'กรมป่าไม้' แจงกรณีการฟื้นฟูป่าพื้นที่ภาคเหนือที่ถูกไฟไหม้

'กรมป่าไม้' แจงกรณีการฟื้นฟูป่าพื้นที่ภาคเหนือที่ถูกไฟไหม้

กรมป่าไม้ชี้แจงกรณีเพจของกรมป่าไม้เชิญชวนปลูกต้นไม้ 10 ล้านกล้าในพื้นที่ป่าภาคเหนือ เป็นการปลูกป่าตามหลักวิชาการ และรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมภายใต้โครงการ 'ปลูกป่าประชาอาสา' เพื่อฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยมิได้ใช้งบประมาณปกติสำหรับการปลูกป่า

 

จากกรณีที่บทความเรื่อง  ปลูกป่า 10 ล้านต้นในพื้นที่ไฟไหม้ หรือปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยาดีกว่า? ได้มีการสอบถามกรมป่าไม้เกี่ยวกับ "การดำเนินโครงการปลูกต้นไม้ 10 ล้านต้นในพื้นที่ป่าภาคเหนือที่ถูกไฟไหม้เสียหาย อะไรคือเงื่อนปมที่อยู่เบื้องหลัง มีหลักวิชาการรองรับหรือไม่ และสุดท้ายใครจะเป็นคนตรวจสอบ"

กรมป่าไม้ โดย นางนันทนา บุญยานันต์ โฆษกกรมป่าไม้ ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า จากเพจของกรมป่าไม้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 ได้แจ้งให้ทราบถึงกรมป่าไม้เตรียมวางแผนฟื้นฟูป่าภาคเหนือ รวมถึงการเชิญชวนให้ประชาชนและทุกภาคส่วน ร่วมกันปลูกต้นไม้พร้อมกันทั่วประเทศในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝนมีความหมาะสมกับการปลูกป่า ต้นไม้มีโอกาสรอดตายสูง ซึ่งในปี 2563 กรมป่าไม้มีแผนการเพาะชำกล้าไม้สำหรับแจกให้ประชาชนปลูกทั่วประเทศ จำนวน 79 ล้านต้น โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้มีกล้าไม้พร้อมสนับสนุนการปลูกในช่วงวันต้นไม้ประจำปีของชาติทั่วไประเทศ จำนวน 10 ล้านกล้า และการปลูกต้นไม้ดังกล่าวเป็นการ "ปลูกป่าประชาอาสา" ซึ่งมิได้ใช้งบประมาณปกติสำหรับการปลูกป่าของกรมป่าไม้แต่อย่างใด

โฆษกกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า การเกิดไฟป่าในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์จุดไฟเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ เช่น การหาของป่า การล่าสัตว์ หรือการลุกลามจากการเผาในพื้นที่เกษตร และรวมถึงการจุดไฟเผาป่าเพื่อหวังผลการขยายพื้นที่ครอบครองการใช้ประโยชน์ สืบเนื่องจากปีนี้ในพื้นที่ป่าภาคเหนือที่ถูกไฟไฟม้นั้น จากข้อมูลสถิติการปฏิบัติควบคุมไฟป่าของหน่วยงานดับไฟป่ากรมป่าไม้ ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2563 พบว่าได้ดำเนินการควบคุมไฟป่าแล้ว จำนวน 63,386 ไร่ ซึ่งพื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่ จำนวน 56,704 ไร่ (ข้อมูลเดิม ณ วันที่ 19 เมษายน 2563 มีจำนวน 55,266 ไร่) อยู่ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง จ.ลำพูน จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.แพร่ จ.น่าน และจ.ตาก และจากการแปลพื้นที่เผาไหม้จากภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง (Sentinel-2)ของสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ พบพื้นที่เผาไหม้ทั่วประเทศ จำนวน 36.07 ล้านไร่ พื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตป่า จำนวน 18.69 ล้านไร่ พื้นที่เผาไหม้ในเขตป่าที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 17.38 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 9.68 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่เผาไหม้ในป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวส่วนใหญ่ จำนวน 6.14 ล้านไร่ อยู่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พื้นที่เผาไหม้แต่ละพื้นที่จะมีระดับความรุนแรงไม่เท่ากัน ซึ่งมีอยู่ 3 ระดับ คือ รุนแรงมาก ปานกลาง และเล็กน้อย

