ชยสาโร ภิกขุ 'ฉลาดจริง ต้องไม่ทุกข์'

ชยสาโร ภิกขุ  'ฉลาดจริง ต้องไม่ทุกข์'

เนื่องในวันมาฆบูชา ว่ากันว่าการศึกษาตามแนววิถีพุทธไม่จำเป็นต้องเชื่อ ลองทำก่อนแล้วจะเห็นผล ถ้าไม่เห็นผล ลองสำรวจดฺสิว่าเกิดอะไรขึ้น

 

                กว่า 40 ปีที่พระอาจารย์ ชยสาโร ลูกศิษย์หลวงพ่อ ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง ครองผ้าเหลืองทำหน้าที่เผยแพร่ธรรม โดยในช่วงหนึ่งท่านตอบแทนบุญคุณครูบาอาจารย์ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จ.อุบลราชธานี และช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ท่านขอปลีกวิเวกไม่รับเป็นเจ้าอาวาสวัด เพื่อจะได้มีเวลาปฎิบัติมากขึ้น โดยพักอยู่ที่สำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี จ.นครราชสีมา ท่านช่วยวางรากฐานเรื่องการศึกษาตามแนววิถีพุทธให้โรงเรียนทอสี โรงเรียนปัญญาประทีป เพื่อเป็นตัวอย่างการเรียนรู้วิถีพุทธในระบบการศึกษาไทย และแบ่งเวลาบางส่วนบรรยายธรรมให้ญาติโยมฟังเดือนละสองครั้ง โดยไม่รับกิจนิมนต์

                พระอาจารย์ชยสาโร ให้ความสำคัญกับการปฎิบัติตามแบบพระป่าเป็นอันดับต้นๆ ส่วนเรื่องการเผยแพร่ธรรมก็ทำควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการนำพุทธศาสนาเข้าไปสู่ระบบการศึกษา ท่านมองว่า หัวใจของพุทธศาสนา คือ ระบบการศึกษา เพราะสังคมไทยมีความเข้าใจผิดๆ ในหลายเรื่อง ยกตัวอย่างการพัฒนาคน เข้าใจกันว่าต้องเน้นที่ความเก่ง ฉลาดเป็นอันดับแรก

                แต่ความฉลาดในความหมายของท่าน มีคำอธิบายง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง คนฉลาดที่หลายคนเข้าใจ คือเก่งในทุกเรื่อง อธิบายได้ทุกอย่าง มีเหตุ มีผล แต่แก้ปัญหาชีวิตให้ตัวเองและสังคมไม่ได้ นั่น...ใช่ความฉลาดหรือไม่

                ท่านบอกว่า  "เมื่อความฉลาดเป็นสิ่งที่ต้องปกป้องไว้ตลอดเวลา เวลาจะสอบเด็กพวกนี้จะเครียดมาก ถ้าทุจริตได้ก็จะทำ เพื่อที่จะปกป้องภาพพจน์ตัวเองว่าเป็นคนฉลาด เวลาสอบตกก็ทุกข์และซึมเศร้า ก็พิสูจน์ได้ว่า ไม่ฉลาดจริง"

                แล้วฉลาดจริง เป็นอย่างไร...

               

ในมุมมองของพระอาจารย์ ระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างไร

                อาตมาสนใจเรื่องการศึกษามาตลอด แม้ตอนนั้นจะบริหารวัดป่านานาชาติ ก็มีกิจกรรมทางด้านการศึกษา อาตมาวิเคราะห์ปัญหาการศึกษาในเมืองไทยว่า คนที่มีฐานะดีมาก จะส่งลูกไปเรียนเมืองนอก ถ้าฐานะปานกลางก็ส่งลูกไปโรงเรียนคริสต์ จบแล้วก็ไปเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ก็แปลว่า ชนชั้นนำของเมืองไทย ปัญญาชนเติบโตโดยเข้าใจหลักพุทธศาสนาน้อยมาก คำสั่งสอนเพื่อพัฒนาตนหรือสังคมแทบจะไม่รู้จักเลย อาตมาว่า เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย  และไม่น่าเป็นไปได้

                เมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว มีช่วงหนึ่งอาตมาเดินทางไปเมืองบอสตัน อเมริกา พานักศึกษาที่เรียนในมหาวิทยาลัยไปเดินป่า ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ เป็นโอกาสที่นักศึกษาได้สนทนาธรรมกับพระอย่างเป็นกันเองและได้รับคำแนะนำ ซึ่งเป็นโครงการที่ดี แต่อาตมาไม่สามารถเดินทางไปทุกปี ต่อมาเมื่ออาตมามีลูกศิษย์ที่เป็นผู้ใหญ่ที่โรงเรียนทอสี และไม่พอใจระบบการศึกษาแบบเดิมๆ อาตมาจึงเป็นที่ปรึกษานำหลักคำสอนพระพุทธเจ้ามาใช้พัฒนาจิตใจเด็ก โรงเรียนทอสี และโรงเรียนประจำที่ปัญญาประทีป นครราชสีมา รวมถึงโรงเรียนสองภาษาปัญญาเด่น เชียงใหม่                

 

ทำไมก่อนหน้านี้พระอาจารย์เลือกเป็นที่ปรึกษาให้โรงเรียนทางเลือก ทั้งๆ ที่มีอีกหลายแห่งต้องการนำแนวทางวิถีพุทธไปใช้

                เวลาและกำลังอาตมามีจำกัด เพราะนี่เป็นวิธีลัด เพื่อเข้าถึงชนชั้นนำที่มีอำนาจที่จะพัฒนาระบบ การศึกษาแนวพุทธิปัญญาต้องอาศัยความร่วมมือตั้งแต่ครู นักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งโรงเรียนรัฐไม่ค่อยมีความพร้อมของผู้ปกครองและครู ในส่วนที่อาตมาทำงานเหมือนการทำเป็นตัวอย่าง เพื่อโรงเรียนอื่นๆ จะได้เอาบางส่วนที่เหมาะกับเด็กๆ ไปใช้ เพราะสภาพความเป็นอยู่และปัจจัยไม่เหมือนกัน ถ้าจะทำเป็นระบบที่สมบูรณ์แบบ เพื่อจะเป็นตัวอย่าง คงต้องเป็นโรงเรียนเอกชน

 

การพัฒนาคน ต้องเริ่มตั้งแต่เยาว์วัย ?

                ไม่ว่าที่ไหน มนุษย์สอนยาก ตั้งแต่ไหนแต่ไร เป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่ไม่ว่าหญิงหรือชายมีศักยภาพในการเรียนรู้มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน

 

ที่พระอาจารย์บอกว่า คนสอนยาก หมายถึงในมุมไหน

                อาตมาจะพูดตรงๆ ยกตัวอย่างปัญญาชน คนพวกนี้เวลาคุยเรื่องทางโลกดูน่าฟัง ใช้เหตุ ใช้ผล คิดวิเคราะห์ได้ดี แต่พอพูดถึงพุทธศาสนา อาตมาตกใจ ทำไมในเรื่องหนึ่งฉลาด แต่อีกเรื่องไม่ใช้สติปัญญา ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้รู้อะไรเลย ส่วนใหญ่พูดแบบไม่คิด เป็นการวิจารณ์พุทธศาสนาในสมองมากกว่า ซึ่งเป็นความคิดของคนที่ไม่เคยตั้งใจศึกษาธรรม แม้แต่ในเรื่องการศึกษาเอง เขาก็ไม่เข้าใจว่า ในโลกตะวันตกก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในระบบการศึกษา เป็นปัญหาวิกฤติตลอดมาก แต่ภาพการศึกษาต่างประเทศในเมืองไทยดูดีกว่าที่เป็นจริง เพราะเชื่อและงมงาย

 

ฉลาดในการวิเคราะห์ ใช้เหตุและผลได้ดี แต่ไม่ได้หมายถึงมีสติปัญญา ?

