'บรรจง นะแส' ทะเลไทย ในวิกฤติโควิด-19

'บรรจง นะแส' ทะเลไทย ในวิกฤติโควิด-19

ขณะที่โลกกำลังจับจ้องไปที่ไวรัสโควิด-19 ทะเลไทยที่ทำท่าว่าจะกลับมาสมบูรณ์สวยงามกลับต้องเจอกับภัยคุกคามในนามการพัฒนา

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สร้างผลกระทบไปทั่วโลก 'ทะเลไทย' ก็เช่นเดียวกัน ในมุมมองของ บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย เกษตรกร ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จ.สงขลา ลูกหลานชาวไร่ชาวสวนที่เติบโตในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลา จบการศึกษารัฐประศาสนาศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2524, วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (การจัดการสิ่งแวดล้อม) คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2541 พร้อมประสบการณ์ภาคสนามในฐานะเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาชุมชนประมงบ้านปากบางนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา (2528-2539) ก่อนเขยิบมาเป็นผู้ประสานงานโครงการพัฒนาชุมชนประมงขนาดเล็ก จ.สงขลา (2539-2547) 

เส้นทางชีวิตของเขาเรียกได้ว่า ‘คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล’ แต่ละตำแหน่งล้วนเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภาคใต้ กระทั่งปัจจุบันในบทบาทคณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ปี 2540-ปัจจุบัน) เขาได้ทำงานร่วมกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านมาตลอด เห็นปัญหาของการประกอบอาชีพ การเสียโอกาส การถูกละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นทั้งสองฝั่งทะเลในพื้นที่ 13 จังหวัดภาคใต้ แม้ในภาวะที่ทุกอย่างหยุดชะงักจากโรคระบาด ทะเลไทยก็ยังคงถูกคุกคาม

 

  • ทุกวันนี้ประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ในแง่ของทรัพยากรในทะเลดีขึ้น พวกกุ้ง หอย ปู ปลา ที่จริงมันดีขึ้นมาตั้งแต่เราโดนสหภาพยุโรปออกมาตรการห้ามทำประมงด้วยวิธีผิดกฎหมาย ใช้แรงงานทาส เรือเถื่อน เรือสวมทะเบียน ส่งผลให้รัฐบาลต้องปรับวิธีการทำประมงในประเทศไทยครั้งใหญ่ นำมาสู่การออก พ.ร.ก.ประมง 2558 ตอนนี้เราถูกปลดจากใบเหลืองใบแดงหมดแล้ว มีการยกเลิกการทำประมงด้วยเครื่องมือการทำลายล้าง 1 ใน 3

เมื่อก่อนเครื่องมือที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนมีอยู่ 3 ตัว คือ อวนลาก อวนรุน เรือปั่นไฟ, อวนลาก งานวิจัยบอกว่ามีแค่ 33 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้ได้ นอกนั้นส่งไปโรงงานปลาเป็ดหมด ส่วนเรือปั่นไฟ ทำให้เกิดผลกระทบกับลูกปลาทู อวนรุนโดนมาตรา 44 ยกเลิกไปแล้วพร้อมโพงพาง ตอนนี้ก็เหลือแต่ อวนลาก กับ เรือปั่นไฟ ซึ่งถ้าเราไม่จัดการเครื่องมือผิดกฎหมายก็จะกระทบกับสินค้าเราที่จะส่งไปตลาดอียู 31 กว่าล้านบาท

สถานการณ์โควิดมีผลทำให้การเคลื่อนที่เคลื่อนย้ายสินค้าประมงทำได้ลำบาก แม้จะจับมาได้เยอะแต่ส่งไปขายไม่ได้ ราคาก็ตกลง ที่ท่าศาลา มีกั้งตั๊กแตนตัวใหญ่ๆ เมื่อก่อนส่งออกนอก ไต้หวัน สิงคโปร์ ในพื้นที่กิโลละ 1,200 บาท ถ้าไปกินแถวฮ่องกงไม่รู้กี่พัน พอมาช่วงโควิดเหลือกิโลละ 300-400 บาท เราก็ได้กินบ้าง อย่างหอยหวาน เมื่อก่อนก็แพง ตอนนี้ก็ได้กิน เมื่อก่อนตลาดหาดใหญ่จะมีอาหารทะเล ปานาเระ ปัตตานี นราธิวาสตีรถมา หรือคนสงขลาไปรับมาขาย 

