'โตโน่' ภาคิน กับภารกิจว่ายน้ำข้าม 12 เกาะ เคาะจิตสำนึกอนุรักษ์ทะเลไทย

'โตโน่' ภาคิน กับภารกิจว่ายน้ำข้าม 12 เกาะ เคาะจิตสำนึกอนุรักษ์ทะเลไทย

เขาเพียง ‘หนึ่งคน’ ตัวเปล่า จะว่ายน้ำบอกเล่าเรื่องราวปัญหาและการต่อสู้ เพื่อระบบนิเวศทางทะเลซึ่ง ‘หลายคน’ เคยมีส่วนร่วมกันทำลาย

วิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทำให้ศิลปินหนุ่มมาดเท่ 'โตโน่' ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ทุ่มเทสุดตัวเพื่อการอนุรักษ์ ตั้งแต่เริ่มเก็บขยะในโครงการเก็บรักษ์ จนมาถึงภารกิจครั้งใหญ่ที่จะสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศทางทะเล โดยเอาตัวเองว่ายน้ำลุยเดี่ยวเป็นกระบอกเสียง ใช้ท้องทะเลอ่าวไทยเป็นเวทีประกาศให้ทุกคนเหลียวแลและลงมือทำ ก่อนสถานการณ์จะถูกซ้ำเติมหรือมีสัตว์น้ำต้องตายไปมากกว่านี้

  • สิ่งที่กำลังทำคืออะไร?

สิ่งที่กำลังทำคือโครงการ One Man & The Sea หนึ่งคนว่าย หลายคนช่วย คือการที่เราช่วยระดมทุนเพื่อไปช่วยเหลือคุณหมอ คุณพยาบาลที่ดูแลสัตว์ทะเลหายากทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงโรงพยาบาลตามริมชายฝั่งที่เอาไว้ช่วยเหลือคนครับ

  • ริเริ่มโครงการนี้ได้อย่างไร?

เริ่มจากเมื่อปีที่แล้วผมได้เริ่มทำ ‘เก็บรักษ์’ แล้วระหว่างทางเราได้ความรู้มากขึ้นจากนักวิชาการที่เขาสู้เรื่องนี้มานาน อย่างอาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, อาจารย์สุชนา ชวนิชย์ เราเลยได้รู้ว่าทะเลบ้านเรากำลังแย่ สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ หลายชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สัตว์น้ำทุกชนิดลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ที่เพิ่มขึ้นก็คือแมงกะพรุน เราก็เลยคิดว่าจะช่วยพวกเขาอย่างไรได้บ้าง เราได้รู้ว่าบ้านเรากำลังต้องการเครื่องมือแพทย์ที่เอาไว้ใช้ช่วยเหลือสัตว์และช่วยเหลือคน เราก็เลยคิดกิจกรรมขึ้นมาที่ชื่อว่า One Man & The Sea

ในเมื่อเรารู้ว่าทะเลคือต้นกำเนิดของทุกชีวิตบนโลกนี้ แต่กลับกันทะเลก็กลายเป็นปลายทางของขยะทุกชนิดบนโลกนี้ เราเลยคิดว่าจะใช้ทะเลเป็นสถานที่ในการสะท้อนกลับไปหาทุกคนให้หันมาดูแลสิ่งแวดล้อม จนกกระทั่งกลายเป็นโครงการนี้ขึ้นมา

  • รู้จักอาจารย์ต่างๆ ที่ทำงานด้านท้องทะเลและสัตว์น้ำได้อย่างไร?

จากการเก็บขยะครับ เก็บขยะแล้วทำให้เราได้เจอกับกลุ่มหลายกลุ่มที่เขาทำมาก่อนหน้าเราแล้ว และเขามีความรู้มากกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็น Trash Hero, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หลายๆ คน พอเขารู้ว่าเราเก็บขยะ เขาก็มาช่วย มาให้ความรู้ ทำให้ผมรู้มากขึ้น และเราไม่ได้เก็บเพราะเป็นนักอนุรักษ์ เราไม่ได้เก็บเพราะเป็นนักวิชาการ เราทำเพราะเราเป็นคนไทยคนหนึ่งเท่านั้นเอง และเรามีความเชื่อว่ามันจะดีขึ้นได้เพราะคนไทยทุกคนนี่แหละ ไม่ใช่ดีขึ้นได้เพราะใครคนใดคนหนึ่ง ก็เลยเริ่มเก็บขยะ เริ่มชวนคนมาเก็บ รวมถึงมองแล้วว่าผลกระทบของสัตว์ที่ได้รับ ทั้งคนและสัตว์ครับ เราก็เห็นกันแล้ว ไปทำงานต้องสวมหน้ากาก กินอาหารเข้าไปก็มีสิ่งเจือปนในอาหาร 

เราได้เห็นกันแล้วว่าสถานการณ์ตอนนี้มันคงไม่มีวิธีที่ดีที่สุดสำหรับสัตว์ สำหรับทะเล สำหรับเรา แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพูดถึง เขาต้องการผลลัพธ์ สัตว์ต้องการตัวช่วยเลย มันไม่ได้ต้องการว่าเมื่อไรจะมาช่วย จะใช้วิธีไหนถึงจะเหมาะกับมัน มันต้องสิ่งที่จะช่วยพวกมันได้ทันที นั่นก็คือเครื่องมือแพทย์พวกนี้ รวมถึงการให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกที่พวกเราช่วยกันทำกันอยู่

84103386_2818019034923557_8001286002410782720_o

  • แค่เก็บขยะยังไม่พอใช่ไหม?

เราเพิ่งจะมาตื่นตัวกันเมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว ที่เริ่มมีข่าวกันมากขึ้น เริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น อาจด้วยเรื่อง PM2.5 ด้วย แต่สัตว์ทะเลพวกนี้ รวมถึงคุณหมอคุณพยาบาลเขาเจอปัญหานี้มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ดังนั้นในระหว่างที่เราเริ่มตื่นตัว ในระหว่างที่เราเริ่มรู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำมันส่งผลกระทบอย่างไรต่อโลกนี้ ต่อลูกหลานของเรา รวมถึงสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ร่วมโลกกับเรา แต่สิ่งเหล่านี้เขาต้องการการช่วยเหลือเลย เขารอไม่ไหว เราก็เลยต้องทำ

  • สิ่งที่ ‘ต้องทำ’ ในโครงการนี้คืออะไร?

ผมจะว่ายน้ำข้าม 12 เกาะ จากท่าเรือดอนสัก สุราษฎร์ธานี ไปสิ้นสุดที่เกาะสมุย ระยะทางตีเป็นเส้นตรงคร่าวๆ ประมาณ 80 กว่ากิโลเมตร ในระหว่างการว่ายก็จะมีการเก็บขยะบนบก แล้วมีการให้ความรู้ไปด้วย ที่บอกว่าเก็บขยะบนบกคือเก็บกันทั่วประเทศ ที่ผมเลือกสุราษฎร์ธานีไปยังเกาะสมุย เพราะสุราษฎร์ฯเป็นจังหวัดใหญ่ของบ้านเราเป็นสถานที่ต้นๆ และสมุยเป็นเกาะที่คนทั่วโลกรู้จัก เป็นการเชื่อมกันระหว่างคนบนบกกับธรรมชาติ เรามองว่าการที่ธรรมชาติมันแย่อยู่อย่างนี้ไม่ใช่เป็นเพราะเฉพาะคนที่อยู่ริมชายฝั่งนะครับ ขยะมาจากทุกทิศ ทุกภาค ทั้งเหนือ อีสาน กลาง ใต้ แต่ทะเลเป็นจุดรองรับไงครับ ดังนั้นถ้ามันจะดีขึ้นได้คนทุกที่ต้องช่วยกัน

ก็จะมีเพื่อนๆ ศิลปินดาราจากจังหวัดต่างๆ จากที่ต่างๆ มาช่วยกัน ก็คงต้องมาดูกันว่าแต่ละคนจะมาได้ในช่วงไหนบ้าง แต่ความสำคัญของกิจกรรมนี้มันไม่ได้เกี่ยวกับใคร อาชีพใด แต่มันคือกิจกรรมของคนไทยทุกคน

  • ทำไมต้องว่ายน้ำ?

อย่างที่ผมบอกไปว่าทะเลคือต้นกำเนิดของทุกชีวิต และคือปลายทางของขยะทุกชนิด ถ้าเราจะจัดกิจกรรมสักอย่างหนึ่งเพื่อให้ทุกคนหันมาช่วยกันดูแล ช่วยกันสนใจ ทะเลคือสถานที่ที่เหมาะที่สุด

84966303_2818019061590221_6080032227649912832_o

84330619_2818019348256859_5262553329627561984_o

  • ระยะเวลาของโครงการนี้?

ระยะเวลาที่ว่ายประมาณ 18 วัน วันที่เริ่มคือ 19 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2563 ถ้าถึงนะครับ ตั้งใจไว้ว่าจะให้ถึงในวันที่ 5 เมษายน เฉลี่ยวันละ 5.5 - 10 กิโลเมตร มันไม่สามารถกำหนดได้ตายตัวเพราะว่าขึ้นอยู่กับกระแสน้ำด้วย ขึ้นอยู่กับลม กับอากาศด้วย

  • จากการฝึกซ้อม เจอความเสี่ยงอะไรไหม?

