ภัทราวดี มีชูธน ‘ครู’ผู้ให้โอกาสเด็กก้าวพลาด

ภัทราวดี มีชูธน  ‘ครู’ผู้ให้โอกาสเด็กก้าวพลาด

ผู้หญิงมหัศจรรย์คนนี้ เป็นทั้งศิลปิน เจ้าของโรงเรียน ครู และคนสวน เธอเคยไล่เด็กเกเร เด็กติดยา ออกจากโรงเรียน แต่วันหนึ่งคิดได้ว่า ครูไม่มีหน้าที่ไล่เด็กออกจึงเป็นที่มาของการให้โอกาสมากมาย

 

ในวัย 72 ปี ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติปี 2557 ยังคงใช้ชีวิตอย่างไร้ขีดจำกัด ชอบเรียนรู้ และสนุกกับลงมือทำ

เธอเพิ่งฉลองวันครบรอบวันเกิดไปหมาดๆ ( 27 พฤษภาคม 2563) นอกจากลูกๆ ที่จัดงานเล็กๆ ให้ พี่สาว(สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม) ยังให้ของขวัญที่น้องอยากได้คือ รถแทรกเตอร์คูโบต้า ไว้สอนเด็กๆ ในโรงเรียน  

ปีที่แล้วเธอไปลงเรียน Art Therapy กับคนหนุ่มสาวที่จุฬาฯ เพื่อนำมาใช้กับเด็กๆ ในโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน บนเนื้อที่ 100 ไร่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเคยให้ลูกชายสอนเล่นโรลเลอร์เบลด  (roller blade) รวมถึงหัดเล่นกีตาร์ และอีกหลายอย่างที่ทำแล้วสนุก

ตอนนี้เธอยังทำโครงการ Broken Violin ที่ทำต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ให้โอกาสเยาวชนที่ก้าวพลาดจากชุมชนเพชรหึงษ์ พระประแดง และบ้านกาญจนาภิเษก ได้มาเล่นสเก็ตบอร์ดในคอนเสิร์ต ผสมผสานระหว่าง กีฬา ดนตรีและการแสดง

 

IMG_0334

 

  • เห็นบอกว่า ตอนนี้ครูเล็กทำอยู่ 5 เรื่อง ?

1.เป็นครูและบริหารโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน 2. ทำหนังสือภัทราวดีเล่มใหญ่ เป็นหนังสืองานศพตัวเอง และกำลังทำหนังสือให้คุณแม่ 3. ทำโครงการ  Broken Violin ทำมาปีหนึ่งแล้ว ให้ความรู้และสนับสนุนเด็กที่ก้าวพลาด 4 .ทำบันทึกวิดีโอไว้ในยูทูบ คุยกับครู (เล็ก) ทางกระทรวงวัฒนธรรม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้ทำสองตอน แต่ตอนนี้ทำทุกคืน (ตอนที่20 แล้ว)  เพราะเรามีเทป ซีดี ผลงานทำงานกับศิลปินเป็นพันๆ ชิ้น 5. เป็นหัวหน้าทีมตัดต้นไม้ ทุกวันอาทิตย์ในบริเวณใกล้ๆ เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญตรงนี้

 

  • วันครบรอบวันเกิด(27 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา ได้ทบทวนอะไรในชีวิตบ้าง

เกิดวันเดียวกับท่านอาจารย์พุทธทาส ดิฉันทบทวนชีวิตทุกๆ คืน ไม่ใช่ปีละครั้ง ก่อนนอนคนส่วนใหญ่จะสวดมนต์ ดิฉันนั่งสมาธิ นอนสมาธิ ทบทวนว่า วันนี้ไปเจอใคร ทำอะไร แม้กระทั่งคนที่ไม่หวังดีต่อเรา เราก็ต้องขอบคุณที่ทำให้เรารู้ตัว มีสติปัญญา รู้กาลเทศะ บางทีเขาโกรธเรา เพราะกาลเทศะเราไม่ดี แม้เราจะไม่ได้เจตนา

 

  • ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา อะไรทำให้ครูเล็กอ่อนโยนกับตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น