สำหรับพื้นที่เผาไหม้ที่มีความเสียหายระดับรุนแรงต้องเร่งปลูกฟื้นฟูป่าโดยเร็ว ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่ที่จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูป่าที่ถูกไฟไหม้ใน 9 จังหวัดภาคเหนือมีจำนวนประมาณ 49,000 ไร่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถฟื้นสภาพได้ตามธรรมชาติ ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา และรวมถึงพื้นที่บุกรุกแผ้วถางที่มีการเผาร่วมด้วย แต่เนื่องจากในปีงบประมาณ 2563 กรมป่าไม้มิได้ตั้งงบประมาณในการปลูกฟื้นฟูรองรับไว้ จึงได้รณรงค์เชิญชวนให้มีการปลูกป่าในรูปแบบประชาอาสาสำหรับพื้นที่ที่เหลือเป็นพื้นที่เผาไหม้ระดับปานกลางและเล็กน้อย จำนวน 6.09 ล้านไร่ ทางกรมป่าไม้จะปล่อยให้ฟื้นตัวตามธรรมชาติต่อไป พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่คอยลาดตระเวน ตรวจตราเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้มีผู้บุกรุกเข้ามายึดถือครอบครองในพื้นที่ไฟไหม้ดังกล่าวได้ ดังเช่น การจัดกิจกรรมปลูกฟื้นฟูป่าในพื้นที่ถูกไฟไหม้ของจังหวัดเชียงใหม่ ทางจังหวัดมอบหมายให้นายอำเภอทุกอำเภอเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ร่วมกันปลูกป่าประชาอาสา โดยกำหนดวันดีเดย์ เริ่มปลูกในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 การจัดกิจกรรมปลูกป่าครั้งนี้ภายใต้ "โครงการรวมใจไทยปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว จังหวัดเชียงใหม่" โดยในส่วนของกรมป่าไม้เตรียมกล้าไม้สนับสนุนการปลูกป่าประชาอาสาจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 1 ล้านกล้า

สำหรับในเรื่องของการปลูกป่าประชาอาสาในพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ รูปแบบการปลูกจึงเป็นการปลูกเสริมตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยมุ่งเน้นในพื้นที่ที่ถูกทำลายหรือเสียหายจากไฟป่าอย่างรุนแรง ซึ่งในพื้นที่เหล่านี้พรรณไม้ได้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ตามหลักวิชาการแม้ว่าจะเป็นเพียงไฟผิวดิน แต่จากการศึกษาพบว่าไฟสามารถทำลายไม้รุ่นและกล้าไม้บนพื้นดิน ทำให้การฟื้นตัวตามธรรมชาติเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ไฟที่รุนแรงก็ส่งผลต่อทรงพุ่มเรือนยอดอันเป็นสาเหตุให้ความสามารถในการโปรยเมล็ดลดลง การดูดซับน้ำโดยระบบรากที่ลดลงหรือหายไปส่งผลต่อการเติบโตของต้นไม้ที่เหลืออยู่ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินในกรณีพื้นที่มีความลาดชัน ดังนั้นการปลูกเสริมในส่วนที่จำเป็น จะเป็นการช่วยเพิ่มการฟื้นตัวตามธรรมชาติ เสริมให้ระบบนิเวศคืนสมดุลรวดเร็วขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการบุกรุกพื้นที่

