ห้องเรียน 'ออนดอย' ไม่ง้อ 'ออนไลน์'

ห้องเรียน 'ออนดอย' ไม่ง้อ 'ออนไลน์'

เมื่อการเรียนออนไลน์ไม่ตอบโจทย์ชีวิตบนดอย เด็กน้อยชาวปกาเกอะญอจึงเลือกเรียนรู้โลกกว้างในห้องเรียนไร้กำแพง

 

ห้องเรียนของวันนี้ มีขุนเขาเป็นฉากหลัง ลำธารเป็นสื่อการสอน โดยมีเสียงหัวเราะลั่นยืนยันผลสัมฤทธิ์ในเบื้องต้น

ขณะที่เด็กๆ และผู้ปกครองจำนวนมากกำลังกุมขมับอยู่กับ ‘การเรียนออนไลน์’ ที่ ชุมชนบ้านผาหมอน บนเส้นทางดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห้องเรียนชุมชนท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ถูกออกแบบขึ้นเพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนเลื่อนเปิดเทอม และการที่เด็กๆ ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ด้วยข้อจำกัดนานาประการ

พวกเขาใช้บริบททางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นฐานความรู้ มีผู้ใหญ่ทั้งในและนอกชุมชนเป็นครูอาสา สร้างรูปแบบการเรียนการสอนที่มีชีวิตชีวาและทำให้การไม่ได้ไปโรงเรียนช่วงนี้คุ้มค่าและน่าจดจำ

 

Knyaw Hpo 2

 

ห้องเรียนออนไลน์

“นอกจากข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีแล้ว เด็กเล็กๆ เขาไม่สามารถดูทีวีหรือจดจ่อกับสมาร์ทโฟนได้นานๆ ถ้าไม่ใช่สิ่งที่เขาสนใจ ต่างจากเวลาที่เรียนในห้อง เราสามารถโต้ตอบกันได้ แล้วเขามีสมาธิในการฟังมากขึ้น และพ่อแม่บางคนก็มีข้อจำกัดในเรื่องของภาษาเช่นกัน เขาไม่สามารถที่จะสอนลูกตัวเองได้ อีกอย่างบางวิชาที่ทางโรงเรียนส่งมาให้เป็นเอกสาร ทั้งๆ ที่เป็นเชิงปฏิบัติ แต่จะให้เด็กปฏิบัติยังไง” สุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์ มัคคุเทศก์และนักวิจัยท้องถิ่น ชุมชนบ้านผาหมอน เล่าถึงปัญหาในการเรียนออนไลน์ของเด็กในชุมชนที่เขาเห็นมาตลอด

การเรียนออนไลน์สำหรับเด็กชายขอบจึงมีทั้งอุปสรรคและข้อจำกัด ในมุมมองของสุรสิทธิ์ ไม่ว่าจะในเมืองหรือบนดอย เมื่อคนสอนอยู่ที่หนึ่ง ในขณะที่หลักสูตรมันถูกออกแบบมาจากอีกที่หนึ่ง จากนั้นให้เด็กมานั่งเฝ้าดูหน้าจอทีวี โดยไม่เกิดการสนทนาโต้ตอบกัน กลายเป็นการสื่อสารทางเดียว ย่อมเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับเด็ก

ระบบการเรียนออนไลน์มีหลากหลาย ทั้งการศึกษาทางไกล DLTV ผ่านจานดาวเทียม เว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น ทว่าหลายบ้านที่ห่างไกลไม่อาจเข้าถึงระบบดังกล่าวได้ อย่างชุมชนบ้านผาหมอนที่สุรสิทธิ์เองก็เอ่ยปากว่า แม้จะมีจานดาวเทียม มีทีวี แต่ยังเข้าไม่ถึงสัญญาณดิจิทัล และอินเทอร์เน็ตที่มีมันไม่สามารถดาวน์โหลดแอพที่กระทรวงแนะนำได้

 

Knyaw Hpo 7

 

