Exclusive Talk : 'ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา' โควิด-19 ร้ายกว่าที่คิด

Exclusive Talk : 'ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา' โควิด-19 ร้ายกว่าที่คิด

เปิดคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญโรคอุบัติใหม่ ถึงสัญญาณการระบาดระลอกสอง เมื่อ 'โควิด-19' สามารถโจมตีอวัยวะในร่างกายได้หลายระบบ พร้อมคำแนะนำถึงมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกและวิธีป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด

 

ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดในเมืองไทยและทั่วโลก เฟซบุ๊ก ‘ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา’ เป็นแหล่งความรู้อีกแห่งที่คนติดตามอ่าน เพราะเขียนในสิ่งที่คนอยากรู้  เนื่องจากศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัย ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน เป็นทั้งนักอ่าน นักค้นคว้า ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับจากองค์การอนามัยโลก เรื่อง ‘การพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค’,งานวิจัยเรื่องโรคสมองอักเสบ จากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะจากเชื้อพิษสุนัขบ้า และสมองอักเสบจากภาวะแปรปรวนทางระบบภูมิคุ้มกันโรคและเชื้อไวรัสอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีผลงานร่วมกับ ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ สร้าง ‘แผนที่สมองสุนัขและแผนที่สมองคนไทย’ รวมถึงมีผลงานบทความด้านสุขภาพที่เข้าใจง่าย โดยอ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ 

หลายเรื่องที่คุณหมอเขียนเกี่ยวกับโควิด-19 อาจทำให้คนอ่านรู้สึกหวาดกลัวและกังวล แต่รู้ไว้คงดีกว่าไม่รู้อะไรเลย และตอนนี้สิ่งที่คุณหมอห่วงมากที่สุด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 แม้ปัจจุบัน(เดือนพฤษภาคม 2563) ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะน้อยมาก

"มีคนบอกว่า หมอพูดเยอะ ทำให้คนกลัว ผมอยากบอกว่า ถ้าเราไม่รู้เขา รู้เรา เราจะไม่รู้ว่าจะตั้งรับด้วยมาตรการอะไร ตราบใดที่เราไม่รู้ว่าโรคนี้ร้ายแรงเพียงใด เราจะวางแผนรับมือไม่ถูก ถ้าเราไม่รู้จักผู้ร้าย ก็จะไม่สามารถสู้กับผู้ร้าย เป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องให้ความจริง เพื่อคนจะได้ป้องกันตัวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์" คุณหมอธีระวัฒน์ เล่า

และคุณหมอเองไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีใหม่ๆ เมื่อไม่นานนำนวัตกรรมเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 มาใช้และตอนนี้ทีมวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังทำงานร่วมกับทีมแพทย์จังหวัดปัตตานี เพื่อตรวจคัดกรองภูมิคุ้มกันโควิด-19 ในหมู่บ้านที่มีประชากรพันกว่าคน  

 

  20200521162142040

 

  • อยากให้ประเมินสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 (เดือนพฤษภาคม 2563) ตอนนี้สักนิด ?

ผมห่วงการแพร่ระบาดระลอก 2 ตามมาตรฐานคนติดเชื้อโควิด-19  มีไข้ เพลีย ไอ แต่ขณะนี้ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดจะมีอาการตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า ผิวหนัง สมอง ตับ ไต หัวใจ ถ้าเราไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้ คนป่วยก็สามารถมีอาการได้ทุกระบบที่แสดงออก  

ดังนั้นคนที่ไม่มีอาการตามมาตรฐาน ไม่ได้ป่วยวิกฤติ หรือแม้มีอาการมากเข้าโรงพยาบาลก็ไม่ทราบว่าเป็นโควิด-19 อาจแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว  ผมมองว่าการตรวจคัดกรองน่าจะเป็นเชิงรุก ตรวจคนที่ไม่มีอาการใดๆ ด้วย เพราะสามารถแพร่กระจายในวงกว้าง หนึ่งคนที่ติดเชื้อหากแพร่เชื้อภายในหนึ่งเดือน จะเป็นลูกโซ่ไปได้ถึงพันๆ คน

