นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร : ‘ทีมโควิด-19’ ไม่มีวันปิดความจริง

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร : ‘ทีมโควิด-19’ ไม่มีวันปิดความจริง

เปิดเบื้องหลังการทำงานของ 'ทีมโควิด-19' ทีมแรกของไทย ที่มี 'นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร' ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป เป็นผู้บัญชาการ กับความจริงที่ว่า การรับมือกับสถานการณ์การระบาดที่ผ่านมาไม่เคยมีการปกปิดความจริง!

 

เป็นเวลาเกือบ 4 เดือนแล้ว ณ ห้องขนาดไม่ใหญ่นัก บริเวณชั้น 3 อาคารกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ทีมงานกลุ่มหนึ่งเริ่มดำเนินการเป็น 'ทีมแรก' ของประเทศไทย ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน 'โรคปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ' ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 ภายใต้ชื่อ 'ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกรมควบคุมโรค'

ทีมนี้ขยับทำงาน หลังจากที่ประเทศจีนออกประกาศพบการระบาดของโรคนี้ในเมืองอู่ฮั่นเมื่อค่ำของวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ต่อมาจะถูกเรียกเป็น 'โรคโควิด-19' ที่ระบาดทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

แม้จะเป็น 'ทีมโควิด' ทีมแรกของไทยที่ขยับทำงาน แต่เมื่อสถานการณ์น่ากังวลมากขึ้น มีการยกระดับการขับเคลื่อนงานเป็นระดับ 'ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกระทรวงสาธารณสุข' และเป็น 'ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19' ในระดับประเทศ ทว่า ศูนย์ฯกรมคร. ที่มี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป เป็นผู้บัญชาการ ก็ยังเป็นทีมตั้งต้นของข้อมูลและมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา เพื่อเสนอขึ้นไปยังศูนย์ระดับชาติพิจารณาตัดสินใจเช่นเดิม

 

  • ศูนย์ฯมีการดำเนินงานอย่างไร

ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินของกรมควบคุมโรคตั้งขึ้นมาหลายปี ศูนย์นี้เป็นเหมือนการดึงคนจากหลายกองในกรมที่ปกติอาจจะไม่ได้ทำงานเรื่องของโรคติดต่ออุบัติใหม่มาทำงานด้วยกัน เหมือนตั้งกองใหม่ขึ้นมาหนึ่ง เรียกว่า 'กองโควิด-19' เพื่อทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ หน้าที่หลัก คือ 1.บริหารข้อมูลเพื่อใช้ในการจัดการที่ดี 2.บริหารทรัพยากรรวมถึงบุคลากร เมื่อขนาดปัญหามากขึ้น ก็ต้องระดมคนมากขึ้นหรืองบประมาณ สิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และ 3.บริหารจัดการผลกระทบ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด แต่สามารถแก้ปัญหาได้ดีที่สุด แบ่งเป็นโครงสร้างที่มีกลุ่มภารกิจตระหนักรู้สถานการณ์ กลุ่มภารกิจสอบสวนโรค กลุ่มภารกิจบริหารเวชภัณฑ์ และกลุ่มภารกิจรักษาพยาบาล เป็นต้น

ทีมงานมีการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยทุกกลุ่มภารกิจ มีกลไกการทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องอยู่ที่ศูนย์ ในช่วงแรกก็รับโทรศัพท์ตอนตี 1 ตี 2 เพราะมีเที่ยวบินจากจีนมาถึงในช่วงเวลานั้น ก็ต้องบริหารจัดการเมื่อพบผู้ป่วยต้องสงสัยจากการคัดกรองว่า จะต้องส่งเข้ารับการตรวจรักษาที่ไหน อย่างไร ช่วงแรกของการทำงานจะค่อนข้างยาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศแรกนอกประเทศจีนที่พบผู้ป่วย ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ยังไม่มีมากนัก

 

  • ช่วงแรกที่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ยังมีน้อย แล้วประเทศไทยมีการขับเคลื่อนอย่างไร