                 เพราะคนเข้าใจเปลือกพุทธศาสนามากกว่าหัวใจพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นระบบการศึกษาที่สมบูรณ์บริบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ถ้าจะมองจากระบบทั้งหมด สามารถนำมนุษย์ออกจากความมืดไปสู่ความสว่าง  จากปุถุชนเป็นอาริยชน ถึงแม้เราจะไม่ต้องการถึงขั้นอาริยชน แต่เราต้องการให้คนมีความเจริญทั้งพฤติกรรม จิตใจและปัญญาพร้อมๆ กัน ไม่มีระบบการศึกษาที่ไหนจะดีเท่าระบบการศึกษาของพระพุทธเจ้า อันนี้คือ ความเชื่อของอาตมา นักวิชาการ ผู้มีปัญญาทั้งหลาย ควรศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดี สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระบบการศึกษาได้อย่างไร ควรใช้กับเด็กวัยต่างๆ อย่างไร นี่คืองานที่อาตมาทำ

                อาตมาอยากถามว่า ความฉลาดคืออะไร ถ้ามองอีกด้าน เครื่องวัดความฉลาดที่แน่นอนที่สุด ก็คือ ศีล5 เพราะคนเราต้องการสุข ไม่ต้องการทุกข์ กฎแห่งกรรมมีจริง การผิดศีล คือ การสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้ชีวิตเราในระยะยาว เพราะฉะนั้นคนฉลาดจริงๆ ไม่มีทางผิดศีล 5 นี่คือ แง่มุมหนึ่งที่ว่า ความฉลาดอยู่ตรงไหน ทุกวันนี้เรารู้ว่า คนฉลาด ไอคิวสูง แล้วมีผลดีต่อสังคมตรงไหน ถ้าทำให้สังคมเสียหาย ฉลาดในการเอารัดเอาเปรียบ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว เราไม่อยากให้เกียรติว่า คนที่ทำแบบนี้เป็นปัญญาชน ถ้าใช้ไอคิวเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตนและครอบครัว และสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น อาตมาไม่ยอมรับว่า เป็นพฤติกรรมของปัญญาชน เพราะฉะนั้นเราใช้คำว่า ปัญญาชนง่ายเกินไป

 

แล้วพระอาจารย์จะใช้คำว่าอะไร

                โยมคิดว่า อะไรคือความฉลาด อาตมาถามจริงๆ เวลาบอกว่า คนนี้ฉลาด คนนั้นไม่ฉลาด อยากถามว่า ความฉลาดแปลว่าอะไร ก็ตอบไม่ถูก แบบนี้งมงายได้ไหม แล้วใช้ศัพท์พวกนี้ทุกวัน มีความคิดเห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้  ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่า ตัวความฉลาดคืออะไร อาตมาขอยกตัวอย่างงานวิจัยในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา เขาถามนักศึกษาว่า Are you smart ? เด็กฮาร์เวิร์ด ส่วนใหญ่ตอบว่า Yes หลังจากนั้นอาจารย์ที่สอนลองทดสอบ โดยเปิดโอกาสให้ทุจริตในการสอบ ปรากฏว่า เด็กที่ทุจริต คือ เด็กที่เชื่อว่าตัวเองฉลาด แต่เด็กที่เชื่อว่าตัวเองฉลาด จะไม่ฉลาดในหลายเรื่อง เมื่อความฉลาดเป็นสิ่งที่ต้องปกป้องไว้ตลอดเวลา เวลาจะสอบเด็กพวกนี้จะเครียดมาก ถ้าทุจริตได้ก็จะทำ เพื่อที่จะปกป้องภาพพจน์ตัวเองว่าเป็นคนฉลาด เวลาสอบตกก็ทุกข์และซึมเศร้า ก็พิสูจน์ได้ว่า ไม่ฉลาดจริง เพราะเวลาทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เด็กที่คิดว่าตัวเองฉลาดจะไม่ค่อยเก่งเรื่องพวกนี้ เพราะความคิดสร้างสรรค์เป็นความเสี่ยง คนที่ฉลาดไม่อยากเสียภาพพจน์ จึงไม่อยากเสี่ยง ในหลายประเด็นคนที่ถือตัวว่าฉลาด กลายเป็นคนไม่ฉลาด หรือพ่อแม่ที่ชมลูกว่า ลูกทำอย่างนั้นฉลาดมาก นั่นไม่ใช่การชมลูกที่ดี

 

ถ้าเป็นอย่างนั้น พ่อแม่ควรชมลูกอย่างไร

                ชมความเพียรพยายาม เมื่อเพียรแล้วสอบตก ก็ไม่ค่อยเป็นทุกข์ เพราะเขาคิดได้เองว่า ทำความเพียรไม่พอ ต้องขยันมากขึ้น ผลของงานเกิดจากการกระทำ นี่คือหลักพุทธศาสนา คือ สอนให้เด็กไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวเองฉลาด สามารถประสบความสำเร็จด้วยความเพียร  แต่ผู้ปกครองก็ต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้ด้วย ดังนั้นเรื่องวิถีพุทธ เราดูที่แรงบันดาลของนักเรียนควรจะอยู่ตรงไหน ควรฝึกนิสัยอย่างไร มีความสุขในการเรียนรู้มากกว่าผลการเรียน เพราะหลังจากจบการศึกษา วิชาการที่เรียนมาทิ้งไป 70-80 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เราควรจะเน้นมากกว่าวิชาการก็คือ ความรักในการศึกษา ความอดทน คุณธรรมต่างๆ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้ดี เรียนรู้พัฒนาตัวเองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้ความสำคัญกับวิชาการ มีความสำคัญแน่นอน แต่ไม่ใช่ว่าเก่งวิชาการแล้วจะประสบความสำเร็จในชีวิต

 

คำว่า ความฉลาด ถูกตีความไม่เหมือนกัน ?

                แม้แต่ในอังกฤษก็ต้องเพิ่มการเรียนรู้เรื่องความฉลาดในเรื่องพฤติกรรม ความสามารถในการปรับตัวอยู่กับชุมชน การควบคุมบริหารอารมณ์ตัวเอง ในเมืองนอกตอบรับเรื่องพวกนี้  หลายโรงเรียนมีคอร์สสอนเรื่องสติ การรู้จักตัวเอง เพื่อให้อยู่ในปัจจุบันขณะ เราอยู่ในยุคที่ทางตะวันตกกำลังสำนึกถึงความบกพร่องในระบบการศึกษา ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาชีวิตมีอยู่ในพุทธศาสนา

                ถ้าหากมีการพัฒนาการศึกษาตามแนวพุทธิปัญญา เมืองไทยก็เป็นผู้นำเรื่องนี้ แต่คนยังขาดความรู้และความศรัทธาในภูมิปัญญาตัวเอง กลับไปยกย่องตะวันตก แทนที่จะเป็นผู้นำก็เป็นผู้ตามตลอด ถ้าเข้าใจการพัฒนาจิตใจ พฤติกรรม และการอยู่ในสังคม ต้องทำแบบองค์รวม ไม่ใช่การศึกษาแยกส่วน มีเด็กฉลาดๆ ติดยา ติดเกม เยอะมาก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นกับความฉลาด เราอยู่ในยุคที่หวังว่า ถ้าคนมีการศึกษาที่ดี ประเทศชาติก็เจริญ มันเป็นความเชื่องมงาย โดยถือว่า การศึกษาวัดด้วยปริญญาบัตร ถ้าจะแก้ปัญหาคอรัปชั่น ก็บังคับกันว่า คนต้องมีการศึกษาจบปริญญาตรี ปริญญาโท แล้วมันจะมีผลอะไร

 

ตอนเป็นที่ปรึกษาให้โรงเรียนทอสี พระอาจารย์มองเห็นการพัฒนาการศึกษาอย่างไร ?

