'แรงงานต่างชาติ' ความเปราะบางท่ามกลาง COVID-19

'แรงงานต่างชาติ' ความเปราะบางท่ามกลาง COVID-19

ขณะที่พลเมืองในแต่ละประเทศได้รับการดูแลตามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในสถานการณ์โควิด-19 'แรงงานข้ามชาติ' กำลังเป็นกลุ่มคนที่ถูกละเลยและอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนของวิกฤติโรคระบาดใหญ่ในครั้งนี้ 

 

การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้ทำให้รัฐบาลทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งในความพยายามป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 หน่วยงานของรัฐได้มีการนำเอามาตรการพิเศษต่างๆ มาใช้เพื่อดูแลประชาชนของตน อย่างไรก็ดียังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร นั่นคือ แรงงานข้ามชาติ 

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และองค์กรพันธมิตรภายใต้กลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้คำนึงถึงแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ โดยเห็นควรให้บรรจุการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนเหล่านี้ไว้ในแผนงานและนโยบายต่างๆ อย่างเป็นระบบ โดยไม่คำนึงว่าสถานะทางกฎหมายของพวกเขาเป็นเช่นไร 


“รัฐบาลประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ควรให้การช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติมากขึ้นเพราะนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือชีวิตผู้คนแล้วก็ยังเป็นการปกป้องสังคมส่วนรวมด้วย” คริสติน ซิโพลลา ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ ICRC กล่าว “การคำนึงถึงคนในสังคม ไม่ว่าสถานะทางกฎหมายของพวกเขาจะเป็นอย่างไร จะช่วยให้รัฐบาลแก้ไขสถานการณ์วิกฤตด้านสาธารณสุขที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” 

2


แรงงานข้ามชาติ รวมทั้งผู้ลี้ภัย เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีการย้ายถิ่นในกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่สูงที่สุด นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติยังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในประเทศที่พวกเขาอพยพไปทำงานรวมถึงครอบครัวที่อาศัยอยู่ในประเทศต้นทาง เนื่องจากยังต้องพึ่งพารายได้ที่แรงงานเหล่านี้ส่งกลับไป อย่างไรก็ตามแรงงานข้ามชาติเองก็ยังต้องเผชิญกับสภาวะความเปราะบางหลายอย่างด้วยกัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเข้าถึงบริการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งหากพวกเขาติดเชื้อ COVID-19 สภาวะความเปราะบางที่ว่าอาจจะทวีความรุนแรงขึ้น

“ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข มาตรการป้องกันที่นำมาใช้จะประสบผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อภาครัฐมีการดำเนินงานที่คำนึงถึงสมาชิกในชุมชนและสังคมทุกคน รวมทั้งมีการแจ้งให้ทราบถึงมาตรการดังกล่าวด้วย” ชิโพลลากล่าวเสริม

“การนำเอามาตรการป้องกันที่คำนึงถึงทุกคนในสังคมมาใช้ จะช่วยลดความสูญเสีย ทั้งในแง่ของค่าใช้จ่ายและชีวิตของผู้คน แทนที่จะเสี่ยงปล่อยให้มีจำนวนผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มมากขึ้น”


ภายใต้สถานการณ์ด้งกล่าว ICRC ได้ออกคำแนะนำดังต่อไปนี้ 


• เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลในภาษาที่แรงงานข้ามชาติเข้าใจ เพื่อช่วยให้พวกเขารับทราบถึงมาตรการป้องกัน การตรวจหาเชื้อ และการรักษาดูแล รวมทั้งเป็นการขจัดอุปสรรคที่อาจทำให้ตัวแรงงานไม่อยากขอรับความช่วยเหลือเนื่องจากกลัวว่าจะถูกจับกุมหรือถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง


• ให้ความสนใจต่อแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัดและ/หรือไม่ถูกสุขลักษณะ (เช่น คนไร้บ้าน สลัม ค่ายพักพิง ศูนย์พักพิงทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ รวมถึงศูนย์กักขังตรวจคนเข้าเมืองด้วย โดยจะต้องมีการจัดทำแผนรับมือฉุกเฉินที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุข ทั้งนี้มาตรการล็อคดาวน์ (ปิดเมือง) การกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโรค หรือการแยกตัวอยู่ต่างหากซึ่งอาจนำมาใช้ในสถานที่ดังกล่าว ก็จะต้องมีมาตรการป้องกันที่เพียงพอรวมถึงมีการเตรียมความพร้อมและตอบสนองทางการแพทย์ที่เหมาะสม

• ควรจัดสถานพักพิงฉุกเฉินให้เหมาะสม เพื่อให้รองรับการดำเนินงานตามมาตรฐานการป้องกันและควบคุม COVID-19 โดยปราศจากอุปสรรคในเรื่องของสถานะการเข้าเมือง รวมทั้งรองรับผู้ที่อาจจะไม่มีที่พักอาศัยอื่นในสังคม นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหากติดเชื้อ COVID-19 ด้วย (เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัว) รวมทั้งเด็กที่เดินทางโดยลำพังและมาพร้อมกับครอบครัว  


