'พงศ์ราม รามสูต' ผู้คิดยารักษา‘ไข้เลือดออก’คนแรกของโลก

'พงศ์ราม รามสูต' ผู้คิดยารักษา‘ไข้เลือดออก’คนแรกของโลก

จากเด็กเรียนไม่เก่ง พัฒนาตัวเองเป็นนักวิจัยแถวหน้า คิดและพัฒนายาชีวภาพรักษา'ไข้เลือดออก'ล่าสุดกำลังคิดค้นยารักษาไวรัสโควิด-19

 

เหตุใดงานวิจัยดีๆ ของนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ไทยไปไม่ถึงดวงดาว...

ทั้งๆ ที่ประเทศเรามีนักวิจัยเก่งๆ เยอะมาก แต่งบสนับสนุนการวิจัยจากภาครัฐมีจำกัด ใช้แค่คิดค้นและวิจัยก็หมดแล้ว หากจะใช้ทดลองในสัตว์และคน รวมถึงผลิตออกมาเป็นยาเชิงพาณิชย์ ก็เป็นไปไม่ได้เลย

แล้วทำไม ศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.พงศ์ราม รามสูต นักจุลชีววิทยา นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ และนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากคิดค้นตัวยารักษาไข้เลือดออกจากแอนติบอดีหรือสารภูมิคุ้มกันสำเร็จ เขาไม่ลดละความพยายาม ควานหาบริษัทผลิตยาในอเมริกาจนสำเร็จเพราะไม่อยากให้งานวิจัยจบแค่ในห้องทดลอง  

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในปีพ.ศ. 2561 ประธานบริษัท BSV Bioscience ในอเมริกา ยอมลงทุนบินมาเมืองไทยพร้อมนักวิจัย เพื่อทดสอบแอนติบอดีที่เขาคิด เพื่อผลิตเป็นยารักษาไข้เลือดออก โดยทดสอบในหนู ปรากฎว่า ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ และดีกว่านักวิจัยต่างชาติคิด จึงทำสัญญาลงทุนเชิงพาณิชย์ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และยาจะออกสู่ตลาดในปี 2568 -2569

ปีนี้เขาจึงได้รางวัล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และที่ผ่านมาได้รางวัลกว่า 24 รางวัล เพราะเขา ทำในสิ่งที่เป็นไม่ได้ ให้เป็นไปได้ เขาบอกว่า ต้องมีความเชื่อก่อน แล้วมุ่งมั่นทำให้สำเร็จ 

“ส่วนใหญ่นักวิจัยไทยที่คิดจะผลิตยา จะทำได้แค่ช่วงแรกในห้องทดลองก็จบ เพราะไม่มีบริษัทมาลงทุนให้ เนื่องจากใช้เงินเยอะ และรัฐบาลก็ไม่เคยมีเงินทุนสนับสนุน” อาจารย์พงศ์ราม กล่าว และล่าสุดทีมงานของเขาร่วมวิจัยกับ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นยารักษาไวรัสโควิด และยังไม่มีผู้สนับสนุนเงินทุนในการวิจัย

 

20200513163819732  

 

ก่อนจะคุยเรื่องงานวิจัยไข้เลือดออก อยากถามเรื่องการคิดตัวยารักษาไวรัสโควิด-19 สักนิด ?

ร่วมวิจัยกับศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เอาพลาสมาจากผู้ป่วยโควิดที่หายแล้วมาทำยา พลาสมาคือน้ำเลือด ซึ่งจะมีแอนติบอดีหลากหลาย เนื่องจากทีมผมมีความเชี่ยวชาญในการสร้างแอนติบอดีเฉพาะ เพื่อยับยั้งไวรัสโควิด สิ้นปีนี้คงรู้ตัวยาชีวภาพที่จะใช้รักษา 

 

มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

ศูนย์เรามีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เพื่อสร้างคลังแอนตีบอดีให้ได้ร้อยล้านตัวขึ้นไป จะสร้างคลังแบบนี้ได้ อยู่ที่ว่าเราได้พลาสม่าจากเม็ดเลือดขาวของคนป่วยโควิดเยอะแค่ไหน อาจารย์ยงช่วยเต็มที่ ไม่หวงเลยครับ มีคนบริจาคเยอะ พอสร้างคลังแอนติบอดีมนุษย์ได้เยอะ ก็จะมาคัดเลือกโปรตีนของไวรัสโควิด ตัวที่เป็นมงกุฎ เราก็จะหาตัวที่ยับยั้งไวรัส อีกสองเดือนข้างหน้าจะได้คลังแอนติบอดีครบ จากนั้นทดลองในสัตว์และคน ถ้ามีเงินสนับสนุนคงได้ทดลองในคน จึงจะสามารถผลิตออกมาเป็นยา ซึ่งขั้นตอนเยอะมาก

