ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง

ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง

เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2563 โดยปีนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้คนสูบบุหรี่ลดลง

ผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พบคนไทยร้อยละ 76 รู้ว่าสูบบุหรี่เสี่ยงติดไวรัสโควิด-19 อีกร้อยละ 85 ตระหนักบุหรี่ ทำให้ปอดอักเสบจากโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น รวมถึงบุหรี่ช่วยแพร่กระจายโรค ป่วยแล้วรักษาหายยากกว่าคนไม่สูบ ทำให้สิงห์อมควันร้อยละ 58 สูบบุหรี่ลดลง

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เผยผลสำรวจ ความรู้ความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อการสูบบุหรี่  ส่งผลต่อความเสี่ยงอันตรายป่วยร้ายแรงจากปอดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบควิก โพล ทางออนไลน์ ช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อนำข้อมูลไปใช้พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาวะ ที่เกี่ยวกับการรณรงค์ให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่

พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ที่สูบและไม่สูบบุหรี่ อายุระหว่าง 21-60 ปี ทั้งเพศชายและเพศหญิง วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 40.8 และต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 32.5 ที่ติดตามข่าวสารสถานการณ์โควิด-19 ทราบว่า การสูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการติดไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ถึงร้อยละ 76 และยังทราบด้วยว่าการสูบบุหรี่ทำให้ปอดอักเสบจากโรคโควิด-19 รุนแรงขึ้นถึงร้อยละ 85

ศ.นพ.รณชัย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 36 ทราบว่าการสูบบุหรี่ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดทำให้ง่ายขึ้น อีกร้อยละ 52 ทราบว่าการสูบบุหรี่สามารถแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 ได้ง่ายและมากขึ้น จากการไอ ถ่มเสมหะหรือน้ำลาย

และร้อยละ 48 ทราบว่าการสูบบุหรี่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากขึ้น  ทั้งนี้ ประชาชนยังมีความเข้าใจเรื่องบุหรี่ต่อสถานการณ์วิกฤตเป็นอย่างดี โดยร้อยละ 87 รับทราบว่าผู้สูบบุหรี่ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะรักษาหายยากกว่าคนที่ไม่สูบ เพราะปอดเสื่อมโทรมจากบุหรี่มาก่อนแล้ว

ขณะที่ประชาชนร้อยละ 71 พร้อมบอกต่อถึงอันตรายหากสูบบุหรี่ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดวิกฤตจากไวรัสแก่คนใกล้ชิด ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่สูบบุหรี่ร้อยละ 58.5 สูบลดลงหลังจากทราบข่าวสารสถานการณ์โควิด-19 ที่เกี่ยวกับบุหรี่ 

“ผลโพลที่ปรากฏนี้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน รวมถึงสื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ให้ความรู้ ว่าการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิด ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด จะยิ่งทำให้อาการป่วยทรุดและอาจเสียชีวิตได้นั้นมาถูกทาง

ซึ่งควรถอดบทเรียนการสื่อสารที่สำเร็จนี้มาพัฒนาต่อยอด หาช่องทางเข้าถึงกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับข่าวสาร หรือรับข่าวสารแล้วยังมีพฤติกรรมสูบบุหรี่เหมือนเดิม เชื่อว่าจะช่วยสร้างสังคมปลอดบุหรี่ได้จริงในอนาคต และถือเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมกันรณรงค์อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง"

ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2563  โดยในปีนี้มีคำขวัญที่สอดคล้องกับสถานการณ์คือ ‘ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง’ #เลิกสูบลดเสี่ยง