'ถนน' วิถีใหม่ 'New Normal' หลังโควิด -19

'ถนน' วิถีใหม่ 'New Normal' หลังโควิด -19

ขณะที่โลกกำลังรับมือกับ 'โคโรนาไวรัส' หลายประเทศใช้โอกาสนี้ปรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อคงมาตรการบางอย่างหลังปลดล็อคดาวน์ โดยเฉพาะกิจกรรมบนท้องถนน

 

เมื่อเมืองต่างๆ ทั่วโลกมียวดยานพาหนะออกมาขับขี่น้อยลง ทำให้สภาพอากาศในหลายประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตหลายอย่างของผู้คนในช่วงนี้จำเป็นต้องถูกปรับเปลี่ยน ขณะที่ทั่วโลกกำลังรับมือกับโคโรนาไวรัส หลายประเทศใช้โอกาสนี้วางแผนต่อยอด เพื่อคงมาตรการบางอย่างหลังปลดล็อคดาวน์

‘การล็อคดาวน์’ ทำให้ผู้คนจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ท้องถนนที่เคยหนาแน่นและพลุกพล่านอยู่ตลอดเวลาหลายแห่งกลายเป็นพื้นที่ว่าง ความเงียบสงบเข้ามาปกคลุม มลภาะทางอากาศที่ไม่พึงประสงค์ ในหลายประเทศลดระดับลง ท้องฟ้าขุ่นมัวที่แทบมองไม่ให้สีฟ้าและก้อนเมฆ กลับคืนมาให้เห็นอีกครั้ง แม้ไม่สามารถยินดีกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อมนุษยชาติกำลังเผชิญหน้ากับโรคระบาด แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์และเป็นฐานข้อมูลที่บางประเทศกำลังนำมาใช้เพื่อวางเป้าหมายการพัฒนาฟื้นฟูประเทศในระยะยาว

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เฉพาะสภาพอากาศจากการใช้รถใช้ถนน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาใหม่เชื้อเพลิงลดลง 5.5 – 5.7 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่กลางเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ปีนี้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนของจีนลดลงราว 25 เปอร์เซ็นต์ เมืองที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียและเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกตามสถิติ อย่าง เดลี ตรวจวัดมลพิษจาก PM 2.5 ลดลงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากความหนาแน่นของการจราจรลดลงราว 59 เปอร์เซ็นต์

ทางฝั่งยุโรปรายงานจากภาพถ่ายดาวเทียมกรุงปารีส ฝรั่งเศส แสดงให้เห็นระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลง 70 เปอร์เซ็นต์ และ 40 เปอร์เซ็นต์ จากการวัดค่า ณ กรุงมิลาน ที่การปิดเมืองปิดประเทศทำให้ท้องถนนมีรถสัญจรลดลงถึง 89 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

italy-5055475_1920

 

ส่วนกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หลังจากการใช้รถใช้ถนนลดลงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มลพิษทางอากาศลดลงมากถึง 73 เปอร์เซ็นต์ รายงานภาพรวมระบุว่าทั่วโลกมีการใช้ยานพาหนะเดินทางลดลงถึง 78 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นค่าความเปลี่ยนแปลงทางสถิติที่ชัดเจน

บางประเทศมีมาตรการปิดถนน ทำให้การเดินทางโดยรถยนต์และรถโดยสารประจำทางหยุดชะงัก บางประเทศกำหนดโซนการสัญจร เช่น เมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมันนี เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และอีกหลายเมืองในสหรัฐ เช่น บอสตัน เดนเวอร์ โอ๊คแลนด์ (รัฐแคลอฟอร์เนีย) ด้วยเหตุนี้จักรยานจึงกลายเป็นตัวเลือกสำคัญในทันที การสำรวจช่วงเดือนมีนาคม ผู้คนเมืองปักกิ่ง หันมาใช้จักรยานมากขึ้นถึง 150 เปอร์เซ็นต์ และ 67 เปอร์เซ็นต์ ในนิวยอร์ก

หลายเมือง เช่น เบอร์ลิน เยอรมันนี, บุดาเปสต์ ฮังการี, เม็กซิโกซิตี้ เมืองหลวงของเม็กซิโก, ดับลิน ไอร์แลนด์, โบโกตา โคลอมเบีย และนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้จัดสรรเส้นทางจักรยานพิเศษขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ ด้านรัฐบาลประเทศนิวซีแลนด์และสก็อตแลนด์ได้ลงทุนสร้างช่องทางพิเศษชั่วคราวสำหรับจักรยานและปรับปรุงฟุตบาธให้คนเดินเท้า

เส้นทางสัญจรใจกลางกรุงบรัสเซลส์ เบลเยี่ยม ถูกปรับปรุงและจัดสรรให้เป็นเส้นทางจักรยานและทางเดินเท้าตั้งแต่ต้นพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ขณะที่เมืองมิลานศูนย์กลางการระบาดของอิตาลี ได้วางแผนเปลี่ยนถนนความยาวประมาณ 35 กิโลเมตรให้เป็นเส้นทางปั่นจักรยานแทนเส้นทางสัญญาณของรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งหมดค่อยๆ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโรค

“เพื่อป้องกันการหันมาใช้รถส่วนตัวในการเดินทางมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ มิลานสนับสนุนให้หันมาใช้จักรยานในการสัญจรบนท้องถนนใจกลางเมือง” เป็นส่วนหนึ่งของประกาศอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล โดยรัฐจะค่อยๆ ปรับปรุงเส้นทางการจราจรให้มีทางปั่นจักรยาน ขยายทางเท้าและกำหนดความเร็วของรถยนต์ที่สัญจรไปมาในเมือง

เจเน็ต ซาดิค ข่าน (Janette Sadik-Khan) อดีตกรรมมาธิการการขนส่งเมืองนิวยอร์ก กำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเมืองมิลานและเมืองอื่นๆ เพื่อวางมาตรการด้านการขนส่งให้เป็น new normal สำหรับการใช้รถใช้ถนน

การแพร่ระบาดของโรคเป็นเรื่องที่ท้าทายพวกเรา แต่ก็หยิบยื่นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตให้เราเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนนซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานานร่วมศตวรรษ

เมืองต่างๆ ควรใช้โอกาสนี้จัดสรรพื้นที่บนท้องถนน ปรับปรุงทางเดินเท้า เส้นทางจักรยาน และเส้นทางสำหรับการบริการขนส่งสาธารณะให้มีความพร้อมหลังการระบาดของโรคครั้งใหญ่นี้หมดไป” ซาดิค ข่าน กล่าว

 

walk-3731094_1920

 

นายกเทศมนตรี เมืองโบโกตา โคลอมเบีย ได้ประกาศปิดถนนความยาวราว 117 กิโลเมตร เพื่อปรับปรุงเป็นเส้นทางปั่นจักรยานและทางเดินเท้า ซึ่งการก่อสร้างทำได้ง่ายและสะดวกขึ้นในช่วงล็อคดาวน์ นโยบายนี้เป็นแนวทางที่เพิ่มเติมจากเดิมที่มีการปิดถนนบางส่วนไม่ให้รถยนต์สัญจรได้ในช่วงวันอาทิตย์ หลังจากนี้จะมีการขยายให้มีการปิดถนนในวันธรรมดาบางช่วงเวลา เกิดเป็นเครือข่ายเส้นทางจักรยานครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ระยะทางรวม 550 กิโลเมตร

แอน ฮิดาลโก (Anne Hidalgo) นายกเทศมนตรีปารีส ได้เคยให้คำสัญญาว่าจะพัฒนาถนนทุกสายทั่วเมืองให้เป็นมิตรต่อผู้ขับขี่จักรยานภายในปี 2024 รวมถึงจัดการรถที่จอดตามข้างทางบนท้องถนนให้ลดลง 72 เปอร์เซ็นต์ มาตรการหลังปลดล็อคดาวน์เมืองได้ประกาศขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีการเพิ่มเติมแผนการก่อสร้างเส้นทางปั่นจักรยานชั่วคราวตามแนวเส้นรถไฟใต้ดิน

ส่วนเมืองบูดาเปสต์ เทศบาลได้ประกาศขยายการให้บริการเส้นทางจักรยานชั่วคราวจนถึงเดือนกันยายน และมีแนวโน้มพัฒนาให้เป็นเส้นทางจักรยานถาวรในระยะยาว

ขณะที่บลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ (BloombergNEF) กล่าวว่า ยานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า รถพลังงานไฟฟ้า หรือ EVs (Electric Vehicles) จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในธุรกิจยานยนต์ภายในปี 2040 รายงานประจำปี 2019 ระบุว่ายานยนต์ไฟฟ้าถูกขายไปกว่า 2 ล้านคันในปี 2018 ประเทศจีนยังคงเป็นผู้นำในตลาดยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะครองส่วนแบ่งตลาด 48 เปอร์เซ็นต์

 

usa-1777986_1920

 

New Normal ที่เกิดขึ้นนับจากนี้เป็นต้นไป จึงไม่ใช่การเอาเรื่องความเป็นความตายของมนุษย์ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดมาเทียบกับความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ แต่เป็นการหาทางออกและทางรอดให้กับมนุษย์ เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังคงต้องหายใจและใช้สอยสิ่งต่างๆ ซึ่งมีต้นทุนจากทรัพยากรธรรมชาติ 

ในอนาคตคงไม่ใช่แค่โรคระบาดเท่านั้นที่มนุษยชาติต้องตั้งรับและรับมือ แต่ยังมีความเปลี่ยนแปลงอีกมากมายที่มนุษย์ต้องพร้อมปรับและเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด