โควิดจะระบาดรอบสอง?

โควิดจะระบาดรอบสอง?

คลายปมการระบาดระลอกที่ 2 ของ 'โควิด-19' ด้วยแบบจำลองในห้องปฏิบัติ และประวัติการระบาดใหญ่ทั่วโลก หาคำตอบว่าหากกลับมาระบาดอีกครั้งในประเทศไทยจะรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่

 

หนึ่งในหัวข้อสุดฮิตช่วงนี้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศคือ คำถามว่าจะเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นระลอกที่ 2 หรือไม่? และเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร จะต้อง (เมื่อยมือ) ตั้งการ์ดกันไปอีกนานแค่ไหน? และเราจะเลี่ยงการเกิดการระบาดรอบที่ 2 ได้หรือไม่?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า แนวคิดแบบนี้มาจากไหนกันแน่?

คำตอบคือ มาจากสองแหล่งที่มาครับ หนึ่ง จากการทำนายโดยอาศัยการทำ ‘แบบจำลอง’ ในห้องปฏิบัติการที่ใส่ค่าปัจจัยต่างๆ เข้าไป แล้วให้เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลข้อมูลตาม 'เงื่อนไข' ต่างๆ ที่วางเอาไว้ อันนี้หนักไปทางหลักวิชาการมาก คงไม่เหมาะจะอธิบายตรงนี้สักเท่าไหร่ ส่วนอีกหนึ่งแหล่งก็คือ ดูจากประวัติการระบาดใหญ่ทั่วโลกหรือ 'แพนเดมิก (pandemic)' ของโรคต่างๆ ในอดีต โดยสรุปก็คือทั้งสองแหล่งที่ว่ามาข้างต้น บอกกับเราว่าการระบาดระลอกที่ 2 แทบจะเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้เอาทีเดียว

แต่หากไปลองค้นประวัติศาสตร์ของแพนเดมิกดู ก็จะพบเรื่องชวนให้ตั้งข้อสังเกตต่างๆ หลายเรื่อง เช่น พบว่าในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา มีแพนเดมิกเกิดขึ้น 6 ครั้ง อันนี้นับเฉพาะที่มีผู้เสียชีวิตเยอะชัดเจน และนักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับนะครับ อันที่จริงมีการระบาดเยอะกว่านี้มาก แต่มติไม่เป็นเอกฉันท์เท่าไหร่ คือบางคนคิดว่าไม่ค่อยสมศักดิ์ศรีแพนเดมิกเท่าไหร่ อาจมีระบาดในบางภูมิภาคเท่านั้น เช่น ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย (ค.ศ. 1977-8) ที่บางคนก็ว่า น่าจะจัดเป็นแพนเดมิกได้ แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ จัดเป็นแค่เพียงแพนเดมิกเทียม (pseudo-pandemic) เท่านั้น

โดยทั้ง 6 ครั้งเรียงตามลำดับได้ดังนี้นะครับ: (1) ไข้หวัดสเปน ค.ศ. 1918-20 (2) ไข้หวัดใหญ่เอเชีย ค.ศ. 1957-8 (3) ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง ค.ศ. 1968-9 (4) ซาร์ส ค.ศ. 2002-3 (5) ไข้หวัดหมู ค.ศ. 2009-10 และ (6) โควิด-19

จะเห็นได้ว่าในจำนวนนี้เป็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่เสีย 4 ครั้ง

นักวิชาการถึงกับรวบรวมหลักฐานทางพันธุกรรมและได้ข้อสรุปว่า ไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่ทั้ง 3 ครั้งหลังนี่ เป็นลูกหลานของสายพันธุ์ H1N1 ที่ระบาดใหญ่ในช่วงปี ค.ศ. 1918-20 ที่เรียกว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ซึ่งประเมินกันว่า น่าจะทำให้มีผู้เสียชีวิตไปราว 50-100 ล้านคนทีเดียว ในการระบาดช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 1 รวม 3 ปีคราวนั้น

ถึงกับมีคนตั้งฉายาให้ H1N1 เป็น ‘มารดาแห่งไข้หวัดใหญ่’ ทั้งปวง!

ในจำนวน 6 ครั้งดังกล่าวมีแค่ 2 ครั้งเท่านั้นที่มีสาเหตุมาจากเชื้อโคโรนาไวรัส (Coronavirus) คือ ซาร์ส (SARS) ที่ระบาดในปี ค.ศ. 2002-3 และโควิด-19 ที่เริ่มระบาดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 และด้วยความที่ว่ามีสารพันธุกรรมคล้ายกับไวรัสก่อโรคซาร์สมาก ไวรัสที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบันจึงได้ชื่อว่า ซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2)

ไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่ที่เป็นต้นเหตุแพนเดมิก เรียกว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Influenza A virus) พวกนี้จะมีรหัสประจำตัวเป็น H กับ N (เป็นตัวย่อของชื่อโปรตีนสองชนิดที่ต่างกันคือ ฮีมแอกกลูตินิน และนิวรามินิเดส) โดยตัวแรกสุดในกลุ่มนี้ก็คือ H1N1 ที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่สเปนนั่นเอง

