‘ทอม ครูซ’ ถ่ายหนังนอกโลกกับ ‘นาซา’

‘ทอม ครูซ’ ถ่ายหนังนอกโลกกับ ‘นาซา’

ไม่มี 'มิชชัน' ไหนที่ 'เป็นไปไม่ได้' สำหรับ ทอม ครูซ ที่หันไปจับมือกับนาซา, สเปซเอ็กซ์ และโบอิ้ง เพื่อถ่ายทำหนังกันถึงนอกโลก

การถ่ายหนังบนโลกใบนี้มันคงจะธรรมดาไปสำหรับ ทอม ครูซ ผู้เล่นฉากเสี่ยงตายมาแล้วแทบจะทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการท้ามฤตยู ห้อยโหนอยู่นอกเครื่องบินที่กำลังบินอยู่ในอากาศที่ระดับความสูง 5,000 ฟุต หรือท้าทายแรงโน้มถ่วงของโลกด้วยการปีนตึก Burj Khalifa เหนือระดับพื้นดิน 3,000 ฟุต ฯลฯ

 

พระเอกคนดังของฮอลลีวูดที่ในปี 2563 นี้ก็จะมีอายุ 58 ปีแล้ว เลยจะหันไปถ่ายหนังนอกโลกแทนเพื่อความแปลกใหม่ท้าทายในชีวิตการทำงาน

 

เรื่องนี้ไม่ใช่ข่าวโคมลอย แต่ได้รับการยืนยันจาก องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่ากำลังร่วมมือกับ ทอม ครูซ ในการถ่ายหนังนอกโลกจริง

 

“NASA ตื่นเต้นที่จะได้ร่วมงานกับ ทอม ครูซ @TomCruise ในภาพยนตร์ที่ถ่ายบนสถานีอวกาศนานาชาติ @Space_Station!” จิม ไบรเดนสตีน ผู้บริหาร NASA เขียนเอาไว้ในทวิตเตอร์ขององค์กร

 

"เราต้องการสื่อที่ได้รับความนิยม (อย่างภาพยนตร์) มาสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่าวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ๆ เพื่อทำให้แผนการอันทะเยอะทะยานของนาซา @NASA กลายมาเป็นความจริง”

 

000_1IW8UF (1)

Credit : Chris Delmas / AFP

 

ผู้บริหาร NASA ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่จะทำร่วมกับทอม ครูซ แต่ Deadline สื่อบันเทิงชั้นนำของฮอลลีวูด รายงานว่า ครูซกำลังร่วมมือกับ อีลอน มัสก์ ผู้บริหารค่ายรถ Tesla และบริษัทผลิตยานอวกาศ SpaceX เพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกที่จะมีการถ่ายทำกันในอวกาศ

 

Deadline ระบุว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแนวแอคชั่น ผจญภัย ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนแรก ๆ ของการสร้างเท่านั้น ขณะที่ทางผู้จัดการส่วนตัวของครูซ และตัวแทนของ SpaceX ยังไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

มีเพียง อีลอน มัสก์ ที่ไปตอบทวีตของนายไบรเดนสไตน์ ผู้บริหารของนาซาที่พูดถึงการจะทำหนังร่วมกับทอม ครูซ เอาไว้ว่า “คงจะสนุกน่าดู”

 

ขณะที่ CNN Business รายงานว่าโฆษกของนาซาได้ยืนยันกับตัวเองว่า ทอม ครูซ จะถูกส่งขึ้นไปประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติที่โคจรอยู่เหนือพื้นโลก

 

5bf5bf5d01b12d2be01266b9

Credit : NASA

 

ใช้บริการสถานีอวกาศฯ ต้องจ่ายเท่าไร

เมื่อปี 2562 NASA ได้ประกาศแผนการดำเนินงานขององค์กร โดยหนึ่งในนั้นมีแผนการอนุญาตให้นักบินอวกาศเอกชน หรือนักบินอวกาศอิสระ มาใช้สถานที่ หรือเครื่องไม้เครื่องมือของสถานีอวกาศนานาชาติได้ โดยมีการระบุค่าใช้จ่ายในแต่ละส่วนไว้ชัดเจน

 

สำหรับการทำภารกิจในอวกาศของภาคเอกชนนั้นจะเกิดขึ้นใน ‘วงโคจรต่ำของโลก’ (low-Earth orbit) หรือวงโคจรรอบโลกที่ระดับความสูง 2,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) โคจรอยู่ เพราะเป็นระยะที่อยู่ใกล้โลกมากพอที่จะขนส่งอุปกรณ์และปัจจัยต่าง ๆ ไปให้ได้โดยสะดวก

