'พรเทพ ศิริวนารังสรรค์' เกราะคุ้มกัน ‘COVID-19’

'พรเทพ ศิริวนารังสรรค์'  เกราะคุ้มกัน ‘COVID-19’

ก่อนที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จะแพร่กระจายไปทั้งประเทศ เราจะป้องกันตัวเองอย่างไร และหน่วยสอบสวนโรคพร้อมรับมือมากน้อยแค่ไหน

“ถ้าคนไทยไม่อยากฟังรัฐมนตรีพูด ก็ฟังหมอจากกรมควบคุมโรค หมอเหล่านี้และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่กับการเฝ้าระวังมานาน เอาชนะซาร์ส ไข้หวัดนก อีโบล่า ไข้หวัดใหญ่ มาแล้ว กรมควบคุมโรคประเทศเรา ถือว่าเป็นมือหนึ่งในเอเชีย เรามีแพทย์ด้านระบาดวิทยามานานกว่า 30-40 ปี และหมอพวกนี้ทำงานด้านควบคุมโรคมาอย่างต่อเนื่อง” นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ (​อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค) กรรมการวิชาการ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันโรค กล่าว 

 

เขาเป็นนักระบาดวิทยารุ่นแรกๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับนโยบายด้านระบาดวิทยาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี ทั้งการสอบสวนโรค การยุติโรค การควบคุมโรค และสอนแพทย์ด้านการควบคุมป้องกันโรค ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 300 คน รวมถึงตอนเป็นอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ผลักดันพ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่ปี 2558

 

ก่อนจะคุยเรื่องการจัดการกับไวรัสโควิด-19 หมอพรเทพ บอกว่า เราไม่ได้เข้าข้างรัฐบาล เพราะหน่วยงานสาธารณสุขเสนอเรื่องใดไป นายกรัฐมนตรีก็รับ แต่ช้าไปนิด

 

ตอนนี้ประชาชนไม่พอใจการบริหารจัดการของรัฐบาล คุณหมอมีความเห็นอย่างไร

     สิ่งที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขทำอยู่ ถือว่าทำได้ดี ตอนนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานไม่มีวันหยุด พยายามตามทุกรายที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเฝ้าระวังสอบสวนโรค (กระบวนการเพื่อหาสาเหตุแหล่งที่เกิด และแหล่งแพร่ของโรคเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค)

 

ตอนผีน้อยเข้าประเทศ หลายคนมองว่า จะทำให้แพร่เชื้อเร็วขึ้น ?

ตอนนั้นคนไทยที่มาจากเมืองที่มีการระบาดมากในเกาหลี จัดให้อยู่ในสถานที่กักกันเฉพาะ  ถ้ามาจากเมืองที่มีการระบาดน้อยก็ให้กักตัวที่บ้าน เรื่องผีน้อย รัฐอาจออกมาตรการช้าไปนิด แต่ถ้ากรมควบคุมโรคทำงานได้ไม่ดี ตอนนี้คงระบาดไปทั่วประเทศแล้ว

 

ครั้งนี้ถือว่าเป็นโรคระบาดใหญ่ที่สุดในประเทศไหม

ไม่ ยังไม่ระบาดในชุมชน ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มที่ไปรวมตัวกันที่สนามมวย ผับบาร์ สถานบันเทิง เรายังตามได้หมด

 

ช่วยอธิบายเรื่อง การสอบสวนโรคสักนิด ? 

เหมือนเราเป็นนักสืบ สมมติว่า มีใครสักคนติดเชื้อ ถ้าติดทางเสมหะ เราก็ดูว่าคนนั้นไปแจกโรคให้ใครบ้าง ติดตามคนที่เกี่ยวข้องมาสอบสวนทั้งหมด กักกันไว้ ถ้ามีอาการตรวจทันที วิธีการสอบสวนโรคแบบเรา หลายประเทศไม่ได้ใช้ เชื้อไวรัสก็ระบาดไปอย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศที่ทำแบบเรา มีไต้หวัน อินโดนีเซีย อเมริกา 

การสอบสวนโรคของไทย ถือว่าเข้มแข็งที่สุด มีหน่วยสอบสวนเคลื่อนที่เร็วทุกอำเภอ มีแพทย์เป็นหัวหน้าทีมและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ลงไปถึงตำบลคือสถานีอนามัย โครงสร้างแบบนี้มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นหมื่นๆ ทีม ในกรุงเทพฯมี 100 กว่าทีม

ตอนนี้พวกเราทำงานหนักมาก เรามีแผนภูมิการติดต่อโรคตั้งแต่คนที่ 1 จนถึงคนปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ก็เลยเกิดความวุ่นวายและตกใจ ผมเคยบอกไปว่า ต้องนำแผนภูมิการติดต่อโรคมาให้ประชาชนดู ถ้าเราหยุดยั้งการติดแพร่เชื้อทอดที่ 1 ไปถึงทอดที่ 2 ได้ก็จบ แต่ตอนนี้ไม่จบ

 