                สิบกว่าปีที่อาตมาทำเรื่องเหล่านี้ หน้าที่อาตมาคือการอบรมครู เป็นที่ปรึกษาของครู ทั้งโรงเรียนทอสีและปัญญาประทีป ครูต้องเข้าคอร์สปฎิบัติธรรมในเดือนตุลาคมทุกปี เวลาใครมีปัญหาก็ให้พบปรึกษา อีกอย่างโรงเรียนก็ต้องมีการพัฒนาขึ้นๆ ลงๆ เหมือนวัด ไม่ใช่ว่าจะดีขึ้นทุกปี แต่โดยภาพรวมอาตมาว่า การพัฒนาครูดีขึ้น แต่ถ้าให้อาตมาประเมิน คงไม่กล้า ต้องให้คนนอกระบบประเมินผล

 

เด็กๆ ต้องฉลาดในการใช้ชีวิตอย่างไร

                ตะวันตกจะให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าในเมืองไทย อย่างน้อยเด็กไทยยังรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและสังคม ต่างจากเด็กตะวันตกจะเน้นความเป็นปัจเจก อาตมาอยากยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ระหว่างเด็กอเมริกันกับเด็กญี่ปุ่นให้เลือกในการวาดรูปสัตว์ ธรรมชาติ เมือง โดยครูสั่งให้เด็กอเมริกากลุ่มแรกวาดรูปนกใช้ปากกาสีแดง กลุ่มที่สองใช้ปากกาสีอะไรก็ได้ เด็กอเมริกันที่เลือกใช้สีอะไรก็ได้ จะใช้เวลานานกว่า ประณีตกว่า มีความสุขมากกว่า แต่เด็กญี่ปุ่นคิดต่างจากเด็กอเมริกัน พวกเขาไม่ได้คิดว่าความสุข หรือความเป็นตัวตนของเขาขึ้นอยู่กับการมีทางเลือก  จึงไม่ใช่กฎตายตัวของธรรมชาติว่า ความเป็นตัวของตัวเองคือทางเลือก เป็นแค่การสมมติของวัฒนธรรม

                อีกโจทย์หนึ่งที่อาตมาอยากเล่าคือ คุณครูบอกต่อว่า จะให้วาดรูป โดยให้เด็กๆ โทรถามคุณแม่ว่าจะให้วาดรูปอะไร เมื่อคุณแม่เด็กอเมริกันบอกว่า ให้ลูกวาดรูปนกสีแดง เด็กอเมริกันก็จะไม่พอใจและบอกว่า มันเกี่ยวอะไรกับแม่ จึงไม่มีผลต่อความพยายามหรือความตั้งใจ ส่วนแม่ของเด็กญี่ปุ่นบอกว่า อยากให้ลูกวาดรูปนกใช้ปากกาสีแดง เด็กญี่ปุ่นก็จะวาดประณีตมาก ตั้งใจ เขาจะมีกำลังใจเท่าเด็กอเมริกันที่สามารถจะเลือกได้ นี่คือความแตกต่างทางวัฒนธรรม แล้วเด็กญี่ปุ่นก็จะถามคุณครูว่า คุณแม่หนูจะชอบไหม มันสำคัญมาก เป็นความสัมพันธ์ในครอบครัว

 

การเรียนรู้ต่างวัฒนธรรม ทำให้เข้าใจชีวิตต่างกัน ดังนั้นมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร

                การเรียนรู้ทั้งสองอย่าง โดยเฉพาะวัฒนธรรมการเลี้ยงดูในเอเชีย ถ้าคนมีปัญญา อาตมาว่าดี ถ้าขาดปัญญาก็ไม่ดี เพราะแม่ชอบมองลูกเหมือนเป็นสมบัติของตัวเอง ควบคุมมากเกินไป ทำให้เด็กไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ที่เห็นมากๆ เป็นเด็กไทย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความอบอุ่นของครอบครัว  แต่อยู่ที่ปัญญาในการเลี้ยงลูก บางครอบครัวเลี้ยงลูกจนทำให้เด็กไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กล้าทำอะไร ถ้าพ่อแม่รักลูกก็ต้องให้เรียนรู้จากประสบการณ์ ยอมให้ลูกทุกข์บ้าง เพื่อจะได้ฉลาด

 

ต้องรู้จักความทุกข์บ้าง ?

                ก็นี่แหละที่อาตมาทำ โดยใช้วิถีพุทธ ถ้าขาดรากฐานที่ดีและปัญญา ระบบก็จะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร การศึกษาต้องปรับให้เหมาะกับวัฒนธรรม อย่าคิดว่า เด็กไทยต้องเหมือนเด็กฝรั่ง

 

ปัญหาคือ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าโรงเรียนวิถีพุทธเป็นอย่างไร

                โรงเรียนวิถีพุทธทั่วประเทศไทย ยังไม่เป็นระบบที่ชัดเจน ก็เป็นแบบไทยๆ คือ ต่างคน ต่างทำ ตอนที่กระทรวงให้โรงเรียนรัฐเลือกว่า จะเป็นโรงเรียนแบบไหน ก็เลือกว่าเป็นวิถีพุทธ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครรู้ว่า วิถีพุทธคืออะไร เพราะมองว่า ครูก็เป็นพุทธ นักเรียนก็เป็นพุทธ ก็เป็นวิถีพุทธซะเลย โดยไม่เข้าใจว่าจะเอาหลักการของพระพุทธเจ้ามาใช้อย่างไร ก่อนอื่นต้องมาดูที่ไตรสิกขา ชาวพุทธรู้จักดีคือ ศีล สมาธิ ปัญญา คำว่า สิกขา ก็คือ การศึกษา หัวใจของพุทธศาสนาคือ ระบบการศึกษา ซึ่งต่างจากศาสนาอื่น เพราะระบบศาสนาส่วนใหญ่เป็นระบบความเชื่อ

                อาตมาเห็นว่า ปัญญาชนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับโรงเรียนวิถีพุทธ แล้ววิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนา เป็นการวิพากษ์วิจารณ์คำว่าศาสนา มีนักวิชาการบางคนบอกว่า ถ้าเป็นศาสนาที่เป็นระบบความเชื่อ ต้องมีการแบ่งแยกเรากับเขาชัดเจน เพราะศาสนาเหล่านี้ถือว่า ต้องเชื่อในศาสนาของเขา แต่ศาสนาเหล่านี้จะมีนัยว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้คนอื่นเปลี่ยนเป็นศาสนาของเขา ถ้าศาสนาประเภทนี้นำไปอยู่ในโรงเรียนของรัฐ อาตมาว่ายุ่งทันที ถ้ามีการแบ่งแยก

                ยกตัวอย่างคริสต์ มีคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ซึ่งมี 80 กว่านิกาย ถ้าเอาศาสนาเข้าไปในโรงเรียนจะเอานิกายไหน ถ้าเอานิกายนี้ นิกายอื่นก็ไม่พอใจ จึงมีการตัดบทว่า ไม่เอาศาสนาเข้าไปในโรงเรียน ไม่อย่างนั้นโรงเรียนนั้นต้องเป็นศาสนานั้นศาสนานี้ เหตุผลนี้อาตมาเห็นด้วย แต่ที่ไม่เห็นด้วยที่นักวิชาการไทยสรุปว่า ศาสนาทุกศาสนาก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นศาสนาไม่ควรเอาเข้าไปในโรงเรียน จะไม่ยุติธรรมกับศาสนาอื่น

                พุทธศาสนาเป็นศาสนาอีกประเภท การขึ้นสวรรค์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อ แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำ ไม่ว่าคุณเป็นยิวคริสต์ อิสลาม ถ้าคุณมีการกระทำที่ดี คุณมีสิทธิขึ้นสวรรค์ แต่ถ้ามีการกระทำเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ก็ขึ้นสวรรค์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาแบบสากล ถือว่าการกระทำไม่ใช่ความเชื่อ เป็นตัวกำหนดความดี แต่สรุปแล้วว่า การวิพากษ์วิจารณ์วิถีพุทธเกิดจากความไม่เข้าใจ โดยเฉพาะเอกลักษณ์ของศาสนาพุทธที่ไม่เหมือนศาสนาในตะวันตก เพราะไม่เหมือนนั่นแหละ สมควรนำมาใช้

 

จะนำหลักพุทธมาโยงกับระบบการศึกษาอย่างไร

                คนที่ไม่ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะบอกว่า แล้วเกี่ยวอะไรกับการศึกษา ฟังๆ แล้วมันเกี่ยวกับพระมากเกินไป ที่อาตมานำไปใช้ในโรงเรียนมีการภาวนา 4 ข้อ เนื้อหาเหมือนไตรสิกขา  เพราะการภาวนา ไม่ได้หมายความว่านั่งหลับตา ความหมายเดิมแปลว่าพัฒนา ดังนั้นข้อ 1.เน้นการพัฒนาความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ 2.พัฒนาความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับสังคม  3.พัฒนาทางจิตใจ และ 4. พัฒนาทางปัญญา

                ถ้าระบบการศึกษาไปตามแนวนี้จะครบทุกด้าน อย่างเช่น การพัฒนาความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ก็เริ่มจากธรรมชาติใกล้สุดคือ ร่างกายของเรา ต้องเรียนรู้ความฉลาดในร่างกาย ต้องกินให้พอดี ใช้ตา หู ลิ้น กาย ใจในทางที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีการใช้อินเตอร์เน็ต เรื่องเงินทอง เสื้อผ้า แฟชั่น ก็ขยับไปสู่ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การภาวนาคือ การพัฒนาจิตใจ ซึ่งสอนให้เด็กสามารถแก้ปัญหาตัวเอง เวลาน้อยใจ วิตกกังวล กลัว ซึมเศร้า จะทำอย่างไร

 

ส่วนใหญ่ระบบการศึกษาเน้นวิชาการมากกว่าการใช้ชีวิตอย่างเท่าทัน ดังนั้นควรแก้ไขอย่างไร?

                คนเรามีเรื่องชวนให้เครียด ชวนให้โกรธ ชวนให้มีปัญหาตลอดชีวิต สิ่งที่จำเป็นในชีวิตอย่างการเลือกคู่ ผู้ชายจะเป็นพ่อที่ดี สามีที่ดีอย่างไร เวลาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราเดือดร้อน จะรักษาจิตใจของตนให้ปกติได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก ทำไมสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ระบบการศึกษาไม่สอนเลย อันนี้เป็นจุดบอดใหญ่ ทั้งๆ ที่แนวทางพุทธมีวัตรปฎิบัติที่ชัดเจน มีคำสอนที่จะช่วยเรื่องนี้ ถือว่าเรามีบุญมากที่ได้เปรียบตะวันตก ซึ่งไม่มีหลักแบบนี้

                ตอนนี้เรื่องสติเป็นเรื่องที่พูดกันมาก เกือบทุกวงการ ในการรักษาโรคจิตได้ผลมาก มีการวิจัยเปรียบเทียบผลการรักษาโรคซึมเศร้าเรื้อรัง โดยการใช้ยาและการสอนเรื่องสติในครั้งแรกได้ผลพอๆ กัน ถ้าระยะยาวการเจริญสติรักษาโรคซึมเศร้าได้ผลมากที่สุด ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการตะวันตก ทำให้เขาหันมาสนใจเรื่องการเจริญสติ

 

จำเป็นไหมต้องไปศึกษาธรรมในวัด

                คนจะเข้าใจว่า ศาสนาเป็นเรื่องในวัด หรือการปฎิบัติธรรม จริงๆ แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทางการพัฒนาคน ไม่ใช่เรื่องของนักบวชอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทำให้ชีวิตดีขึ้น ถ้าปฎิบัติถูกต้องจะเป็นระบบปฎิบัติที่เห็นผลได้ชัด

