ฝั่งมูลที่ตะนะ

ทำความรู้จัก 'แก่งตะนะ' ขุมทรัพย์แห่งแม่น้ำมูล ทุกร่องรอยกุมภลักษณ์ที่ธรรมชาติสรรสร้างคือความงามที่สร้างสรรค์

เวลาที่คนอีสานบอกว่าเป็นลูกแม่น้ำโขง สังเกตดูก็จะเป็นจังหวัดที่ติดแม่น้ำโขงทั้งหลาย แต่ถ้าบอกว่าลูกแม่น้ำชี นี่ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ชัยภูมิ โคราช ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ จนถึงอุบลฯในช่วงที่ไปบรรจบกับแม่น้ำมูล แม่น้ำชีจะมีรัศมีเกิดจากขอบแอ่งที่ราบสูงด้านตะวันตกสุดที่ต่อกับภาคกลางหรือภาคเหนือตอนล่าง แล้วน้ำจะไหลลงกลางภาคอีสานไปตามแอ่งที่ราบสูง ซึ่งภูมิประเทศโดยรวม ก็จะไหลลงไปทางอีสานล่าง

ส่วนอีกแม่น้ำหนึ่งที่ก่อเกิดมาจากป่าทางภาคตะวันออกถ้าจะนับเริ่มก็ที่เขื่อนมูลบน ในเขตเสิงสาง ครบุรี ของนครราชสีมา แต่จริงๆ แล้ว น้ำที่ไหลลงเขื่อนมูลบน ก็มาจากป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานนั่นเอง แต่เป็นส่วนของพื้นที่ป่าที่อยู่บนแผ่นดินที่ราบสูงที่ถูกยกตัวขึ้นเช่นเดียวกัน แล้วจึงเอียงลาดลงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ น้ำจึงไหลไปในทิศทางนั้น โดยคลุมพื้นที่ทางอีสานล่างเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่โคราช ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ดบางอำเภอ แล้วไปลงโขงที่อุบลฯ คนในย่านนี้จึงถือเป็น ลูกแม่มูล ทั้งหมด

สองฝั่งมูลในยามที่น้ำพอดีๆ ไม่มากไม่น้อยนั้นสวยงาม มีมนต์เสน่ห์และชวนหลงใหล สุดสายปลายทางของแม่น้ำมูล ช่วงที่ผ่าน แก่งตะนะ เป็นช่วงของแม่น้ำนี้ที่ผมชื่นชอบที่สุด

6.วิถีชีวิตง่ายๆริมโขงที่ตะนะ

แม่น้ำมูล เดินทางจากต้นกำเนิดที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ในเขตครบุรี มาจนบรรจบโขงที่โขงเจียม กลายเป็นแม่น้ำสองสี ‘โขงสีปู-มูลสีคราม’ เป็นระยะทาง 640 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงผู้คนสองฝั่ง ให้หาอยู่หากินดำเนินชีวิตไปตามอัตถภาพมีความสุขง่ายๆ ที่ไม่ต้องดิ้นรนมาก ยิ่งช่วงปลายที่แม่น้ำมูลไหลผ่านแก่งหินขนาดใหญ่ กลายเป็นแก่งน้ำใหญ่ ที่เรียกกันมาว่าแก่งมรณะ จนเพี้ยนมาเป็นตะนะนั้น ราวกับว่า สายน้ำมูลกำลังส่งเสียงบอกเล่าเรื่องราวของตนเองสู่ผู้ใครรู้

แก่งตะนะ ใน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ก็คือพื้นหินทราย ซึ่งเป็นหินที่เกิดมาจากการสะสมทับถมกันบนพื้นโลก เม็ดทรายเป็นมวลหลักทับถมกันนานเข้าๆ กลายเป็นหินที่ซ้อนทับๆกันเป็นชั้นๆ ในยามที่เปลือกโลกมีการขยับ ก็เกิดเป็นรอยแตก จากนั้นน้ำก็จะทำหน้าที่กัดกร่อน ขยายขนาดและปรับเปลี่ยนรูปทรงออกไปเรื่อย สายน้ำที่ไหลมานานชั่วนาตาปี ก็กัดเซาะพื้นดินลงไปจนถึงพื้นน้ำที่เป็นหิน แล้วก็ยังคงไหลเรื่อยกัดกร่อนหินจนเป็นหลุม เป็นรู เป็นเวิ้ง เป็นเพิงขนาดใหญ่น้อย ตลอดการเดินทางของสายน้ำ กลายเป็น กุมภลักษณ์ นับร้อยๆ ปรากฏอยู่บนลานหินริมน้ำมูล โดยเฉพาะช่วงแก่งตะนะ ถือเป็นย่านที่มีกุมภลักษณ์มากที่สุด

4. กุมภลักษณ์ริมมูล ใกล้เขื่อนปากมูล

5_แก่งตะนะหน้าแล้ง

กุมภลักษณ์เหล่านี้ จะปรากฏชัดเมื่อเข้าหน้าแล้ง ที่สายน้ำมูลไหลลงไปรวมกันในร่องน้ำที่ลึกที่สุด แล้วปล่อยให้ลานหินริมตลิ่งโชว์ร่องรูนับพันปรากฏโฉม แต่ในช่วงฤดฝนที่น้ำมูลมีมาก ก็ท่วมกุมภลักษณ์เหล่านี้เช่นกัน ในช่วงฤดูแล้ง แม้บรรยากาศโดยทั่วไปของภาคอีสานจะดูแห้งแล้ง อากาศร้อน แต่ริมฝั่งมูลช่วงแก่งตะนะ กลับปรากฏความชุ่มฉ่ำ จากสายน้ำสีเขียวครามที่ไหลผ่านแก่งหิน เรือชาวประมงออกวางข่ายลงมอง จับปลาในแม่น้ำมูล นี่คือเอกลักษณ์อันโดดเด่นของอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อุทยานฯ ลำดับที่ 33 ของไทย ซึ่งถือเป็นอุทยานแห่งชาติในยุคแรกๆ แห่งหนึ่งของบ้านเราทีเดียว

เวลาใครเอ่ยถึงอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ก็ต้องนึกถึงแก่งตะนะ เพราะเป็นเอกลักษณ์เด่นของพื้นที่ แต่อุทยานฯแห่งนี้ เขาไม่ได้มีอยู่แค่นี้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน พื้นที่ที่เป็นลานหินทรายเสียส่วนใหญ่ในอุทยานฯแห่งนี้จะชุ่มฉ่ำเขียวขจี มองไปทางใดก็เห็นแต่ความชุ่มฉ่ำและมวลดอกไม้ที่ออกดอกกันสะพรั่งแม้ไม่เต็มพื้นที่ แต่ก็นับว่าหนาตา

คนที่ชอบกางเต็นท์ ไม่ชอบความวุ่นวาย กางเต็นท์สบายๆ เย็นๆ ใต้ร่มไม้ เย็นย่ำออกมานั่งเล่นบนหน้าผาริมน้ำมูลฟังเสียงน้ำไหลกระแทกโขดหิน ยิ่งคืนไหนเดือนเพ็ญด้วยนะคุณเอ๊ย...สรรค์ริมน้ำเลย บรรยากาศโรแมนติกสุดๆ แล้วอะไรที่ชาวกางเต็นท์ต้องการ ที่นี่ก็มีหมด ห้องน้ำ อาบน้ำ ไฟฟ้า สัญญานโทรศัพท์ ร้านอาหาร หรือจะขับรถออกมาจับจ่ายที่อำเภอโขงเจียม ก็ออกมาไม่กี่กิโลเมตร ที่นี่จึงนับเป็นอีกที่หนึ่งที่น่ามากางเต็นท์อย่างมาก

1_ผารากไทร

แล้วไม่ใช่เขามีที่เที่ยวแค่นี้ ถ้าเอาจักรยานติดรถไป ก็ปั่นไปตามทางที่เริ่มต้นในที่ทำการอุทยานฯ ออกไปยังน้ำตก ผารากไทร - ถ้ำพระ ซึ่งเป็นเพิงผาหินทรายขนาดใหญ่ ที่มีสายน้ำไหลลงมาจากด้านบนซึมซับไหลย้อยลงหน้าผา ชุ่มฉ่ำจนพืชน้ำหลายชนิดมาอาศัยรากไทรเติบใหญ่ผลิใบดอก แลดูเขียว สดเพลินตา

แต่ถ้าปั่นเลยผารากไทรไปอีกไม่ไกล ก็จะออกสู่ลานหินโล่งของ ผาผึ้ง ที่มองเห็นทิวทัศน์และป่าใหญ่ รวมทั้งชุมชนที่อยู่นอกแนวเขต ในช่วงราวเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ลานหินบนผาผึ้ง ก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นทุ่งดอกไม้ดินที่ออกดอกกันบานสะพรั่ง เฉกเช่นอุทยานฯทางภาคอีสานที่ดอกไม้ดินมักเบ่งบานในฤดูฝน

จากที่ทำการอุทยานฯ มาผารากไทร หรือผาผึ้งนี่ ระยะทางไม่ไกล ราว 5-6 กม. ไม่ปั่นจักรยาน จะเดินเล่นก็ได้ เส้นทางร่มเงาต้นไม้ตลอดทาง หรือถ้าเป็นรถ 4WD ก็ยิ่งไปง่าย

2. ผาผึ้ง

3.น้ำตกตาดโตน

แล้วที่เที่ยวใกล้เคียงกับที่แก่งตะนะมีมาก ระยะทางไม่ไกล ไม่ว่าจะเป็น น้ำตกตาดโดน ของอุทยานฯแก่งตะนะ ที่คนมักมาเล่นน้ำกัน หรือจะเลยไปวัดภูพร้าว วัดเรืองแสงที่ว่าสวยนักสวยหนา ก็อยู่ไม่ไกลกัน หรือเลยไปชายหาดของเขื่อนสิรินธร ก็ได้ จะมาที่น้ำตกเหวสินธุ์ไชย นี่ยิ่งใกล้อุทยานฯเข้าไปใหญ่ วัดคูหาสวรรค์ของหลวงปู่คำนิง จุดชมวิวโขงเจียมที่สวยที่สุด หรือจะเลยไปอุทยานฯผาแต้ม ก็ไม่ได้ห่างกันเลย ที่สำคัญ ถนนหนทางย่านนี้สภาพทางดีมาก เหมาะกับการขับรถเที่ยว ชมทิวทัศน์สองข้างทาง

เขียนถึงแก่งตะนะ ถึงแม่น้ำมูล ก็พาลนึกถึงเสียงพิณ เสียงแคนลอยล่องมาตามสายลม รอให้ไวรัสโควิด-19 ผ่านไป ก็คงเข้าฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูที่แก่งตะนะและอีสานเข้าสู่ช่วงสวย หวังว่าคงมีคนไปกางเต็นท์นอนเล่นริมมูลให้สำราญกันบ้าง หลังจากยอมอยู่บ้านช่วยกันกำจัดเชื้อไวรัสมานาน

ถึงตอนที่ไวรัสหมดไป เราออกเที่ยวกันเถอะ เที่ยวให้สมอยาก แก่งตะนะคือจุดหมาย...