ในชุมชนประมงจะมีเถ้าแก่ เรียกว่าแพ รวบรวมอาหารทะเลจากชาวบ้าน เช่น กุ้งแชบ๊วยขึ้นมาก็รวบรวมส่งเข้าตัวเมืองหาดใหญ่ หรือว่าไปส่งกรุงเทพฯ พอมีมาตรการล็อกดาวน์ แม้จับได้เยอะ แต่ส่งขายไม่ได้ ราคาก็ถูกลงทุกพื้นที่ ชาวบ้านแก้ปัญหาด้วยการแปรรูป ฝึกขายออนไลน์ ใครอยากกินปูม้าต้มบอกมา ถ้าอยู่ในตัวเมืองนครก็สั่งที่บ้านในถุ้ง ท่าศาลา ถ้าอยู่สตูลก็สั่งที่ร้านคนจับปลา เป็นช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ 

ด้านการขนส่งก็พัฒนาขึ้น อย่างเคอรี่ก็ส่งได้เร็วขึ้น โดยรวมอาหารทะเลราคาตกลงก่อนโควิด พอโควิดมาราคาก็ตกลงอีก พวกส่งออก หอยหวาน กั้งตั๊กแตน ต้องรอให้ทุกอย่างปกติก่อน เพราะส่งไปเครื่องบิน ตอนนี้ทุกอย่างหยุดหมด ต้องขายแต่ในประเทศ

  • มีการตั้งกลุ่มปลาแลกข้าว-ข้าวแลกปลา เพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย?

จริงๆ พวกอันดามันหลายกลุ่มในตัวเมืองเล็กๆ อย่างนราธิวาสเขาก็ทำกันนะ พวกพี่น้องที่ทำนาก็เอาข้าวมาแลกปลา แต่ที่เป็นโปรเจ็กท์ใหญ่ก็คือมูลนิธิชุมชนไทยไปจับมือกับเอ็นจีโอทางอีสาน-ทางเหนือ กำลังทำอยู่ ส่วนสมาคมรักษ์ทะเลไทยก็ทำแจก เน้นเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ได้แจกทั่วไป ใครอยากกินอาหารทะเลเราส่งให้ฟรี เปิดระดมกัน ใครอยากจะให้โรงพยาบาลไหนก็บอกมา ทำ 2-3 ครั้งก็หลายพันกิโลแล้ว

  75543634_2708612052539579_7848609922311782400_n

  • ล่าสุดมีเหตุการณ์ชาวบ้านล้อมรถตำรวจ ที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ สุราษฎร์ธานี เกิดอะไรขึ้น

ที่อ่าวบ้านดอน เป็นแหล่งผลิตลูกหอยแครง หอยแครงเป็นที่ต้องการในตลาด ราคาสูง สมัยก่อนชาวบ้านใช้วิธีรุน ตอนนี้เครื่องมือมันผิดกฎหมายไปแล้ว ที่เรียกว่า คราดหอย มีเฉพาะที่ทะเลโคลน จะมีบางพื้นที่บางจังหวัด ไม่สามารถทำได้ตามชายฝั่งทุกจังหวัด เหตุที่ชาวบ้านไปล้อมรถตำรวจเพราะว่ามาเรียกตังค์เขา ทำมาหลายครั้งแล้ว เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ที่ยังมีคนหากินกับชาวบ้าน พื้นที่อ่าวบ้านดอนเป็นเรื่องมหากาพย์ ทะเลโดนยึดเป็นเจ้าของเยอะ หลายรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาแต่ก็ทำอะไรไม่ได้สักที ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา คนหนึ่งมีเป็นพันไร่ มีบ้านพักกลางทะเล เป็นที่เฝ้าหอย เป็นโฮมสเตย์ หลังหนึ่งหลายล้าน ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้อยู่ในอำนาจ ทั้งทหารทั้งตำรวจทั้งฝ่ายปกครอง รัฐบาลรู้ดี แต่ทำอะไรไม่ได้

  • ที่หาดม่วงงาม จังหวัดสงขลา ก็มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านคัดค้านการสร้างเขื่อนกันคลื่นอีก ปัญหามาจากอะไร

ผมทำงานทะเลมา 30 กว่าปี เห็นปรากฎการณ์การใช้โครงสร้างแข็งแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเกือบทุกที่มันไม่สำเร็จ มีเป็นสิบเลยตั้งแต่นราธิวาส จะนะ เทพา เราเห็นวิธีการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด คือไปทำปัญหาเพิ่มขึ้น