ระยะแรกการทำงานของศูนย์จะเป็นการติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศที่เป็นต้นตอของการระบาดเป็นหลัก และบริหารจัดการไม่ให้เกิดการระบาด อย่างเช่น ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะจากเมืองอู่ฮั่นเดินทางเข้ามามาก ช่วงนั้นสิ่งที่ทำคือ การตรวจคัดกรอง เพื่อให้เจอผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามา และเจอจริงๆ ในวันที่ 8 มกราคม 2563 และยืนยันผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ) ชัดเจนในวันที่ 13 มกราคม 2563 ซึ่งเมื่อเจอผู้ป่วย ก็ทำให้รู้จักตัวโรคดีขึ้น และเดือนมกราคม ทยอยมีผู้ป่วยเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศก็คือคนจีน คนไทยเที่ยวเมืองจีน จนเดือนกุมภาพันธ์จึงเริ่มมีคนไทยติดเชื้อในประเทศไทย

ช่วงแรกประเทศจีนมีการระบุว่า เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน คนคงไม่ค่อยมีป่วยมากนัก เพราะไม่ติดคนด้วยกัน แต่จริงๆ คือหลังจากนั้นผ่านไปราวกลางเดือนมกราคม เริ่มเห็นว่าผู้ป่วยไม่หยุด แสดงว่าการติดต่อระหว่างคนน่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะปกติถ้าติดจากสัตว์สู่คนน่าจะมีผู้ป่วยเกิดขึ้นรอบเดียวแล้วจบ ซึ่งประเทศไทยประเมินว่าติดคนสู่คนตั้งแต่ต้น จึงได้เริ่มคัดกรองคนจากจีนเข้าไปไทยหลังจีนรายงานโรคนี้เพียง 3 วัน ขณะที่จีนยังบอกว่าเป็นโรคสัตว์สู่คน

 

20200322153552865

 

  • เหตุผลสำคัญที่กรมฯตัดสินใจเปิดกลไกการทำงานของศูนย์ฯ ทั้งที่จีนรายงานพบผู้ป่วยเพียง 3 วัน ?

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้ความสนใจ กรมฯประเมินสถานการณ์เห็นว่า น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าการมีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุอยู่เพียงแค่ 27 รายในประเทศจีน เนื่องจากประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องโรคติดต่อ ซึ่งหากระบุว่าปอดอักเสบ แสดงว่าต้องเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ผู้บริหารกรมฯจึงให้นโยบายในการที่จะเปิดการทำงานของศูนย์ทันที และวันที่ 3 มกราคม 2563 ก็เริ่มคัดกรองคนเดินทางในเที่ยวบินจากจีนที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังประเมินวันที่ 2 มกราคม 2563 แล้วน่าจะเป็นเรื่องที่น่ากังวล และมีแนวโน้มปัญหาน่าจะต่อเนื่อง

จะพูดให้เข้าใจง่าย คือ ไทยมีสัญชาตญาณที่ดีว่า ปัญหาเรื่องนี้น่าจะเป็นปัญหาใหญ่มากกว่าจะเป็นปัญหาเล็กอย่างที่ประเทศต้นตอของโรคแถลง เพราะว่าประเทศจีนเคยมีประสบการณ์เป็นจุดตั้งต้นของโรคซาร์สมาก่อนเมื่อปี 2546

 

  • ศูนย์ฯมีการพิจารณาออกมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคอย่างไร

เป็นการปรับเปลี่ยนมาตรการโดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการทำงานเป็นสำคัญ ยกตัวอย่าง ช่วงแรกบอกว่า คนที่มาจากประเทศจีนมีความเสี่ยง ก็จะต้องเริ่มคัดกรองคนกลุ่มนี้ก่อน โดยใช้ข้อมูลที่มีจากจีนในเรื่องของอาการป่วยเป็นตัวนำ คือ คนที่มีไข้ 37.8 องศาเซลเซียส ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ แต่เมื่อเริ่มมีข้อมูลผู้ป่วยในประเทศ ก็จะพบว่ามีไข้สูงที่อุณหภูมิดังกล่าวจะเป็นเกณฑ์คัดกรองที่ช้าไป จึงปรับให้มีไข้ที่อุณหภูมิ 37.5 องศา แต่เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น ก็จะพบคนที่มีอาการแต่ไม่มีไข้ ก็ลดลงเหลือ 37.3 องศา เป็นต้น ระยะต่อมาเมื่อมีการรายงานพบผู้ป่วยในประเทศอื่นๆ ด้วย จึงขยายการคัดกรองไปยังคนที่เดินทางจากประเทศนั้นๆ ด้วย และมีการปรับเปลี่ยนมาตรการไปตามข้อมูลที่ทันสมัยตลอดเวลา

