ทางรอด? ของโรงหนังยุคโควิด-19

ทางรอด? ของโรงหนังยุคโควิด-19

สำรวจค่ายหนัง และโรงหนังทั่วโลก ทำอะไรกันบ้างเพื่อความอยู่รอดในยุคไวรัสระบาด

คณะรัฐบาล พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้มาตรการปิดโรงภาพยนตร์มาตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

จนถึงวันนี้ เวลาก็ล่วงผ่านมาเกือบจะครบ 2 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าโรงภาพยนตร์ในไทยจะได้รับคำสั่งให้กลับมาเปิดให้บริการได้ตามปรกติ ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ ตลอดจนค่ายหนังต่าง ๆ ต้องดิ้นรนหาทางลดความสูญเสียทางธุรกิจด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป

 

ไม่ว่าจะเป็นการประกาศปลดพนักงานบางส่วน ปรับลดเงินเดือนคนที่ยังเหลืออยู่ นำภาพยนตร์ที่มีอยู่ในมือไปปล่อยให้ชมทางระบบสตรีมมิงแทน หรือแม้แต่หันไปขายป๊อปคอร์น ขายเสื้อยืดเพื่อหารายได้มาจุนเจือพนักงานแม้จะน้อยนิดเพียงใดก็ตาม

 

จุดประกาย จะพาไปสำรวจดูว่าเจ้าของโรงภาพยนตร์ ตลอดจนค่ายหนังทั่วโลกดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดในยุค Covid-19 กันเช่นไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการในไทยนำมาปรับใช้ให้เข้ากับตัวเอง

 

000_1QP0NJ  

เปลี่ยนโรงเปล่าเป็นสตูดิโอพรีเวดดิ้ง

เริ่มที่ประเทศจีน จุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางการสั่งปิดโรงภาพยนตร์มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม แล้วพอสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลกลางก็พิจารณาให้โรงภาพยนตร์ราว 600 แห่ง (จากประมาณ 70,000 แห่งทั่วประเทศ) เปิดให้บริการได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคม

 

ทว่าเพียงไม่กี่วันต่อมา คำสั่งเปิดโรงภาพยนตร์ก็ถูกยกเลิกเมื่อยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา-19 กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากเปิดประเทศให้คนที่อยู่ในต่างแดนทยอยเดินทางกลับเข้ามา อันนำไปสู่ความหวาดกลัวว่าจะเกิดการระบาดระลอก 2 (second wave) ตามมา

 

ข้อมูลจากนิตยสารการเงิน Economic Weekly ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลจีน รายงานว่า เฉพาะช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 มีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์และโทรทัศน์ต้องปิดตัวลงมากถึง 5,328 แห่ง สะท้อนภาพว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้มีผลกระทบที่เกรี้ยวกราดรุนแรงขนาดไหน

 

สำหรับทางออกในช่วงวิกฤติของผู้ประกอบการโรงหนังแดนมังกรที่ถือว่าน่าสนใจ และแหวกแนวจากที่อื่นก็คือ การเปลี่ยนโรงภาพยนตร์ที่ตอนนี้ว่างเปล่า ไร้ผู้ชม เป็นสตูดิโอถ่ายภาพแต่งงานแทน เพราะธุรกิจพรีเวดดิ้งในจีนนั้นเฟื่องฟูมาก

 

ไม่เพียงคู่แต่งงานใหม่เท่านั้นที่เป็นลูกค้าของสตูดิโอพรีเวดดิ้งในจีน แม้แต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็นิยมมาแต่งตัวกันอย่างหรูหรา สง่างาม ถ่ายรูปแต่งงานท่ามกลางฉากหลังสวย ๆ ไปเก็บไว้ดู

 

ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน (.. 1966-1976) การใส่ชุดแต่งงานสีขาวถ่ายรูปถือเป็นเรื่องผิดมหันต์ เพราะเท่ากับว่าคุณมีความคิดโปรตะวันตก ดังนั้น ภาพถ่ายแต่งงานของคนรุ่นนั้นจึงมีเพียงรูปถ่ายขนาดเท่ากับที่ใช้ติดหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) เพียงรูปเดียว เพื่อเป็นหลักฐานการสมรสเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง พอสังคมเปิดกว้างแล้ว คนรุ่นพ่อรุ่นแม่จึงมาเป็นลูกค้าร้านถ่ายภาพแต่งงานกันจำนวนไม่น้อย

 