เราก็ซ้อมสลับกัน บึงบ้าง ทะเลบ้าง ตามคิวที่สะดวก เพราะเรายังต้องถ่ายละคร ต้องเล่นคอนเสิร์ตอยู่ แต่ว่าเราก็พยายามเตรียมตัวไปให้ดีที่สุดครับ พร้อมที่สุด แต่เรื่องที่จะเกิดอะไรขึ้นบ้างมันเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับมันว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้น เรื่องความเสี่ยงและอันตรายเรารู้ว่ามันมี แต่มันก็คุ้มที่จะลอง คุ้มถ้าเราพอจะช่วยซับเหงื่อซับน้ำตาให้คุณหมอคุณพยาบาลที่เขาอยากช่วยพวกสัตว์ทะเลแต่ไม่มีเครื่องมือได้บ้าง ผมคิดว่าความเสี่ยงพวกนี้มันคุ้มที่จะเสี่ยง

เนื่องจากเราเป็นคนที่ว่ายเต็มเส้นทาง แต่ก็จะมีทีมครูฝึก เป็นนักกีฬาทีมชาติ จะว่ายประกบ อาจจะสลับกัน และมีทีมพายเรือคายัครวมถึงแพดเดิลบอร์ด คอยช่วยกันดูแมงกะพรุน เท่าที่พวกเราจะทำไหว ตอนพักเราก็จะเกาะเรือคายัค กินเจล กินอะไรเสร็จก็ว่ายต่อ

ทุกวันนี้ซ้อมเฉลี่ยประมาณวันละ 2.5 – 4 กิโลเมตร แต่เป้าหมายจริงๆ เราต้องการไปให้ถึง 8 – 10 กิโลเมตร แต่ก็ต้องค่อยๆ เพิ่มครับ เพราะเราเพิ่งจะได้มาซ้อมกันจริงจังเมื่อเดือนมกราคมนี้เอง

  • อยู่กับการอนุรักษ์ การเก็บขยะ มาพอสมควร มองสถานการณ์เรื่องเหล่านี้เป็นอย่างไร?

ผมมองว่ามันดีขึ้นนะ เราตื่นตัวกันมากขึ้น แต่ว่าก็ยังไม่พอ อย่างที่บอกปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดปีสองปี มันเกิดมาหลายสิบปีแล้ว แต่เราเพิ่งจะมาตื่นตัวกัน ดังนั้นถ้าเราจะขุดทุกอย่างให้กลับมาดีได้ เราก็ต้องทุ่มเททุกอย่างที่เรามี มันคงจะดีขึ้นได้ด้วยคำพูดไม่ได้ มันคงดีขึ้นได้ด้วยจิตสำนึกอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องช่วยกันลงมือทำด้วย

  • หมายความว่าไม่ใช่แค่จบโครงการแล้วทุกอย่างจบ?

ผมมองว่ามันจะดีขึ้นได้เมื่อทุกคนมีความรู้กันมากขึ้นถึงผลกระทบในสิ่งที่เราทำ นึกถึงส่วนรวมกันมากขึ้น ช่วยกันดูแลรับผิดชอบต่อตัวเองกันมากขึ้น แต่ละคนช่วยกันคนละนิดคนละหน่อยผมว่ามันดีขึ้นได้เลย ถ้าทุกคนมีจิตใจเดียวกัน

86471908_2818019198256874_3001771184548216832_o

86229723_2818019051590222_1286225809027104768_o

  • ปลายทางของขยะที่เก็บจะไปที่ไหน?

เราไม่ได้เก็บอย่างเดียว แต่เราแยกขยะด้วย เราจะเอาขวดพลาสติกไปขายเอาเงินเข้ามาสมทบกับโครงการได้ด้วย ซึ่งเราก็ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ใจดีหลายท่าน อย่างแม็คโครก็มีจุดรับทั้งบริจาค ทั้งรับขวดพลาสติก ก็มีหลายส่วนช่วยกัน

  • ตอนที่ความคิดก่อตัว จนถึงตอนนี้ที่เกิดโครงการ แตกต่างกันแค่ไหน?

เราเริ่มคิดกันมาตั้งแต่มิถุนายนปีที่แล้ว ถึงตอนนี้ประมาณ 7 เดือน ตอนที่คิดมันใช้ใจล้วนๆ แต่พอเริ่มได้ซ้อมก็รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ก็หนัก แต่รู้ว่ามันเหนื่อยมาก แต่ก็สิ่งที่เราเตรียมใจที่จะเจอกับมัน แต่ที่รู้สึกดีคือมีเพื่อนๆ หลายคนมาช่วยกันเยอะแยะเลย หลายหน่วยงาน หลายภาคส่วน มาช่วยกันประสานงาน มาช่วยกันขอเรือพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ต้องใช้น้ำมัน มาช่วยกันพาย ทั้งทีมแพดเดิลบอร์ด ทั้งทีมคายัค แต่ละคนมาด้วยใจกันหมดเลย ทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจ เราได้เห็นความสวยงามของน้ำใจคนไทย เรารู้สึกว่ามันน่าลุ้น มันน่าสนุกว่าคนไทยทุกคนจะช่วยกันทำให้สำเร็จได้ไหม

  • อยากให้เกิดกระแสใหญ่โตระดับประเทศเหมือนตอนพี่ตูนวิ่งไหม?

จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้คิดเปรียบเทียบเลยครับ พี่ตูนเป็นพี่ชายที่ผมรัก เป็นคนที่ผมเคารพ และเป็นแบบอย่างที่ดี สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ คือทีมที่มาทำกับผมคือก้าวคนละก้าว ผมเลยมองว่าถ้าเราให้บ้านของเราดีขึ้น เราคงต้องช่วยกันในทุกด้าน สนับสนุนกันในทุกเรื่องที่ดี

  • มีอะไรที่คิดว่าน่าห่วงหรือกังวล?

ไม่มีครับ แต่ตัวผมก็อาจจะดำขึ้น มันจะอาจฟื้นได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ แต่เราก็รู้นี่ว่าเราดำเพื่ออะไร เราโดนแดดที่ไหนเผา นี่ก็แดดบ้านเรา ทะเลก็ทะเลบ้านเรา คนที่ช่วยก็คนบ้านเรา เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน เรารู้สึกว่าเราไม่ได้กลัวว่าจะร้อนว่าจะเหนื่อย เหนื่อยมันเหนื่อยอยู่แล้วแหละ ทุกเรื่องเรายินดีที่จะเจอ

  • เป้าหมายการรับบริจาค?

ที่คำนวณกันตัวเงินที่ต้องการคือ 50 ล้านบาท แต่ตัวผมเองก็ไม่กล้าไปคาดหวังว่าจะได้ถึงไหม รู้แค่ว่าเราจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำไหว ได้แต่หวังว่าถ้าทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือคนละนิดคนละหน่อยมันจะทำสำเร็จได้

  • มองเรื่องจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมของคนไทยเป็นอย่างไร เมื่อไรที่จะไม่ต้องมีใครมาทำกิจกรรมแบบนี้ ไม่ต้องมีใครมาว่ายน้ำแบบนี้?

จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะไม่ใช่เรื่องที่เราเพิ่งรู้นะ เราก็รู้อยู่แล้วว่าโลกร้อน เราก็รู้อยู่แล้วว่าธรรมชาติมันแย่ลงเรื่อยๆ แต่ถามว่ามีใครทำอะไรจริงจังหรือเปล่า แต่การที่ทุกอย่างจะดีขึ้นได้ต้องอาศัยทุกคนจริงๆ และลงมือทำอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าถ้าเรามีใจเดียวกันจริง มีจิตสำนึกจริง มันจะแผ่ขยายไปจนเราเห็นผลที่ชัดเจน เช่น ถ้าเรามีจิตสำนึก นึกถึงสิ่งแวดล้อม นึกถึงโลกนี้ ประเทศนี้ ไม่ว่าเราทำอาชีพอะไรก็นึกถึง เป็นดารานักร้องก็นึกถึง เป็นรัฐมนตรีก็นึกถึง เป็นภารโรง เป็นนักกีฬาก็นึกถึง แต่ถ้าเราไม่มีจิตใจ ยังไม่ช่วยกันสร้าง มันจะไม่มีทางเกิด แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่าเรามีลุ้น เริ่มมีโอกาสเป็นไปได้ หัวใจคือการลงมือทำและการร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งเราก็ต้องขอบคุณทุกคนที่ช่วยกัน

  • ฝากถึงโครงการนี้?

อยากฝากถึงทุกคนครับว่าเราอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ถ้าเราอยากให้บ้านเราน่าอยู่ขึ้น สวยงามขึ้น เพื่อคนที่เรารัก เพื่อลูกหลานของเรา เพื่อแผ่นดินของเรา เราคงต้องทุ่มเท ต้องช่วยกัน ทั้งช่วยกันแชร์ข่าวสาร ช่วยกันลงมือทำ

...

อย่าให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลไทยต้องมีคนหนึ่งคนใดต้องแบกรับ

86375655_2818019391590188_2256353737444425728_o

 

(ติดตามรายละเอียดโครงการได้ทาง Facebook เก็บรักษ์ และ Instagram เก็บรักษ์)