 

ตอนนี้งานวิจัยเรื่องไข้เลือดออกอยู่ในขั้นไหน

การวิจัยยาชีวภาพไข้เลือดออก จบเรื่องความคิดแล้ว ตอนนี้เข้าสู่กระบวนเชิงพาณิชย์กับบริษัทยาในอเมริกา เซ็นสัญญาไปแล้ว  ต้องผ่านการผลิตตามมาตรฐานอุตสาหกรรมGMPที่เยอรมัน

และทดสอบในอาสาสมัครที่อินเดียสามเฟส และผมขอทดลองในคนไทยที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกด้วย ผมอาจขอทุนรัฐบาลไทย ปีหน้าคงได้ทดลองในคน  

กระบวนการผลิตและทดสอบในหนูที่ดัดแปลงพันธุกรรมให้มีภูมิต้านทานเหมือนมนุษย์ทุกอย่างทำเสร็จแล้ว รวบรวมแอนติบอดีจากนักวิจัยทั่วโลกมาทดลอง ยาไข้เลือดออกที่ทดลองจากแอนติบอดี ตัวยาที่ดีที่สุดในการรักษาเป็นของคนไทย ส่วนตัวยาที่อเมริกาคิดไว้สู้เราไม่ได้ เพราะทดลองในหนูแล้วได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์

 

คาดว่าอีก 5 ปี ยาจะออกสู่ตลาดโลก สามารถทำได้เร็วกว่านี้ไหม

ส่วนมากยาชีวภาพที่มีอยู่ในตลาดจะเป็นยาที่ใช้กับมะเร็ง ภูมิต้านทานบกพร่อง ไขข้อ ยังไม่มียารักษาไข้เลือดออก นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็คิดเรื่องนี้ แต่ยังไม่มียาที่ใช้ได้จริง การพัฒนายาของเราทำมาตั้งแต่ปี 2009 ทดลองในลิงปี 2014 ถ้าจะทดลองในคน ต้องผ่านมาตรฐานการผลิตระดับอุตสาหกรรมGMP และการทดลองในอาสาสมัครคนป่วยไข้เลือดออกเฟสแรก 50 คน เฟสที่สอง 50 คน และเฟสสาม 500 คน 

การผลิตยาใช้เงินเยอะมากประมาณ 350-500 ล้านบาท จึงต้องมีบริษัทยามาลงทุน  ส่วนใหญ่นักวิจัยไทยจะทำได้แค่ช่วงแรก ก็จบเพราะไม่มีบริษัทมาลงทุนให้ เนื่องจากใช้เงินยอะ และรัฐบาลก็ไม่เคยมีเงินสนับสนุน จนประธานบริษัทผลิตยาในอเมริกาบินมาคุยกับผม เพราะพวกเขาทำยาชีวภาพรักษาไวรัสอยู่แล้ว อยากทำยาชีวภาพรักษาไข้เลือดออกมา พวกเขามาดูว่า สิ่งที่ผมทำและทดลองเป็นจริงหรือไม่

 

เห็นบอกว่า วัคซีนไข้เลือดออกที่ใช้อยู่ ไม่สามารถป้องกันโรคได้เต็มร้อย แล้วยาตัวนี้จะมีผลอย่างไร

ยาตัวนี้ เมื่อฉีดเข้าไปจะยับยั้งไวรัสที่มีจำนวนเยอะๆ จากสิบล้านตัวเหลือศูนย์ คนป่วยไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลนานๆ ไม่ต้องรอให้เกล็ดเลือดขึ้น กลับบ้านได้เลย ส่วนวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่มีอยู่ ยังใช้ไม่ได้ผล ป้องกันได้แค่ 36 เปอร์เซ็นต์ ส่วนยาชีวภาพที่ทำสามารถยับยั้งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งสี่สายพันธุ์

ถ้าจะอธิบายง่ายๆ เวลาเราป่วยเป็นไข้เลือดออกเพราะถูกยุงลายกัด กัดแล้วมันปล่อยเชื้อไวรัสเข้าไปในเซลเม็ดเลือดขาว ปล่อยสารพันธุกรรมของมันเป็นล้านๆ ตัวในร่างกายเรา ทำให้เป็นไข้ ดังนั้นวิธีการรักษา เราใช้แอนติบอดีฉีดเข้าไปในกระแสเลือด

ไวรัสไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ เรายับยั้งได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ เปอร์เซ็นต์การยับยั้งเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราทดลองจากเชื้อโรคจริงๆ แล้ว ฉีดแอนติบอดียับยั้งไวรัสไข้เลือดออกเข้าในช่องท้องลิง 10 ล้านตัว ปรากฎว่าไวรัสลดลงเหลือ 0 ภายในสองวัน ทางมหาวิทยาลัยมหิดลก็เลยจดสิทธิบัตรร่วมกับมหาวิทยาลัยโอซาก้า ญี่ปุ่น 11 ประเทศทั่วโลก เพื่อที่จะยืนยันว่า เราเป็นผู้คิดค้นยารักษาตัวนี้ เป็นเจ้าของสิทธิบัตรร่วมกัน

 

20200513163646963

 

 บริษัทต่างชาติเป็นผู้ผลิตยา แล้วยาที่ขายให้คนไทยจะราคาแพงไหม

บริษัทที่เราทำสัญญาด้วย จะเป็นผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายทั่วโลก ยกเว้นประเทศไทย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เราทำสัญญาไว้ว่า คนไทยจะต้องเข้าถึงยาในราคาที่กำหนดเอง จากการคิดค้นครั้งนี้เมื่อออกสู่ตลาด ทางมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้าจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน 5 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายเป็นเวลา 15 ปี ผมเองก็ได้ค่าผู้คิดตัวยาครึ่งหนึ่งจากมหาวิทยาลัยมหิดล

 

เป็นยาชีวภาพรักษาไข้เลือดออกครั้งแรกของโลก?

ใช่ครับ นักวิจัยมีสองแบบคือ วิจัยแล้วตีพิมพ์ผลงาน และวิจัยแบบมีนวัตกรรม ผลิตยาออกมาเป็นเชิงพาณิชย์ ต้องลงทุนเยอะ ซึ่งครั้งนี้เป็นผลงานวิจัยของสองมหาวิทยาลัยจบลงตรงการทดลองในสัตว์ แต่ผมอยากหาเงินมาผลิตยาใช้ในมนุษย์ เพราะพวกเรามีความเชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องแอนติบอดี ก่อนหน้านี้ก็ทำชุดตรวจวินิจฉัยไข้หวัดนก ชุดตรวจวินิจฉัยโรคปากเท้าเปื่อย ฯลฯ และนี่เป็นครั้งแรกที่เราทำยาเพื่อรักษาไข้เลือดออก

 

คนมีความเสี่ยงที่จะเป็นไข้เลือดออกมากน้อยเพียงใด

ครึ่งหนึ่งของประเทศในโลกมียุงลาย ก็ย่อมเสี่ยงที่จะป่วยด้วยไข้เลือดออก มีคนป่วยประมาณปีละร้อยล้านคน มีคนเสียชีวิตปีละสามหมื่นคน เพราะไม่มียารักษา ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ปอ-ทฤษฎีและเด็กๆ จำนวนไม่น้อยเสียชีวิต  5 วันแรกที่ยุงลายกัดเราและเป็นไข้เลือดออก ไข้ก็จะขึ้น เพราะเชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด หลังจากไข้ลดก็จะเกิดความรุนแรงของโรค อาจช็อคได้

 

กว่าจะทำงานวิจัยแบบนี้ได้ ต้องมีรากฐานความรู้อย่างไร?

ผมจบมัธยมได้ที่สุดท้ายของโรงเรียน เกรด 1. 60 ผมเรียนไม่เก่ง ตอนเรียนปริญญาตรีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค่อนข้างเกเร เรียนบ้าง ไม่เรียนบ้าง สอบตกใช้เวลาเรียนนานกว่าคนอื่น จบมาด้วยเกรด 2.00 กระทั่งมาทำงานที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องมาเรียนรู้โรคที่เกิดขึ้นกับคน ทำงานกับพวกหมอ ก็ไม่มีความมั่นใจเลย  ทำงานด้านระบาดวิทยา สอบสอนโรค ศึกษาพฤติกรรมคน ไม่สนุกครับ 

ผมก็เลยหาโอกาสไปเรียนพันธุวิศวกรรมที่ญี่ปุ่นหนึ่งปี และมีโอกาส เรียนปริญญาโทคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์และปริญญาเอกทางจุลชีววิทยาจากสถาบันเดียวกันที่สวีเดน

และที่เปลี่ยนชีวิตเลยคือ ไปเรียนจาก จอร์จ พี สมิธ อาจารย์มหาวิทยาลัยมิสซูรี่ ที่ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเคมี ปี 2018 (ได้รับรางวัลจากผลงานพัฒนา“เฟจ ดิสเพลย์” (Phage display) ซึ่งเป็นการใช้ไวรัสชนิดที่เข้าไปอาศัยและแพร่พันธุ์ในเชื้อแบคทีเรีย เพื่อพัฒนาโปรตีนชนิดใหม่ ) ที่ศูนย์เชี่ยวชาญด้านพันธุวิศวกรรมแอนติบอดี อเมริกา ผมชอบด้านนี้มาก เทคโนโลยีพวกนี้คืออนาคต

 

เทคโนโลยีเหล่านี้ เป็นอนาคตของมนุษย์ชาติอย่างไร

ตอนเรียนที่สวีเดนก็เห็นแล้วว่า เรื่องเหล่านี้สำคัญต่อมนุษย์ชาติ เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมสำคัญมาก นำมาใช้กับคนที่ป่วยโควิดได้  เอาเซลล์จากเม็ดเลือดขาวออกมา ตัดต่อยีน เพื่อสร้างแอนติบอดี้บนผิวของไวรัส ซึ่งตอนนี้เรากำลังสร้างคลังแอนติบอดีร้อยล้านตัว

  20200513163812596_1

 (ส่วนหนึ่งของทีมงาน ศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล)

 

วางเป้าหมายชีวิตการทำงานเรื่องนี้อย่างไร

ผมอยากสร้างแอนติบอดีเพื่อทำเป็นยา นี่คือสิ่งที่ผมชอบและเป็นอนาคตของผม เพราะประเทศไทยนำเข้ายาชีวภาพจากแอนติบอดีปีละกว่าแสนล้าน ผมว่าคนไทยก็ทำได้ มีความรู้เหมือนกัน ที่คนต่างชาติทำได้ เพราะมีบริษัทและนักวิจัยรุ่นพี่สนับสนุน แต่บ้านเรายังไม่มีตรงนี้ เราต้องสู้เรื่องนี้ อย่ายอมแพ้

 

เท่าที่ทราบ อาจารย์เป็นนักประดิษฐ์ด้วย ? 

ผมชอบมาตั้งแต่เด็ก ชอบแกะของเล่นมาสร้างใหม่ เราคิดประดิษฐ์ผลงานอะไร ก็อยากให้ออกมาเป็นเชิงธุรกิจใช้ได้จริงๆ  ผมและทีมงานก็ทำงานสะสมมาเรื่อยๆ ตอนได้มาทำงานด้านพันธุวิศวกรรม ได้สร้างสารชีวภาพ เหมือนความฝันครั้งใหม่ ตอนที่พวกผมพยายามทำยารักษาไข้เลือดออก มีผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า สิ่งที่ผมทำเป็นไปไม่ได้หรอก ทำให้ผมสู้ ไม่อยากให้จบแค่นั้น งานชิ้นไหนภูมิใจมากที่สุด

การทำยาชีวภาพรักษาไข้เลือดออก เรื่องนี้เปลี่ยนชีวิตเลยครับ จากคนไม่กล้าคิด เราก็สู้ ดิ้นรนให้ทำออกมาเชิงพาณิชย์ 

 

อะไรทำให้เชื่อว่า ต้องทำให้ได้ ? 

เมื่อก่อนเราเรียนไม่เก่ง ไม่มั่นใจในตัวเอง พอเปลี่ยนความเชื่อต่อตัวเองว่า เราก็สามารถทำได้ จากทำงานไปวันๆ ก็เปลี่ยน ยิ่งมีโอกาสไปเรียนรู้กับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล และอาจารย์ที่สวีเดน มุมมองต่องานวิจัยเปลี่ยนเลย จากเป็นไปไม่ได้ ก็เป็นไปได้ จากงานวิจัยชิ้นเล็กๆ ก็ใหญ่ขึ้นๆ รางวัลเล็กๆ ก็ใหญ่ขึ้นๆ

 

นอกจากนี้ยังหาเวลาไปพูดสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ด้วย ?

ผมเอาเรื่องเรียนไม่เก่งไปเล่าให้นักเรียนนักศึกษานานาชาติฟัง พวกเขาก็ชอบ ผมมีหลักการสามอย่างคือ  Be สร้างจินตนาการเป็นภาพฝังในจิตใต้สำนึก ,Do ลงมือทำตามภาพฝันอย่างมุ่งมุ่นจนบรรลุเป้าหมาย และ Have เป้าหมายกลายเป็นจริง ดั่งภาพฝัน ตอนทำเรื่องแอนติบอดี ผมก็ใช้หลักการนี้ ผมต้องทำให้ได้