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ หรืออาจารย์ชิ นักวิชาการแห่งวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่มองว่าการเรียนออนไลน์ ถ้าเกิดจากการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ดี มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แน่นอนว่าทดแทนช่วงวิกฤตนี้ได้ไม่มากก็น้อย ทว่าคำถามที่ตามมาคือ ถ้าพื้นที่ที่ระบบการสื่อสารไม่ดีล่ะ? การเรียนออนไลน์จะตอบโจทย์เด็กกลุ่มนี้อย่างไร นี่คือตัวชี้วัดการใส่ใจในการพัฒนาระบบการศึกษาของรัฐ หากไม่เติมเต็มชุมชนที่ขาด การเรียนออนไลน์ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ และยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทยไปอีก

“พื้นที่ที่เรียนออนไลน์ไม่ได้ ต้องพิจารณาการเข้าถึงเทคโนโลยีพร้อมๆ ไปกับความเสี่ยงของโรคระบาดในพื้นที่ ถ้าชุมชนเหล่านี้จัดการตัวเองได้ ควรให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ได้บ้างบนมาตรการการควบคุมโรค ด้วยความแตกต่างทางบริบท ถ้าเราหันกลับมามองศักยภาพที่มีอยู่และใช้ตรงนั้นสร้างให้เกิดการเรียนรู้ในแบบชุมชนจะดีกว่า ไม่ใช่พุ่งที่ระบบออนไลน์อย่างเดียว” อาจารย์ชิ แนะการเรียนที่ตอบโจทย์เด็กในพื้นที่ห่างไกล

 

ห้องเรียนชุมชน

หากลองพิจารณาสิ่งรอบตัวและออกแบบให้เกิดการเรียนรู้ บางทีอาจไม่ต้องรอระบบออนไลน์ที่ไม่รู้ว่าจะเข้าถึงเมื่อไร อย่างที่ สุรสิทธิ์ หนุ่มปกาเกอะญอแห่งบ้านผาหมอน มองเห็นว่าการเรียนรู้ที่ใช้ได้ดีกับเด็กๆ มักเป็นเรื่องรอบตัวที่ผ่านกระบวนการใช้ชีวิต เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว แต่อาจยังไม่เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้และการแก้ปัญหา กิจกรรมต่างๆ ที่เขาบรรจงออกแบบ จึงใช้เรื่องการเกษตร สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและวิถีชุมชนมาประกอบกัน เชื่อมให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างเด็กกับชุนชน กลายเป็นหลักสูตรที่ใช้ชื่อว่า K‘nyaw Hpo Smart Farm Kid’s

'ห้องเรียนชุมชน' บ้านผาหมอนแห่งนี้ มีดอยอินทนนท์เป็นพื้นที่เรียนรู้ แม้จะไม่ใช่นโยบายของโรงเรียน ไม่ใช่นโยบายของหมู่บ้าน แต่ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านรับรู้ สุรสิทธิ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า มาจากความว่างของเขาและหลานๆ เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 เขาอยากให้เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการเรียนรู้ที่ง่ายที่สุด ก็คือเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวแต่อาจมองข้ามและหลงลืมกันไปบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกินเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ วัตถุดิบในชุมชนหลักๆ คือพืชพันธุ์พื้นบ้าน จึงถูกจัดอยู่ในหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ เป็นอันดับแรก

Knyaw Hpo Smart Farm Kids

 

สุรสิทธิ์เริ่มจัดหาข้อมูลสำหรับสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ คิดค้นเป็นหลักสูตรจากความสมัครใจและความสนใจของเด็กจริงๆ ว่าพวกเขาอยากจะเรียนอะไรและมีกิจกรรมไหนที่พอจะเป็นไปได้บ้าง ในที่สุดก็ได้ออกมา 9 เรื่องด้วยกัน