ส่วนสนนราคาของการปิดโรงหนังเพื่อถ่ายรูปแต่งงานนั้น สื่อท้องถิ่นรายงานว่าถ้าเป็นตามเมืองรอง ที่ไม่ใช่เมืองใหญ่อย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ค่าเช่าโรงหนังเพื่อถ่ายพรีเวดดิงจะอยู่ที่ 100 หยวนต่อชั่วโมง (ราว 450 บาท) หรือ 600 หยวน (ราว 2,700 บาท) ต่อวัน

 

‘โควิด-19’ ทำบริษัทหนัง-ทีวีจีนปิดตัว 5 พันแห่ง

 

ให้เช่าโรงหนังส่วนตัวสุด exclusive

ส่วนที่ประเทศเกาหลีใต้นั้น รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายบังคับปิดโรงภาพยนตร์ แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ต้องปิดให้บริการไปโดยปริยายเนื่องจากไม่มีคนดู

 

โดยข้อมูลจาก S&P Global Market Intelligenceระบุว่า รายได้จากการขายตั๋วในโรงภาพยนตร์ หรือตัวเลขบ็อกซ์ ออฟฟิศของเกาหลีใต้ ดิ่งลงไปถึง 65.3% ในช่วงไตรมากแรกของปี 2563 นี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ทั้งนี้ ในช่วยก่อนโควิด-19 ระบาด อุตสาหกรรมภาพยนตร์แดนกิมจิกำลังเฟื่องฟู โดยเกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่มีรายได้บ็อกซ์ ออฟฟิศมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเลยทีเดียว มีการประเมินเอาไว้ว่ามีคนซื้อตั๋วดูหนังในโรงภาพยนตร์กันมากถึง 16.8 ล้านคน ในเดือนมกราคม 2563 ก่อนจะลดลงมาฮวบฮาบเหลือ 7.37 ล้านคน ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ไวรัสมรณะเริ่มระบาดหนักแล้ว และดิ่งฮวบมาเหลือเพียง 1.89 ล้านคนในเดือนมีนาคม

 

ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ สภาอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ ซึ่งเก็บข้อมูลบ็อกซ์ ออฟฟิศมาตั้งแต่ปี 2547 ประเมินเอาไว้ว่า เดือนเมษายนนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ยอดขายตั๋วหนังของเกาหลีใต้จะได้ไม่ถึง 1 ล้านใบ

 

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์แดนกิมจิจึงพยายามหาทางออกให้กับคนที่ยังอยากดูหนังในโรงภาพยนตร์ แต่ไม่อยากดูปะปนกับคนอื่นให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วยการ “มอบสิทธิพิเศษในการเป็นเจ้าของโรงหนังส่วนตัว” ให้กับคุณ

 

Megabox เครือโรงภาพยนตร์ชั้นนำของเกาหลีใต้ซึ่งมีอยู่ 47 สาขาทั่วประเทศ ได้เปิดให้เช่าโรงภาพยนตร์แบบส่วนตัวขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โรงหนังส่วนตัวที่จุคนได้สูงสุด 15 คน ในราคา 100,000 วอน (ประมาณ 2,600 บาท) และโรงหนัง “บูถีคสวีท” ที่มาพร้อมโซฟานั่งสบาย จุคนได้ 10 ในราคา 300,00 วอน (เกือบ 8,000 บาท)

 

ขณะที่เครือโรงหนัง CGV ก็เคยจัดอีเวนท์ให้เช่าโรงหนังส่วนตัวดูกันได้ 2-3 คน ในราคา 30,000 วอน ตามสาขาต่าง ๆ มาแล้ว ผลปรากฎว่ามีผู้ให้ความสนใจอย่างล้นหลาม แห่กันเข้าไปจองที่นั่งกันเต็มจนภายในวันเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นสัญญาณอันดีว่า คนยังอยากดูภาพยนตร์ในโรงกันอยู่ เพียงแต่ต้องการความมั่นใจว่ามาดูแล้วจะไม่ติดไวรัสจากคนอื่นกลับไปด้วยเท่านั้น

 

000_1QY389

บรรยากาศการดูหนังกลางแปลงในสหรัฐอเมริกาช่วงโควิด-19

Credit : AFP

 

หนัง….ที่ไม่ต้องฉายในโรง

โรงหนังแบบไดร์ฟอิน หรือถ้าเป็นแบบบ้านเราก็ต้องเรียกว่า “โรงหนังกลางแปลง” กลับมาได้รับความนิยมทั่วโลกหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีโรงหนังแบบนี้ผุดขึ้นทั้งที่ประเทศเยอรมนี อิหร่าน ลิทัวเนีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ฯลฯ

