‘ซาปา’ สวิตเซอร์แลนด์แห่งเวียดนาม

‘ซาปา’  สวิตเซอร์แลนด์แห่งเวียดนาม

ไม่ว่าจะฝันถึงขุนเขา สายหมอก นาขั้นบันได สีสันทางวัฒนธรรม หรือแม้แต่ ‘หิมะ’ เมืองในหมอกและขุนเขาตระหง่านแห่งนี้คือคำตอบ

 

‘ซาปา’ จุดเล็กๆ บนแผนที่โลก เป็นดินแดนห่างไกลในโอบกอดของขุนเขาและสายหมอก ด้วยความห่างไกลอยู่ขึ้นไปทางตอนบนของเวียดนามเหนือเกือบประชิดติดชายแดนจีน ทำให้ซาปายังคงรักษาความงามตามธรรมชาติไว้ได้ ซาปามีเสน่ห์ขนาดนั้นเชียวรึ? คงต้องไปพิสูจน์ให้เห็นกับตากันล่ะ

ทริปอันแสนสนุกบุกตะลุยเวียดนามเหนือของผม เริ่มต้นจากการบินตรงกรุงเทพฯ-ฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ซึ่งเป็นเสมือนประตูด่านแรกที่เปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก การพักผ่อนเที่ยวเดินเล่นถ่ายภาพ อยู่ในย่านเมืองเก่า Old Quarter ของฮานอย 2-3 วัน ก่อนไปซาปา ถือเป็นสีสันและกำไรชีวิตอย่างแท้จริง เพราะเหมือนการได้ทำความรู้จักมักคุ้นกับนิสัยใจคอของคนเวียดนามไว้ก่อน

สี่ทุ่มสิบนาทีคืนนั้น ผมโบกมือลาฮานอยไปพร้อมกับรถไฟตู้นอนขบวนยาวเหยียด เดินทางขึ้นเหนือสู่ ลาวไก (Lao Cai) เมืองหน้าด่านของเวียดนามภาคเหนือ ก่อนเดินทางต่อไปยัง ซาปา (Sapa) สภาพตู้นอนในรถไฟสะดวกสบายไม่หยอก เพราะแบ่งเป็นห้องมิดชิดนอนได้ 4 คน มีเตียงบนเตียงล่าง ใครแข้งขายังดีก็ปีนขึ้นไปเตียงบน แต่อย่าลืมล็อกประตูห้องด้วย เพราะเคยมีประวัติว่าของหายบ่อยๆ!

พอเข็มนาฬิกาบอกเวลา 07.20 น. ผมก็มาถึงลาวไก จากนั้นต่อรถตู้ไปซาปา กินเวลาแค่ชั่วโมงเศษๆ แต่พอดีเป็นวันอาทิตย์ ที่หมู่บ้านบัคฮา (Bac Ha) จึงมีตลาดนัดชาวเขาที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามเหนือ ผมไม่พลาดโอกาสทอง เส้นทาง 70 กิโลเมตร เลาะไหล่เขาชันเลี้ยวลดคดโค้งไปมายังกับงูเลื้อย เอาเข้าจริงๆ กินเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ถึงตลาดบัคฮาก็สิบโมง ผมรีบคว้ากล้องเดินเข้าตลาด ได้ภาพชาวเขาหลายเผ่าเขาแต่งกายมีเอกลักษณ์ และแอบเห็นการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ไม่ต้องใช้เงินเลยสักแดงเดียว คือมีสาวเผ่า ‘ม้งดอกไม้’ (Flowered Hmong) สานกระด้งมาขาย แต่สาวเผ่า ‘ม้งดำ’ ก็เอากล้วยหวีนึงมาแลกไปเฉยๆ

ชาวเขาในตลาดบัคฮาไม่ได้มีเป็นหลักร้อย แต่มีเป็นพันคน สีสันเลยละลานตาไปหมด โดยเผ่าเด่นที่สุดคือ ม้งดอกไม้ รองลงมาคือม้งดำ ม้งแดง เย้า ไต และอื่นๆ ชาวเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่อพยพลงมาจากจีนตอนใต้เมื่อราว 2,000 ปีก่อน เพื่อหนีภัยสงครามในแดนมังกรนั่นเอง

