'ภัทร จึงกานต์กุล' จักรยานคือรัก ช่วงล็อคดาวน์

'ภัทร จึงกานต์กุล' จักรยานคือรัก ช่วงล็อคดาวน์

จากเฉยๆ กลายเป็นความชอบ จนกระทั่งรู้ตัวว่า 'จักรยาน' ตอบโจทย์วิถีชีวิตช่วงนี้ อดีตผู้ประกาศข่าวจึงกลายเป็นชาวสองล้อทั้งตัว และหัวใจ

มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 สร้างแรงผลักดันให้เกิดนักปั่นหน้าใหม่จำนวนไม่น้อย ส่วนหน้าเก่าก็มีไฟที่จะปัดฝุ่นจักรยานคันเก่งออกมาโลดแล่นอีกครั้ง เหมือนอย่าง ภัทร จึงกานต์กุล อดีตผู้ประกาศข่าวที่อยู่ในช่วงพักผ่อนจากการทำงานหน้าจอ เล่าให้ฟังว่ากลายเป็นคนคลั่งจักรยานเพราะโควิด-19

“พูดได้เลยว่าผมมาปั่นจักรยานเพราะโควิด-19 ตั้งแต่ล็อคดาวน์ช่วงต้นมีนาคม ช่วงแรกๆ ก็อยู่บ้านอย่างเดียว ตุนของ ศึกษาแนวทางว่าต้องทำตัวอย่างไร บริหารความเสี่ยงหุ้นของตัวเองว่าจะเอาอย่างไร พอผ่านไปสักอาทิตย์กว่าๆ ก็เริ่มต้องอยู่ในสภาวะนี้แล้ว ไปไหนก็ไม่ได้ แต่ก่อนผมเล่นฟิตเนสประจำ ก็ไปไม่ได้ ช่วงแรกๆ เบื่อ ก็ซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายมาไว้ที่บ้าน เล่นไปเล่นมา แต่อยู่บ้านก็เบื่อไง เลยหากิจกรรมทำ ลองซื้อจักรยานดีกว่า

ตอนแรกเริ่มจากจักรยานไม่กี่พันบาทมาขี่เล่นในหมู่บ้าน แล้วก็ลองศึกษา มันก็ดีนะ เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเราช่วงนี้”

ปั่นไปปั่นมา ความคันจึงบังเกิด เขารู้สึกว่าทำไมปั่นอย่างไรก็ไม่เร็วขึ้น เพราะจักรยานคันนั้นคือจักรยานเสือภูเขาซึ่งไม่ได้ออกแบบมาให้ทำความเร็ว คันตรงไหนก็ต้องเกาตรงนั้น กลายมาเป็นการซื้อจักรยานคันใหม่เป็นจักรยานเสือหมอบที่ตอบโจทย์เรื่องความเร็ว

“หลังจากนั้นผมก็ศึกษาอย่างจริงจัง เริ่มปั่นออกถนนเรื่อยๆ แต่ตอนนั้นสนามปั่นจักรยานที่สุวรรณภูมิยังปิดอยู่ ก็ปั่นไปปั่นมาแถวบ้าน แล้วก็สนุกกับการประกอบจักรยาน ทำไปทำมาตอนนี้กลายเป็นบ้าจักรยานไปเลย บ้าทั้งในแง่การออกกำลังกาย บ้าทั้งในแง่ความสนุกเหมือนเป็นของเล่นที่จริงจัง”

เขาเล่าย้อนความตั้งใจแรกให้ฟังว่าอยากซื้อจักรยานเพียงเพื่อออกไปซื้อของหน้าหมู่บ้าน แต่ ‘โรคงอก’ และสิ่งที่หลายคนเรียกว่า ‘สกิลเรียกพวก’ นั้นมีอยู่จริง ทำให้ตอนนี้เพียงไม่กี่เดือนในช่วงล็อคดาวน์เขามีจักรยานในครอบครองไม่น้อยกว่า 10 คัน ทั้งที่ก่อนหน้าตั้งแต่ช่วงที่วงการจักรยานเฟื่องฟู หรือแม้กระทั่งช่วงซบเซา เขาไม่เคยสนใจหรือปรายตามองจักรยานมาก่อน เขาเปิดเผยว่าก็รู้ว่าดี แต่ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมคนต้องบ้าจักรยาน ความสนุกของมันคืออะไร

“เมื่อก่อนผมคิดว่าในแง่การออกกำลังกาย การปั่นจักรยานมันพยายามไปหน่อย วิ่งแถวบ้านดีกว่า ทำไมต้องพยายามออกไปหาที่ปั่น คือเมืองไทยโดยเฉพาะกรุงเทพไม่ได้ออกไปปั๊บแล้วปั่นจักรยานได้โดยไม่อันตราย ไม่เหมือนบางประเทศที่ทุกอย่างเอื้อ ผมก็เลยมีภาพแบบนั้นมาตลอดกับจักรยาน แต่พอ ณ วันนี้ ถึงมันจะไม่เป็นการออกกำลังกายทุกวันของเรา ผมก็ยังวิ่งเหมือนเดิม แต่เติมจักรยานเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือก”

นอกจากการปั่นเพื่อออกกำลังกายแบบ Social Distancing และเพื่อสนองความคลั่งไคล้ส่วนตัวแล้ว จักรยานกลายเป็นยานพาหนะที่มีความเป็นปัจเจกของหลายคนรวมถึงภัทรเองด้วย

“หลังๆ ผมเริ่มไม่อยากขับรถถ้าไม่จำเป็น ขี่จักรยานได้ก็จะขี่จักรยานไป ก็ได้ช่วยลดโลกร้อน ได้ออกกำลังกาย และในสภาวะช่วงนี้ที่ Social Distancing คนมีกิจกรรมให้ทำน้อย จักรยานเป็นหนึ่งอย่างที่ช่วยให้เราหายเบื่อ ถ้าไม่มีโควิด-19 ก็คงไม่บ้าจักรยานแบบนี้”