กักตัวโควิด! ‘ติด...’ งอมแงม

กักตัวโควิด! ‘ติด...’ งอมแงม

เบื้องหลังกิจกรรมแก้เบื่อช่วงโควิด-19 อาจส่งผลร้ายกว่าที่คิด เมื่อการผ่อนคลายฆ่าเวลาแบบซ้ำๆ อาจกลายเป็นพฤติกรรม ‘ติด’ โดยไม่รู้ตัว

 

ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ที่ค่อยๆ คลายตัวลง หลายประเทศรวมถึงไทยก็เริ่มปลดล็อกดาวน์ ให้ประชาชนได้พอหายใจหายคอ คลายความอึดอัดตลอด 2 เดือน นับจากเริ่มใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เราต่างต้อง ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อสังคม’ กิจกรรมนอกสถานที่หลายอย่างที่เคยทำก็เป็นอันต้องงดเพื่อความปลอดภัย ทว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เพลิดเพลินกับการได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก เมื่อไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ประชากรกลุ่ม ‘สุขนิยม’ จึงต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวจากการกักตัว รักษาระยะห่างทางสังคม และโหยหากิจกรรมสร้างสุขที่คุ้นเคย นี่อาจเป็นชนวนชั้นดีของความเครียดที่พร้อมระเบิดใส่ตัวเองและคนข้างๆ

บางคนมีความเครียดสะสมทั้งจากภาวะตกงาน ว่างจนว้าวุ่นต้องหากิจกรรมทำคลายเครียด บางคนใช้โอกาสนี้ลงมือทำในสิ่งที่คิดว่าอยากลองทำสักที บางคนลองทำอะไรใหม่ๆ เพิ่มสีสันให้ชีวิต

ไม่ว่าจะอ่านหนังสือเล่มที่เคยดองไว้นานเป็นปี ตัดต่อคลิปสนุกๆ ที่เคยถ่ายไว้เมื่อตอนไปเที่ยวกับเดอะแก็ง รีโนเวทห้องสร้างบรรยากาศ Work From Home ปลูกต้นไม้เพิ่มออกซิเจนในอากาศ บางคนอาจจะค้นพบความเป็นเชฟในตัว บางคนโชว์สเต็ปเท้าไฟแดนซ์กระจายลง TikTok บางคนกำลังบริหารนิ้วและฝึกสกิลด้วยการเล่นเกม ในขณะที่บางคนอาจใช้โอกาสนี้ลงเรียนออนไลน์เติมความรู้กันสักหน่อย

ไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมเหล่านั้นเพื่อแก้เบื่อหรือคลายเหงา เมื่อทำไปเรื่อยๆ จนเคยชิน และเกินคำว่า ‘พอดี’ สิ่งนั้นก็จะแปรเป็นโทษมากกว่าประโยชน์เกินกว่าที่คิด กว่าจะรู้ตัวว่ากำลัง ‘ติด’ สิ่งนั้นก็ขโมยเวลาชีวิตของเราไปเสียแล้ว

 

tv-3774381

ภาพจาก pixabay.com

 

  • ตุนความสุข ช่วงกักตัว

สำหรับคอซีรีส์หรือจะเป็นคอหนัง หากมีเวลายาวๆ ก็พร้อมจะกางจอและเอนกายดูซีรีส์ให้หนำใจ ถ้าไม่ดูตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสอีกเมื่อไร... แล้วฉากแรกของการดูซีรีส์ก็ฉายขึ้น และจบลงในเช้าวันถัดไป พร้อมกับใต้ตาดำๆ และสมองพังๆ จากการไม่ได้นอนเมื่อคืน

จากผลวิจัยของ CIBA มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ‘พฤติกรรมการเลือกรับชมออนไลน์คอนเทนท์’ ของผู้บริโภค Gen-Y ในกรุงเทพฯ ระบุว่า 91.75 เปอร์เซ็นต์ ใช้สื่อออนไลน์เพื่อความบันเทิง และหมดเวลาช่วงก่อนนอน 3-4 ชม.ในการดูซีรีส์ ซึ่งการกระหน่ำดูซีรีส์อย่างต่อเนื่องแบบไม่หลับไม่นอน ทำให้เช้าอีกวันตื่นมากลายเป็นซอมบี้ พูดจาไม่รู้เรื่อง สมองเบลอ คิดงานไม่ออก และง่วงซึมตลอดทั้งวัน