นอกจากนี้ มีการทำงานไปในอนาคตด้วย โดยการใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์สังเคราะห์นำมาคาดการสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และพิจารณาออกมาตรการใหม่ๆ ป้องกันรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ป่วยภายในประเทศไทย อาทิ คาดว่าจะมีคนจีนจากเมืองอื่นเข้ามาในไทย ไม่เฉพาะจากอู่ฮั่น ก็ส่งสัญญาณไปที่สายการบินให้คัดกรองผู้โดยสารจากเมืองอื่นๆ ที่ต้นทางด้วย หรือคาดว่าอีกสักระยะก็จะมีคนไทยป่วย โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวก็มีการขยายนิยาม เฝ้าระวังการตรวจไปยังคนไทยด้วย เพื่อให้สามารถตรวจเจอ และนำเข้าสู่การดูแลรักษาได้เร็ว เป็นต้น ซึ่งการพิจารณามาตรการต่างๆ ก็จะทำทั้ง 2 มิติแบบนี้

 

  • ถ้ามีมาตรการปิดประเทศตั้งแต่ต้น ก็จะไม่มีโรคนี้ระบาดในไทยหรือไม่

ตอนนี้สถานการณ์โรคนี้ในประเทศไทยก็ไม่ได้แย่ และอย่าลืมว่า ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้าเราใช้ข้อมูลและหลักวิชาการเป็นตัวนำในการตัดสินใจ ก็สามารถใช้มาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ จะทำให้ความเสียหายด้านอื่นที่จะเกิดขึ้นมีไม่มาก ซึ่งหากมีการออกมาตรการใดที่ทำมากเกินกว่าสถานการณ์จริง ก็เหมือนกับการลงทุนมากแต่ผลลัพธ์อาจจะไม่ต่างกับการลงทุนน้อย แต่ถ้ามีมาตรการที่ทำน้อยไป ก็จะทำให้สถานการณ์บานปลาย สิ่งที่ประเทศไทยเลือกทำคือ การทำมากเกินสถานการณ์ไป 1 ขั้น

พอถึงจุดหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้มาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ ก็สามารถดำเนินการได้ ถ้าถามความเห็นผม ถือว่าไทยไม่ได้ใช้มาตรการนี้ช้าไป และไม่มีประเทศไหนใช้มาตรการนี้ทันทีที่ประเทศจีนประกาศว่ามีโรคปอดอักเสบจากไวรัส อาจจะมีก็ไต้หวันที่ติดกับจีนมาก ส่วนอเมริกาก็เพิ่งสั่งห้ามคนจีนเข้าประเทศเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งทุกประเทศต่างก็ต้องประเมินความเสี่ยงแล้วออกแบบมาตรการที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของประเทศตัวเอง

 

  • ประเทศไทยมีผู้ป่วยน้อยเพราะมีการปิดข้อมูลที่แท้จริง

อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ในระดับนานาชาติ เฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศไทยอยู่ที่ราว 1.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็จะเห็นภาพในต่างประเทศเมื่อผู้ป่วยมากขึ้นก็จะมีคนเสียชีวิตมาก ดังนั้น หากประเทศไทยมีผู้ป่วยมากและมีการปิดข้อมูลผู้ป่วย แต่เมื่อมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นก็ปิดไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเมื่อมีคนป่วยอาการหนักมาก ต้องอยู่ห้องไอซียู แล้วผู้ป่วยมากจริงๆ คนป่วยก็ต้องล้นห้องไอซียูเหมือนต่างประเทศ แต่ทุกวันนี้ก็เห็นตัวเลขผู้ป่วยเสียชีวิตในไทยวันละ 1-2 ราย ซึ่งโรคที่มีผลลัพธ์ร้ายแรงสุดเป็นการเสียชีวิตนั้น ไม่มีประเทศไหนสามารถที่จะปิดบังข้อมูลได้แน่นอน

ประเทศไทยเองก็ไม่มีความตั้งใจใดๆ เลยที่จะปิดบังข้อมูล มีแต่จะเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด เพราะว่าหลักการระบาดวิทยานั้น การที่ประชาชนรู้และเข้าใจสถานการณ์ก็จะร่วมมือได้ดีกว่าที่ไม่รู้อะไรเลย

 

20190330130133444

 