อย่างที่ประเทศลิทัวเนียนั้น มีการดัดแปลงสนามบินในกรุงวิลนิอุส เมืองหลวง ที่ไม่มีเครื่องบินขึ้นลงหลังจากปิดประเทศ ให้กลายมาเป็นโรงหนังกลางแปลงแทน โดยการท่าอากาศยานได้ไปติดต่อผู้จัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติวิลนิอุส (Vilnius International Film Festival) ให้มาจัดฉายหนังในพื้นที่ของต้นเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมาเป็นวันแรก ประเดิมด้วยหนังรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากงานออสการ์ปีล่าสุดเรื่อง Parasite

ผลปรากฎว่ามีรถยนต์ราว 150 คัน มาจอดดูหนังในสนามบินแห่งนี้ ซึ่งนำมาตรการ social distancing มาใช้ด้วยการให้รถแต่ละคันจอดห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร และภายในรถห้ามมีคนเกิน 2 คน

 

000_1PZ3RL

Credit : AFP

 

ส่วนดินแดนศิลปะอย่างประเทศอิตาลีนั้น มีไอเดียที่เก๋ไก๋ต่างจากที่อื่นด้วย ‘โครงการฉายหนังบนผนังตึก’ ที่ชื่อ Cinema from Home (Cinema da Casa) ซึ่งเป็นอีเวนต์ที่สมาคม Alice in the Cities (Alice nella Citta) จัดขึ้นตามย่านต่าง ๆ ในกรุงโรม

 

โดยทางสมาคมได้เชิญชวนให้ทุกคนที่มีเครื่องโปรเจกเตอร์เข้าร่วมการฉายหนังลงบนผนังอาคารที่อยู่ในย่านใกล้เคียงของตัวเองในเวลา 22.00 . ส่วนคนที่ไม่มีเครื่องฉายก็สามารถเข้าไปรับชมการถ่ายทอดสดได้จากทางเฟซบุคของสมาคม Alice in Città

 

ในตอนแรก โครงการฉายหนังบนผนังตึกนี้เริ่มต้นขึ้นในย่าน Trieste-Salario ของกรุงโรมเท่านั้น แต่ในเวลาไม่นานก็ขยับขยายไปยังย่านอื่น ๆ ด้วย อาทิ S. Lorenzo, Appia, Centocelle และ Monte Mario

 

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่ได้จัดขึ้นในเชิงพาณิชย์ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้คนไม่รู้สึกหดหู่ท้อแท้ จากการที่ต้องกักตัวเองอยู่แต่ในเคหะสถานเป็นเวลานานเท่านั้น

โครงการนี้เริ่มขึ้นด้วยความบังเอิญ หลังจากที่มีเด็ก ๆ มาบอกกับเราว่า เมืองของพวกเขามืดมน และเงียบเหงาเกินไป” ผู้อำนวยการสมาคมฯ กล่าว

 

เป็นพันธมิตรกับสตรีมมิง

การนำภาพยนตร์ไปฉายออนไลน์ผ่านทางระบบสตรีมมิงที่ตอนนี้มีผู้ให้บริการผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งในระดับโลกอย่าง Netflix, iflix, HBO GO, Apple TV ฯลฯ ระดับภูมิภาคอย่าง Viu, WeTV, iQIYI ฯลฯ หรือระดับประเทศอย่าง Line TV, MONOMAX ฯลฯ นั้น เป็นทางออกที่ค่ายหนังทุกแห่งกำลังพิจารณาอยู่

 

ทว่า ติดตรงสายสัมพันธ์ที่มีมายาวนาน และแนบแน่นกับโรงภาพยนตร์ ทำให้ค่ายหนังต่าง ๆ ไม่สามารถแหกกฎที่ยึดถือปฏิบัติกันมายาวนานได้ นั่นคือ กฎที่ระบุเอาไว้ว่าค่ายหนังต่าง ๆ จะสามารถนำภาพยนตร์ของตัวเองไปออกฉายในระบบออนไลน์ หรือทำ DVD ขายได้หลังจากที่หนังเรื่องนั้นออกจากโรงภาพยนตร์ไปแล้ว 90 วันเท่านั้น

 

ล่าสุดก็มีตัวอย่างให้เห็นกันแล้ว เมื่อเครือ AMC ซึ่งไม่เพียงเป็นผู้ประกอบการเครือโรงหนังที่ใหญ่สุดในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังเป็นรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วย ได้ประกาศศึกกับค่ายยูนิเวอร์แซลฐานที่นำภาพยนตร์เรื่อง Trolls: World Tour มาปล่อยให้เช่าดูกันทางออนไลน์ในราคา 20 ดอลลาร์ เพราะรอฉายในโรงภาพยนตร์หลังจากจบโควิด-19 แล้วไม่ไหว