กรณีผู้ติดเชื้อหลุดจากการสอบสวนโรค ต้องทำอย่างไร

นี่แหละปัญหา อยากบอกประชาชนว่า อย่าออกไปสถานที่คนเยอะๆ ถ้าออกไปก็ใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ใส่ไว้เมื่อเชื้อไวรัสมา เราก็กั้นไว้ได้ ทุกคนต้องมีสุขอนามัย ห้ามเผลอเอามือไปแตะใบหน้า อยู่ที่โปร่งๆ ไม่ต้องใส่หน้ากาก แต่ถ้าขึ้นรถบีทีเอส ขึ้นลิฟท์ มีคนเยอะๆ ก็ใส่ ไม่ต้องกลัว ไม่ใช่ว่าหายใจรดกันแล้วติด เหงื่อในร่างกายก็ไม่ติด  หากคุยกันน้ำลายกระเด็น แล้วเอามือแตะเชื้อบริเวณนั้น ไม่ล้างมือ ก็มีโอกาสติดเชื้อ

หลายประเทศไม่มีหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเหมือนเรา ประเทศไต้หวันมีหน่วยสอบสวนโรคสามารถหยุดโรคได้แล้ว มีผู้ติดเชื้อประมาณ 50-60 คน เพราะมีมาตรการเข้มมาก แต่ประเทศเรายังมีมาตรการหลายอย่างหละหลวม ตอนนี้เจ้าหน้าที่พยายามกวาดคนที่แพร่เชื้อที่สนามมวยลุมพินีให้หมด เพื่อนำมาสอบสวนโรค และใช้มาตรการปิดสถานที่ที่มีคนมาชุมนุมเยอะๆ

 

รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ? 

       รัฐบาลโดนโจมตีด้วย Fake news เยอะมาก หลายคนไม่พอใจ จริงๆ แล้วรัฐบาลก็เหนืื่อยมาก แต่สื่อสารไม่เป็น ตอนนี้การระบาดยังอยู่ในชุมชนเฉพาะ

 

หลายคนบอกว่า สถานการณ์แบบนี้อยู่ระยะที่ 3 แล้ว ?

เราพยายามให้ก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 ช้าที่สุด ปกติถ้าป่วย 100 คน จะมีอาการแค่ 50-60 คนหนักจริงๆ ประมาณ 5 คน และไม่ใช่ว่าติดเชื้อแล้ว จะลงไปที่ปอดทุกคน คนติดเชื้อไม่มีอาการก็เยอะ เพราะร่างกายมีกระบวนการ มีเสมหะ ไอ จาม ก็ไปไม่ถึงปอด เวลามีไข้สูงร่างกายก็จัดการได้ จะมีปัญหาก็พวกสูบบุหรี่หนัก ปอดพรุเป็นรู ถ้าปอดพังเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ฟื้นยาก เพราะปกติร่างกายใช้ปอดหายใจเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือธรรมชาติจัดการให้ อีกอย่างอย่าให้คนสูงวัยติดเชื้อไวรัส เพราะปอดไม่แข็งแรง บางคนเป็นความดัน เบาหวาน หลอดเลือด หัวใจ แบบนี้อันตรายต่อปอด ถ้าเป็นระยะ 3 คือมีการระบาดในชุมชน แผนการควบคุมก็ต้องเปลี่ยน ถ้าชุมชนไหนระบาด ก็ปิดส่วนนั้น

     เราก็พยายามดึงเวลาออกไป ไม่ให้คนติดเชื้อเยอะด้วยวิธีการสอบสวนโรค มีทีมลงไปถึงระดับตำบล มีกฎหมายให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการดูแลทั้งจังหวัด โดยมีสาธารณสุขจังหวัดเป็นเลขา

สิ่งที่น่าห่วงคือ ในเขตกรุงเทพฯไม่มีหน่วยสอบสวนโรคระดับชุมชน มีแต่ระดับเขต ซึ่งมีประชากรระดับแสนคนดูแลไม่ไหว ผมจึงอยากขอร้องให้กรรมการหมู่บ้าน กรรมการนิติบุคคล กรรมการชุมชน เฝ้าระวังว่าอาจมีผู้ติดเชื้อเข้ามาในพื้นที่ ถ้าปล่อยให้ติดเชื้อเยอะๆ เตียงและเครื่องช่วยหายใจไม่พอ ก็จะเสียชีวิตเหมือนในอิหร่าน อิตาลี

 

ต้องมีจำนวนผู้ติดเชื้อเท่าไหร่ จึงจะเรียกว่า แย่แล้ว

ถ้ามีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนกว่า 500 คน ต้องระวังหนักขึ้น มีมาตรการมากขึ้น ทุกชุมชนไม่ให้คนเข้า โรคนี้เป็นแล้วรักษาหาย นอกจากผู้สูงอายุ ถ้ามาโรงพยาบาลช้าเกินไปจะเอาไม่อยู่ พยายามอย่าเอาเชื้อไปติดคนแก่  

 

ถ้าเทียบกับหลายประเทศ คนติดเชื้อโควิด-19 ในไทยอยู่อันดับไหน

เราเป็นประเทศอันดับที่ 50 (18 มีนาคม )ของคนไข้ที่ป่วยด้วยโควิด-19 ทั้งโลกมี 193 ประเทศ ตอนนี้ติดเชื้อกว่า 150 ประเทศ

 

คนที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ ควรไปตรวจตอนไหน

ตรวจเมื่อมีอาการแล้ว ถ้าตรวจก่อนมีอาการ ไม่เจอก็ไม่ใช่ว่าไม่เป็น เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ไม่ได้มีอาการทันที มีระยะฟักตัว 1-14 วัน ส่วนใหญ่ตรวจเจอในวันที่ 4-5 แต่อยู่ดีๆ ไปสนามมวยมา ไม่มีอาการจะไปตรวจทำไม ตอนนี้การตรวจแบบ PCR ใช้เวลาแค่หนึ่งชั่วโมง ก็มีเกณฑ์วัดเหมือนที่รู้ๆ กันว่า ต้องมาจากประเทศที่มีความเสี่ยง อย่างเกาหลี จีน ฯลฯ ถ้าอยู่แม่ฮ่องสอน คุณจะมาตรวจทำไม ถ้ายังไม่มีอาการหรือไม่ได้สัมผัสผู้ป่วย ไม่ได้เดินทางไปในพื้นที่มีคนป่วยเยอะๆ ไม่ต้องมาตรวจ ตรวจแล้วเสียเงินประมาณ 7,000 บาท ถ้าเข้าเกณฑ์ว่ามีโอกาสป่วย รัฐตรวจให้ฟรี

 

จะป้องกันตัวจากไวรัสโควิด-19 อย่างไร

1.ออกกำลังกาย 2.อย่าให้เชื้อเข้าหาเรา โดยการใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า 3 ล้างมือบ่อยๆ และ 4 กินผลไม้เปรี้ยวเยอะๆ และผักขมๆ พวกมะนาวใส่น้ำผึ้ง เสาวรส  มะยม มะขามป้อม มะระ ผมกินเสาวรสวันละ 3-4 ลูก วิตามิน C เป็นเม็ดๆ สู้ผลไม้ที่มีวิตามินซีไม่ได้  ถ้าทำตามคำแนะนำแบบนี้ โควิด-19 กินเราไม่ลง  คุณรู้ไหม ไข้หวัดใหญ่ ปี 2009 ทำให้คนเสียชีวิตแต่ละปีเป็นพันๆ คน แต่ไวรัสโควิด-19 รักษาหาย 

 

ถ้ารักษาหายแล้ว  จะมีโอกาสกลับมาเป็นอีกไหม

ไม่เป็น เมื่อเชื้อเข้าไปในร่างกายและเพาะตัวแล้ว ภูมิต้านทานในร่างกายจะจัดการเอง แม้จะกลับมาเป็น ก็น้อยมาก  มันเป็นโรคอุบัติใหม่ ถ้าไม่มีมาตรการอะไรเลย โรคระบาดจะหยุดก็ต่อเมื่อประชากรมีภูมิต้านทาน 40-60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ แต่เราไม่ทำแบบที่ผู้เชี่ยวชาญในอังกฤษพูด คือ ปล่อยให้คนติดเชื้อเต็มที่จนมีภูมิคุ้มกัน เราต้องพยายามตัดตอน ตอนนี้รัฐบาลก็ยอมทำตามคนทำงานสาธารณสุข ถ้าไม่ฟังกรมควบคุมโรค แล้วจะฟังใคร

 

จะเอาอยู่ไหม

รัฐเตรียมงบไว้ 5,000-6,000 ล้านบาท ก็พยายามหยุดผู้ติดเชื้อเป็นจุดๆ ให้ได้ จะได้แค่ไหนอยู่ที่ความร่วมมือและความเข้าใจของประชาชน ป่วยก็มาตรวจมารักษา ทุกอย่างพร้อม ทั้งยา,เครื่องมือ,หมอ ไม่ต้องกลัวตาย ถ้าเข้าข่ายก็รักษาฟรี ถ้าไม่เข้าข่ายตรวจไปก็เสียเงินเปล่าๆ โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งทำเป็นธุรกิจ คนมาตรวจโควิดก็ตรวจเลย จริงๆ แล้วต้องคัดกรองโรคก่อน มีแบบประเมินคัดกรองของโรงพยาบาลราชวิถี ประชาชนใช้ตรวจสอบเบื้องต้นได้

20200317195247828

คนส่วนใหญ่บอกว่า ปิดประเทศได้แล้ว ?

จะปิดประเทศหรือไม่ปิด คนต่างชาติก็ไม่มาเมืองไทยแล้ว

 

แล้วควรทำอย่างไร

ถ้าใครสงสัยว่าป่วย ต้องกักตัวเองอยู่บ้าน ตอนนี้ก็ใช้มาตรการปิดสถานบันเทิงแล้ว