การท่องเที่ยวหลัง 'โควิด' พลิกวิกฤตสู่ความยั่งยืน

การท่องเที่ยวหลัง 'โควิด'  พลิกวิกฤตสู่ความยั่งยืน

หลังจากซบเซาไปเพราะพิษ 'โควิด-19' อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะกลับมาได้หรือไม่ หรือเราควรใช้โอกาสนี้ในการสร้างสมดุลใหม่เพื่อขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ก่อนที่จะไม่เหลือทั้ง 'ปริมาณ' และ 'คุณภาพ'

 

เมื่อโรคระบาด COVID-19 คุกคามวิถีชีวิตปกติของผู้คนไปทั้งโลก การเดินทางหยุดชะงัก มิพักต้องพูดถึงการท่องเที่ยวซึ่งเคยเป็นน้ำเลี้ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทย วันนี้ต้องตกอยู่ในสถานะรอการเยียวยา ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักหน่วง ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไรถึงจะฟื้นคืนกลับมาได้

และแม้จะฟื้นกลับมา หลายฝ่ายก็เชื่อว่าการท่องเที่ยวไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความปกติใหม่ หรือ ‘New Normal’ คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้า ทว่า ในมุมของ ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ อดีตเลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว Association of Thai Travel Agents (ATTA) กับตำแหน่งปัจจุบัน ประธานที่ปรึกษาด้านการตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) เสนอว่าแวดวงท่องเที่ยวไทยควรใช้โอกาสนี้ทบทวน ตั้งหลัก และปักหมุดสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน...อย่างแท้จริง

“ถึงเวลาที่คนท่องเที่ยวต้องกลับมาดูว่า ที่ผ่านมาก่อนโควิด-19 มีอะไรบ้าง และ 30 กว่าปีที่ผ่านมาเราโตจนกระทั่งมีนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคน คนไทยเที่ยวในประเทศประมาณ 170 ล้านคน แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือ 7 จังหวัดหลัก มีส่วนแบ่งการตลาด 7.5 เปอร์เซ็นต์ พอมองลึกไปอีก 22 จังหวัด มีส่วนแบ่งการตลาด 15 เปอร์เซ็นต์ อีก 55 จังหวัดที่เป็นเมืองรอง เดิมมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่แค่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้ถูกมองว่า ที่ผ่านมางานด้านการท่องเที่ยวทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐเราทำแต่เรื่องการตลาด ทำแต่เรื่องความเข้าใจความรู้สึกลูกค้า เมื่อเราทำแต่ Customer Centric ลูกค้าอยากได้อะไรเราก็หามาป้อน ทุกวันนี้ทรัพยากรการท่องเที่ยวของเราจึงช้ำหมดแล้ว

ถึงเวลาที่ต้องกลับมาคุยกันใหม่ว่า สรุปแล้วประเทศไทยต้องการอะไรจากการท่องเที่ยว แล้วถ้าเป้าหมายหลักของประเทศคือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต้องย้อนกลับไปว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรกับเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บอกได้เลยว่าที่ผ่านมาเป็นเพียงวาทกรรม ไม่มีผลในเชิงปฏิบัติ”

ดร.อดิษฐ์ ตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์วิชาชีพพร้อมมุมมองในฐานะนักวิชาการที่คร่ำหวอดกับการท่องเที่ยวมากว่า 30 ปี และต่อไปนี้คือหัวใจสำคัญที่เขาตั้งใจนำเสนอเพื่อให้เกิดการยกระดับการท่องเที่ยวไทยหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย

 

  • Set Zero ท่องเที่ยวไทย

“ในช่วงที่เกิดโควิด-19 อย่างแรกเลยคือการท่องเที่ยวมัน Set Zero ตอนนี้ตลาดเป็นศูนย์ แต่สิ่งที่เราได้กลับมาคืออะไร ข้อดีคือเราได้ธรรมชาติกลับมา เราได้ความสวยงามของทรัพยากรกลับมา แต่เราสูญเสียตลาดไป และที่สำคัญไลฟ์สไตล์ของคนทั่วไปกำลังเปลี่ยน

ถามว่าเปลี่ยนแล้วอะไรจะเกิดขึ้น อย่างแรกคือเกิดสึนามิในผู้ประกอบการท่องเที่ยว ตอนนี้ล้มหายตายจากไป 80-90 เปอร์เซ็นต์ แต่คนที่รอดตายคงได้ประสบการณ์ ได้การเรียนรู้การมีชีวิตรอดในช่วงภาวะวิกฤตแบบนี้ อีกส่วนคือค่าเงินบาทจะลดลง เมื่อค่าเงินบาทลดลงแล้วจะเป็นข้อดีที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นต่อไป

ผมมองว่าการท่องเที่ยวไทยจะกลับสู่ภาวะปกติได้ต้องปี 2565 แต่ว่าช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน วงการสายการบินและวงการธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกต้องมาวางแผนกันใหม่ ใช้คำว่า Reform รูปแบบการท่องเที่ยวกันใหม่ ประเทศไทยก็เหมือนกัน ทำอย่างไรให้มันสอดคล้องกัน Social Distancing ทำอย่างไรให้มีระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในอนาคต”