  • เป้าหมายของการทำงานเรื่องโควิด-19 เป็นอย่างไร

เป้าหมายสำคัญของการดำเนินงาน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ คนไทยจะได้ปลอดภัย เพราะถ้าประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยน้อย โอกาสที่จะมีคนเสียชีวิตก็จะยิ่งน้อยไปด้วยจากการที่สถานพยาบาลต่างๆ มีศักยภาพดูแลรักษาผู้ป่วยได้เต็มที่ และถ้าต้องปกป้องกลุ่มที่มีโอกาสเสียชีวิตได้หากติดเชื้อ อย่างเช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคเรื้อรัง ก็ควรจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลปกป้องอย่างดีที่สุด เพื่อจะได้ไม่ป่วย

ในการเกิดโรคระบาดแต่ละครั้ง เป็นไปได้ยากที่จะไม่มีคนป่วยเกิดขึ้น และธรรมชาติของโรคนี้เป็นโรคทางเดินหายใจ ไม่สามารถห้ามคนหายใจได้ แต่มีการสร้างกลไก วิธีต่างๆ ที่ทำให้เกิดการป่วยน้อยลงได้ แต่จะให้กําจัดโรคหมดไปเลย มันยากมาก แม้ว่าจะมีวัคซีน ก็ยังไม่สามารถป้องกันไม่ให้คนป่วยได้ทุกคน ก็ยังมีคนป่วยได้ เพราะว่าไม่มีอะไร 100 เปอร์เซ็นต์

 

  • นักระบาดวิทยามักพูดว่า เมื่อเกิดโรคระบาดคนต้องตระหนักมากกว่าตระหนก ? 

ใช่ครับ เพราะจะส่งผลที่แตกต่างกัน คน 'ตระหนัก' ก็จะทำให้คนคิดว่า จะต้องทำอย่างไร จะช่วยกันอย่างไรให้โรคมันสงบ หากรู้จักวิธีการป้องกันการแพร่และรับเชื้อ ไม่ได้ช่วยเฉพาะตัวเราแต่เป็นการช่วยคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือสังคมให้ปลอดภัยด้วย เช่น รู้ว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยง เพิ่งกลับจากต่างประเทศก็ยินยอมกักตัวเอง 14 วันก่อน เป็นต้น หากประชาชนเข้าใจอย่างถ่องแท้ คิดแล้วลงมือทำ จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว เพราะความรู้ในการป้องกันควบคุมโรค เป็นความเข้าใจและกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง

แต่ถ้าตระหนกก็จะเกิดความกลัว ในบางครั้งจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่างที่อาจจะไม่เป็นเหตุเป็นผล เช่น มีผู้ป่วยโควิดหายจากโรค แล้วกลับไปอยู่บ้าน แต่คนในชุมชน ก็ไม่ยอมให้เขากลับไปอยู่บ้าน ซึ่งการตระหนกตกใจกลัว ทำให้ขาดโอกาสที่จะรับรู้ สร้างความรู้ความเข้าใจและไม่เกิดผลดีในระยะยาว เพราะเมื่อคนหายตกใจกลัว ก็จะกลับไปมีพฤติกรรมที่เสี่ยงเหมือนเดิม ก็ไม่ได้ช่วยเหลือในการป้องกันควบคุมโรค

 

  • ในฐานะทีมทำงานหลักเรื่องโควิดจะฝากอะไรถึงคนไทย

ต้องมีสติในการที่จะติดตามข้อมูลข่าวสาร คิดวิเคราะห์ และเชื่อมั่นว่า ทุกอย่างจะมีทางออกที่เหมาะสม หากคนไทยร่วมมือกัน เหมือนช่วงเดือนที่ผ่านมา ก็สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ภายในประเทศไทยดีขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกคน และประสบความสำเร็จด้วยกัน หากเกิดการระบาดขึ้นในระลอก 2 หรือ 3 เมื่อผ่านระลอกแรกมาได้แล้ว ก็น่าจะรับมือกับระลอกต่อไปได้ดีขึ้น โดยใช้สติและปัญญาในการแก้ไขสถานการณ์ ก็น่าจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้

ช่วยกันคิด ช่วยกันวางแผน ช่วยกันร่วมมือกัน ก็จะมีโอกาสบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อเกิดโรคระบาดยังไงก็ต้องมีความเสียหาย แต่จะต้องทำให้เสียหายน้อยที่สุด