การคัดกรองคนไม่มีอาการ น่าจะเริ่มจากคนที่มีีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ อาจเริ่มจากกลุ่มคนขับรถสาธารณะ รถตู้ รถเมล์ รถประจำทาง คนเก็บตั๋ว โดยเฉพาะรถปรับอากาศ ชีวิตคนเหล่านี้พบปะคนมากมาย

ส่วนอีกเรื่องที่เป็นห่วง เมื่อเปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม มีตั้งแต่เด็กอนุบาลถึงมัธยม พ่อแม่พี่น้องอาจนำเชื้อมาติดเด็กๆ กลุ่มนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ ยังรวมถึงครูและเจ้าหน้าที่สถานศึกษา ถ้าใช้วิธีการคัดกรองแบบเดิมอาจตกหล่น เพราะวิธีเดิมเป็นการหาผู้ติดเชื้อจากผู้มีอาการ

ดังนั้นก่อนเด็กๆ จะเริ่มไปโรงเรียน เป็นไปได้ไหมว่า 4 วันก่อนเข้าเรียนต้องมีการเข้มงวดไม่ให้คนในครอบครัว พ่อแม่ และเด็กนักเรียนไปรับเชื้อจากที่อื่น นอกจากนี้ยังมีวิธีตรวจคัดกรองโดยการเจาะเลือดปลายนิ้ว ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยทำ เพื่อหาหลักฐานการติดเชื้อ ที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันระดับที่ 1 และระดับที่ 2

ถ้าตรวจพบภูมิคุ้มกันระดับที่ 1 ที่เรียกว่า IgM antibody เมื่อติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการจะพบเชื้อในวันที่ 4-6 หมายถึงเพิ่งติดเชื้อ มีโอกาสแพร่เชื้อสูงมาก และต้องระวังอาจเสียชีวิต จึงต้องกักตัวและเฝ้าดูอาการค่อนข้างเข้มงวด

ส่วนการพบเชื้อภูมิคุ้มกันระดับที่ 2 ที่เรียกว่า IgG antibody หมายถึงได้รับเชื้อมาระดับหนึ่ง อาจจะ 12-14 วันหรือนานกว่านั้น คนที่มีภูมิคุ้มกันกลุ่มนี้ไม่น่าจะเสียชีวิต เพราะติดเชื้อมานานแล้ว คนที่มีภูมิคุ้มกันแบบนี้ ถ้ายับยั้งไวรัสได้เท่ากับมีพาสปอร์ตผ่านทาง มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ แต่คนที่มี IgG ก็มีโอกาสแพร่เชื้อ อาจต้องกักตัวที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องเข้มงวด มีระยะห่าง ไม่สุงสิงกับใคร ใส่หน้ากาก เข้าห้องน้ำคนสุดท้ายให้ล้างห้องน้ำด้วย  

ส่วนการคัดกรองระดับสุดท้าย คือ การประเมินสถานภาพทั้งประเทศ แท้จริงแล้วประเทศเรามีคนที่ติดเชื้อเยอะแค่ไหน ถ้ามีวัคซีนเข้ามา จะประเมินได้ว่า ต้องฉีดวัคซีนให้คนกี่ล้านคน คนที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว การฉีดวัคซีนอาจไม่ได้ประโยชน์ 

 

20200516133649287  

 

  • การคัดกรองโดยเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 สามารถนำมาใช้กับคนทั้งประเทศได้ไหม

ล่าสุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับพื้นที่ในจังหวัดปัตตานี เตรียมตรวจคัดกรองคนพันกว่าคน ปกติพบอัตราการความชุกในการติดเชื้อ 1.7 เปอร์เซ็นต์ ถ้าตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกัน จะมีคนติดเชื้อมากกว่าที่เห็น 2.6 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจมากกว่านั้น