1.เกษตรวิถีชุมชนบ้านผาหมอน เน้นศึกษาเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่น, 2.ศิลปะและดนตรีพื้นบ้าน เน้นนันทนาการแบบมีสาระ, 3.ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นการลงมือปฎิบัติในพื้นที่และต่างพื้นที่ผ่านระบบออนไลน์, 4.การท่องเที่ยวแบบเด็กๆ เน้นได้เรียนรู้การเดินทางในจินตนาการและปฎิบัติจริงในพื้นที่, 5.วิถีชุมชนศาสนสัมพันธ์/ความเชื่อ เน้นเห็นความต่างที่สร้างคุณค่าทางจิตใจ, 6.ปรัชญาวิถีชุมชน เน้นคำสอนผ่านเรื่องเล่าในวิถีตนเอง, 7.ภาษาอังกฤษ เน้นบทสนทนาง่ายๆ พูดให้เป็น, 8.เที่ยวไปสไตล์ K'nyaw Hpo หรือจะเรียกว่าเป็นชั่วโมงว่าง เพื่อการผ่อนคลายในสไตล์เด็กๆ และ 9.การประกอบทำอาหาร เน้นเรียนรู้อาหารพื้นบ้านพร้อมเรียนรู้เรื่องวัตถุดิบในพื้นที่และอาหารวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น กาแฟ การทำสมูทตี้จากผักผลไม้ อาหารจานเด็ดจากเชฟกระทะเหล็ก เป็นต้น

 

Knyaw Hpo 3

ห้องเรียนวิชาเกษรกรรม ที่ชุมชนบ้านผาหมอน จ.เชียงใหม่

 

ในหนึ่งวันจะมีกิจกรรมสนุกๆ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และลงมือทำ โดยทั้ง 9 วิชา จะสับเปลี่ยนกันสอดแทรกไว้ในตัวกิจกรรมตามความเหมาะสม ยกตัวอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ผ่านระบบการอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบดั้งเดิมตามวิถีชีวิตคนปกาเกอะญอ การดูแลป่า การอนุรักษ์แบบใช้สอย และยังได้เรียนรู้ธรรมชาติที่ต่างกันอย่างป่าชายเลนผ่านวิดีโอคอลจากผู้รู้ เพราะนอกจากธรรมชาติในพื้นที่แล้ว เด็กๆ ควรได้เรียนรู้ธรรมชาติของพื้นที่อื่น รวมถึงเรื่องใกล้ตัวอย่างการคัดแยกขยะด้วย

นอกจากนี้ได้ป้าทราย ลุงต้นจาก The Nature Camp ที่แวะมามอบประสบการณ์ดูนกรอบบ้าน และชวนเด็กๆ ออกปฏิบัติการนักสืบสายน้ำ เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติใกล้ตัว ส่องสัตว์น้ำที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงพวกเขา และพาเด็กๆ เข้าครัวโชว์ฝีมือทำขนมสาคูธรรมชาติแท้ๆ กินกันก่อนจบกิจกรรม

 

Knyaw Hpo 4

กิจกรรมนักสืบสายน้ำ จาก The Nature Camp

 

หลักสูตรเชื่อมสัมพันธ์

เพราะโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ในอีกมุมหนึ่ง อาจารย์ชิแห่งวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย จ.ตาก ใช้หลักการ 'CO-Community School' เพื่อสร้างฐานการศึกษาที่ตอบสนองวิถีชุมชน ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องมีหลักสูตรที่สอนองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่เพียงเรียนรู้ในห้องเรียน แต่ต้องออกมาเรียนรู้ในพื้นที่จริง มี 'ห้องเรียนชุมชน' หรือ 'แหล่งเรียนรู้ชุมชน' อันเป็นจุดเริ่มต้นของ หลักสูตรบูรณาการองค์ความรู้ท้องถิ่น ที่ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น พร้อมกับการพัฒนาฐานการเรียนรู้ชุมชน

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อนหน้าที่ทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 อาจารย์ชิมองเห็นปัญหาคุณภาพการศึกษาของเด็กชายขอบ จากคะแนน National Test หรือ NP ที่ใช้ในการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปรากฏว่า

