ระหว่างบรรทัดของคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ‘ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ’

ระหว่างบรรทัดของคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ‘ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ’

แต่ละบทตอนของชีวิตผู้ชายที่ชื่อ ‘ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ’ ถูกถักทอเรียงร้อยเป็นถ้อยความ เกิดเป็นหนังสือเล่มนี้ที่บอกเล่าเรื่องราวครบครันทั้งมุมมองและความคิด

หากจะมีบุรุษคนใดสมควรได้รับการยกย่อง ทั้งในฐานะปัญญาชนผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทย และเป็นบุรุษผู้มีความกล้าหาญและความรับผิดชอบอย่างยิ่งยวด ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ คือบุรุษนั้น ตลอด 70 กว่าปี ของชีวิตบุรุษคนนี้ ถูกถ่ายทอดลงในหนังสือ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ : ชีวิต มุมมอง ความคิด

ส.ศิวรักษ์ เคยนิยามอย่างยกย่องถึงไกรศักดิ์ว่า “เขาเป็นปัญญาชนที่มีส่วนใกล้ชิดกับอำนาจโดยอาจย้ำได้ว่า คนที่มีอำนาจและเข้าใจคนเล็กคนน้อยนั้นแทบมองไม่เห็นเลยนอกเหนือไปจากไกรศักดิ์แล้ว เขาเข้าใจเจริญ วัดอักษร ที่ถูกเจ้าที่ดินฆ่าตาย เข้าใจวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ไปรับใช้ใกล้ชิดกับสมัชชาคนจน เขาชอบพอกับบำรุง คะโยธา ฯลฯ

ใช่แต่เท่านั้น ไกรศักดิ์ยังเป็นหนึ่งใน 100 หรือ หนึ่งใน 1,000 ที่ยอมสารภาพผิดในกรณีที่รัฐไทยปู้ยี้ปู้ยำหะยีสุหลง และชาวมลายูภาคใต้...”

ซึ่งคุณูปการของไกรศักดิ์ต่อประเทศชาตินั้นมีนานัปการ นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างถึงบทบาทที่สำคัญและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศชาติ คือผลักดันนโยบายรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ คือ ‘นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบทบาทที่สำคัญของคณะที่ปรึกษาชุดนี้มาจนถึงปัจจุบัน โดยมีที่มาจากการผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพในกัมพูชาระหว่างกลุ่มฮุนเซนและกลุ่มเขมรสามฝ่าย

“...พี่โต้งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังของกระบวนการเจรจาสันติภาพดังกล่าว...

นอกเหนือจากการผลักดันผ่านการสนับสนุนการเจรจาสันติภาพแล้วพี่โต้งยังได้ใช้เครือข่ายศิลปินในการผลักดันประเด็นสันติภาพนี้ด้วย...

...บทเพลงของคาราวานหลายๆ เพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงขยม เพลงกัมพูชา และเพลงสันติภาพ ล้วนสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของการเห็นภาพจริงจากการล่มสลายของประเทศที่ผ่านสงครามกลางเมืองอันยาวนานและคุณค่าแห่งสันติภาพ”

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เขียนในคำนำของหนังสือเล่มนี้ได้เปิดเผยถึงไกรศักดิ์เอาไว้อย่างลึกซึ้งว่า...

ชีวิตทุกชีวิตมีคุณค่าและความหมาย แต่คุณค่าและความหมายมีแตกต่างกัน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่การตีความ ถึงที่สุดแล้ว คุณค่าและความหมายนั้นขึ้นอยู่กับการ ‘เลือก’ ที่จะใช้ชีวิตอย่างไร เพื่ออะไร

72 ปีที่ผ่านมา ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ แน่นอนในคุณค่าที่เลือก และชัดเจนในความมุ่งหมายของชีวิต

คนไม่ธรรมดา

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ มาจากตระกูลใหญ่และทรงอิทธิพลมากที่สุดตระกูลหนึ่งของประเทศไทย ทั้งจากสายพ่อ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และสายแม่ ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ เติบโตอย่างลูกชายนายทหารใหญ่จากระบบ ‘ทหาร’ ภายในค่ายทหาร ขณะเดียวกันก็เติบโตจากระบบ ‘ตำรวจ’ ในฐานะหลานรักของนายตำรวจใหญ่ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เจ้าของวลีสำคัญ ภายใต้แสงอาทิตย์ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้

ได้รับการศึกษาอย่างดีจากสถาบันการศึกษาชั้นสูงมีชื่อในประเทศและต่างประเทศ ทั้งอาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ และฝรั่งเศส

สื่อสารได้ทั้งภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมัน

มีความรู้และความสนใจหลากหลายทำให้กลายเป็น นักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ นักการทูต นักการเมือง นักสันติภาพ นักสิ่งแวดล้อม นักสิทธิมนุษยชน นักดนตรี ช่างภาพ จิตรกร

เป็นผู้นำในการกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการในประเทศ ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยตั้งทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก และกำกับทิศทางการต่างประเทศในฐานะประธานกรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภา

จากพื้นฐานที่พร้อมสมบูรณ์ สามารถเอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างเต็มที่ แต่ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณเลือกที่จะเป็น

คนธรรมดา

ที่คบหากับ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักอนุรักษ์ นักสิทธิมนุษยชน ศิลปิน ชาวบ้าน ชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ

ปฏิเสธระบบ ‘ทหาร’ และ ‘ตำรวจ’ ซึ่งใช้อำนาจเป็นใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบ ‘เผด็จการ’ จากการรัฐประหารที่รวมศูนย์อำนาจ

ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ประชาชนคนเล็กคนน้อยตามระบบประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมไม่ใช่เพียงกลุ่มผลประโยชน์ ตามแนวคิดสังคมนิยม

ไม่เพิกเฉยและร่วมทุกข์ร้อนไปกับชีวิตของประชาชนผู้เดือดร้อนในสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษ ในหลายกรณีที่ครอบครัวในอดีตมีส่วนทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งการเสียชีวิต การสูญหายแก่ประชาชน

ทั้งหมด ไม่ใช่การเป็น ‘ขบถ’ แต่เป็น ‘สำนึก’ และ ‘ความรับผิดชอบ’ ที่มีในฐานะมนุษย์ต่อมนุษย์

ชีวิต มุมมองและความคิดของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ จากการเรียบเรียงของกุลธิดา สามะพุทธิ ไม่เพียงแต่ให้เราเห็นความเป็นคนหรือมนุษย์ในคนหนึ่งคน แต่ยังเห็นการเป็นไปของสังคมทั้งไทยและโลกอย่างชัดเจน ตลอดช่วง 72 ปีที่ผ่านมาด้วย

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ยังไม่เอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชายขอบ คนเล็กคนน้อย 72 ปีของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ บอกเราถึงสิทธิมนุษยชน ตลอดจนมนุษยธรรมที่จะ ‘เลือก’ ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและความหมาย