นมัสเต...'ชัยปุระ' มหานครสีชมพู

นมัสเต...'ชัยปุระ' มหานครสีชมพู

ครั้งหนึ่งในดินแดนภารตะ สีสันของพระราชวัง ป้อมปราการ และความคึกคักในวิถีคนเมืองแห่ง "ชัยปุระ"

 

ถ้าพูดถึง ‘อินเดีย’ ภาพแรกที่ผุดขึ้นมาความคิดคือ สีสันที่ซ้อนอยู่ในทุกๆ องค์ประกอบของการเป็นดินแดนภารตะ ไม่ว่าจะความเป็นเอกลักษณ์ของ ‘ส่าหรี’ ชุดประจำชาติที่ยังคงเห็นผู้คนที่นี่ใส่กันเป็นปกติ เครื่องเทศที่ชูเรื่องกลิ่นฉุนและรสชาติแปลกใหม่ สถาปัตยกรรมแห่งความหลัง ความทรงจำของอารยธรรมและประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี องค์ประกอบที่ว่า ทำให้ที่นี่ กลายเป็นต้นตอของศิลปะ วัฒนธรรมและความหลากหลายของภาษา

หลายคนอาจไม่ชอบอินเดียเพราะความสะอาดและสุขอนามัยที่ยังไม่ได้มาตรฐาน แต่สำหรับนักท่องเที่ยวหลายคน นั่นเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพื่อแลกกับประสบการณ์ในการได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์ของศิลปะและเสน่ห์ในความเรียลของวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยสีสัน ชีวิตชีวาในต่างแดน

นอกจากอนุสรณ์สถานแห่งความรัก ‘ทัชมาฮาล’ แห่งเมืองอัคราแล้ว ขอแนะนำอีกหนึ่งเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่ต่ำกว่า 300 ปีและมีวัฒนธรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ ชัยปุระ (Jaipur) หรือจัยปูร์ เมืองท่องเที่ยวสำคัญแห่งรัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย ที่ได้ฉายาว่า ‘มหานครสีชมพู’

 

พระราชวังและป้อมปราการบนเนินเขา

พระราชวังและป้อมปราการบนเนินเขา

 

ที่มาที่ไปเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1876 ในรัชสมัยของมหาราชาสวาอี ราม สิงห์ เมื่อครั้งที่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดแห่งเวลส์ เสด็จเยือนชัยปุระอย่างเป็นทางการ จึงให้ทาสีอาคารบ้านเรือนต่างๆ ในเมืองเป็นสีชมพูเพื่อต้อนรับ แอละยังคงไว้จนถึงปัจจุบัน กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของชัยปุระไปโดยปริยายนั่นเอง

ทั้งยังขึ้นชื่อเรื่องการวางผังเมืองอย่างสวยงาม โดยแบ่งผังเมืองเป็น 9 ส่วนเท่าๆ กันแบบตารางหมากรุก ให้ 2 ส่วนเป็นที่ตั้งของพระราชวังและสถานที่ราชการต่างๆ ส่วนอีก 7 ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่สำหรับประชาชนทั่วไป และมีทางเข้าออกผ่านประตูเมือง 7 แห่ง

เมืองแห่งนี้จึงและงดงามด้วยพระราชวังและป้อมปราการ ตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมทองคำของการท่องเที่ยวอินเดียเช่นเดียวกับ เมืองเดลีและเมืองอัครา ซึ่งมหานครสีชมพู 'จัยปูร์' ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอันดับ 7 ของประเทศอินเดีย

  ขี่ช้างขึ้นพระราชวังแอมเบอร์

ขี่ช้างขึ้นไปชมพระราชวังแอมเบอร์บนเนินเขา

  พระราชวังในป้อมปราการบนเนินเขา

หนีความวุ่นวายของการจราจลในเมืองตอนเช้าๆ มาราว 11 กิโลเมตร บรรยากาศรอบๆ เริ่มเข้าสู่เริ่มเข้าสู่กลิ่นอายของชนบท การเราเดินทางไปมายัง ‘พระราชวังแอมเบอร์ฟอร์ต’ (Amber Fort) อีกรากฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองชัยปุระ ที่โดดเด่นอยู่บนเนินเขาเหนือ ทะเลสาบเมาตา (Maota) คือสิ่งที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

เมื่อเริ่มเห็นแนวของกำแพงสีน้ำตาลอมเหลือง ราวกับกำแพงเมืองจีน เป็นอันว่าหมุดหมายของเราอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ความอลังการของพระราชวังแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่กำแพงเมืองที่ล้อมรอบถึง 4 ชั้น ทั้งใหญ่และแน่นหนา มีความยาวกว่า 13 กิโลเมตร เป็นสถาปัตยกรรมต้นแบบที่ผสมผสานศิลปะฮินดูและศิลปะราชปุตอย่างลงตัว สร้างโดยมหาราชา มาน สิงห์ที่ 1 ซึ่งใช้เป็นที่ประทับของราชปุตมหาราชาและพระราชวงศ์

ด้วยความที่เป็นพระราชวังบนเนินเขา การเดินทางขึ้นไปจึงต้องขี่ช้างและรถจิ๊ป หรือใครสะดวกเดินก็ไม่ขัด ซึ่งสำหรับทริปนั้นเรานี้ขอเลือกนั่งสวยๆ บนหลังช้าง เสพวิวมุมสูงระหว่างทางก็แล้วกัน ...ต้องบอกว่ายิ่งขึ้นมาสูงวิวยิ่งสวยจนลืมกลัวความสูงไปเลย

 

พระราชวังแอมเบอร์

พระราชวังแอมเปอร์

 

จากบนยอดเขาของ ‘ป้อมแอมเบอร์’ จะมองเห็นวิวทะเลสาบเมาตา (Maota) ไกลสุดสายตา ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่หล่อเลี้ยงพระราชวังแอมเบอร์ในอดีต นั่นทำให้ระบบการจัดการน้ำเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของที่นี่ และยังมองวิวนครสีชมพูได้ราวกับมีเลนส์ไวด์รับภาพมุมกว้าง

ภายในพระราชวัง เต็มไปด้วยความงดงามของสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะผนัง ประตู ระเบียง ห้องหับต่างๆ หรือแม้กระทั่งสวนที่อยู่ภายในหระราชวัง พระตำหนักและพระที่นั่งต่างๆ ซ่อนตัวอยู่ภายในกำแพงเมือง 4 ชั้น สร้างจากหินทรายสีแดงและหินอ่อน ช่างเป็นองค์ประกอบที่ลงตัว

หากเดินขึ้นไปเหนือป้อมแอมเบอร์ จะพบกับ ‘ป้อมชัยครห์’ (Jaigarh fort) ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาชีลกาทีลา ส่วนหนึ่งของเทือกเขาอะระวัลลี ยังนิยมเรียกกันว่า ‘ป้อมแห่งชัยชนะ’ ในป้อมแห่งนี้เป็นที่ตั้งของปืนใหญ่ 'ชัยวนา' (Jaivana) ที่หนักถึง 50 ตัน ทั้งสองป้อมนี้เป็นปราการหลักในการตั้งรับข้าศึก และเมื่อจวนตัวต้องถอยก็สามารถหลบหนีผ่านทางเชื่อมใต้ดินที่สร้างไว้เป็นทางลับ

 

city palace

มุมสูงของซิตี้ พาเลซ

  พระราชวังสามฤดู

หลังออกจากพระราชวังแอมเบอร์ ระหว่างทางเข้าสู่ตัวเมืองชัยปุระจะมี สถาปัตยกรรมกลางน้ำ ล้อมรอบด้วยทะเลสาบมันสกา (Man Sagar) และมีเทือกเขานหาร์การห์เป็นฉากหลัง นั่นคือ ชัล มาฮาล (Jal Mahal) หรือ พระราชวังฤดูร้อน สร้างด้วยหินทรายสีแดง ถูกออกแบบมาเพื่อการพักร้อนของเหล่าราชวงศ์ ซึ่งจริงๆ แล้วพระราชวังแห่งนี้เป็นอาคาร 5 ชั้น แต่เมื่อทะเลสาบมีระดับน้ำสูงจึงเหลือเพียงชั้นบนสุด ที่ยังคงมองเห็นเหนือน้ำ และกระทบกับแสงอาทิตย์สะท้อนกับเงาของผืนน้ำ เป็นภาพที่สวยงามชวนชวนให้คิดถึงอินเดียอีกครั้ง

เมื่อเข้าสู่ตัวเมืองชัยปุระ ความเปลี่ยนแปลงแรกที่เห็นได้ชัดคือ อาคารบ้านเรือนที่เต็มไปด้วยสีชมพู ความคึกครื้นของผู้คนทั้งนักท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ขาย รวมถึงรถราที่บีบแตรกันอย่างคึกคัก แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ได้อย่างกลมกลืนคือ บรรดาฝูงวัวแพะและอูฐ ราวกับกำลังอยู่ในสวนสัตว์ขนาดย่อมๆ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการท่องเที่ยวที่มีชีวิตชีวาและสีสันในอีกสไตล์หนึ่ง เช่นเดียวกับการเดินชมความงดงามของวัดพระแก้วในบ้านเรา

 

city palace 2

city palace 3

ซิตี้ พาเลซ หรือพระราชวังฤดูหนาว

 

จากนั้นเดินเข้าไปสำรวจความเป็นมหานคตรสีชมพูกันอีกสักหน่อยที่ City Palace พระราชวังฤดูหนาว หรือเรียกอีกอย่างว่า พระราชวังหลวง สร้างด้วยหินแกรนิต และหินอ่อน ในปีค.ศ.1797 มีชื่อเสียงเรื่องงานจิตรกรรมฝาผนัง ลายผนังกระเบื้องในพระราชวังผสมผสานทั้งงานแกะสลักและงานตกแต่งแก้วสี มีสวนและพระตำหนักมากมาย ประกอบไปด้วย 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ส่วนพระราชวัง, พิพิธภัณฑ์ สวัย มาน ซิงห์ ที่รวบรวมสมบัติของพระราชวงศ์, ส่วนแสดงชุดศึกสงคราม, งานศิลปะ ภาพวาด และรูปถ่าย นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เป็นพระราชวัง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่พำนักของผู้สืบเชื้อสายมหาราชาเมืองชัยปุระ

นอกจากพระราชวังจะเต็มไปด้วยสีชมพูแล้ว ที่นี่ยังมี Private Zone ที่ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อเข้าชม เป็นห้องสีฟ้าที่ชื่อว่า 'บลูพาเลซ' อยู่ด้านบนสุดของพระราชวังและมองเห็นวิวเมืองชัยปุระแบบ 360 องศา

  blue palace

city palace 4

ภายในพระราชวังซิตี้ พาเลซ

 

ปัจจุบันส่วนหนึ่งถูกนำมาดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม แสดงทรัพย์สมบัติของอดีตมหาราชาและมเหสี ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ อุปกรณ์ของใช้ รวมถึงภาพวาด ภาพถ่าย บอกเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของกษัตริย์ในยุคนั้น นอกจากนี้ยังมีร้านค้าขายของที่ระลึก ร้านหนังสือ เครื่องประดับ และร้านอาหาร

ด้านข้างของ City palace ก็ถือว่าเป็นสถานที่สำคัญไม่แพ้กัน เรียกว่า 'จันทร์ มาตาร์' (Jantar Mantar) ครั้งอดีตเคยใช้เป็นหอดูดาวที่ใหญ่ที่สุดและแม่นยำที่สุดในอินเดีย เป็นที่รวมประติมากรรมคลาสสิกรูปทรงเรขาคณิตขนาดใหญ่หลายแบบ

  ฮาวา มาฮาล พระราชวังแห่งสายลม

ฮาวา มาฮาล หรือพระราชวังสายลม

ก่อนที่แสงจากดวงอาทิตย์จะลาลับต้องจัดเวลาเราไปเดินชม พระราชวังสายลม (Hawal Mahal) สร้างในปีค.ศ.1799 โดยมหาราชา สะวาย ประธาป สิงห์ ถอดแบบมาจากรูปทรงของมงกุฎพระนารายณ์ เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์เปอร์เซียผสมโมกุล

เป็นลักษณะอาคาร 5 ชั้น ที่สร้างด้วยหินทรายสีชมพูอมแดง เมื่อกระทบกับแสงของดวงอาทิตย์จะออกเป็นสีชมพูอมส้ม และมีรูปร่างคล้ายรวงผึ้ง เป็นช่องหน้าต่างบานเล็กๆ ตกแต่งด้วยลายฉลุมากถึง 953 บาน สำหรับให้นางในวังมองดูเห็นชีวิตผู้คนภายนอก ว่ากันว่าพระราชวังสายลมแห่งนี้ เคยเป็นฮาเร็มของมหาราชามาก่อน

จุดที่สวยที่สุดคือร้านอาหารฝั่งตรงข้ามฮาวา มาฮาล แนะนำคาเฟ่ Wind View Cafe และ The Tattoo Cafe สองร้านนี้อยู่ติดกันและจะได้ภาพคู่กับฮาวามาฮาลในมุมสูง เหมาะแก่การนั่งดินเนอร์ชมพระราชวัง มองดูวิถีชีวิตผู้คน พร้อมกับโบกมือลาแสงสุดท้ายของไปแบบฟีลกู๊ด

 

  วิถีริมทางอินเดีย

วิถีริมทางของคนอินเดีย

  แดนภารตะในยุคโควิด

แม้ว่าปี 2020 จะมีส่วนให้ความงามของสถาปัตยกรรมถูกปกคลุมด้วยฝุ่นพิษ PM 2.5 และลากยาวมาในวิกฤตที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโควิด-19 พรมแดนที่เคยเชื่อมถึงกันก็ถูกปิดกั้น มาตรการปิดประเทศถูกนำมาใช้ในการควบคุมโรคระบาดมากว่า 50 วันแล้ว และขยายจากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมาให้ยาวไปอีก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นและคาดว่าจะทะลุ 19 แสนคนหมื่นราย แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

รัฐบาลอินเดีย ใช้มาตรการคัดกรองอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการระบาด รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนงดการเดินทางไปประเทศอิตาลี อิหร่าน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น หากเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงจะเดินทางเข้าประเทศต้องเขียนแบบฟอร์มสุขภาพ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ให้ชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ และติดตามหากพบว่ามีการติดเชื้อ มาตรการนี้ใช้กับนักท่องเที่ยวไทยที่นิยมเดินทางไปแสวงบุญปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 คน เช่นเดียวกัน 

 

Japur, india

 

น่าเสียดายที่สถานการณ์ตอนนี้ไม่เอื้อให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางไปไหน แม้หลายคนจะปักหมุดไว้แล้วก็ตาม เพราะหรือแม้แต่โดยเฉพาะอินเดียเองที่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ อินเดียได้จะจัดแคมเปญเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หวังกระตุ้นการเดินทางมาผจญภัยในดินแดนภารตะมากขึ้น

ด้วยการแจกรางวัลนักท่องเที่ยว ลดค่าวีซ่า พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยมีเงื่อนไขว่า นักท่องเที่ยวต้องเดินทางเดินมาอินเดียจากประเทศของตนเองและไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยว 15 แห่งของอินเดียภายใน 1 ปี พร้อมรูปยืนยัน ซึ่งแคมเปญนี้จะมีระยะเวลายาวถึงปี 2022 แต่ก็ต้องงดไปเช่นเดียวกัน

หวังว่าหลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป อินเดียจะสามารถฟื้นตัว เปิดรับนักท่องเที่ยวให้ได้ไปชมสิ่งมหัศจรรย์ทันฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ที่อากาศเย็นสบาย มีอากาศเย็นสบายอุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่ 15 -18 องศาเซลเซียส "แล้วพบกัน...นมัสเต"