ถ้าทำให้คนอื่นมีทุกข์ ตัวเราก็ทุกข์ ย้อนไปตอนที่คุณแม่เสียชีวิต เพื่อนๆ มางานศพจะไปนั่งสมาธิกับอาจารย์วสิษฐ เดชกุญชร เพื่อนบอกว่า “เล็กไปสิ แม่จะได้บุญ” ตอนนั้นเราก็เสียใจ ไม่ได้ดูแลแม่เยอะ เคยถามแม่ว่าอยากได้อะไร สั่งรถยนต์ให้แม่ แม่ก็จากไปก่อน ทุกอย่างมันช้าและสายไป เพราะมันมีคำว่า เดี๋ยวค่อยทำ พอแม่เสียก็เลยไปนั่งสมาธิ เพราะคิดว่าแม่จะได้บุญ กลับจากนั่งสมาธิวิปัสสนา ไม่ใช่แม่ได้บุญหรอก ฉันเองที่ได้บุญ

เริ่มเห็นบารมีพ่อแม่ แม้แม่จะเสียชีวิตไปแล้ว ก็ยังทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นได้ ทั้งๆ ที่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่ทาง เมื่อทำแล้วเวิร์คก็ไปเรียนกับครูคนนั้นคนนี้ อ่านหนังสือปรัชญา พอเรียนสมาธิก็ได้เห็นว่าศิลปะสอนเรื่องการมีชีวิตที่ดีงาม แต่ตอนนั้นคิดแค่เรื่องทำมาหากิน ไม่ได้มองเรื่องการพัฒนาจิตวิญญาณ จากน้้นดิฉันก็เลยเอาศิลปการแสดงมาประยุกต์กับชีวิต ควบคุมลมหายใจ อารมณ์ และสติ

 

  • อะไรทำให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ? 

เวลาที่เราตระหนักรู้ ไม่ใช่แค่เรื่องคน ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อม ปากกา ดินสอ หมู หมา กา ไก่ รู้ใจเขา ใจเรา ตอนแรกนึกว่านั่งสมาธิแล้วจะทำให้พลังงานเราเหมือนแม่ชีหรือพระ จริงๆ แล้วทำให้มีกำลังภายในเยอะขึ้น เพราะคนอายุเท่านี้ คงไม่ทำงานแบบนี้แล้ว

ความทุกข์หรือบทเรียนที่เราพลาด ก็เป็นที่มาของสิ่งเหล่านี้ ทำให้เข้าใจเด็กๆ ที่ก้าวพลาด การก้าวพลาดไม่ใช่เจตนา แต่มันไม่รู้ มีพลังเยอะแต่กร่าง ระรานคนอื่น เพราะไม่รู้และไม่มีใครสอน  เมื่อพลาดไปก็เป็นบทเรียนสอนคนอื่นและสอนตัวเราด้วย

เด็กๆ ในโรงเรียนภัทราวดีก็มีปัญหาไม่ต่างจากเด็กทั่วไป แรกๆ ครูเล็กเลือกที่จะไล่ออก แล้วทำไมเปลี่ยนมาใช้วิิธีอื่น

ตอนทำโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน มีเด็กที่มีปัญหา ตีกัน ทะเลาะกัน เสพยา พูดไม่ฟัง ไม่รู้จะทำยังไง และมีกฎว่า เตือนสามหนไม่ฟังต้องไล่ออก บางปีไล่เด็กออกเป็นสิบๆ คน ดิฉันไม่ได้เสียดายเงินค่าเทอม แต่เป็นห่วงลูกคนอื่น

วันหนึ่งคิดได้ว่า เราเป็นครูไม่มีหน้าที่ไล่เด็กออก เด็กจะร้ายแค่ไหน หน้าที่ของครูคือ ต้องสอนให้เขาเป็นคนดี ดิฉันก็ไปเรียน Art Therapy ที่จุฬาฯ นำมาใช้แก้ปัญหา และพบว่า ก่อนจะเปลี่ยนคนอื่น ต้องปรับตัวเองก่อน ตอนนั้นก็ลงพื้นที่ อยากไปเจอเคสแรงๆ และนั่นทำให้เข้าใจว่า เด็กเหล่านั้นไม่ได้ชั่วร้าย ไม่ได้มีเจตนาที่จะเป็นแบบนั้น บางคนมีปัญหาทางสมอง เป็นเด็กพิเศษบ้าง สิ่งแวดล้อมในครอบครัวทำให้เขาเป็นแบบนั้นบ้าง เราเป็นครูต้องมีเมตตาสูง จนได้มาเจอเด็กติดยาเล่นสเก็ตบอร์ดใต้สะพาน แถวพระประแดง

 

  • ไปเจอได้ยังไง

เราก็ศึกษาข้อมูลไปก่อน เมื่อมีโอกาสคุยกับเด็กแก๊งค์นี้ รู้สึกว่าน่าสนใจ หน้าตาน่ากลัวมีรอยสักเต็มตัว แต่น่าเอ็นดู เขาบอกว่า ไม่มีที่เล่นสเก็ตบอร์ด ไปเล่นที่ไหนก็โดนไล่ ในเมื่อเด็กๆ อยากเล่น เราก็อยากให้เขามีความสุข ก็เอาสเก็ตบอร์ดไปฝาก เอาครูไปสอนให้ พวกเขายังอยากให้เด็กๆ คนอื่นที่ติดยามาเล่นด้วย เริ่มมีความอ่อนโยน เราก็เลยคิดว่า ไปสร้างลานสเก็ตบอร์ดแถวบ้านเด็กๆ เลย

 

IMG_0329

 

  • ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักเด็กกลุ่มนี้มาก่อน

ก็เจอกันข้างถนน แถวชุมชนเพชรหึงษ์ พระประแดง ซึ่งการให้ไม่ต้องเลือกว่าเป็นใคร แต่เราเห็นจิตใจบางอย่าง เขาห่วงเด็กๆ ในซอยด้วย พอเขาเล่นสเก็ตบอร์ด ก็ไม่ติดยา นี่ไงกีฬาดีแบบนี้เอง 

จริงๆ แล้วการทำลานสเก็ตบอร์ดใช้เงินไม่กี่บาท ใช้แรงงานเด็กนี่แหละ เขาก็ได้การศึกษาเรื่องการก่อสร้างลานสเก็ตบอร์ด เราจ่ายแค่ค่าปูนทราย ซึ่งเงินแค่นี้ซื้อกระเป๋าถือใบหนึ่งยังไม่ได้เลย แต่เราได้ลานสเก็ตบอร์ดให้ชุมชน 

ตอนแรกๆ ที่ไป เด็กๆ ก็ระแวง แต่เราเอาขนมไปให้ ไปสอนคนในชุมชนทำไก่ย่าง ซื้อเตาให้ ใช้เงินไม่กี่บาท พาลูกๆ ไปกินข้าวยังใช้เงินมากกว่านี้ พอทำลานสเก็ต ก็ช่วยกันตัดต้นไม้ ล้างบ้าน ล้างห้องน้ำ ถูบ้าน ตอนนั้นสกปรกมาก 

ระหว่างนั้นเราก็ได้เจอ ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก  ป้ามลให้ความรู้ดิฉันเยอะมาก จนได้ทำงานกับเด็กในคุก เราก็หาลูกหลานที่เป็นครูมาช่วยสอนดนตรี การแสดง สเก็ตบอร์ด

นั่นทำให้ดิฉันคิดว่า ทำไมรัฐบาลใจร้ายจัง ลานกิจกรรมแบบนี้น่าจะมีทุกซอย ใช้เงินน้อยมาก เพราะรัฐมนตรีไม่เคยลงมาคุยกับเด็ก ถ้าจะแก้ปัญหาเด็กติดยา เด็กเพี้ยน เด็กเกเร แก้ง่ายมาก แต่ผู้ใหญ่ต้องลงไปสัมผัสปัญหา สร้างความเชื่อมั่น เพราะเด็กพวกนี้ไม่เชื่อใคร บางทีถูกพ่อแม่ทุบตี ความเจ็บปวดทำให้เขาไม่เชื่อใคร

 

  • โครงการ Broken Violin มีที่มาอย่างไร ? 

ปีที่แล้วชวนเด็กๆ ไปเปิดหมวก เมื่อครูสนุก เด็กก็สนุกสิ เราก็ได้เห็นพรสวรรค์ของเด็กๆ จนเป็นที่มาของคอนเสิร์ต เสน่ห์...รอยร้าว ร้อง เล่น ดนตรี อยู่บนสเก็ตบอร์ด จากนั้นมาสร้างลานสเก็ตที่หน้าโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน

คอนเสิร์ต เสน่ห์...รอยร้าว เป็นการนำปัญหาเด็กที่เข้าคุกมาไว้ในการแสดง ผู้ใหญ่เองก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน แต่ผูู้ใหญ่มักจะเป็นกระจกให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าต้องก้าวร้าว โหดร้าย เพื่อเอาตัวรอด ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเป็นคนที่นุ่มนวล แม้จะมีหลุดๆ บ้าง ก็ต้องรู้จักคำว่า ขอโทษ เหมือนที่ป้ามลทำงานกับเด็กๆ 80 กว่าคนในคุก ทั้งๆ ที่คดีหนักมาก เธอทำให้เด็กเป็นคนดีได้อย่างไร บางคนออกจากคุกมาแล้ว ดิฉันก็เอามาทำงานด้วย

 

  • ครูเล็กหยิบยื่นโอกาสให้เด็กๆ อย่างไร

เด็กพวกนี้ เราไม่ทิ้งเขา และเขาก็เชื่อ เราต้องดูอีกว่า พวกเขาจะเติบโตไปทางไหน ค่อยๆ หยอดเรื่องการศึกษา เราไม่เน้นให้สตางค์แต่สอนให้รู้จักหาสตางค์ เมื่อดิฉันมีโอกาสทำงานตรงนี้ มันวิเศษมาก เด็กเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นขยะของสังคม เราก็เอามารีไซเคิลให้เป็นของสวยงาม จริงๆ แล้วคอนเสิร์ตเสน่ห์...รอยร้าว จะทัวร์ไปทั่วประเทศ เพราะมีคนขอให้ไปแสดงเยอะ แต่เจอโรคระบาด ก็เลยคิดว่าจะลงไว้ในยูทูบ เด็กๆ พวกนี้เล่นได้น่ารักและดีงาม 

ตอนนั้นดิฉันชวนนักไวโอลินคนหนึ่งมาร่วมแสดง ว่างๆ เขาชอบเล่นสเก็ตบอร์ดที่โรงเรียน เราก็ท้าเขาว่า เอาสเก็ตบอร์ดกับไวโอลินมาผสมกันสิ ยังไม่มีใครทำ เขาสนุกมาก เราก็จัดกิจกรรมขึ้นมา เพื่อให้เด็กมีงานทำมีเงินใช้ ฝึกพวกเขาให้เป็นมืออาชีพ ทั้งเด็กพระประแดง และเด็กบ้านกาญจนาภิเษก ตอนนั้นให้ย้ายมาอยู่ในคุกที่หัวหิน มาซ้อมการแสดงร่วมกัน แต่ตอนนี้ติดปัญหาโรคระบาดจึงไม่ได้แสดง

 

IMG_0333

 

  • เด็กๆ ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

เด็กที่โรงเรียนภัทราวดีได้ทำงานกับเด็กๆ ที่ก้าวพลาด ก่อนหน้านี้เด็กพวกนี้กลัวเด็กในคุก กลัวรอยสักเต็มตัว แต่ที่สุดก็เข้ากันได้ เคารพซึ่งกันและกัน เด็กในคุกก็ได้เห็นสังคมที่มีความอ่อนโยน เด็กนอกคุกก็ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนที่หลากหลายและมองคนในแง่ดี แม้กระทั่งช่างไฟที่เห็นการแสดงทุกรอบ กลับมาบอกว่า ลูกรักเขามากขึ้น เพราะเขานำสิ่งที่เห็นไปปรับปรุงตัว

 

  • อะไรทำให้ครูเล็กมีพลังมากมายขนาดนี้

ตอนอยู่นิวยอร์ก การฝึกการแสดงทุกวัน ตั้งแต่เช้าถึงเย็นตลอดสามเดือน  ครูจะฝึกแบบเอาเป็นเอาตายและต่อเนื่อง ครูบอกว่า การฝึกตัวเองแบบนี้จะช่วยรักษากล้ามเนื้อให้คงสภาพ เราก็เห็นพัฒนาการ พระพุทธเจ้าก็สอนให้ทำอะไรแล้ว ต้องสม่ำเสมอมีวินัย ถ้าไม่สม่ำเสมอก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ และไม่มีทางที่จะทำสิ่งที่เราฝันได้ หายใจลึกๆ แล้วก้าวต่อไป อย่าหยุด และเวลาขึ้นรถเมล์ที่นิวยอร์ก ดิฉันจะไม่นั่ง ยืนขาเดียวเกาะราว เวลารีดผ้าจะเอาขาข้างหนึ่งพาดไว้บนกำแพง ไม่อยากปล่อยเวลาไปเปล่าๆ