 

Sapa 8

 

บ่ายวันนั้นรถตู้คันเก่าพาผมฝ่าทางชันขึ้นเขาสูง ผ่านนาขั้นบันไดจนเข้าสู่ซาปาในในที่สุด วินาทีนั้นผมสุขใจมากที่ได้มาถึงเมืองตากอากาศอันมีชื่อเสียง ตัวเมืองไม่ใหญ่ไม่เล็ก ขนาดกำลังพอเหมาะกับการใช้ชีวิต วางตัวลดหลั่นลงมาตามเนินเขาและหุบกว้าง สอดประสานรับกับแนวเทือกเขาใหญ่ที่โอบล้อมเมืองไว้อย่างงดงาม อากาศก็เย็นสบาย ถนนในเมืองเป็นแค่สองเลนรถราน้อย ไม่อึกทึก แถมยังมีต้นไม้ สวนหย่อม และดอกไม้นานาพันธุ์ ช่วยให้ซาปามีลักษณะคล้ายกับเทือกเขาสวิสแอลป์ในฤดูร้อนไม่มีผิด

ชื่อเมืองซาปาเริ่มเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ช่วงที่เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1913 มีค่ายทหารฝรั่งเศสประจำการอยู่ กระทั่งปี ค.ศ. 1917-1925 ซาปาเริ่มบูม มีขุนนาง นายทหาร และคนรวยชาวฝรั่งเศส มาสร้างบ้านพักตากอากาศที่ซาปานับร้อยหลัง

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1940 ซาปาก็กลายเป็น ‘ไฮโซรีสอร์ทบนขุนเขา’ เต็มตัว แต่เมื่อย่างเข้าปี ค.ศ. 1947 เป็นต้นมา ชาวเวียดนามก็พยายามต่อสู้ปลดปล่อยตนเองจากการครอบครองของฝรั่งเศส ซาปาเลยโดนทิ้งระเบิดซะยับเยิน จนเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1954 ฝรั่งเศสก็ถูกขับไล่ออกจากเวียดนาม หลังจากนั้นซาปาก็ถูกทิ้งร้าง แล้วเพิ่งฟื้นฟูขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้เอง

ยามค่ำในซาปาอากาศหนาวจับใจ มองไปที่ปรอทบนผนังห้องลดต่ำลงมาถึง 12 องศาเซลเซียส นี่คงเพราะซาปาตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลตั้ง 1,650 เมตร จึงมีอากาศหนาวเย็นทั้งปี ยิ่งถ้าใครมาเที่ยวช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม รับรองจะต้องได้เห็นหิมะโปรยปรายแน่นอน

 

Sapa 7

 

เช้าตรู่วันถัดมาก่อนที่พระอาทิตย์จะโพล่พ้นเหลี่ยมเขา ผมออกมายืนรับอากาศเย็นอยู่หน้าห้อง เหม่อมองฟ้าเริ่มสว่าง ขุนเขาตระหง่านรอบเมืองที่เคยเป็นสีทึบ บัดนี้ถูกแต้มด้วยแสงอาทิตย์อุ่น ซาปากำลังตื่นจากหลับใหล มองเห็นอาคารทรงเฟรนช์-โคโลเนียล (French-Colonial) ทั้งใหม่เก่าในตัวเมือง เป็นเอกลักษณ์ดีจริงๆ

เช้านี้ผมออกไปเดินเที่ยวท่ามกลางหมอกขาวเย็นจับใจ รอบจัตุรัสกลางเมืองซาปามีชาวเขาเผ่าม้งแดงนำงานฝีมือพวกผ้าปัก ย่าม ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เครื่องเงิน มาวางขายกันในราคาต่อได้สนุก ใกล้ๆ กันนั้นยังมีแผงผักสดนานาชนิดที่ชาวเขานำลงมาขาย ถ้าตื่นสายคงไม่ได้เห็นภาพแบบนี้ชัวร์

Sapa 11

 

ซาปาเป็นเมืองเล็ก ถ้าจะเดินเที่ยวใช้เวลาแค่ 30-40 นาที ก็เดินจากฝั่งหนึ่งถึงอีกฝั่งหนึ่งแล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเดินทอดน่องกันอยู่รอบจัตุรัสกลางเมือง (Sapa Square) ที่มีทั้งโบสถ์เก่า สวนหย่อม ร้านอาหาร และแหล่งช็อปปิ้งสินค้าชาวเขาให้เลือกอย่างจุใจ หรือจะเดินเข้าตลาดซาปา เป็นตลาดสองชั้น ชั้นล่างมีพืชผลเกษตรสดๆ ส่วนชั้นบนเป็นตลาดขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป สำหรับฝรั่งตะวันตกตลาดแบกะดินแบบนี้มันดูน่าตื่นตาตื่นใจ ยิ่งได้เห็นอาหารพื้นบ้านอย่างไส้ทอด แมลงทอด และเฝอ อันนี้ฝรั่งยิ่งอะเมซิ่งใหญ่

ไฮไลต์ของการเที่ยวซาปาก็คือ ควรเดินขึ้นไปจุดชมวิวซาปาบนยอดเขา มี สวนพฤกษชาติฮ่ามซ่ง (Ham Rong Park) ซึ่งจะมองลงมาเห็นซาปาได้ทั้งเมือง แถมวันไหนอากาศแจ่มใสฟ้ากระจ่าง ก็จะเห็นยอดเขาฟานสิปานตั้งตระหง่านเงื้อมราวกับอยู่ใกล้แค่เอื้อม และอีกอย่างที่ห้ามพลาดคือ การไปเดินเที่ยวหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งดำ หมู่บ้านกัต กัต (Cat Cat Village) ซึ่งมีเส้นทางเดินชมป่าเขา นาขั้นบันได และวิถีม้งดำอันเรียบง่าย

Sapa 2

 

บ่ายวันนั้นหลังจากเข้าไปกินเค้กสไตล์ฝรั่งเศสรสเข้มข้นที่ร้านบาแก็ตต์ แอนด์ ช็อกโกแลต (Baguette & Chocolat) ใกล้จัตุรัสซาปาแล้ว ความหวานของน้ำตาลก็ทำให้มีพลังเหลือเฟือ ผมเลยเดินขึ้นเขาที่สวนพฤกษชาติฮ่ามซ่ง ผ่านสวนกล้วยไม้ช่วงแรกก็คึกคักดี แต่พอผ่านสวนช่วงสุดท้ายแล้ว บันไดก็ชันขึ้น จนถึงป่าหินปูนตะปุ่มตะป่ำ เพื่อนที่ไปด้วยถอดใจ นั่งรอจิบชาร้อนๆ อยู่ที่ร้านค้าระหว่างทางนั่นเอง

บนจุดสูงสุดของยอดเขา ผมมองลงมาเห็นเมืองซาปาตั้งอยู่เบื้องล่าง พลางนึกขึ้นในใจว่า วินาทีนี้ควรจะมีคนพิเศษมาอยู่เคียงข้างแบ่งปันความสุข แต่ชีวิตของนักเดินทางก็เป็นเช่นนี้เอง ที่ต้องมีทั้งสุข ทุกข์ อบอุ่น เปลี่ยวเหงาเคล้ากันไป 

คงจริงอย่างที่บางคนบอกว่า การเดินทางคือความพลัดพรากชนิดหนึ่ง พลัดพรากจากสิ่งหนึ่งเพื่อไปพบกับอีกสิ่งหนึ่ง มันอยู่ที่ว่าเราจะเลือกรับเอาแบบไหน? แต่บทสุดท้ายของทุกการเดินทาง ก็มีเพียงบ้านอันอบอุ่นเท่านั้น ที่เราอยากกลับไปอิงกายเหมือนเคย