อาการข้างต้นมาจากพฤติกรรมที่เรียกว่า Binge-Watching การเสพติดซีรีส์งอมแงม เนื่องจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่ให้ความบันเทิงแทนโรงภาพยนตร์อย่างไม่มีลิมิต ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ร้ายต่อร่างกาย

แม้เราไม่ได้ตั้งใจจะดูแบบมาราธอนเช่นนั้น แต่ซีรีส์เจ้ากรรมดันสนุกกว่าที่คิดหรือปลุกความเป็นนักสืบในตัวขึ้นมา จนทำให้มือเผลอไปคลิกตอนถัดไปอยู่ซ้ำๆ รู้ตัวอีกทีก็ดูจบซีซั่นแล้ว ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมีผลต่อสารเคมีในสมอง และมีอาการเสพติดได้คล้ายกับการติดยาเสพติด เพราะร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุขหรือฮอร์โมนที่เรียกว่า ‘โดพามีน’ (Dopamine) เกิดกระบวนการเสพติดการดูซีรีส์แบบฉุดไม่อยู่

และเมื่อต้องการให้เช้าของวันนั้นไม่เฉาไปทั้งวัน ตัวช่วยกระตุ้นให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าที่คนมักใช้นั่นคือ ‘กาแฟ’ ที่กลายเป็นของคู่กันสำหรับหลายคนเลยก็ว่าได้ และอาจมากไปถึงขั้น ‘เสพติดกาแฟ’ เมื่อไม่ได้กินจะปวดหัว สมองไม่แล่น หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น อาการพวกนี้เรียกว่า ‘ถอนคาเฟอีน’ (Caffeine withdrawal) ด้วยเพราะกาแฟมีคาเฟอีนเป็นสารเคมีหลัก ที่กระตุ้นระบบประสาททำให้สมองแจ่มใส กระชุ่มกระชวย ไม่ง่วง แต่ก็มีฤทธิ์เสพติดด้วยเช่นกัน

 

  • จิตวิทยาการติด

สอดคล้องกับเรื่อง ‘จิตวิทยาการติด’ ของ หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ เจ้าของฉายา จิตแพทย์นักแต่งเพลงรัก ที่นำมาเล่าผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ของเธอว่า ถ้าในวิกฤตินี้เราไม่ติดโควิด-19 ลองถามใจตัวเองอย่างซื่อสัตย์ดูว่า “ตอนนี้คุณกำลังติดอะไรอยู่?”

บางคนติดเกม บางคนติดซีรีส์ บางคนติดกาแฟ แต่พฤติกรรมการติดที่เห็นภาพผลกระทบชัดที่สุด และเป็นปัญหาสังคมมานานคือ ‘การติดสุรา’ และสิ่งอบายมุขต่างๆ เหล่านี้เป็นกลุ่มที่นอกจากจะกระทบต่อสุขภาพของผู้ติดเอง ยังกระทบต่อคนรอบข้าง และกลายเป็นปัญหาสังคมที่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากกลุ่มเสี่ยงที่จะติดสองสิ่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรากหญ้าหรือกลุ่มคนจนเมืองในสังคม

แม้หลายคนจะบอกว่า “ฉันไม่ติดนะ” แต่ถ้าลองสังเกตดีๆ น้อยมากที่คนติดสุราจะยอมรับว่าตัวเองติด และมักจะมีคนๆ หนึ่งเสมอที่รู้ว่าเรากำลังติดสิ่งหนึ่งอยู่ นั่นก็คือ ‘คนข้างๆ’ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือแฟน “ปัญหาที่มักเจอบ่อยๆ คือ การติด ยกตัวอย่างภรรยารู้ว่าสามีติดสุรา ส่วนสามีก็รู้ว่าภรรยาติดซีรีส์ แต่ต่างปฏิเสธว่า ฉันไม่ได้ติด” หมอเอิ้น พูดถึงพฤติกรรมการติดที่เป็นหนึ่งในปัญหาคู่รัก ก่อนจะเล่าถึงความสำคัญของการยอมรับว่า นั่นเป็นเพราะเมื่อเรายอมรับว่าตัวเองติด เราก็จะยอมรับตัวเองได้ง่ายขึ้น และบาลานซ์สิ่งที่ติดให้เกิดความสุขมากกว่าสร้างทุกข์ในภายหลัง

