ปล่อยหนังออนไลน์แทนฉายโรง...ทางรอดช่วง COVID-19 ระบาด?

ปล่อยหนังออนไลน์แทนฉายโรง...ทางรอดช่วง COVID-19 ระบาด?

การแพร่ระบาดของ 'ไวรัสโคโรน่า' ทำให้ผู้สร้างหนัง และผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ต้องหาทางออกจากสถานการณ์วิกฤติกันอย่างหนัก รวมไปถึงครุ่นคิดถึงประเด็นที่ว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจะทำให้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาลเลยหรือไม่

โรงภาพยนตร์ทั่วสหรัฐฯ ที่มีอยู่ร่วม 40,000 แห่ง ต้องปิดให้บริการเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงหนังเร่งหาทางออกจากภาวะวิกฤตินี้กันอย่างเร่งด่วน หนึ่งในนั้นคือการนำภาพยนตร์ที่มีกำหนดจะเข้าโรงฉายในช่วงนี้ไปลงแอพสตรีมมิงแทน

จริง ๆ แล้ว โรงภาพยนตร์ในสหรัฐฯ ไม่คิดจะปิดให้บริการในช่วงที่โรค COVID-19 ระบาด โดยมีการเพิ่มมาตรการรักษาความสะอาดอย่างเข้มงวด แต่ภายหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศห้ามชุมนุมเกิน 10 คน AMC Theaters เครือโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ก็ออกมาประกาศปิดให้บริการชั่วคราวเพราะคำสั่งของทรัมป์ทำให้โรงหนังเปิดต่อไม่ได้ไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับเครือโรงหนังใหญ่อันดับ 2 อย่าง Regal ที่ปิดให้บริการไปจนกว่ารัฐบาลจะมีคำสั่งต่อไป

ถึงตอนนี้ ยังมีเครือโรงหนังอีกหลายแห่งในสหรัฐที่ยังไม่ปิดให้บริการเพราะรัฐบาลไม่ได้ประกาศเป็นข้อบังคับออกมา ทว่า ถึงจะเปิดไปก็แทบไม่มีคนเข้ามาดูหนังในโรงกันแล้ว จนทำให้ช่วงสุดสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมนี้ ยอดขายตั๋วหนังแถบสหรัฐและแคนาดา ดำดิ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี เป็นอย่างต่ำ

แล้วทางออกของค่ายหนังต่าง ๆ ที่มีภาพยนตร์รอฉายอยู่ในมือไม่น้อยจะเป็นอย่างไร?

ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เป็นค่ายหนังชั้นนำแห่งแรกที่ออกมาประกาศว่าจะนำภาพยนตร์ที่เข้าฉายอยู่ก่อนที่โรงหนังจะถูกปิด รวมไปถึงหนังที่มีกำหนดเข้าฉายในเร็ว ๆ นี้ ไปเปิดให้เช่าดูกันทางแพลทฟอร์มสตรีมมิ่งต่าง ๆ แทน

Trolls-World-Tour-coronavirus

โดยหนังของยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์สที่กำลังลงโรงฉายอยู่อย่าง Invisible Man, The Hunt, Emma ถูกนำไปลงแพลทฟอร์มสตรีมมิ่งเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนหนังแอนิเมชั่นเรื่อง Trolls World Tour ที่มีกำหนดเข้าฉายในเดือนเมษายนนั้น จะเปิดตัวพร้อมกันทั้งในโรงภาพยนตร์และทางสตรีมมิ่ง สำหรับค่าเช่าดูหนังเหล่านี้นั้นจะอยู่ที่ 19.99 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 48 ชั่วโมง

การกระทำดังกล่าวของ Universal ถือเป็นการทำลายธรรมเนียมปฏิบัติที่ค่ายหนังต่าง ๆ ยึดถือกันมานาน นั่นก็คือ กฎที่ว่าหนังเรื่องใหม่จะถูกนำเข้าระบบสตรีมมิงอย่าง Netflix, Amazon, Hulu ฯลฯ ได้ก็ต่อเมื่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไปแล้ว 90 วัน หรือ 3 เดือน เพราะสำหรับค่ายหนังต่าง ๆ แล้ว ตัวเลขบ็อกซ์ ออฟฟิศ หรือรายได้จากการขายตั๋วหนัง ยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของพวกเขาอยู่

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์เพิ่งเผยยอดขายตั๋วหนังทั่วโลกประจำปี 2562 ปรากฎว่ามีมูลค่าสูงถึง 42,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจได้ว่าการตัดสินใจของยูนิเวอร์แซลฯ ในการนำหนังซึ่งกำลังเข้าโรงฉายไปลงแพลทฟอร์มสตรีมมิงพร้อมกัน ถือเป็นมาตรการไม่ปรกติที่เกิดขึ้นอันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ที่เลวร้ายรุนแรงจนแทบจะหาทางออกไม่เจอ ขณะที่ทางสมาคมเจ้าของโรงภาพยนตร์แห่งชาติ (National Association of Theater Owners) กลุ่มการค้าที่เป็นตัวแทนของโรงหนังต่าง ๆ เองก็ปฏิเสธที่จะออกความเห็นเรื่องนี้

นั่นอาจเป็นเพราะคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เห็นตรงกันว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ รุนแรงมากแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อย่างเครือโรงภาพยนตร์ The Alamo Drafthouse ในเมืองออสติน รัฐเทกซัส ก็ได้ปิดประกาศบนเว็บไซต์ว่า Intermission ซึ่งเป็นศัพท์แสงด้านการแสดงหมายถึง ‘การพักครึ่งระหว่างการแสดง’ เพื่อสื่อว่าตอนนี้ได้หยุดให้บริการเป็นการชั่วคราว

นอกจากนี้ The Alamo Drafthouse ซึ่งมีโรงหนังในเครืออยู่ 41 แห่ง ยังฝากข้อความเอาไว้ด้วยว่า “สถานการณ์ในขณะนี้เลวร้ายมาก เมื่อเรากลับมาเปิดอีกครั้งหลังจากการหยุดพักอย่างไม่มีกำหนดและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มันจะกลายเป็นโลกที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แล้วก็เป็นอุตสาหกรรมที่สั่นสะเทือนไปถึงแก่น”

แดเนียล อีฟส์ นักวิเคราะห์จาก Wedbush ก็เป็นอีกคนที่มองว่าการปิดโรงหนังเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ถาวรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็เป็นได้ โดยเขามองว่าไวรัสโคโรนาจะนำพาเราเข้าสู่ศักราชใหม่ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจนอาจทำให้โรงหนังบางแห่งต้องออกจากธุรกิจไปเลยก็ได้

เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เราได้ทำการวิเคราะห์อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์มาแล้วเราคิดว่าอุตสาหกรรมนี้ตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างแท้จริง มีความกังวลอย่างมีเหตุมีผลรองรับว่า COVID-19 จะไปจำกัดการเข้าดูหนังในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากการปิดโรงหนัง การจำกัดจำนวนคนดู หรือเป็นผลมาจากความกลัวว่าจะเกิดการติดเชื้อก็ตาม

การใช้มาตรการ social distancing รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงที่จะไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ อาจเปลี่ยนพฤติกรรมของคนดูหนังไปเลย ซึ่งในทางกลับกัน มันก็อาจเปลี่ยนอุตสาหกรรมนี้ไปอย่างถาวร” นายแดเนียล อีฟส์ เขียนเอาไว้ในบทวิเคราะห์

จนถึงตอนนี้ค่ายหนังฮอลลีวูดส่วนใหญ่ยังคงเก็บหนังใหม่เอาไว้ฉายในโรงภาพยนตร์ภายหลังจากที่กลับมาเปิดให้บริการตามปรกติเหมือนเดิม อาทิ A Quiet Place Part II ของ Paramount Pictures ที่ตอนแรกมีกำหนดฉายในวันที่ 8 มีนาคม ก็ถูกเลื่อนฉายออกไปก่อน เช่นเดียวกับ Mulan ของดิสนีย์ และหนังเจมส์บอนด์ตอนล่าสุด No Time to Die ที่เลื่อนฉายเป็นปลายปีไปเลย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะกลับมาเปิดให้บริการตามปรกติหลังจากที่ต้องปิดไปชั่วคราวเพราะโรคระบาดก็ไม่ใช่ว่าปัญหาของบรรดาเจ้าของโรงหนังรวมไปถึงคนทำหนังจะหมดไป

เพราะถึงแม้จะเปิดแล้วคนดูก็ยังไม่กลับมาดูหนังในโรงกันเหมือนเดิมอยู่ดี อ้างอิงจากกรณีตัวอย่างของโรงหนังในเมืองอูรุมชี ขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน ที่ไม่มีคนดูแม้แต่คนเดียวในการเปิดให้บริการวันแรกหลังจากที่ปิดมายาวนานกว่า 2 เดือน แม้จะออกโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมแล้วก็ตาม

แล้วนั่นคือความท้าทายอันใหญ่หลวงที่คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องหาทางออกกันต่อไป

 

หมายเหตุ : เรียบเรียงข้อมูลจาก cbsnews.com