'ข้าวแลกปลา' เศรษฐกิจวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มชาติพันธุ์ 

'ข้าวแลกปลา' เศรษฐกิจวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มชาติพันธุ์ 

ตัวอย่างความพยายามในการสร้างรูปแบบการพึ่งพาตนเองโดยอาศัยทุนทางวัฒนธรรมในการแก้ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม

 

  • ก่อนฤดูมรสุม

กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลหลายชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน เร่งออกเรือทั้งเช้าค่ำเพื่อระดมมาปลามาทำปลาแห้งให้เพียงพอสำหรับการแลกเปลี่ยนกับข้าวจากไร่หมุนเวียนของพี่น้องชาวปกาเกอะญอในภาคเหนือ ที่กำลังต่อสู้กับฝุ่นควันและไฟป่า รวมทั้งพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งจากภาคเหนือและภาคอีสานที่กำลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID 19  เป็นภาพความพยายามของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสถานการณ์วิกฤตบนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม

การประกาศใช้มาตรการปิดจังหวัดและห้ามเดินทางเข้าออกพื้นที่ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID 19 ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันที่พึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต การประกาศมาตรการปิดจังหวัด ทำให้ธุรกิจที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักโรงแรมหลายแห่งต้องปิดตัวลง พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่เคยมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานโรงแรม ลูกจ้าง และแรงงานรับจ้างทั่วไป ต่างไม่มีงานทำ และแม้ชาวเลจะยังคงออกเรือหาปลาได้แต่ก็ขายไม่ได้ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลขาดรายได้ที่จะใช้จ่ายในยามวิกฤต

ด้วยทักษะภูมิปัญญาชาวเลที่รู้จักการแปรรูปถนอมอาหารจากวัตถุดิบทีหามาได้ การตากแห้งปลาจึงเป็นวิธีที่รวดเร็ว ทำได้ในปริมาณมากมีรสชาติที่อร่อย แต่การมีเพียงปลาแห้งแต่ขาดข้าวก็ไม่มีความหมาย ความร้อนใจนี้จึงส่งไปถึงพี่น้องเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือ พวกเขามีข้าวสารที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตทั้งปี แต่การที่ต้องออกมาต่อสู้และการป้องกันไฟป่าตลอดทั้งวันเป็นระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้พี่น้องปกาเกอะญอในภาคเหนือไม่มีเวลาหาอาหารที่เพียงพอ

 

1

 

  • อร่อยสุดคือข้าว งามสุดคือน้ำใจคน

ขณะที่พี่น้องปกาเกอะญอ ยังคงง่วนอยู่กับแนวหน้าท้าสู้กับไฟป่าที่ยังคงลุกไหม้เป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ส่งผลให้ท้องฟ้าทางภาคเหนือถูกคลุมไปด้วยม่านควัน กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือนอกจากต้องเผชิญกับฝุ่นควันและไฟป่าแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID 19 ส่งผลให้ชุมชนชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ต้องออกมาตรการปิดชุมชนเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อเข้าสู่ชุมชน

การปิดชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เพราะผืนป่ายังคงอุดมสมบูรณ์ จากวิถีภูมิปัญญาในการจัดการป่าที่ให้ความสำคัญต่อการเคารพพื้นที่จิตวิญญาณและการทำเกษตรแบบหมุนเวียน หรือการทำไร่หมุนเวียนของของปกาเกอะญอ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวปกาเกอะญอยังมีผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ มีข้าว และผลผลิตต่าง ๆ จากไร่หมุนเวียนเพียงพอต่อการดำรงชีวิตได้ตลอดทั้งปี

หากแต่การเผชิญกับไฟป่าและฝุ่นควันเป็นเหตุให้ชาวปกาเกอะญอต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก หลายครอบครัวต้องผลัดกันอยู่เฝ้าป่าเพื่อระวังมิให้เชื้อที่มอดไปกลับลุกติดขึ้นมา ความทุกข์ร้อนใจของชาวเลส่งมาถึงพี่น้องปกาเกอะญอ จากสายสัมพันธ์ที่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสองกลุ่มมีร่วมกันในการขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2553 เมื่อพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก การแบ่งปันและการมองหาน้ำใจจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้รอดพ้นจากสภาวะนี้ 

 

2

 

  • ข้าวแลกปลา - ปลาแลกข้าว จุดเริ่มต้นของการวางแผนรับมือระยะยาว

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ มูลนิธิชุมชนไท และองค์กรภาคีเครือข่าย ได้ประสานความร่วมมือกันเปิดพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้สำรวจทุนวัฒนธรรมในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้ใช้ศักยภาพและภูมิปัญญา จึงเป็นที่มาของโครงการแลกเปลี่ยนข้าวกับปลา และอาหารต่างๆ 

การลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันของชุมชนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ สะท้อนวิธีการรับมือ และแก้ไขปัญหาโดยอาศัยภูมิปัญญาและความร่วมมือจากกลุ่มต่างๆ  ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐ เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง

“ข้าวแลกปลา” จึงเป็นรูปธรรมของความพยายามในการสร้างรูปแบบการพึ่งพาตนเองโดยอาศัยทุนทางวัฒนธรรมในการแก้ปัญหา โดยพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐให้น้อยที่สุด การกระจายอำนาจจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน

การที่รัฐเป็นผู้สนับสนุนการใช้ทรัพยากร และชุมชนมีส่วนร่วมในการใช้และมีข้อเสนอต่อกาจัดการทรัพยากร รู้จักสำรวจทุนชุมชน เพื่อให้เกิดการทบทวนการแก้ปัญหาและวิธีการรับมือต่อสถานการณ์วิกฤตโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วม ถือเป็นรูปธรรมต้นแบบของการจัดการสถานการณ์วิกฤตที่พัฒนาขึ้นจากฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างมั่งคงและยั่งยืน