สมาชิกทั้งหมดของไวรัสในกลุ่มนี้มี 18 ชนิด คือ H ตั้งแต่ H1 ถึง H18 และ N ตั้งแต่ N1 ถึง N11 ผสมปนเปกันไป เช่น ไข้หวัดนก (ค.ศ. 1997) ที่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทยไม่น้อย ก็มีรหัสพันธุกรรมประจำตัวว่า H5N1 โดยทุกชนิดอยู่ในวงศ์ออร์โธมิกโซวิริดี (Orthomyxoviridae) ส่วนโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด-19 อยู่ในวงศ์โคโรนาวิริดี (Coronaviridae) จะเห็นได้ว่า เป็นคนละวงศ์กัน โรคสำคัญที่ไวรัสในวงศ์หลังนี้ทำให้ป่วยก็คือ ปอดอักเส

การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเกิดขึ้นเป็นสองระลอก และระลอกหลังนี้มีความรุนแรงของโรคมากกว่า และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า เรื่องนี้กลายเป็น ‘ภาพจำ’ สำหรับแพนเดมิกเลยทีเดียว แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เอาเข้าจริงแล้วเชื้อไวรัส H1N1 ก็ไม่ได้ไปไหนไกลเลย ยังคงกลายพันธุ์ไปทีละน้อย และกลายเป็นต้นเหตุแพนเดมิกอื่นในเวลาต่อมา

แต่น่าสังเกตว่าแพนเดมิกครั้งอื่นๆ บางครั้ง เรื่องการระบาดเป็นระลอกจะบอกยากมากนะครับ ดังที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า แพนเดมิกส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเวลาการระบาดก็จะไปคาบเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสชนิดอื่นหรือกลุ่มอื่นที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้เช่นกัน จนยากที่จะบอกได้ว่าการเสียชีวิตเกิดจากไวรัสใดกันแน่จากไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดประจำปี (ซึ่งเกิดจากไวรัสชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด) หรือจะเป็นจากไวรัสที่ก่อแพนเดมิกในขณะนั้นกันแน่

เรื่องต่อมาคือ เรื่องความรุนแรงของโรคนั้น พบว่าไข้หวัดใหญ่เอเชีย (ค.ศ. 1957-8) ระบาดเป็น 2 ระลอก มีความรุนแรงของทั้งสองครั้งเท่าๆ กัน ขณะที่ไข้หวัดหมู (ค.ศ. 2009-10) ก็ระบาดเป็น 2 ระลอกเช่นเดียวกัน แต่อาการในคนไม่รุนแรงมากนักทั้งสองรอบ

ส่วนซาร์สที่เกิดจากโคโรนาไวรัสนั้นอาจจะถือได้ว่า เกิดการระบาดมากกว่า 2 ระลอกด้วยซ้ำไปในปีเดียว แต่ในทางกลับกันอาจมีคนมองว่า มันระบาดแบบม้วนเดียวจบ...ก็ได้เช่นกัน

จึงไม่น่าแปลกใจมากนักว่า แม้ไม่มีอะไรจะมาการันตีว่าต้องเกิดการระบาดระลอก 2 ขึ้นแน่ๆ แต่ก็มักเชื่อกันว่ามีโอกาสมากทีเดียว หากประมวลจากข้อมูลที่ว่ามาข้างต้น แต่สำหรับเรื่องของความรุนแรงของโรค กลับเอาแน่เอานอนไม่ได้มากนัก เอาเข้าจริงแล้ว เชื้อส่วนใหญ่จะได้รับการคัดสรรจนเหลือแต่ตัวที่ก่อความรุนแรงไม่มากนัก กระจายอยู่ในกลุ่มประชากร เพื่อรอวันที่จะกลายพันธุ์จนสามารถระบาดใหญ่ได้อีกครั้ง ดังในตัวอย่างทั้งโรคไข้หวัดใหญ่และซาร์ส

สำหรับช่วงระยะเวลาของปีที่เกิดการระบาดครั้งแรกนั้น แพนเดมิกไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่ (คือ 3 ครั้ง) เกิดในฤดูใบไม้ผลิ และมีอีกครั้งหนึ่งที่เกิดในฤดูร้อน ส่วนซาร์สเริ่มระบาดในฤดูใบไม้ร่วง และพบโควิดกลางฤดูหนาว จะเห็นได้ว่าอาจเกิดแพนเดมิกในฤดูใดก็ได้ทั้งนั้น นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนให้ความสนใจ เพราะในฤดูหนาวมักจะมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่มากกว่าฤดูอื่น จึงห่วงกันว่าโควิด-19 อาจจะระบาดหนักขึ้นและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้นอีกรอบในฤดูหนาวที่จะมาถึง ก็คงต้องรอดูว่าจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่

โดยเราแต่ละคนก็ต้องระมัดระวังตัวกันตามควรแก่สถานการณ์กันต่อไปนะครับ