 

โดยสิ่งที่ทำให้ทาง AMC ไม่พอใจเป็นอย่างมากคือท่าทีของนายเจฟฟ์ เชลล์ CEO ของยูนิเวอร์แซล ที่ออกมาพูดถึงความสำเร็จของการนำ Trolls: World Tour ออกฉายออนไลน์ว่า ฟันรายได้ไปถึง 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในเวลาเพียง 19 วัน แถมยังกล่าวเป็นนัย ๆ ว่าเรื่องนี้อาจจะนำไปสู่การผ่อนคลายกฎต้องออกจากโรงหนังครบ 90 วันลงก็เป็นได้

 

ด้วยเหตุนี้เอง ทาง AMC จึงได้ออกมาตอบโต้ด้วยการประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะไม่ฉายหนังของค่ายยูนิเวอร์แซลตามโรงภาพยนตร์ของตัวเองอีกต่อไป ถือเป็นการเปิดศึกระหว่างโรงหนังกับค่ายหนังอย่างเต็มรูปแบบ แต่ผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังไม่ฟันธงว่า การตอบโต้ของ AMC จะเป็นผลดีกับตัวเอง

 

นั่นเพราะในปัจจุบันโรงหนังก็แทบไม่มีรายได้จากการฉายหนังอยู่แล้ว (หมายเหตุ: รัฐบาลสหรัฐไม่ได้สั่งปิดโรงหนัง แต่เป็นนโยบายของผู้ประกอบการแต่ละแห่งเองว่าจะตัดสินใจเปิดให้บริการในช่วงนี้หรือไม่) แล้วถ้าขาดหนังฟอร์มยักษ์จากยูนิเวอร์แซลมาเข้าฉายอีก ก็ยิ่งจะทำให้จำนวนคนมาดูหนังในโรงภาพยนตร์ลดน้อยลงไปอีก

 

โดยภาพยนตร์จากค่ายยูนิเวอร์แซลที่กำลังจ่อคิวรอเข้าฉายเมื่อโรงหนังเปิดนั้นมีทั้งหนังการ์ตูนยอดฮิตอย่าง Minions 2 หนังเจมส์ บอนด์ภาคใหม่ No Time to Die รวมไปถึงแฟรนไชส์หนังไดโนเสาร์ที่เป็นตำนาน Jurassic World: Dominion ตลอดจนแฟรนไชส์หนังรถแข่งชื่อดังอย่าง Fast and Furious ภาค 9 หรือ F9

 

movie-theater-popcorn  

credit : MARK O'MEARA, variety.com

 

ขายอะไรได้...เป็นต้องขาย

สำหรับหนทางเอาตัวรอดของผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กอย่าง โรงหนังสแตนอะโลน หรือโรงหนังอาร์ตเฮาส์นั้น คือการหาอะไรที่พอจะขายได้ไปก่อน

 

อย่างโรงหนังในแถบคันไซของญี่ปุ่นนั้นได้หาทางออกด้วยการหันมาขายสินค้าที่เป็นสินค้าออริจินัลของโรงภาพยนตร์อย่าง เสื้อยืด เพื่อรอเวลาจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

 

โดยโรงหนังเล็ก ๆ 13 แห่งในเมืองโอซาก้า เกียวโต และโกเบได้ผนึกกำลังกันขายเสื้อยืดที่พิมพ์ข้อความว่า “เซฟโรงหนังท้องถิ่นของเรา” หรือ “Save our local cinemas” ซึ่งก็ปรากฎว่าสามารถขายได้ถึง 2,700 ตัวภายในวันเดียว ถือว่ามากกว่าที่ตั้งเป้าเอาไว้ถึง 9 เท่า

 

ขณะที่โรงภาพยนตร์แบบสแตนอะโลนในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็หันมาเปิดกิจการขายป๊อปคอร์นข้างถนน โดยนำเอาลานจอดรถที่ว่างเปล่าของโรงหนังมาตั้งตู้ขายป๊อปคอร์นเพื่อหารายได้

 

เจ้าของโรงหนังดิ้น 'ขายป๊อปคอร์นข้างถนน’

 

ถึงแม้ว่ารายได้จากการขายสินค้าเหล่านี้จะเล็กน้อย ไม่อาจเทียบกันได้เลยกับรายได้ที่เคยอู้ฟู่ในช่วงก่อนปิดโรงหนัง แต่แม้จะน้อยนิดก็ยังดีกว่าไม่มีรายได้ไปจุนเจือพนักงานที่ยังต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร และค่าน้ำค่าไฟกันอยู่นั่นเอง