เด็กในโรงเรียน 5 อำเภอชายแดนตาก (พบพระ แม่ระมาด แม่สอด อุ้มผาง ท่าสองยาง) อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ที่อันดับ 4 ของประเทศ และเมื่อวิเคราะห์พื้นที่โรงเรียนและชุมชนของเด็กชาติพันธุ์ พบว่านอกจากเด็กจะด้อยทักษะขั้นพื้นฐานแล้ว ทักษะทางวัฒนธรรมที่ควรจะมีก็ด้อยไปด้วย

ในขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอ โรงเรียนระดับประถมศึกษาบางแห่งมีครู 3 คนกับเด็ก 6 ระดับชั้น นั่นเท่ากับว่าครู 1 คน ต้องรับผิดชอบ 2 ระดับชั้น และสอนหลายวิชา การจะทำให้ศักยภาพเท่ากับเด็กโรงเรียนในเมืองที่มีครูครบทุกวิชาและมีครูเฉพาะด้านนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ และนั่นเป็นต้นทางของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งหากจะหวังผลลัพธ์ตรงปลายทางคงเป็นไปได้ยาก

 

S__32104623

 

อาจารย์ชิจึงเสนอให้มีการสอดแทรกวัฒนธรรมพื้นถิ่นเข้าไปในบทเรียน 3 วิชาแกนกลางที่ใช้ในการสอบ NT ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และสังคมศึกษา อีกทั้งต้องเพิ่มภาษาอังกฤษด้วย โดยหลักสูตรนี้จะทำให้เด็กเข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้มากขึ้น ไม่รู้สึกจำเจกับการเรียนในห้องสี่เหลี่ยม เพราะแต่ละคาบเรียนพวกเขาจะตื่นเต้นกับการได้พื้นที่เพื่อเรียนรู้ ส่วนชั่วโมงเรียนที่วางไว้ อย่างวิชาคณิตศาสตร์ทั้งหมด 10 ชม. จะแบ่งเป็นกิจกรรมต่างๆ โดยวางแผนร่วมกับการวางหลักสูตรในแต่ละปี

“อย่างเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องมลภาวะจากการเผา เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้เรื่องการเผา การทำแนวกันไฟ ถ้าเผาโดยไม่ทำแนวกันไฟจะเกิดควัน จะส่งผลต่อมลพิษในอากาศ โดยมีปราชญ์ชาวบ้านเป็นคนอธิบาย เรียนรู้จากพื้นที่จริง เขาก็จะถึงบางอ้อว่า ภูมิปัญญาการเผาที่ไม่เกิดมลภาวะมันเป็นอย่างนี้นะ ทั้งหมดก็เพื่อให้ได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ”

ทว่าในการสร้างฐานการเรียนรู้ลักษณะนี้ สิ่งสำคัญที่ยังคงขาดไม่ได้ก็คือ ‘ครู’ ที่ผ่านมาเกิดข้อถกเถียงพอสมควร เนื่องจากบางคนมองว่าหลักสูตรกลางที่ใช้นั้นดีอยู่แล้ว เขามีหน้าที่เพียงสอนตามหลักสูตร งานที่มีก็หนักพออยู่แล้ว การจะต้องบูรณาการแหล่งเรียนรู้เข้าไปเป็นการเพิ่มภาระให้กับครู ดังนั้น กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างอย่างทุกวันนี้ ต้องอาศัยเวลาและความทุ่มเทมากพอสมควร

 

S__32104625

 

S__32104624

การเรียนรู้นอกห้องเรียน 

 

“จากแบบทดสอบทั้งก่อนและหลังที่วัดการอ่าน เขียน ตอบคำถาม และปฏิบัติ ใน 3 วิชาหลัก ปรากฏว่าทักษะทางวัฒนธรรมของเด็กๆ เพิ่มขึ้นมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์” อาจารย์ชิยืนยันถึงพัฒนาการของเด็กๆ หลังทดลองใช้หลักสูตรการเรียนนี้

'ห้องเรียน' ในวิกฤตโควิด-19 จึงไม่ควรถูกจำกัดด้วยรูปแบบที่ตายตัว แต่ควรออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้รากเหง้าของตัวเองก่อนจะก้าวต่อไปในโลกแห่งอนาคต ตอบโจทย์การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด