The Rare Delight of You เสียงประสานของคนเพลงต่างวัย

The Rare Delight of You เสียงประสานของคนเพลงต่างวัย

จอห์น พิซซาเรลลิ นักกีตาร์แจ๊สหนุ่ม รูปหล่อ ฝีมือจัดจ้าน ร่วมงานกับนักเปียโนระดับตำนาน จอร์จ เชียริง จนกลายมาเป็นอัลบั้มที่ควรค่าแก่การหามาฟัง

จอห์น พิซซาเรลลิ (John Pizzarelli) เป็นลูกชายประเภท "ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น" ของนักกีตาร์อาวุโส บัคกี พิซซาเรลลิ (Bucky Pizzarelli)

เขาไม่ได้เป็นเพียงนักกีตาร์แจ๊สเท่านั้น หากแนวโน้มจากการทำงานตลอดช่วงที่ผ่านมา พอจะทำให้เราอนุมานได้ว่า จอห์น พิซซาเรลลิ วางตัวเองเป็นนักร้องหน้าหล่อ-เสียงดี และก้าวสู่ความเป็น “เอนเทอร์เทเนอร์” อย่างเต็มตัว

ในความเป็นจริง ฝีมือกีตาร์ของเขาอยู่ในขั้นพอสอบผ่าน แต่สิ่งมาแทนที่คุณสมบัติที่ขาดหายไป คือ ความสามารถในการจับทางรสนิยมดนตรีของคนฟัง ซึ่งต้องยอมรับว่า “แม่นยำ” ทีเดียว

เพราะไม่ว่าเขาจะครวญเพลงบัลลาด หรือร้องเพลงในรูปแบบสวิงสนุกๆ ผู้ฟังต่างรู้สึกยินดีที่ได้ฟังได้ชมเสียงร้องของเขาโดยทั่วหน้า

บารมีตรงนี้ ดูเหมือน จอห์น พิซซาเรลลิ พยายามสร้างสมให้ได้เหมือนอย่างที่ แนท โคล หรือ แฟรงค์ สินาตรา เคยทำมาแล้วในอดีต

"ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนในชีวิตของผม มาจากการฟัง แนท โคล ทริโอ" นักกีตาร์คนนี้เคยให้สัมภาษณ์เช่นนั้น

"การฟัง แนท ทำให้ค้นพบว่าทุกอย่างที่พวกเขาเล่นออกมานั้น คือสิ่งที่ผมรักและต้องการ พวกเขาเล่นกันอย่างสวิง มีความสุข และเล่นเพลงพวกนั้นในทุกๆ รูปแบบ และเป็นไปเองโดยธรรมชาติ"

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของเรื่องนี้ คือการนำเพลงของ เดอะ บีเทิลส์ มาบรรเลงใหม่ ในอัลบั้ม John Pizzarelli Meets The Beatles

จอห์น จับความคิดของคนฟังได้ตั้งแต่ต้นว่า การทำอัลบั้มนี้ มีปัญหา 2 ประการรออยู่

อย่างแรก แฟนเพลงขนานแท้ของ เดอะ บีเทิลส์ บางส่วน ยากจะยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพราะคนกลุ่มนี้ปฏิบัติต่อเพลงของ เดอะ บีเทิลส์ ไม่ต่างจากเพลงศาสนาเท่าใดนัก ขณะที่แฟนเพลงอีกกลุ่มหนึ่ง คาดหวังว่าแนวคิดรวบยอดของอัลบั้มชุดนี้จะออกมาเป็นเช่นไร

น่าทึ่งตรงที่เขาสามารถผสานความต้องการของคนทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี

 

จอห์น เกิดเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค..1960 เริ่มเล่นกีตาร์เมื่ออายุ 6 ขวบ เขาติดตาม บัคกี พิซซาเรลลิ ไปยังสถานที่แสดงดนตรีต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ทำให้ได้รู้จักผลงานของศิลปินใหญ่ในวงการ อย่าง เออร์รอลล์ การ์เนอร์, เลส พอล และ จังโก ไรท์ฮาร์ดท พร้อมกันนั้น ก็ได้รับประสบการณ์จากดนตรีร็อคด้วยเช่นกัน

จนอายุ 20 จึงมีโอกาสได้ร้องเพลงและเล่นดนตรีร่วมกับคุณพ่อของเขา ก่อนจะออกมาหาประสบการณ์กับวงดนตรีของ โทนี มอนเต ในปี ค..1986 และรับจ้างเล่นดนตรีให้แก่สถานีวิทยุ WNEW ในนิวยอร์ก จนกระทั่ง ก้าวออกมาทำวงดนตรีของเขาในที่สุด

"สิ่งหนึ่งที่สำคัญเหนืออื่นใด ในการทำอัลบั้มสักชุด คือ การที่แฟนเพลงรู้สึกคุ้นเคยกับผลงานของผม... แฟนเพลงรุ่นหลังเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ พวกเธอไม่รู้จัก Avalon และ Our Love is Here To Stay มากไปกว่าเพลงของ เดอะ บีเทิลส์ ซึ่งถึงตอนนี้ คุณคงพอจะนึกถึงภาพรวมของดนตรีในชุดนี้ออกแล้วกระมังว่า มือกีตาร์กำลังคุยกับใคร"

บารมีของ จอห์น ยังมาจากการที่ศิลปินรุ่นพ่อจำนวนหนึ่ง มักนิยมแบ็คอัพการทำงานของเขา การที่ จอห์น มีโอกาสมากกว่านักดนตรีรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะเขาเคยเล่นดนตรีกับศิลปินรุ่นใหญ่เหล่านี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ซู้ท ซิมส์, คลาร์ก เทอร์รี, มิลท์ ฮินตัน, เดฟ แมคเคนนา เป็นต้น

ทว่า ประสบการณ์เหล่านี้ กลับไม่ทำให้เขาตื่นเต้นนัก ดังเมื่อใครถามเขาถึงโอกาสอันดีเช่นนั้น เขามักตอบกลับไปเสมอว่า เขาไม่สนใจหรอกว่า ใครจะมีตำแหน่งแห่งที่อย่างไรในประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊ส เขารู้แต่เพียงว่า บุคคลเหล่านั้นล้วนเป็นเพื่อนของพ่อทั้งสิ้น

ด้วยชั่วโมงบินระดับนี้ จอห์น พิซซาเรลลิ ยังไปได้อีกไกล

jp3

แล้ววันดีคืนดี นักร้องนักกีตาร์หนุ่มก็โคจรมาทำงานร่วมกับศิลปินระดับตำนานอีกคน เขาคือ จอร์จ เชียริง (George Shearing 1919-2011) นักเปียโนอาวุโสนัยน์ตาพิการมาแต่กำเนิด (วัย 83 ปี ณ ขณะนั้น) ในชุด The Rare Delight of You (ออกกับสังกัด Telarc 2002)

จอร์จ เชียริง ได้รับการยกย่องว่า มีแนวทางการเล่นเฉพาะตัว มีเอกลักษณ์ที่น่าศึกษามากที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคนิคการโซโลแบบ “บล็อกคอร์ด” โดยเพิ่มเสียงต่ำในระดับออคเทฟลงไป ดังที่เรียกกันว่า “ล็อคแฮนด์”

นอกจากนี้ จอร์จ เชียริง ยังมีฝีมือในการประพันธ์ดนตรีและเรียบเรียงเสียงประสาน เขายังเป็นผู้ประพันธ์เพลง Lullaby of Birdland อันลือลั่นอีกด้วย

จอร์จ มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1940s เริ่มจากการย้ายจากเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษบ้านเกิด มาปักหลักเล่นดนตรีที่นิวยอร์กในปี ค..1947 โดยได้รับอิทธิพลดนตรีบ็อพจากนักเปียโนชื่อ บัด พาวล์ (Bud Powell) ผู้ผสานสำเนียงของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ให้ปรากฏผ่านเปียโน

โดยภาพรวมของอัลบั้ม ไม่ได้แตกต่างไปจากอัลบั้มชุดก่อนหน้านี้ของ จอห์น แต่อย่างใด ไม่มีสุ้มเสียงแปลกใหม่ หรือการทดลองอันหวือหวาท้าทายโสตประสาท

หากภายใต้เงื่อนไขอันสามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า จอห์น ฝากรูปแบบดนตรีแจ๊สสแตนดาร์ด ขับเคลื่อนไปบนบีทของสวิง และแนวประสานแบบแจ๊สกระแสหลักไว้ด้วยการบรรเลงร่วมกับ จอร์จ เชียริง และวงควินเททของเขาอย่างอบอุ่น ประกอบด้วย เท็ด ฟิลท์เซคเกอร์ - ไวบราโฟน, เร็ก ชวาเกอร์ - กีตาร์, นีล สเวนสัน - เบส และ เดนนิส แม็คเครล - กลอง

jp2

15 เพลงในอัลบั้มมีเพลงเก่าแก่ระดับคลาสสิก อย่าง Be Careful, It's My Heart ซึ่ง จอห์น เคยประทับใจมาจากงานเก่าของ จอร์จ ที่เขาได้ฟังจากแผ่นเสียงของพ่อเขา

นอกจากนี้ ยังมีเพลง If Dreams Come True และ Lost April โดยมีเพลงใหม่ที่ทั้งคู่ร่วมงานกันคือ The Rare Delight of You และ I Predict

งานเรียบเรียงหลักๆ ตกเป็นหน้าที่ของ จอร์จ เชียริง อย่างไม่ต้องสงสัย โดยมี จอห์น ดูแลในบางเพลง (ภายใต้การช่วยเหลือของ โทนี มอนเต อดีตนายวงเก่าของเขา)

ภาพรวมที่ออกมา จอห์น ร้องและบรรเลงกีตาร์อย่างคล่องแคล่ว เสียงร้องแหลมเล็กของเขา บางครั้งให้ความรู้สึกออดอ้อนอยู่ในที บางเพลงมี เร็ก ชวาเกอร์ ร่วมบรรเลงกีตาร์โซโลด้วย โดยมีเสียงเปียโนของ จอร์จ ที่ทวีบทบาทมากกว่าอัลบั้มอื่นๆ ก่อนหน้านั้นของจอห์น

การประสานแนวทางร่วมกันอย่างงดงาม สามารถฟังได้จากแทร็ค Everything Happens To Me เป็นบัลลาดหวานๆ ที่จอห์นถ่ายทอดเสียงร้องได้อย่างเป็นธรรมชาติ แอคคอมพานีโดยมือเปียโนที่จัดเจน ขณะที่ Lulu’s Back in Town เป็นสวิงที่ฟังสนุก

Something To Remember You By เป็นเพลงช้าที่เน้นความประณีตในการเรียบเรียง เช่นเดียวกับ Indian Summer โดยมี Problem งานเก่าของ เจย์ ลีออนฮาร์ท ที่นำมาคัพเวอร์ใหม่ได้อย่างเลื่อนไหลและรื่นรมย์ ส่วน Shine On Your Shoes เป็นเพลงช้าที่นำเข้าสู่บีทของสวิงได้อย่างน่าฟัง

ใครที่หลงรัก จอห์น พิซซาเรลลิ มาตั้งแต่ต้น อัลบั้มนี้คงทำให้คุณชื่นชอบเขามากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน จอห์น น่าจะมีส่วนทำให้คนฟังเพลงรุ่นใหม่ หันความสนใจมายังนักเปียโนอาวุโสอย่าง จอร์จ เชียริง ด้วยสปิริตการพรมนิ้วบนเปียโนของเขาเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ซึ่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักเปียโนหนุ่มทั้งหลาย

หลังจาก The Rare Delight of You จอร์จ เชียริง ยังมีอัลบั้มออกมาอีกจำนวนหนึ่งกับค่ายเพลงอินดี้ เช่น “แมกอเวนู” และ “ก็อค” จากนั้น นักร้องหนุ่มใหญ่ ไมเคิล เฟนสไตน์ ชักชวนเขาทำงานด้วยกัน ในชุด Hopeless Romantics ออกกับค่ายคองคอร์ดในปี 2005

จอร์จ เชียริง เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจล้มเหลว เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2011 ณ นิวยอร์ก ซิตี ด้วยวัย 91 ปี โดยหลังจากนั้น มีการหยิบงานบันทึกเสียงเก่าเก็บ ที่ทำร่วมกับ ดอน ธอมพ์สัน ออกมาวางขายในชื่อชุดว่า George Shearing At Home

ในรอบ 1 ทศวรรษถัดมา จอห์น เติบโตในแนวทางแจ๊สที่คู่ขนานไปกับโลกบันเทิงอย่างเข้มข้น จอห์น มีอัลบั้มอุทิศให้แก่ แฟรงค์ สินาตรา ชุด Dear Mr.Sinatra ในปี 2006 มีงาน Rockin’ in Rhythm อุทิศให้แก่นายวงบิ๊กแบนด์ และนักแต่งเพลงอเมริกัน ดุ๊ก เอลลิงตัน ในปี 2010 ตามด้วยบันทึกการแสดงสดในชุด John Pizzarelli Salutes Johnny Mercer: Live at Birdland ออกมาในปี 2015 ต่อด้วยอัลบั้ม Midnight McCartney และ Sinatra & Jobim @ 50 จากนั้น คืองานยิ่งใหญ่เมื่อปี 2019 ที่แสดงความคารวะต่อ แนท คิง โคล เนื่องในวาระ 100 ปีชาตกาล ในชุด For Centennial Reasons: 100 Year Salute to Nat King Cole

ทั้งหมดนี้ จอห์น พิซซาเรลลิ มี The Rare Delight of You เป็นหนึ่งในอัลบั้มแห่งความฝันที่กลายเป็นจริง เมื่อเขาได้ร่วมงานกับ จอร์จ เชียริง นักเปียโนนามอุโฆษ ที่ยังคงมนต์เสน่ห์ทางดนตรี จากวันนั้นตราบจนถึงวันนี้.