โครงการนี้มูลค่า 87 ล้านบาท จะสร้างโครงสร้างแข็ง แต่สาเหตุชัดเจนว่าสะพานปลาเก่าร้างคือตัวเปลี่ยนกระแสน้ำ เหมือนเรากั้นไม่ให้ร่องน้ำตื้นแล้วทรายก็จะไปงอกทางขวามือ (หันหน้าออกทะเล) อย่างหาดทรายแก้ว 40-50 ไร่ก็หายไปเลย เป็นวิทยาศาสตร์ ลมทะเลเกลี่ยทรายมา พัดขึ้นไปข้างบน พอเราไปขวาง เขาก็กักอยู่ตรงนั้น เขาก็เกลี่ยต่อไปกินอีกด้านหนึ่ง

มันน่าเสียดาย ม่วงงามเป็นหาดเก่าแก่ที่สวยงามมาก ชาวบ้านผูกพันเยอะ นักวิชาการต่างๆ ที่ทำวิจัยออกมาบอกว่าทำอย่างนี้จะกระทบกับชายหาด แต่ว่ารับเหมาไปแล้ว ผู้รับเหมาก็ทำงานไป ขบวนการที่จะได้มาซึ่งโปรเจ็กท์นี้เราไม่อยากจะพูดมาก เขาไม่สนใจงานวิชาการ เรื่องทะเลมันเรื่องใหญ่ มันหาโซลูชั่นได้ว่าถ้าจะแก้ปัญหาจะต้องแก้ยังไง แก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ แล้วลามไปเรื่อยๆ จากล้านกลายเป็นร้อยล้าน แบบหัวไทรที่ไม่จบ

ทางแก้อยู่ที่การฟ้องศาลปกครอง ถึงตอนนี้ศาลก็ยังไม่คุ้มครอง ชาวบ้านก็ไปเดินชุมนุมประท้วงแสดงพลัง มันเป็นเรื่องระดับนโยบายแล้วล่ะ ปี 56-57 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ไปถอน EIA ออกจากเขื่อนกั้นคลื่น แต่ว่าการก่อสร้างในทะเลไม่เหมือนถนนหนทางบนบก ลงทุน 10 ล้านแต่กระทบเป็นพันล้านได้ในระยะยาว เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องว่าถ้าจะแก้ปัญหาทั้งประเทศจะต้องเอากระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA กลับมา ถ้าคุณจะทำ ใหญ่เล็กก็ต้องทำ ถ้าทำตรงนี้จะกระทบตรงไหน กระทบกี่เมตร ฝั่งซ้ายเป็นภูเขาก็ไม่กระทบ แต่ถ้าเป็นชายหาดยาว ต้องไปดูสาเหตุที่ทำให้ชายหาดพัง เกิดจากอะไร อย่างม่วงงามนี่มันชัดเจนว่าเกิดจากสะพานปลาที่ร้าง ดูจากภาพถ่ายทางอากาศมันชัดเจน มีข้อเสนอว่าให้เอาสะพานปลาที่ร้างออก แต่เขาก็เอาไว้

  •  อีกพื้นที่หนึ่งของสงขลา ที่อำเภอจะนะก็กำลังจะสร้างนิคมอุตสาหกรรม ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนไหน

เป็นโครงการใหญ่จะทำนิคมอุตสาหกรรม 26,000 กว่าไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมของเอกชนแต่ไปโยงกับรัฐบาลตรงที่คณะรัฐมนตรีมีมติสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขของ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่มีหน้าที่สนับสนุนแก้ไขปัญหาความรุนแรง ไปลงมติผลักดันเข้าครม.เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ให้สนับสนุนการทำโครงสร้างพื้นฐานให้กับเอกชน อุตสาหกรรมจะนะไม่ใช่ของรัฐบาล การเอางบประมาณแผ่นดินไป 18,000 กว่าล้านบาท ถ้าไปทำในที่ดินของคุณที่กั้นรั้วที่อยุธยามันก็ไม่เป็นอะไร แต่นี่มันออกนอกเขตอุตสาหกรรม ออกนอกเขตโฉนดของคุณไปในทะเล ไปในแหล่งทำมาหากินของคนอื่นด้วย

แล้วที่เป็นเรื่องเป็นราวเพราะมากำหนดวันรับฟังความคิดเห็นในช่วงมาตรการล็อคดาวน์สถานการณ์โควิดพอดี เปลี่ยนจากเขตสีเขียวเป็นสีม่วงจะได้ไม่ผิดกฎหมายผังเมือง เป็นงานใหญ่ที่ร่วมมือกันระหว่างทุนกับรัฐ รัฐมีหน้าที่ซัพพอร์ตก็เอาทหารตำรวจลง พวกนายทุนก็กว้านซื้อที่ดิน ใช้อิทธิพลหัวคะแนนกว้านซื้อนายหน้า ชาวบ้านก็ไม่ยอมเพราะเขาผ่านประสบการณ์มาเยอะ เขาบอกว่าโครงการนี้จะรับคนได้แสนคน คนจะนะมีสามแสน แล้วที่มาบตาพุดจ้างคนได้จริงหรือเปล่า แล้วที่มีอยู่แล้ว โรงไฟฟ้า 2 โรง คนจะนะได้ทำงานกี่คน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอน ครม.อนุมัติ 18,000 กว่าล้านในการสร้างอินฟราสตรัคเจอร์

  • ก่อนหน้ามีการวางแผนจะท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ตอนนี้เป็นอย่างไร

ตอนนี้เป็นมติครม.ยกเลิกแล้ว ผมไปนั่งหน้ากระทรวงฯโดนหิ้วไปขังอยู่พักหนึ่งที่ราบ 11 โครงการท่าเรือน้ำลึก ปากบารา ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนอย่างรุนแรง โชคดีไปเจอมรดกโลก ไปเจอแหล่งหินโบราณ ตามหลักไม่ควรทำ ของต่างประเทศแค่เจอแลนด์สปีชีส์ นก 2-3 ตัว เขาก็ไม่ให้ทำแล้ว ชาวบ้านไม่ยอมด้วย ก็รณรงค์กันหนักปีกว่าๆ ตอนนี้จังหวัดสตูลได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นอุทยานธรณีโลก (Satun UNESCO Global Geopark) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เป็นลำดับที่ 5 ในอาเซียน ชายฝั่งตะวันตกใต้สุดของประเทศไทย มีเกาะน้อยใหญ่ 104 เกาะ กลุ่มเกาะบุโหลน มีกองหินขาว กัลปังหาสีขาว ปะการังอ่อนสีขาว และมีนกโจรสลัด นกหายากด้วย

  1

  • การดูแล ทะเลไทยหลังโควิด ควรทำอย่างไร

การพัฒนาประเทศเพื่อ GDP มันก็ไปแนวนี้ ในความรู้สึกผม...มันผิด สังคมต้องเปลี่ยน สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาเราก็เห็นแล้วว่าโรงงานต้องปิด ชาวบ้านต้องกลับบ้าน ไม่มีที่จะกิน ทิศทางการพัฒนาของเราต้องเปลี่ยนหลังโควิด ใครจะคิดว่าอยู่ๆ ในโลกนี้ก็ไม่มีเครื่องบินสักลำที่บินขึ้นได้ สิ่งที่แน่นอนคือคนเราต้องกินปลา กินกุ้ง กินข้าว อะไรที่เป็นฐานทรัพยากร อะไรที่เป็นปัจจัยการผลิตเกี่ยวกับอาหาร เกี่ยวข้องกับปากท้องต้องรักษาไว้ ไม่ใช่ไปทำลาย เพราะมันการันตีไม่ได้ว่าคุณพัฒนาไปในทางนี้แล้ว จะสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับสังคมได้ 

หลังโควิดจะต้องเปลี่ยนการนำพาประเทศ การพัฒนาที่อ้างแต่ GDP อย่างเดียว น่าจะไม่พอ การพัฒนาที่ยั่งยืนคือกรอบใหญ่ อะไรที่มันไม่ยั่งยืนก็ต้องตรวจสอบกันเข้มข้น จะทำทรัพยากรให้ยั่งยืนได้อย่างไร จะต้องมีการดูบริบทของประเทศใหม่

เรื่องทะเล เราต้องแก้สองเรื่องนะ หนึ่งคือ การประมงด้วยเครื่องมือทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน เราต้องหยุด อวนลาก เรือปั่นไฟต้องยกเลิกไปเลย มันเคยถูกยกเลิกมาก่อน สมัยคุณชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีเกษตร ปี 26 แล้วถูกแก้สมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หลังจากนั้นปลาทูก็ถูกทำลายย่อยยับ อวนลากต้องขยายตาอวน ไม่จับตัวเล็ก เปลี่ยนจากลากคู่เป็นลากเดี่ยว แล้วห่างฝั่งอย่างน้อย 12 ไมล์ เรือปั่นไฟก็ยกเลิกเลย ทะเลก็จะกลับมาแน่นอน 

ผมเห็นหมู่บ้านเห็นชุมชนที่ใช้พลังภายในตัวเองลุกขึ้นมาปกป้องมันฟื้นเร็ว ถ้าเราอยากฟื้นฟูทะเลให้เป็นแหล่งอาหารของลูกหลานที่ยั่งยืน ก็ต้องไปจัดการต้นเหตุที่ทำให้พันธุ์สัตว์น้่ำมันลดลง นี่คือทางออก