 

  • ตลาดครอบครัวและ Private Group

“แน่นอนว่าหลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 ตลาดย่อมเล็กลง เพราะตลาดต่างประเทศเข้ามาไม่ได้ เราก็ต้องดูว่าตลาดไหนจะเกิดก่อน ผมมองว่าตลาดครอบครัว เพราะช่วงที่ล็อคดาวน์ มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งตลาดใหญ่ที่สุดคือตลาดคนกรุงเทพ และบริเวณที่จะเกิดก็คงจะใกล้ๆ ปริมณฑลกรุงเทพนี่แหละ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเริ่มต้นที่จะสามารถขยับได้ก่อน ภายใต้มาตรการการดูแลป้องกัน

อีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่มีความสามารถเดินทางได้ ก็คงเป็นครอบครัวที่มีฐานะสักนิดหนึ่ง เพราะอย่างนั้นการทำเป็น Private Group จะมีมากขึ้น ขนาดของกลุ่มต้องเล็กลงแน่นอน เพราะถูกบังคับด้วยกฎต่างๆ แต่คนที่ต้องการเที่ยวในช่วงนี้ก็ต้องการความปลอดภัย ความสบายใจ หลังจากตัวเองถูกล็อคดาวน์มานาน

ในการมองตลาดที่ดีต้องมองทั้ง Demand และ Supply ด้าน Supply ส่วนหนึ่งได้มาจากการที่ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเอง แต่หลังจากนั้นเราจะมีนโยบายอย่างไรเพื่อไม่ให้ธรรมชาติถูกทำลายโดยคนอีก หรือทำอย่างไรให้มันอยู่ยาวที่สุด นี่เป็นนโยบายที่ต้องมาพิจารณากัน”

 

1_1

 

  • ปลอดภัย สุขภาพ สิ่งแวดล้อม

“ผมเสนอไอเดียว่า เราต้องเป็นผู้นำเรื่องการท่องเที่ยวด้วยการใช้สามประเด็นคือ การท่องเที่ยวปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ ดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะบ้านเรามีจุดอ่อนเรื่องพวกนี้มาตลอด โดยเฉพาะอย่างแรก เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ส่วนเรื่องสุขอนามัย ตอนนี้เป็นเรื่องที่ทั้งโลกให้ความสำคัญ เรื่องสิ่งแวดล้อม วันนี้ที่เกิดโควิด-19 เรากำลังได้ธรรมชาติที่สวยงามกลับมา เราต้องทำมาตรฐานของทั้งสามตัวนี้ แล้วต้องมีกฎหมายบังคับใช้ให้แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งมีมาตรการและมีตัวชี้วัดเหล่านี้

สิ่งที่จะเป็นประเด็นสำคัญมากก็คือ การทำ Carrying Capacity ทำระบบการรองรับนักท่องเที่ยว ในเมื่อวันนี้ตลาด Set Zero แล้ว สิ่งที่ทำได้คือ เราต้องไปจำกัดปริมาณของนักท่องเที่ยวในพื้นที่มีความนิยมสูง เพื่อควบคุมคุณภาพให้ได้

แน่นอนว่าหลังจากที่เรามีมาตรการ Social Distancing ต้นทุนการบริการต้องสูงขึ้นแน่นอน เพราะฉะนั้นตลาด mass จะไม่ใช่คำตอบของผู้ประกอบการได้ในอนาคต และด้วยภาวะที่รัฐต้องออกกฎหมายมาบังคับเรื่องความปลอดภัย สุขอนามัย ยิ่งเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องบริหารต้นทุนให้ดี ฉะนั้นวันนี้ถ้าเราทำเรื่อง Carrying Capacity แล้วดูแลธรรมชาติได้ เราจะทำ Price list ขึ้นมาได้ ทำให้เกิดความสมดุลมากขึ้นในเรื่องการท่องเที่ยว”

 

  • คุณภาพ ต่อเนื่อง สมดุล

“ถ้าวันนี้ประเทศไทยปักปฏิญญาไว้ที่คำว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บอกเลยว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะมีศักยภาพเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอยู่ส่วนไหนของโลก 10 อันดับแรก หรือ 20 อันดับแรก ตั้งไว้เลย หลังจากนั้นตั้งตัวชี้วัดให้มันล้อลงมา ทุกหน่วยงานต้องทำแผนงานให้สอดคล้อง แล้วเราจะไปได้ เราจะมีความโดดเด่นชัดเจน

ที่ผ่านมาคำว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคือ ต่างคนต่างยั่งยืน แต่จะยั่งยืนแบบไหนไม่มีใครรู้ ตอนนี้สิ่งที่เรากำลังได้กลับมา ถ้ามาขยับ คือจัดสรรทรัพยากรใหม่ วางแผนการตลาดใหม่ ภายใต้ธงเดียวกันคือเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มันจะเป็นไปได้ โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือ หนึ่ง ชุมชนที่เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว สอง ผู้ประกอบการ สาม นักท่องเที่ยว เพราะคนสามกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ เขาจะต้องเข้าใจคอนเซ็ปต์เหล่านี้

เพราะฉะนั้นเราต้องเริ่มต้นที่นิยามของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากบนลงล่างต้องเห็นภาพเดียวกัน ภาพอนาคตประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้ หลังจากนั้นก็ใช้นโยบายสร้างคอนเซปต์ไอเดียว่าคุณต้องทำธุรกิจหรือบริหารภายใต้การบริหารเชิงคุณภาพ ต้องยึดคุณภาพของสินค้าเป็นตัวตั้ง และต้องมีความต่อเนื่อง และที่สำคัญคือต้องมีความสมดุล”

 

  • Thailand Tourism Avenger

“อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าถึงเวลาที่เราควรทำคือ มาสคอต Thailand Tourism Avenger ถามว่าคือใคร ตอบว่าเป็นคนไทยทุกคน แต่สำหรับมาสคอตน่าจะเป็นมนุษย์ทุเรียน มนุษย์ผัดไทย มนุษย์มัสมั่น และอะไรอีกหลายอย่าง เพื่อให้คนทุกยุคทุกวัยเข้าถึงได้ง่าย

น้องสุขใจที่ ททท. โปรโมทมาหลายปีก็ยังเป็นพี่ใหญ่ น้องสุขใจเป็นคนนำเที่ยว แต่อเวนเจอร์ ไม่ว่าจะมนุษย์ทุเรียน มนุษยมวยไทย เหล่านี้จะเป็นตัวเล่าเรื่องของผลิตภัณฑ์ในพื้นที่นั้นๆ แล้วผลิตภัณฑ์พวกนี้ต้องบอกที่มาและมีมาตรฐาน บ่งบอกเป็นสัญลักษณ์เชิงคุณภาพที่เราจะขายได้

ถ้าเกิดขึ้นได้ ตัว Thailand Tourism Avenger จะมีเรื่องเล่า มีความสนุกสนาน โดยเฉพาะเวลาที่เราไปขายต่างประเทศ เราทำเป็นซีรีส์ตัวเหล่านี้ได้ ถ้าตลาดนี้นิยมผลไม้เราก็หยิบผลไม้มา ถ้าตลาดนี้นิยมอาหารไทยเราหยิบอาหารไทยมา ตลาดนี้นิยมวัฒนธรรมเราก็หยิบพระอภัยมณี หยิบสุดสาคร สิ่งเหล่านี้เป็น Thailand Tourism Avenger ได้หมด แล้วก็ย้อนมาที่คนไทยทุกคนที่มาอยู่ในทีมอเวนเจอร์”

 

DSC_3953

 

  • ‘ทีมไทย’ ปักธงท่องเที่ยวยั่งยืน

“ตอนนี้ที่เรากำลังทำคือ หนึ่ง รวบรวมคนที่มีแนวคิดเดียวกันก่อน แล้วต้องอยู่ในระดับที่พอจะมีกำลังขับเคลื่อน เช่น ผู้นำท้องถิ่น คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นักวิชาการ ฯลฯ ตอนนี้กำลังชวนคนเหล่านี้มาคุยกัน ดึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดึงกระทรวงฯ ดึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งผมทำหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมด้วย ชวนนักวิชาการมา เริ่มจากทีมเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยขายไอเดียไปยังพื้นที่ที่มีความพร้อม

หัวใจของ Stakeholder มี 3 ส่วน ส่วนแรกคือชุมชน เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว เพราะเขาต้องกิน ต้องอยู่ ชีวิตเขาอยู่ตรงนั้น เขาไม่ไปไหน แต่สิ่งที่เขาขาดคือองค์ความรู้ วิธีคิด หลักการ ส่วนที่สองคือ ผู้ประกอบการ ตัวหลักตัวหนึ่งที่มองผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าผลประโยชน์เชิงสังคม ธุรกิจกับชุมชน สองฝั่งนี้ต้องคุยกัน

ผมคิดว่าที่ผ่านมาเราจะเห็นบริษัททัวร์ที่ทำ mass แต่ตอนนี้คนรุ่นใหม่เริ่มเกิดขึ้น ผมพยายามสื่อสารไปว่าถึงเวลานี้ตลาดนักท่องเที่ยวเล็กลง สิ่งที่คุณต้องทำคือ ทำน้อยแต่ได้มาก เพราะเขาจะเอาคุณภาพ คุณต้องสื่อสารกับชุมชนให้ได้ สื่อสารกับแหล่งท่องเที่ยวให้ได้ คุณต้องแบ่งเขา โดยที่คุณยังอยู่ได้ ต้องมีความยุติธรรม

แล้วองค์ประกอบที่สามคือนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการคือคนไปคว้านักท่องเที่ยวคุณภาพมาสู่ชุมชนได้ เราต้องสื่อสารให้ชุมชนเข้าใจว่าคนที่เป็นผู้ประกอบการมีองค์ความรู้เรื่องนี้ ทั้งสามส่วนนี้จึงต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”