บทเรียนสู้โควิด-19 ภาคประชาสังคมไทยและเทศ

บทเรียนสู้โควิด-19 ภาคประชาสังคมไทยและเทศ

สถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมได้ร่วมมือกับจังหวัด ในการวางแผนโมเดลด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งทำได้ดี

ที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ประชาชน เป็นหนี่งในปัจจัยสำคัญต่อการรับมือกับวิกฤติโรคระบาดโควิด  และไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทย หากแต่อีกหลายประเทศก็พึ่งพาบทบาทของภาคประชาสังคมในการสู้กับโรคระบาด

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้จัดวงเสวนาออนไลน์ (webinar) หัวข้อ “The Role of Civil Society in Response to COVID-19” 

การเสวนาออนไลน์ดังกล่าว มีตัวแทนจากประเทศไทย เมียนมาร์ และบังคลาเทศ ได้ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และข้อคิดเห็นจากการทำงานในมุมมองของภาคประชาสังคม พร้อมด้วยผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังทั้งสิ้น 88 คน จาก 10 ประเทศ คือ บังคลาเทศ กัมพูชา คองโก อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เมียนมาร์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย

 นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ประเทศไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1 ล้านคน เป็นกำลังสำคัญในการช่วยภาครัฐรับมือโรคระบาดโควิด-19 

นอกจากนี้ยังพบว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาครัฐและภาคประชาสังคมร่วมมือกันใน 3 เรื่องคือ 1.การมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องนโยบายสาธารณะ เพราะประชาชนได้ช่วยกันดูแลซึ่งกันละกันในระดับชุมชน 2. โอกาสสำคัญของภาครัฐและประชาชนที่จะช่วยกันวางมาตรการทางสังคมที่จะรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 3. โอกาสที่จะทบทวนเรื่องสุขภาพและความไม่เท่าเทียมของกลุ่มชาติพันธุ์

“ประเทศไทยโชคดีที่ได้วางรากฐานระบบสุขภาพมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ด้วยการกระจายการทำงานลงไปยังระดับท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตด้านสุขภาพขึ้นมากลไกในพื้นที่นี้จึงพร้อมที่จะรับมือและทำงานได้ทันท่วงที” นพ.นิรันดร์ ให้มุมมอง

 

ขณะที่ วิจิตรา ชูสกุล เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ จังหวัดสุรินทร์ ให้ภาพการทำงานภายในจังหวัด ที่เน้นหลักของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับการสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชนด้วยการช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยมีเครือข่ายสมัชชาฯ เป็นหนึ่งในตัวกลางของการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน

เธอระบุว่า ภาคประชาสังคมยังได้มีความร่วมมือกับจังหวัด ในการวางแผนโมเดลด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งได้มีการเสนอและจัดทำบนหลักการ 3 ประการ คือ 1 การร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลการติดเชื้อ เพื่อมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับใช้ในการวางแผน 2. การสร้างรากฐานความเข้มแข็งในชุมชน ด้วยความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ3. มาตรฐานทางสังคมใหม่สำหรับ New normal ที่ชุมชนจะร่วมกับท้องถิ่นในการกำหนดมาตรการทางสังคม เช่น ชุมชนบางแห่งมีมาตรการให้ทุกครอบครัวมีการปลูกผักผลไม้กินเอง เป็นต้น

 ทางด้านตัวแทนจากบังคลาเทศ Mrs.Taslima Akter ผู้ประสานงานโครงการ Centre for Disability in Development (CDD) เล่าถึงการทำงานของภาคประชาสังคม ในการเป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาล หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชนในการแก้ไขปัญหาผู้พิการ ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารและการเข้าไม่ถึงบริการรักษาพยาบาล ประกอบกับการขาดรายได้ ทำให้ผู้พิการบางคนประสบปัญญาสุขภาพจิต และบางครอบครัวนำไปสู่ความรุนแรง CDD ทำงานผ่านหลากหลายกิจกรรมและทำงานผ่านกลุ่มชุมชนช่วยเหลือตนเอง (Self Help Group- SHGs) กว่า 100 กลุ่มทั่วประเทศ ซึ่งทำให้การกระจายการช่วยเหลือออกไปได้ในวงกว้าง

 

20200606125537368

 

ผลการสำรวจพบว่ากลุ่มผู้พิการนั้นเป็นกลุ่มเปราะบางและเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างมาก  ขณะเดียวกันภาครัฐเองไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้เป็นลำดับต้นๆ แต่จากการทำงานของภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นผู้พิการกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องนั้น เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงการจัดการภัยพิบัติและการฟื้นฟูของประเทศบังกลาเทศได้มีคำสั่งให้รวมกลุ่มผู้พิการเข้าสู่โครงการการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ด้วย

ฟากฝั่งของเมียนมาร์ Dr.Si Thura ผู้อำนวยการบริหาร Community Partners International (CPI) ให้ภาพไปในทิศทางเดียวกันถึงการทำงานของภาคประชาสังคม ที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงแต่ละภาคส่วนไปจนถึงชุมชน

ซึ่งสิ่งที่แตกต่างไปในเมียนมาร์คือ ผลกระทบจากโควิด-19 ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตที่ยังมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกันเอง  ซึ่งแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีบริบทและภาษาที่ใช้แตกต่างกันออกไป ทำให้มีปัญหาในการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวโควิด-19 รวมทั้งการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล

ดังนั้น ภาคประชาสังคมจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลาง และให้ความช่วยเหลือหลากหลายด้าน ทั้งในเชิงเทคนิค อุปกรณ์ป้องกันโรค ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น รวมทั้งเงินช่วยเหลือ ตลอดจนจัดทำและเผยแพร่คู่มือหรือชุดความรู้ในภาษาท้องถิ่นแก่กลุ่มชาติพันธุ์