยวกับช่วงเวลาอีเว้นท์ใหญ่ประจำปีของวงในเครือ 48 Group คืองานเลือกตั้ง BNK48 6th Single Senbatsu General Election ครั้งแรกเมื่อปี 2562 ทำให้โดนัทต้องหาข้อมูลอย่างหนัก จนพบว่าความยากไม่แพ้ที่เคยทำสารคดีเรื่อง The Journey บันทึกทางไกลถึงพ่อ ซึ่งต้องรวบรวมฟุตเทจที่มีน้อยและหายาก นั่นคือ การมีฟุตเทจมากเกินไป

“พอมาทำสารคดี BNK48 ฟุตเทจหาไม่ยาก แต่ฟุตเทจที่คนไม่เคยเห็น หาไม่ได้”

โดนัทอธิบายว่าด้วยรูปแบบของวงที่ต้องแสดงตัวตนบนพื้นที่สาธารณะตลอดเวลา ภารกิจเสาะหาฟุตเทจที่คนไม่เคยเห็นจึงเริ่มต้นขึ้น ถึงขนาดว่าต้องข้ามฟ้าไปประเทศญี่ปุ่นที่ต้นตำรับในย่าน Akihabara แล้วย้อนกลับมาที่ตัวเมมเบอร์ของวงทั้ง 51 คน ณ ตอนที่ถ่ายทำผ่านมุมมองของผู้หญิงด้วยกัน เปิดใจกัน และอยู่ในพื้นฐานเดียวกันคือทุกคนมีสิทธิ์ตอบครั้งเดียว

“ที่ชื่อว่า One Take เพราะไม่มีใครมีสิทธิ์ตอบเทคที่สอง เชื่อมโยงกับการเป็นสารคดี ไม่มีอะไรปรุงแต่ง มันอาจจะมีมุมที่เราเลือกเล่า แต่เราเว้นที่ว่างไว้ให้คนดู เด็กทุกคนเปิดใจหมดเลย โดนัทมั่นใจว่าในสารคดีเรื่องนี้เราจะไม่เคยเห็นน้องๆ ในมุมแบบนี้ และสำหรับเราก็ได้เห็นเขาในมุมของเด็กผู้หญิง มีวันที่เขาไม่น่ารัก มีวันที่เขาเบื่อ ซึ่งเราพยายามถ่ายโดยให้เขาไม่รู้ว่าเรากำลังทำหนัง เพื่อให้ได้สิ่งที่จริงที่สุด แม้ในวันที่เขาเริ่มรู้ว่าเราต้องเอาไปทำอะไรสักอย่าง เราก็ทำให้เขาลืมไปว่าเราถ่ายอยู่”

one-take#sdp_na_01_en

  • ยิ่งกว่าเรื่องหัวตารางและท้ายตาราง

สารคดีเรื่องนี้เล่าเรื่องวงไอดอลหญิง โดยผู้กำกับหญิง และทีมงานตัดต่อ และช่างภาพผู้หญิงแทบทั้งหมด จนได้หนังในแบบที่โดนัทต้องการสื่อสาร และเมื่อยิ่งถ่ายทำไปก็ยิ่งได้พบบางแง่มุมจากเมมเบอร์หลายคน เธอยกตัวอย่าง จิ๊บ BNK48 ที่เคยถูกกล่าวถึงไปแล้วในสารคดีเรื่อง Girls Don’t Cry ในฐานะคนท้ายตารางและตัวแทนของความพยายาม ซึ่งในสารคดีเรื่องล่าสุดนี้ จิ๊บ BNK48 ได้รับโอกาสร้องเพลง It’s Me ประกอบภาพยนตร์ แต่ตอนที่โดนัทบอกว่าจะให้ร้องเพลง ไอดอลสาวกลับบอกว่า “หนูอยากให้เพื่อนทุกคนได้ร้องเพลงนี้ด้วยกันค่ะ” เป็นประโยคที่ทำให้ประหลาดใจมากเพราะพื้นฐานของวงไอดอลคือการแข่งขันทั้งกับตัวเองและกับเมมเบอร์คนอื่นๆ เพื่อที่ยืนในตำแหน่งตัวจริง

กับจำนวนเมมเบอร์ของวงมากถึง 51 คน ระยะห่างของ ‘ผู้นำ’ และ ‘ผู้ตาม’ จึงยิ่งไกลออกไป แต่ผู้กำกับเลือกมองข้ามสถานะดังกล่าว แล้วโฟกัสที่ภาพใหญ่กว่านั้นนั่นคือ การตามฝันบนโลกความจริง ที่ไม่เป็นอย่างหลายคนคิด

“เราพูดถึงความฝันในโลกความจริงว่าบางทีมันใจร้าย แต่มันจริง เราสู้กันแทบตาย พอชนะปุ๊บเดี๋ยวก็วนกลับมาใหม่ แต่เราเรียนรู้...

...หนังเล่าเรื่องที่ค่อนข้างเป็นมวลรวมของเด็กผู้หญิงกลุ่มนี้ว่าถูกขับเคลื่อนโดยอะไร แน่นอนว่าต้องมีตัวละครที่น่าสงสารมาก และมีตัวละครที่อาจจะน่าหมั่นไส้ แต่จะมีบทสรุปของแต่ละตัวอยู่ อย่างน้องจิ๊บ BNK48 ตอนที่เลือกตั้งเราก็หวังว่าเขาจะได้ดีกว่าอันดับ 32 แต่น้องก็ยังได้อันดับสุดท้าย เขาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญตอนที่เราทำเพลง It’s Me สะท้อนถึงคนที่ถูกคนอื่นบอกว่าเราไม่ดีพอ แต่ฉันรับได้นะจ๊ะ”

One Take_Donut_3-1

  • ผู้กำกับสาวสาย Doc

ถึงสารตั้งต้นของสารคดีเรื่องนี้จะเตรียมฉายในโรงภาพยนตร์ แต่จังหวะและปัจจัยต่างๆ ทำให้ย้ายแพลตฟอร์มมาสู่เน็ตฟลิกซ์ ไม่แตกต่างจากการได้รับเลือกติดเซ็มบัตสึในตำแหน่งเซ็นเตอร์คือนักร้องนำ ความน่าสนใจของสารคดีเรื่องนี้เข้าตาเน็ตฟลิกซ์จนได้รับเลือกเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของไทย

“เราดีใจ ตกใจ ปนงงๆ แต่สิ่งที่เราทำมาตลอดมันตอบเราแล้วว่าความพยายามในการทำหนังของเรามันส่งผลแล้วนะ อีกอย่างคือด้วยแพลตฟอร์มนี้ดูได้ทั่วโลก เราได้พูดถึงวัฒนธรรมของประเทศเรา เหมือนปีนี้ที่หนังจากเอเชียได้รางวัลออสการ์ ต่อให้ไม่ใช่ประเทศไทยก็เถอะ แต่เราดีใจจริงๆ เรารู้สึกว่าคนเอเชียได้พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านของเรา ซึ่งจริงๆ มันสากลนะ แค่พูดคนละภาษาเท่านั้นเอง”

เส้นทางสายผู้กำกับสารคดีของโดนัทเริ่มจากความสนใจในฐานะคนดูที่ต้องการเสพความจริง ไม่ปรุงแต่ง ต่อจากนั้นเธอฝึกฝนจนได้สร้างสารคดีเรื่องเยี่ยมขึ้นมาคือเรื่อง ‘The Journey บันทึกทางไกลถึงพ่อ’ เกี่ยวกับการเดินทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนมาถึงสารคดีเรื่องล่าสุดที่กำลังจะฉายบนเน็ตฟลิกซ์ในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 นี้ ถึงจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่มากมายบนถนนสายนี้ แต่ความมุ่งมั่นจนพิสูจน์ตัวเองได้ในฐานะ ‘คนแรก’ ก็ทำให้เธอพอจะมองเห็นบางอย่างในวงการสารคดีประเทศไทย

“สำหรับเรา สารคดีมันสนุก ดูง่ายขึ้นมาก และมีเนื้อหาหลากหลาย บางทีเรื่องจริงน้ำเน่ายิ่งกว่าเรื่องแต่งอีก เดี๋ยวนี้ถ้าเราสังเกต Feature Film ทุกคนจะใช้ฟุตเทจจริง ทุกคนจะถ่ายแบบสารคดี เพราะว่ามันจริงไง

พอตอนนี้เรามีโอกาสได้ทำหนังบนแพลตฟอร์มที่เป็นสากล คิดว่ายิ่งเป็นโอกาสที่ดี จริงๆ One Take เป็นคอนเทนต์ที่เล็กมาก แต่เน็ตฟลิกซ์กล้าหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาให้เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของไทย เราว่ามันก็ตอบคำถามนะว่าเขาเปิดมากๆ เลยสำหรับเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่เล่าเรื่องหรือสื่อสารความคิดของคนในช่วงเวลานั้นๆ ได้ คิดว่าอนาคตของสารคดีมีอะไรอีกเยอะ

เราเป็น Independent Filmmaker (คนทำหนังอิสระ) ซึ่งมันโคตรยากในประเทศนี้ที่เราจะทำอะไรแบบนี้ได้ แต่ตอนนี้เรามีแพลตฟอร์มใหม่ให้เราทำงาน ซึ่งมันเปิดกว้าง ขอพูดแบบน้องๆ BNK48 แล้วกันว่า ความฝันมันไม่ได้เป็นแค่ความฝันแล้ว”