 

ผู้ที่ต้องการจะใช้สถานที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของนาซาในเชิงพาณิชย์จะต้องจ่ายเงินให้กับนาซาตรงส่วนนี้ ซึ่ง Business Insider รายงานว่า นาซาได้ตั้งราคาค่าอุปกรณ์ดำรงชีวิตอยู่ในอวกาศและค่าใช้ห้องน้ำบนสถานีอวกาศ เอาไว้ที่วันละ 11,250 ดอลลาร์สหรัฐ (360,000 กว่าบาท) ส่วนค่าจัดหาอาหาร อากาศ และอื่น ๆ ให้นั้นตกอยู่ที่วันละ 22,500 ดอลลาร์สหรัฐ (720,000 กว่าบาท)

 

ทั้งนี้ สถานีอวกาศ ISS สร้างขึ้นจากความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนของหลายประเทศ แต่สหรัฐฯ และรัสเซียจะมีบทบาทมากที่สุด โดยสหรัฐฯ ทำหน้าที่ดูแลรักษาห้องทดลองที่โคจรอยู่รอบโลก และเป็นสถานที่ที่เหล่านักบินอวกาศประจำการอยู่เพื่้อทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และการวิจัยเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ

 

ข้อมูลจากรายงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ประจำปี 2018 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้กินเงินภาษีประชาชนชาวสหรัฐตกปีละ 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์ กันเลยทีเดียว

 

บทบาทของ SpaceX 

ส่วนรัสเซียนั้นเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่สามารถส่งมนุษย์เดินทางไปกลับระหว่างสถานีอวกาศ ISS กับโลกได้

 

แต่ตอนนี้บริษัท SpaceX ของอีลอน มัสก์ และบริษัท Boeing ได้ร่วมมือกันมาหลายปีแล้ว ในการพัฒนายานอวกาศที่สามารถใช้ขนส่งคนไปกลับอวกาศได้ เพื่อให้สหรัฐฯ ไม่ต้องล้าหลังรัสเซียอีกต่อไป

 

โดยคาดว่ายานอวกาศของสเปซเอ็กซ์ที่ชื่อ Crew Dragon จะทำภารกิจส่งลูกเรือไปยัง ISS ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมนี้

 

000_1QY0U3

พนักงาน SpaceX กำลังจัดการกับยาน Crew Dragon

Credit : Philip Pacheco / AFP

 

อย่างไรก็ตาม นาซาไม่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของหรือร่วมดำเนินการเที่ยวบินขนส่งอวกาศนี้กับทาง SpaceX และ Boeing โดยทั้งสองบริษัทจะได้รับอนุญาตให้ขายที่นั่งในยานอวกาศให้กับนักเดินทางที่เต็มใจจะจ่ายเงินสูงลิบเป็นค่าตั๋วท่องอวกาศ

 

ก่อนหน้านี้ SpaceX เคยประกาศว่าจะทำงานร่วมกับบริษัทอื่นที่นอกเหนือจากโบอิ้ง เพื่อขายที่นั่งบนยาน Crew Dragon ในราคาใบละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,600 ล้านบาท)

 

หนังที่ถ่ายทำในอวกาศ

ทั้งนี้ สถานีอวกาศนานาชาติส่งนักบินอวกาศและเจ้าหน้าที่ไปประจำการมาตั้งแต่ปี ค.. 2000 แล้ว โดยจะมีการเปลี่ยนชุดกันเป็นระยะ แล้วก็มีนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักเคยเดินทางขึ้นไปเที่ยวมาเพียงไม่กี่คน

 

แลนซ์ แบสส์ จากวงบอยแบนด์ 'NSYNC ก็เคยวางแผนจะไปเยือนสถานีอวกาศมาเมื่อช่วงต้นปี 2000 แต่แผนได้ล้มเลิกไปก่อน

 

ในส่วนของการถ่ายหนังบนสถานีอวกาศนานาชาตินั้น เคยมีการถ่ายทำมาอยู่บ้างแล้วเหมือนกัน อาทิ สารคดีวิทยาศาสตร์ของ IMAX เรื่อง Apogee of Fear (ปี 2012) ที่ทอม ครูซ เป็นคนให้เสียงบรรยาย เรื่องนี้ถ่ายทำในอวกาศโดย ริชาร์ด การ์เรียต นักธุรกิจที่มีบิดาเป็นนักบินอวกาศ