นอกจากนี้การเข้าไปปลูกเสริมป่าโดยวิธีประชาอาสาตามโครงการนี้ เป็นการรณรงค์ สร้างจิตสำนึก สร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากพรรณไม้โดยไม่ต้องตัดต้นไม้จะเป็นแนวทางในการป้องกันรักษาป่าอย่างยั่งยืนอีกด้วย "การปลูกป่า" จึงมิได้คำนึงเพียงมุ่งจะเพิ่มพื้นที่ปาเท่านั้น แต่การที่ประชาชนในพื้นที่มามีส่วนร่วมจะเกิดความรักและหวงแหนต้นไม้ที่ตนเองปลูกและร่วมกันดูแลรักษา ตลอดจนจะได้รับประโยชน์จากป่าที่ปลูก ดังนั้น กรมป่าไม้ได้กำหนดตามหลักวิชาการให้มีการปลูกต้นไม้ 2 กลุ่ม คือ ชนิดไม้ท้องถิ่นเป็นไม้โครงสร้าง หรือชนิดไม้ที่เคยขึ้นอยู่เดิมในแต่ละพื้นที่ที่เป็นไม้เบิกนำโตเร็ว และชนิดไม้ที่ชุมชนใช้ประโยชน์ หมายถึง ชนิดไม้ยืนต้น ไม้ขนาดกลาง หรือไม้พุ่ม รวมถึงไม้ไผ่ที่ชุมชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือนด้านบริโภค ไม้ใช้สอย ใช้พลังงาน (กิ่ง ก้าน ไม่ตัดต้น) และสมุนไพร โดยใช้พิจารณาคัดเลือกชนิดให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่และตรงตามความต้องการของชุมชน

ปัจจุบันการปลูกฟื้นฟูป่าของกรมป่าไม้โดยใช้งบประมาณปกตินั้น มีกระบวนการที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ดังจะเห็นได้จากคำสั่งกระทรวงฯ ที่ 15/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการปลูกป่าระดับพื้นที่ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดพื้นที่เป้าหมายการปลูกฟื้นฟูป่า ซึ่งมีท่านรอง กอ.รมน.จังหวัด เป็นประธาน และมี ทสจ. นายอำเภอท้องที่ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่เป็นกรรมการ โดยเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้นพื้นที่ที่จะนำมากำหนดเป็นเป้าหมายปลูกป่าต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองว่ามีความเหมาะสมในการปลูกพื้นฟู และต้องกำหนดแผนงานเพื่อเสนอของบประมาณมาปลูกล่วงหน้า

ในปัจจุบันกรมป่าไม้ไม่เน้นการปลูกเองโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แต่จะสนับสนุนกล้าไม้ให้ประชาชนปลูกในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกในพื้นที่ คทช. และพื้นที่ สปก. ดังนั้นพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ในปี 2563 หากจะกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายเพื่อของบประมาณปกติมาปลูกตามตารางการของบประมาณจะได้งบมาปลูกในปี 2565 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันปลูกป่าประชาอาสา ตลอดจนการเชิญชวนภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนชุมชนในการปลูกฟื้นฟูป่าที่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ หากเราเริ่มปลูก ณ วันนี้พื้นที่ป่าที่ได้รับความเสียหายก็จะเป็นพื้นที่สีเขียวได้เร็ววัน ดังตัวอย่างผลงานการฟื้นฟูป่าตามหลักวิชาการของกรมป่าไม้ ที่ปลูกบริเวณหน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปลือยป่าภูขี้เถ้าและป่าภูเรือ ที่ 7 อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ปลูกเมื่อปี 2540 เนื้อที่ 170 ไร่ ชนิดไม้ที่ปลูก ต้นสัก นนทรีป่า ประดู่ป่า แดง แคนา ปัจจุบันเป็นป่าที่สมบูรณ์เชิงประจักษ์ตามภาพถ่ายทางอากาศ แต่อย่างไรก็ตามการปลูกป่าบางพื้นที่ที่ไม่สำเร็จนั้นมีสาเหตุหลายปัจจัย เช่น ภัยแล้ง ไฟไหม้ป่า การบุกรุกพื้นที่ของผู้ครอบครองพื้นที่เดิม เป็นต้น

ทุกท่านคงเห็นแล้วว่าการมีบุคคลเพียงไม่กี่คนเป็นต้นเพลิงจุดไฟเผาป่า ผลจากการกระทำก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไร พรรณไม้และสัตว์ป่าได้รับความเสียหาย พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากหมอกควัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้พี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้รักและหวงแหนป่าต้องสูญเสียชีวิต เสียน้ำตา รวมถึงตอนนี้ทุกฝ่ายต้องลุกขึ้นมาช่วยกันปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อให้กลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวโดยเร็ว