แท้จริงแล้วมีคนติดเชื้อมากกว่าที่เห็น เมื่อไม่สามารถมองเห็นด้วยตา ก็แพร่เชื้อเงียบๆ ไปเรื่อยๆ พอไปเจอคนที่ใช่ เสี่ยงที่จะเป็นโรครุนแรงและเสียชีวิตก็จะปะทุ สิ่งที่เราเห็น คือ ยอดภูเขาน้ำแข็ง ถ้าเราไม่ทราบสถานการณ์จริง ดูตามระบาดวิทยาด้วยตาอย่างเดียว เราอาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่

  • การตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 มีความเป็นไปได้แค่ไหน

อยู่ที่งบประมาณ ทางศูนย์ฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  'การเจาะเลือดหาภูมิคุ้มกัน' ต่อคนใช้เงินหนึ่งพันบาท ถ้ามีการตรวจคัดกรองจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องทำครบสูตร ราคาจะถูกลง ถ้าพบตัว IgG ก็ดูอีกว่า ยับยั้งไวรัสตัวนั้นได้จริงไหม นอกจากนี้ยังมีชุดตรวจแบบรวดเร็วจิ้มปลายนิ้ว รู้ผลภายในสองนาที ใช้สารตรวจจับภูมิ ทำจากโปรตีนต้นใบยาในประเทศไทยและทำได้ปริมาณเยอะ ตอนนี้เปรียบเทียบกับชุดมาตรฐาน พบว่า ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน เราอาจใช้ชุดตรวจรวดเร็วของจุฬาฯเป็นตัวหลัก ตามด้วยการตรวจยืนยันภูมิคุ้มกันระดับสองบางรายที่จำเป็น

ยกตัวอย่างหมู่บ้านพันกว่าคนในจังหวัดปัตตานี ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ,คุณหมอวิพุธ พูลเจริญ และอีกหลายคนลงไปทำงานสำรวจวางแผนคัดกรองแต่ละหมู่บ้าน แต่ละอำเภอ เนื่องจากมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน และการคัดกรองต้องทำโดยคนในพื้นที่ที่รู้ธรรมชาติของคนและกิจกรรม รวมถึงต้องมีความรู้ทางระบาดวิทยา

 

20200521162153104

 

  • แนวทางนี้ ตรวจแบบปูพรมทั้งประเทศได้ไหม

เป็นไปได้แน่นอน การตรวจคัดกรอง ทำเยอะราคาถูก เมื่อตรวจแล้วพบผลเลือดเป็นบวก เราสามารถแยกคนเหล่านี้ออกมา เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อ ถ้าทำแบบนี้ได้ เราสามารถประกาศเป็นประเทศสะอาดได้ การท่องเที่ยวจะสามารถทำได้ด้วยความสบายใจ  ส่วนคนที่มาจากต่างประเทศ ก็สามารถตรวจแบบเดียวกัน แต่อาจตรวจซ้ำหลังจาก 4 วันที่เข้ามาประเทศเราแล้ว แม้จะไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผลที่ทำขณะนี้ 99 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือเหตุผลว่า ต้องตรวจเด็กๆ ก่อนไปโรงเรียน 4 วัน แนวทางนี้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์รองรับชัดเจน

  • ถ้าทำทั้งประเทศ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละเท่าไร

ประมาณคนละ 100-200 บาท

  • พื้นที่อื่นๆ จะทำแบบนี้ได้ไหม

ต้องมีโรงพยาบาลที่เป็นตัวกลางรับเลือด แล้วส่งมาตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาฯแต่ไม่สามารถเบิกสปสช.ได้ เราไปก้าวล่วงเรื่องนี้ไม่ได้ โชคดีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเข้าใจเรื่องนี้ หากคนที่กลับมาจากประกอบพิธีทางศาสนา ต้องกักตัว 14 วัน ถ้าตรวจด้วยวิธีนี้แล้วไม่พบเชื้อก็กลับบ้านได้เลย แต่ถ้ามีผลเลือดบวก ก็สามารถคัดแยกออกมา ถ้าเทียบกับกักตัวเลี้ยงดู 14 วัน วิธีนี้จะได้กำไรมากกว่าขาดทุน และตอนนี้ใช้มาตรการคลายล็อคแล้ว ชุมชนไหนมีความเสี่ยง อย่างคลองเตย ท่าเรือ คลองจั่น โดยเฉพาะพวกพ่อค้าแม่ค้าเจอคนเยอะๆ หรือสถานที่ชุมนุม สามารถตรวจคัดกรองประเมินแบบนี้ได้เลย แต่ต้องวางแผน