 

แต่ทว่า ทอม ครูซ จะเป็นนักแสดงคนแรกที่จะได้เดินทางไปถ่ายทำหนังอยู่นอกโลก โดยประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเลย

 

5 ฉากท้ามฤตยูของ ทอม ครูซ

ทอม ครูซ เป็นพระเอกหนังแอคชั่นที่เล่นฉากเสี่ยงตายด้วยตัวเองมาตลอด โดยเฉพาะเมื่อรับบท อีธาน ฮันท์ ในหนังแฟรนไชส์สายลับชื่อดัง Mission Impossible ที่มีจุดขายเป็นฉากแอคชั่นเสี่ยงตายไปแล้ว

สำหรับฉากสตันท์ที่ครูซลงทุนเล่นด้วยตัวเอง และได้รับการโหวตว่าเสี่ยงอันตรายมากที่สุด 5 อันดับ มีดังต่อไปนี้

 

1.เกาะเครื่องบินที่ความสูง 5 พันฟุต

 

ในหนังเรื่อง Mission Impossible: Rogue Nation ทอม ครูซ ลงทุนยืนเกาะอยู่ด้านข้างเครื่องบิน Airbus A400M ที่เทคออฟจากพื้น แล้วบินขึ้นไปอยู่ที่ระดับความสูง 5,000 ฟุต แถมยังถ่ายช็อตนี้ซ้ำถึง 8 ครั้ง เพื่อให้ภาพออกมาสวยงาม โดยความเสี่ยงอยู่ตรงที่ต้องคอยหลบเศษต่าง ๆ ที่ถ้าถูกลมตีเข้าใส่เต็มแรงอาจทำให้ซี่โครงหักได้

 

2.ปีนตึกสูงที่สุดในโลก

 

 

ในหนัง Mission Impossible: Ghost Protocol ครูซต้องปีนตึก Burj Khalifa ที่สูงที่สุดในโลก แล้วไม่ใช่แค่ปีนเท่านั้น แต่เขายังต้องกระโจนเปลี่ยนตำแหน่ง แกว่งไปแกว่งมาเหนือระดับความสูง 3000 ฟุตจากพื้นดิน ท่ามกลางลมที่พัดแรงและหนาวยะเยือก

ภารกิจนี้เสี่ยงขนาดไหนที่บริษัทประกันไม่ยอมรับรับทำประกันให้จนครูซต้องไล่ออก

 

3.ขี่มอเตอร์ไซค์ไล่ล่าไม่สวมหมวกกันน็อก

 

 

ครูซถือเป็นนักแสดงที่ขับรถได้ดีที่สุดคนหนึ่ง แต่ในหนัง Mission Impossible – Fallout เขาต้องโชว์ทักษะขั้นสุดด้วยการบิดมอเตอร์ไซค์ไปตามท้องถนนอันคลาคล่ำในกรุงปารีส แถมยังต้องขี่ย้อนศรด้วยความเร็วสูงสุดโดยไม่ใส่หมวกกันน็อคอีกด้วย

 

4.ขี่ม้าตะลุมบอนฝ่าดงระเบิด

 

 

ฉากรบตอนจบของหนัง The Last Samurai ถือเป็นฉากที่ตราตรึง และยากที่สุด โดยนอกจากครูซจะต้องมีทักษะการขี่ม้าระดับมือโปรแล้ว ร่างกายของเขายังต้องฟิตเปรี๊ยะ เพราะนอกจากมือหนึ่งกุมบังเหียน มือหนึ่งถือดาบไล่ฟาดฟันศัตรูแล้ว เขายังต้องใช้ทักษะหลบหลีกระเบิด และพลุด้วย

 

5.ทรงตัวกลางอากาศเฉียดพื้น

 

 

ใน Mission Impossible ฉากแอคชั่นที่กลายเป็นภาพจำของหนังคือตอนที่ อีธาน ฮันท์ บุกเข้าไปที่แลงลีย์โดยใช้วิธีผูกเชือกเอาไว้แล้วค่อย ๆ ห้อยตัวจากด้านบนลงมาอยู่เหนือพื้นเพียง 30 ฟุต ซึ่งความยากอยู่ตรงการควบคุมร่างกายให้ตั้งฉาก ไม่ให้มีส่วนไหนแตะโดนพื้นเด็ดขาด