 

2112

หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ  

 

ปัญหาสุขภาพจิตอย่างหนึ่งเมื่อคนมาหาหมอช่วงโควิด-19 ที่มีมาตรการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่หมอเอิ้นพบคือ ‘การถอนเหล้าหรือภาวะการติดสุรา’ เมื่อไม่ได้ดื่มจะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติแปรปรวน หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย

ไม่นานนักคุณภาพชีวิตและการทำงานก็ค่อยๆ ด้อยประสิทธิภาพลง เพราะทุ่มทั้งเวลาและยังเผลอเทพลังใจที่มากเกินไปกับสิ่งนั้น พลอยให้ละเลยงานหรือบทบาทอื่นๆ ซึ่งหากร้ายแรงถึงขั้นขาดสติ ใช้ความรุนแรงในครอบครัวทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปอีก โดยส่วนใหญ่ปัญหาของครอบครัวลักษณะนี้มักเป็นเรื่อง สามีติดสุรา และมีภรรยาตักเตือนด้วยความปรารถนาดี แต่อีกฝ่ายกลับเครียดและดื่มหนักกว่าเดิม วงจรนี้มักจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรียกว่า วงจรการให้รางวัล (brain reward system) ยิ่งสิ่งนั้นช่วยเยียวยาได้มากเพียงใด ยิ่งกระตุ้นให้โหยหาและได้มามากเท่านั้น รางวัลในที่นี้จึงเสมือนกาแฟ ซีรีส์ และสุรา

“เมื่อเรารับสิ่งกระตุ้นบ่อยๆ สมองจะเริ่มเปลี่ยนโครงสร้างภายในเซลล์ กลายเป็นสมองที่ต้องการสิ่งกระตุ้นนั้นตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อสามีใช้สุรากระตุ้นให้สมองเกิดความสุขบ่อยๆ จนเกิดสภาวะสมองติดสุรา สามีก็จะต้องดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าดื่มน้อยลงอาจทำให้เกิดความทรมานจากระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติได้”

man-2181478

ภาพจาก pixabay.com

 

  • เอฟเฟกต์วงล้อแห่งรางวัล

เมื่อรับสิ่งกระตุ้นบ่อยๆ สมองจะเริ่มเปลี่ยนโครงสร้างภายในเซลล์ กลายเป็นสมองที่ต้องการสิ่งกระตุ้นนั้นตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อคนที่ใช้สุรากระตุ้นให้สมองเกิดความสุขบ่อยๆ จนเกิด ‘ภาวะสมองติดสุรา’ จึงต้องดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าดื่มน้อยลงอาจทำให้เกิดความทรมานจากระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติได้

"ถ้าอยู่ในระดับพอดีเราจะเคลิ้มแบบมีความสุข พอสมองติดใจจนหลั่งสารแห่งความสุขอย่าง ‘เอนโดรฟิน’ ออกมา และติดใจในความสุขนั้น อยากได้อารมณ์แบบนั้น บรรยากาศแบบนั้นอีก เพื่อตอบสนองความสุขที่ต้องการ”

ดังนั้น ความรุนแรงของทั้งอาการเสพติดซีรีส์และกาแฟ รวมถึงการติดสุรา ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน จะขึ้นอยู่กับปริมาณ ความถี่ การใช้เวลาไปกับมัน ที่สำคัญคือผลกระทบที่ได้รับ อย่างกาแฟที่ดื่มในแต่ละวัน ยิ่งดื่มมากจนร่างกายชินกับการรับในปริมาณนั้น เมื่อไม่ได้ดื่มในปริมาณเท่าเดิม ร่างกายจะตอบสนองด้วยอาการถอนคาเฟอีน ซึ่งความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน

ปริมาณการดื่มกาแฟที่ช่วยให้ทั้งวันมีชีวิตชีวา ในทางการแพทย์ก็นำมาใช้รักษาบางโรคตามที่มีการศึกษาวิจัยไว้ในปัจจุบัน ซึ่งปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมกับร่างกายอยู่ที่ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 3 แก้ว จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวและเพิ่มความรู้สึกตื่นตัว ส่วนในการป้องกันโรค อย่างพาร์กินสันและโรคนิ่ว การดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนวันละ 3-4 แก้ว อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้

ไม่ต่างจากตอนจบของซีรีส์ที่มักตัดด้วยการหักมุมหรือผูกปมไว้แน่น นั่นจะยิ่งกระตุกต่อมสงสัยและลามไปเกิด ‘ภาวะเครียดฉับพลัน’ ส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน Corticotropin-Releasing Hormone หรือ CRH กระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนชนิดอื่นๆ ที่ทำให้ตื่นตัวจากความเครียด พอร่างกายตื่นตัวก็จะไม่รู้สึกง่วง และไปขัดขวางการนอนหลับ ฮอร์โมนถูกหลั่งออกมามากกว่าปกติ

 

68295

ภาพจาก pixabay.com

นอกจากนี้ ยังเสี่ยงกับโรคออฟฟิศซินโดรมสูง แม้จะไม่ใช่มนุษย์ออฟฟิศก็ตาม เพราะพฤติกรรมติดกับหน้าจอ ทุ่มเทเวลา 2-6 ชม. อยู่บนโลกออนไลน์ ด้วยท่านั่งที่ขยับตัวน้อยและการเพ่งสายตานานๆ เพื่อไม่ให้พลาดเหตุการณ์ของซีรีส์ตอนสำคัญ ซึ่งการใช้สายตาเช่นนี้ อาจทำให้เกิดปัญหาสายตาตามมา เช่น อาการปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า อาการปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้ายทอย ปวดไมเกรน เนื่องจากเส้นประสาทจำนวนมากบริเวณรอบดวงตาจะเชื่อมต่อถึงกันทั่วทั้งศีรษะ และหนักถึงขั้นเป็นโรคตะคริวขึ้นตาได้ หากเป็นเช่นนั้นควรตัดใจห่างกันสักพักกับซีรีส์จะดีกว่า

จะเห็นได้ว่ากิจกรรมคลายเครียดที่เราทำเกินพอดี ส่งผลกระทบพ่วงต่อกันอย่างเป็นลูกโซ่ เมื่อร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ สมองก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ ทั้งยังส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ แน่นอนว่าจะทำให้ป่วยได้ง่าย หากไม่ปรับนาฬิกาชีวิตเสียใหม่ ร่างกายก็พังได้ง่ายๆ อาจเริ่มจากการลดเวลาลง แล้วแทนที่ด้วยกิจกรรมอย่างอื่นหรือลองทำอะไรใหม่ๆ เพื่อชาเลนจ์ตัวเองในแบบที่ไม่ทำร้ายสุขภาพกายและใจ

อย่างออกกำลังกายที่นอกจากจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแล้ว ยังกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเอนโดรฟิน หรือสารแห่งความสุขที่ดีต่อสุขภาพ ในช่วงการเลิกพฤติกรรมการติดต่างๆ ที่ร่างกายจะโหยหาสารแห่งความสุขแบบที่เคยได้รับ เมื่อไม่ได้จึงทำให้อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง การออกกำลังกายจึงช่วยเติมความสดชื่น และปรับสมดุลร่างกายให้ทำกิจกรรมที่รักได้อย่างสมดุล

ไม่เสียหายนักหากใครจะชอบบรรยากาศพอเคลิ้มๆ เสียงดนตรี และเครื่องดื่มชวนมึน ในขณะที่บางคนกลับเสพติดความกระปรี้กระเปร่าจากคาเฟอีน หรือฟินกับการดูซีรีส์มากกว่า แต่ไม่ว่าจะสุขใจกับกิจกรรมใด ต้องอย่าลืมคำว่า ‘พอดี’ ไม่อย่างนั้นกิจกรรมสร้างสุข จะกลายเป็นทุกข์ในภายหลัง