 

  • มีเรื่องใดที่เราไม่รู้เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 บ้าง

ทีมเราทำเรื่องโรคอุบัติใหม่ เจอมาทั้งเรื่องซาร์ส เมอร์ส พิษสุนัขบ้าฯลฯ ส่วนโควิดเป็นไวรัสตัวเดียวที่รวมไวรัสทุกชนิดมาอยู่ในตัวมัน ตั้งแต่ติดต่อง่าย ติดแล้วไม่แสดงอาการทันที และยังทอดเวลาไปตั้ง 14 วันถึงจะแสดงอาการ บางคนอาจทอดเวลาไป 20 วัน และช่วงไม่แสดงอาการยังแพร่เชื้อได้อีก

เมื่อแสดงอาการออกมา อาการกลับนิดเดียว หรือแสดงอาการไขว้เขวกับโรคอื่น เหมือนเป็นโควิดแต่ไม่มีไข้ ไม่ไอ กลไกของมันไม่ได้อยู่ที่จมูก คอ อาจค่อยๆ เลื่อนไปที่ปอด บางคนไม่มีอาการไอเพราะเชื้อไปลงที่ปอด ทำให้คนๆ นั้นเดินไปเดินมาแพร่เชื้อได้ พอเริ่มเหนื่อยก็ปรากฏไวรัสเต็มไปหมดแล้ว แต่ในขณะเดียวกันไวรัสตัวนี้สามารถหาที่อยู่ของมันที่ไม่ใช่ทางเดินหายใจส่วนบนหรือส่วนล่าง บางทีไปที่ผนังเส้นเลือด เม็ดเลือดหรือลำไส้ อาการจึงแตกต่างกัน 

อีกอย่างคือ มันท้ารบกับร่างกายเรา พอส่งทหารไปทำลายไวรัสมากเกินควร ที่เราเรียกว่า มรสุมภูมิวิกฤต ไม่ใช่แค่เชื้ออย่างเดียว แต่มีการอักเสบที่รุนแรงเกินจำเป็นที่ทำให้เสียชีวิต ภูมิคุ้มกันทัพหน้า ถ้าเจอกับเชื้ออื่น การอักเสบไม่ได้มากมายเหมือนเจอโควิด-19

ส่วนภูมิคุ้มกันทัพหลังจะมีความเฉพาะเจาะจงกับโควิด-19 เชื้อตัวนี้มันจะไปหลอกลวงภูมิคุ้มกันทัพหลัง ล่อลวงให้ร่างกายเข้าใจผิดว่า เส้นประสาทหรือสมองเราเป็นโควิด-19 ก็จะเกิดลักษณะสมองอักเสบหรือเส้นประสาทอักเสบ

ทั้งหมดทั้งปวง คือ ทำให้เกิดการอักเสบมากมายของภูมิคุ้มกันทัพหน้า ทำให้เลือดข้นผิดปกติ มีลิ่มเลือดเล็กๆ ในเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดขนาดกลาง เกิดความผิดปกติเส้นเลือดที่ไปผิวหน้า เส้นเลือดสมองทุกจุดในร่างกาย เกิดอัมพฤกษ์ สามารถเหนี่ยวนำด้วยโควิด-19 ทำร้ายทุกระบบของร่างกาย ด้วยกลไกทุกชนิดที่ร่างกายมีอยู่

 

  20200521162140459

 

  • คนติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไม่ได้เยอะ เรื่องนี้มีคำอธิบายอย่างไร

คนติดเชื้อที่จะแสดงอาการหนักแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว แต่แพร่เชื้อ 80 เปอร์เซ็นต์ เราศึกษาเรื่องนี้ เราไม่ได้ทำแค่การช่วยชีวิต แต่ดูว่าประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติสุขได้เมื่อไหร่ ยกตัวอย่างมีคุณพ่อรายหนึ่งมาบอลลูนหัวใจ กำลังจะกลับบ้าน ปรากฏว่ามีอาการปอดบวม หาสาเหตุไม่เจอ จนมาพบว่าติดโควิด-19 จากลูกชายที่บ้าน

  • มีคำแนะนำอื่นๆ เกี่ยวกับไวรัสโควิดไหม

ไม่ว่าจะน่ากลัวแค่ไหน ถ้าครอบตา จมูก ปาก ล้างมือให้สะอาดและบ่อยๆ ไม่ว่าจะไวรัสโควิดหรือไข้หวัดใหญ่ ป้องกันได้หมด และต่อไปจะมีไวรัสตัวอื่นๆ มาแพร่พันธุ์แน่นอน มีไวรัสตระกูลโคโรน่าที่ไม่รู้จักชื่ออีกหลายตัว ตอนนี้มีคนป่วยที่พบว่า ตรวจเชื้ออะไรก็ไม่เจอ ตรวจโควิด-19 ก็ไม่เจอ  แต่ตอนนี้เรามีเครื่องมือในการตรวจเรียบร้อยแล้ว

  • แล้วจัดการกับไวรัสไม่มีชื่ออย่างไร

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่จะใช้เครื่องมือถอดรหัสพันธุกรรมชั้นสูง เพื่อหาเชื้อไม่มีชื่อ ค่าตรวจคงประมาณสองสามหมื่นบาท ถ้าคนกำลังจะเสียชีวิต แล้วทำให้เรารู้ว่าเป็นไวรัสไม่มีชื่อแบบไหนภายใน 24 ชั่วโมง ก็คงดีกว่าใช้ยาหมดกระเป๋า แล้วไม่รู้ว่าสู้กับอะไร และเราสามารถถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวของโควิด-19 ได้และพบว่า โควิดที่แพร่เชื้อในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 มีทั้งชนิดนิ่มนวลและดุร้ายเหมือนที่เกิดในอเมริกา อังกฤษ สเปน สายพันธุ์เหล่านี้ฝังตัวในประเทศไทยแล้ว มันอยู่กับเรามาหลายเดือน แต่คนทำงานสาธารณสุขบ้านเรายอดเยี่ยมมาก และต้องยอมรับว่า คนไทยกลัวตายอันดับหนึ่งของโลก จึงพยายามปกป้องตัวเอง

 

  • ข้อดีคือระบบสาธารณสุขบ้านเราอยู่ในขั้นดีมาก ?

สาธารณสุขบ้านเราสามารถลงไปถึงพื้นที่ในหมู่บ้าน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) กว่าหนึ่งล้านคนทั่วประเทศ สามารถช่วยคัดกรอง เพราะพวกเขาสามารถเดินไปเคาะประตูบ้านได้หมด  

  • ในอนาคตโรคอุบัติใหม่จะเป็นอย่างไร

ตอนนี้โรคพวกนี้คงไม่ได้มาทุก 4 ปี น่าจะมาเรื่อยๆ อย่างโรคติดเชื้อทางสมอง สามารถหาสาเหตุได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ยังมีโรคติดเชื้อรุนแรงหาสาเหตุไม่ได้อีก แต่คนไข้รอดชีวิตได้เพราะเราให้ยาครอบคลุมโรคที่น่าจะเป็น ประคบประหงมด้วยเครื่องช่วยชีวิต ที่ผ่านมาโรคอุบัติใหม่อาจอยู่กับเรามาระยะหนึ่ง แต่เราไม่รู้ชื่อ