มิติของ'ผี'ในสังคมไทย

มิติของ'ผี'ในสังคมไทย

ทำไมคนถึงกลายเป็นผี. นอกจากตาย ยังมีการตีความอื่นๆ อีก

 

ในสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงเรื่องผี ผู้คนจำนวนมากจะขลาดกลัวและนึกถึงบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งอยู่คนละโลกกับคนทั่วไป ตลอดถึงเรื่องราวของผี ยังเป็นที่โจษจัน เมื่อคนตาย ยังมีเรื่องราวในจิตใจที่ห่วงหรือกังวลอยู่ และไปปรากฏร่างให้ผู้คนที่เขาผูกพัน สื่อให้รู้ว่า ดวงวิญญาณยังมีสุขหรือทนทุกข์ทรมาน นี่คือภาพจำที่เรารับรู้เกี่ยวกับผี  และส่วนใหญ่ยังมีภาพจำที่สะท้อนให้เห็นถึง“ผีผู้หญิง” จะได้รับความทุกข์ใจทรมานมากกว่าผีผู้ชาย 

 

ภาพจำเหล่านั้นถูกสร้างขึ้น บอกเล่าและทำให้ “น่ากลัว” และ “เฮี้ยน” กว่าผีผู้ชาย และไม่ว่าเราจะมีภาพจำอย่างไร ทีมข่าววัฒนธรรมบันเทิง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้เปิดพื้นที่ทำความเข้าใจผู้หญิงผ่านโลกทางวิญญาณ เพื่อร่วมเรียนรู้มิติแห่งผีในสังคมไทย

 

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าว่าหลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าเทพเจ้าหรือนักบวชเป็นผู้หญิงทั้งหมด แม้ในระยะหลังจะเรียกว่า เทพเจ้าเหล่านั้นว่าผีก็ตาม ในศาสนาโบราณเราจะเห็นว่า ผู้หญิงมีบทบาทมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่ให้กำเนิด สถานภาพของผู้หญิงเปลี่ยนได้ ผู้ชายจะไม่เปลี่ยน ผู้หญิงจะเปลี่ยนบทบาทจากหญิงโสด มาเป็นเมีย และแม่ 

 

ในโลกโบราณสถานภาพความเป็นเมีย เป็นแม่เป็นสถานภาพศักดิ์สิทธิ์ เมื่อให้กำเนิดชีวิตได้ จะมีลักษณะแบบเดียวกับโลกธรรมชาติ ผู้หญิง มีสถานภาพเท่าพระเจ้า คือผู้สร้าง ลองนึกภาพมดงานหรือปลวกก็ได้ ผู้ชายคือแรงงานในเผ่า หาอาหารให้ผู้หญิงกิน แล้วผู้หญิงก็มีลูก ตั้งท้องและมีชีวิตใหม่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นการขยายเผ่าพันธุ์ นี่คือโลกโบราณหรือศาสนาโบราณ ผู้หญิงจึงเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์ในโลกโบราณคือ “การมีชีวิตใหม่ ความอุดมสมบูรณ์” มันเริ่มจากตรงนั้น

IMG_9960  

"ถ้าใครสนใจโบราณคดี ลองดูรูปวีนัส จะมีรูปร่างท้วม คือความอุดมสมบูรณ์ หรือถ้าเราไปอินเดียเราจะเห็นรูปเคารพรูปหนึ่ง เรียกว่าลัชชาเคารี เจ้าแม่ธัญพืช เป็นผู้หญิงที่อยู่ในท่าคล้ายจะคลอดลูก คล้ายๆ นั่งขาหยั่ง มีหน้าเป็นดอกบัว ไม่มีตัวตน แต่มีต้นไม้ออกมาจากช่องคลอด ทำให้เห็นว่าคนโบราณมองผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นเจ้าแม่ นี่เป็นบทบาทเชื่อมโยงโลกธรรมชาติ

 

อาจารย์อานันท์ นาคคง นักมานุษยวิทยาดนตรีและศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัลศิลปาธร พูดถึง ถ้าถามว่า ทำไมคนถึงกลายเป็นผี...มี 6 เส้นทางด้วยกันคือ 1.ตาย 2.ป่วย  3.ทำพลาดจากความเชื่อเกี่ยวข้องคุณไสย “มนต์ดำ”4.ผิดศีลธรรม 5.ผิดกติกาของสังคมสมัยใหม่  6.สิ่งสมมติชีวิตหลังความตายมี 2 ด้านคือ ผีดีและผีร้าย

 

"ผีเกิดขึ้นด้วยขั้วแห่งอำนาจ และขั้วอำนวย อำนาจคือการใช้มิติบางอย่างให้เราเชื่อ เราศรัทธา เรานับถือ เรายำเกรง เรากลัว อำนาจมีบทบาทในการควบคุมความคิด พฤติกรรมผู้คน อำนาจมีบทบาทกำหนดวิถีวัฒนธรรมประเพณี ผีเอามาใช้ในเรื่องการแสดงอำนาจในทุกๆพื้นที่

 

ส่วนขั้วอำนวยนั้น เป็นเรื่องที่เราอยากได้อะไร ก็วิงวอนขอร้องผี เอาอกเอาใจผี เป็นเพื่อนกับผี ผีผู้หญิงมีไว้ทำไม...ถูกเอามาใช้ในบทบาทมากมาย เอาไว้สอนว่า อย่าไปทำผิดแบบนี้ หรืออย่าไปพลาดแบบนั้น เดี่ยวเธอจะเป็นแม่มด เดี่ยวจะเป็นผีที่คนไม่ยอมรับ อย่างผีกระสือ ที่ต้องหลบซ่อนตัวเอง หากินในยามค่ำคืน ซึ่งมันโหดร้ายมากเลย การที่ต้องเวิร์คกิ้งวูแมนในยามค่ำคืน มีหัวและไส้ต๋องแต๋ง หรือ ผีปอบ ซึ่งก็เป็นเวิร์คกิ้งวูแมนเหมือนกัน เป็นหมอที่ช่วยบำบัดรักษา แต่พลาดในเรื่องคุณไสยบางอย่าง ทำให้เขาต้องไปหากินตับ สังคมต้องไล่ปอบออกไป ปอบจริงๆ เป็นผีฟ้ามาก่อน ช่วยบำบัดรักษาคนในสังคม เขาควรจะเป็นผีดี แต่เขาพลาด แล้วเราก็ไม่ให้โอกาสในการพลาดครั้งนี้ สื่อบันเทิงยิ่งย้ำตลอดเวลาว่า มีปอบที่ไหน ก็ต้องอยากได้เลือด เป็นมโนคติของสังคมสื่อสมัยใหม่"

 

นอกจากนี้ อาจารย์อานันท์ บอกว่า ผีผู้หญิงมีส่วนทั้งในการกุมอำนาจและการอวยพรช่วยเหลือ เยียวยาบำบัดในสิ่งที่เราหวังจากโลกความจริงไม่ได้ 

 

“อย่างน้อยวิ่งไปหาแม่นาค วิ่งไปหาพุ่มพวง เราก็น่าจะมีความหวังมากขึ้น”

 

ทางด้าน ทราย เจริญปุระ นักแสดงที่สวมบทบาทผี แม่นาค แม้จะล่วงเลยเวลานานสักเพียงไหน ผู้คนก็จดจำเธอได้ในบทบาทนี้

 

"ตอนทรายเล่นเป็นแม่นาค ทุกคนจะทักว่า จะไม่ประสบความสำเร็จเรื่องความรัก ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ ต้องมีลูก มีผัว มีครอบครัว ในขณะที่เรามองว่า ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องความรักเป็นเรื่องเล็กที่สุด สมมติว่า ถ้าเล่นหนังแล้ว เราเล่นห่วย แต่เรามีผัวดีมาก ทรายก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี

  

แต่การเล่นหนัง ทุกคนจำทรายได้ อันนี้ทรายมีความสุขมากกว่า กลายเป็นว่าแค่เล่นเป็นผี นางนาค เราก็ถูกแยกออกมา เราต้องแยกตัวเองจากสังคม ที่เน้นความสมบูรณ์แบบที่ไม่เหมือนกับตัวเราเลือก ความเป็นผู้หญิง การมีผัว มีลูก ต้องแลกกับการเป็นแม่นาคเลยนะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ประหลาดดี

 

เรื่องต่อมาก็คือ ตัวละครอยากทำแท้ง ก็จะมีผีมาห้าม ทำแท้งไม่ได้ จนสุดท้าย มีลูก กลับไปสู่ความสมบูรณ์แบบเป็นแม่และเมียอีก สังคมไทยให้ค่ากับเรื่องนี้ เราต้องทำตัวให้เข้ากับสังคมให้ได้ จะเก๋ไก๋ฉีกแนว สังคมไม่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นบทผีแบบไหนก็ตาม ต้องมีสีสันของเรื่องประมาณนี้เสมอ"

 

ทุกวันนี้ ทราย บอกว่า ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ก็มีคนถามเสมอว่า เมื่อไหร่จะแต่งงาน มีลูก  ทรายรู้สึกว่า ที่ทรายเป็นแบบนี้ก็ดีแล้ว ดูแลตัวเองได้ มันยังไม่สมบูรณ์แบบอีกหรือถ้าเราไม่ได้ยืนยันความเป็นผู้หญิงด้วยการเป็นแม่และเมีย 

 

“พอเราตอบแบบนี้ไป ก็จะมีคนบอกเราว่า “เห็นไหมพอเล่นนางนาคก็จะไม่ประสบความสำเร็จด้านความรัก” แม้จะมีคำพูดแบบนั้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้หญิงอย่างทราย ต้องหลีกเลี่ยงบทแบบนั้น ถนัดด้วยซ้ำที่ต้องเล่นในบทผู้หญิงที่ถูกกดทับด้วยความเชื่อ”

 

ส่วนหนึ่งของการเสวนา บอกให้เรารู้ว่า การกลายเป็นผี คงไม่ได้หมายถึงการตายไปจากโลกนี้อีกแล้ว แต่ทุกคนมีโอกาสกลายเป็นผีแทบทั้งสิ้น แม้เราจะยังไม่ตายหรือละโลกนี้ไป