• ICRC แนะให้รัฐต่าง ๆ ที่มีการคุมขังผู้กระทำความผิดในคดีที่เกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่น ควรนำเอามาตรการที่เป็นไปได้ทั้งหมดมาใช้เพื่อลดจำนวนคนที่อาจได้รับผลกระทบจากคำสั่งกักกันคนเข้าเมืองที่ออกมาใหม่ และควรพิจารณาการปล่อยตัวก่อนกำหนดหรือใช้ทางเลือกอื่นแทนการควบคุมตัว พร้อมกันนี้ ICRC ขอชื่นชมรัฐบาลหลายประเทศที่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้แล้ว


• รัฐควรใช้มาตรการที่เป็นไปได้ทั้งหมดในการป้องกันไม่ให้ครอบครัวของแรงงานข้ามชาติต้องพลัดพรากจากกันและไม่เสี่ยงต่อการสูญหายหรือเสียชีวิตในระหว่างกระบวนการข้ามชายแดน การอพยพทางการแพทย์ และการใช้มาตรการกักกันตัวและมาตรการอื่นๆ


• ควรรักษาช่องทางสำหรับผู้ขอลี้ภัยในการเข้าถึงการคุ้มครองระหว่างประเทศได้อยู่เสมอ เนื่องจากหลักการห้ามผลักดันไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) ถือเป็นสิทธิที่ไม่อาจระงับได้ จึงทำให้การปฏิเสธการเข้าถึงดินแดนโดยไม่มีมาตรการป้องกันมิอาจกระทำได้ด้วยเหตุผลของความเสี่ยงต่อสุขภาพใด ๆ ซึ่งรวมถึงการเดินทางทางทะเลรวมทั้งการผลักดันและส่งกลับ ทั้งนี้รัฐควรพิจารณาสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติที่ชายแดนระหว่างประเทศเป็นรายบุคคล และให้ความสนใจแก่ผู้ที่อยู่ในสภาวะเปราะบางหรือผู้ที่ต้องการความคุ้มครองเป็นพิเศษ เช่น เด็กที่เดินทางเพียงลำพัง ผู้ป่วยและบาดเจ็บ และผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ 


• ควรระงับการบังคับส่งตัวกลับและการส่งกลับโดยไม่สมัครใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งกลับไปยังประเทศที่มีระบบสาธารณสุขไม่เข้มแข็ง เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการส่งกลับ ควรดำเนินการโดยมีการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทั้งแรงงานข้ามชาติและประชากรในประเทศนั้นๆ 


• ในกรณีที่มีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ COVID-19 บางส่วน การให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและผู้ที่มอบความช่วยเหลือควรได้รับการพิจารณาว่ามี “ความจำเป็น” โดยควรได้รับการยกเว้นจากมาตรการที่เข้มงวดต่าง ๆ เช่น การจำกัดการเดินทาง

 

3

 

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC ได้ดำเนินกิจกรรมในการสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางและอาจจะยังขาดแคลนอุปกรณ์ในการป้องกันเชื้อที่จำเป็นหลายรายการ อันได้แก่ 

ห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง: ICRC ให้การสนับสนุนกับห้องกักด่านตรวจคนเข้าเมืองสี่แห่ง ทั่วประเทศได้แก่ สตม สวนพลู สตม ดอนเมือง สตม ระนอง และ ด่านตม สะเดา จังหวัดสงขลา เป็นอุปกรณ์ทำความสะอาด เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ และ อุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ เช่น แว่นป้องกันตา ถุงมือ อุปกรณ์ป้องกันใบหน้า และ หน้ากากอนามัย โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะถูกนำไปใช้ฆ่าเชื้อและดูแลความสะอาดของสถานที่และป้องกันเจ้าหน้าที่และบุคคลที่อยู่ในความดูแลของห้องกัก ตม ดังกล่าว

นอกจากนี้ยังได้มอบชุด restoring Family Links (RFL) kits ให้แก่ ห้องกักสตม สวนพลู ซึ่งใช้ทำความสะอาดโทรศัพท์สาธารณะที่ต้องใช้ร่วมกันในการสร้างความมั่นใจว่าการติดต่อทางไกลระหว่างผู้ต้องกักและญาติ จะดำเนินไปอย่างปลอดภัย

พื้นที่ภาคเหนือ: ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในประเทศไทยที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดน ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย

จัดสร้างห้องแยกผู้ป่วยโควิด-19 ให้กับ คลีนิคแม่ตาว ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อสามารถให้บริการสุขภาพขั้นพื้นฐานกับแรงงานข้ามชาติซึ่งข้ามมาจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้านได้

ให้ความช่วยเหลือในการอบรมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อและการป้องกันให้กับชุมชนในจังหวัดตาก ให้ความรู้ ฝึกอบรม ซื้ออุปกรณ์ จัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้อาสาสมัครที่ไปดำเนินกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน-จัดหาอุปกรณ์ในการทำความสะอาด อุปกรณ์ล้างมือ หน้ากากอนามัย และ น้ำยาฆ่าเชื้อให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขพื้นฐานที่ทำงานบริเวณชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน 

 

1