เจ้าของโรงหนังดิ้น 'ขายป๊อปคอร์นข้างถนน’ หาทางรอดช่วงวิกฤติ 'COVID-19'

เจ้าของโรงหนังดิ้น 'ขายป๊อปคอร์นข้างถนน’ หาทางรอดช่วงวิกฤติ 'COVID-19'

เจ้าของโรงหนังในรัฐเวอร์จิเนียหาทางช่วยพนักงานที่ขาดรายได้ด้วยการขายป๊อปคอร์นโรงหนังในช่วงที่ต้องหยุดให้บริการเพราะการระบาดของ ‘ไวรัสโคโรน่า’

มาร์ค โอมีรา เจ้าของโรงภาพยนตร์วัย 67 ปี เจอมรสุมในการทำธุรกิจมาแล้วแทบจะทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพายุหิมะ พายุเฮอริเคน ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถึงแม้หิมะจะตกหนาถึง 3 ฟุต เขาก็ยังสามารถบริหารจัดการให้โรงภาพยนตร์ 2 แห่งของเขาในเมืองแฟร์แฟกซ์ รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังเปิดให้บริการอยู่ได้

ทว่า วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 กลับทำให้โรงหนังของเขาที่ชื่อว่า University Mall กับ Cinema Arts ต้องหยุดให้บริการเป็นครั้งแรกในรอบ 29 ปี

มันน่ากลัวมาก ตลอดชีวิตของผม ผมเจอโศกนาฏกรรมมาแล้วทุกรูปแบบ แต่ผมไม่เคยมีปัญหาอย่างนอนไม่หลับ หรือพลาดอาหารซักมื้อนึงเลย แต่เรื่องนี้ (การระบาดของไวรัสโคโรน่า) กลับรบกวนจิตใจจนผมต้องตื่นขึ้นมากลางดึก ซึ่งสำหรับคนอายุ 67 ปีแล้วคุณควรจะนอนหลับ แต่ผมกลับหลับไม่ลง” โอมีรา ให้สัมภาษณ์ variety.com เอาไว้

โอมีรา ไม่ได้เครียดเรื่องที่ต้องปิดโรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์ 2 แห่งของตัวเองเท่านั้น แต่เขายังไม่สบายใจที่พนักงานของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่อายุไม่ถึง 30 ปี ต้องขาดรายได้อันเป็นผลมาจากที่โรงหนังทั่วสหรัฐฯ ต้องปิดตัวลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ทำให้พนักงานราว 150,000 คน ทั่วประเทศ ต้องถูกพักงาน หรือบางคนก็ต้องตกงานไปเลย

ในเมื่อขายตั๋วหนังไม่ได้ โอมีรา ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากร้าน McDonald’s ใกล้ ๆ ที่หันมาให้บริการเดลิเวอรี่แทนนั่งกินที่ร้าน จึงได้เปิดธุรกิจ ‘ขายป๊อปคอร์นข้างถนน’ ขึ้นมา โดยเอาพื้นที่ลานจอดรถที่ว่างโล่งมาใช้งาน ส่วนราคาขายกำหนดไว้ที่ข้าวโพดคั่วถังยักษ์ราคา 3 ดอลลาร์

ผมจะทำทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อให้เด็ก ๆ พวกนี้มีรายได้” โอมีรากล่าว

 

movie-theater-popcorn

credit : MARK O'MEARA, variety.com

 

ในวันแรกที่เปิดธุรกิจ โอมีราขายป๊อปคอร์นไปได้ 25 เหรียญ ในเวลา 45 นาที แต่ปัจจุบันเขาขายได้ตกวันละ 300-400 ดอลลาร์ หรือประมาณ 9,000-13,000 บาท

สำหรับการประชาสัมพันธ์นั้น โอมีราใช้เฟซบุคของโรงภาพยนตร์ 2 แห่ง เป็นช่องทางในการโฆษณาขายป๊อปคอร์นให้กับคนในชุมชนได้รับรู้

ทุกคนอยู่บ้าน ไม่มีอะไรทำกันนอกจากเล่นเฟซบุค เราจึงได้รับยอดไลค์ แล้วก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเยอะมาก พวกเขาช่วยกันบอกต่อคนอื่น ๆ ข่าวมันเลยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว”

ถึงแม้ว่ารายได้จากการขายป๊อปคอร์นข้างถนนจะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่อย่างน้อย โอมีราก็ได้เห็นผลที่มันมีต่อพนักงานของเขา

พอบางคนได้เงินไป ผมเห็นเธอหยิบเครื่องคิดเลขมากดแล้วพูดว่า ‘เย้...พอจ่ายค่าเช่าพอดีเลย’ นั่นแหละคือทั้งหมดที่ผมต้องการ” โอมีรากล่าว

ทว่า ไม่ใช่แค่พนักงานของโอมีราเท่านั้นที่กังวลเรื่องหาเงินไปจ่ายเรื่องต่าง ๆ แม้แต่เจ้าของโรงหนังอย่างโอมีราเองก็ไม่ต่างกัน เขาบอกว่าไม่มีเงินเก็บในธนาคารเลยต้องมานั่งคิดเช่นกันว่าจะสามารถจ่ายค่าอะไรได้บ้าง

 

โรงหนัง...ไม่ใช่แค่ที่ฉายหนัง

ทั้งนี้ ธุรกิจโรงหนังต่างได้รับผลกระทบกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังแบบสแตนอะโลน หรือโรงหนังแบบที่เป็นเครือยักษ์ใหญ่อย่าง AMC, Regal, Cinemark แต่โอมีรามองว่าโรงหนังแบบของเขา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของชุมชม จะมีข้อได้เปรียบกว่า

พวกคนตัวเล็กตัวน้อยแบบเรา จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากกว่า ถึงแม้เครือโรงหนังขนาดใหญ่จะมีลูกค้ามากกว่า แต่ผมรู้จักคนดูของผมดีกว่า”

คำพูดของโอมีรามีข้อพิสูจน์ให้เห็นเมื่อเขาส่งจดหมายแจ้งไปยังผู้มีอุปการะคุณว่าโรงหนังของเขาจะต้องปิดให้บริการอย่างไม่มีกำหนด ก็มีหลายคนที่ส่งอีเมลกลับมาถามว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง

ผมถึงกับน้ำตาคลอตอนที่อ่านจดหมายพวกนั้น พวกลูกค้าเขียนมาว่า คุณไม่เข้าใจหรอกว่าที่แห่งนี้มีความหมายกับผมแค่ไหน” โอมีรากล่าว

ในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาดแต่ยังไม่ถึงขั้นรุนแรงจนทางการสหรัฐฯ สั่งปิดโรงภาพยนตร์ มีค่ายหนังหลายแห่งได้ถอนหนังฟอร์มยักษ์ออกจากโปรแกรมฉายในโรงเพื่อที่จะเก็บไว้ฉายภายหลังจากที่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปรกติ โดยมีเพียง 2 เรื่องเท่านั้น คือ Trolls World Tour จากค่ายยูนิเวอร์แซล และ The Lovebirds จากค่ายพาราเมาท์ ที่ตัดสินใจนำหนังไปปล่อยให้ดูทางออนไลน์แทนที่จะรอฉายในโรง

trolls_two_ver35_xlg

การกระทำของยูนิเวอร์แซล และพาราเมาท์ ทำให้มีคนเริ่มมองกันว่า หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจภาพยนตร์อาจเปลี่ยนไป จากก่อนหน้านี้ที่ต้องรอให้หนังฉายในโรงครบ 90 วันแล้วถึงจะนำไปฉายทางออนไลน์ได้ อาจจะเปลี่ยนไปเป็นนำออกฉายทางออนไลน์พร้อมกับในโรงภาพยนตร์เลยก็ได้

ทว่า โอมีรากลับไม่คิดเช่นนั้น

ผมว่าแป๊ปเดียวพวกเขาก็จะคิดได้ว่าการนำหนังลงออนไลน์ไม่ได้ทำเงินมากขนาดนั้น พวกเขาต้องการโรงภาพยนตร์ไว้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์แบบ ‘ปากต่อปาก’ ผมคิดอยู่เสมอว่าโรงภาพยนตร์เป็นเครื่องมือโฆษณาที่ดีที่สุดแล้ว”

 

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบทความของ variety.com