 

เวลาภาวนา จิตใจแวบไปคิดนั่น โน้น นี่ พระอาจารย์มีคำแนะนำอย่างไร

                ต้องยอมรับว่าทุกคนต้องเป็นอย่างนั้นบ้าง เวลาเรานั่งสมาธิ ดูกายและใจ การเจริญอานาปานสติ ตามลมหายใจที่ปลายจมูกเป็นการปฎิบัติที่ค่อนข้างละเอียด ถ้าจิตใจเราอยู่ในสภาพที่ยังหยาบ ใจก็จะไม่มีคุณสมบัติพอที่จะอยู่กับลมหายใจ ในบางครั้งเราใช้วิธีง่ายๆ ก่อนนั่งสมาธิ ทำโยคะเล็กน้อย ถ้าไม่ถนัดก็อาบน้ำให้ผ่อนคลาย ทำวัตร สวดมนต์ เปลี่ยนอารมณ์ให้จิตใจสบายๆ ไม่อย่างนั้นจิตใจยังฟุ้ง ก็ไม่อยู่กับลมหายใจ เพราะจิตใจมันอยากจะคิด เหมือนเป็นแรงเฉื่อยหรือโมเมนตัมของความคิดที่สะสมมาทั้งวัน วิธีก็คือ อนุญาตให้คิด แต่คิดภายในกรอบที่กำหนดไว้ หรือเจริญเมตตานึกหน้าของคนที่มีบุญคุณ คุณพ่อ คุณแม่ แล้วพิจารณาเรื่องความตาย ไม่ใช่คิดเรื่อยเปื่อย ถ้าคิดแบบมีวินัย คิดในกรอบ จะถึงจุดหนึ่งที่จิตใจรู้สึกว่าคิดพอแล้ว แล้วจะน้อมไปอยู่กับลมหายใจที่ใจยอมแล้ว เมื่อสมองยังไม่พร้อมที่จะอยู่กับลมหายใจ โดยไม่คิดอะไรเลย จึงต้องใช้วิธีเปลี่ยนกระแสความคิดให้เป็นบุญ กุศล คิดแบบมีวินัยจะทำให้ความคิดค่อยๆ ลดน้อยลง สงบ

 

ต้องจัดระเบียบความคิดก่อน ?

                เพราะวิสัยเราจะฟุ้งซ่าน ถ้าปล่อยไว้ไม่สงบ การปฎิบัติธรรมคือการทวนกระแส ทวนความเป็นจริง ต้องฝึกให้ได้หลักก่อน เหมือนเราเรียนภาษา ถ้าเราเรียนอาทิตย์ละชั่วโมงไม่ได้อะไร ถ้าเรียนต่อเนื่องจนอยู่ตัวก็ใช้ได้ แต่จิตใจของเราไม่อยู่ในขั้นอยู่ตัว จึงต้องรู้เท่าทัน เพราะคนเรามีความเคยชินไหลตามกิเลส จึงต้องทวนกระแส เราจะรู้ว่ากระแสกิเลสแรงแค่ไหน

 

ต้องปฎิบัติภาวนาทุกวันไหม

                ก็ใช่...ถ้าไม่ปฎิบัติ พระจะทำยังไง ถ้ายังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ ยังมีงานที่ต้องทำ (ปฎิบัติ)

 

บวชมานานท่านมองชีวิตนักบวชเป็นอย่างไร

                ไม่มีอะไรจะเปรียบเทียบได้ เพราะอยู่ในผ้าเหลืองตั้งแต่อายุ 20 ปี เราถือว่าเป็นชีวิตอันประเสริฐ อาตมาบอกญาติโยมว่า ถ้าเป็นพ่อแม่ที่ดี ความหวังสูงสุดของพ่อแม่ที่ดี ขอให้ลูกมีบุญได้บวชเป็นพระ แต่ทุกวันนี้ชาวพุทธไม่คิดแบบนี้ แค่บวชพรรษาเดียว พ่อแม่ก็เครียด เกรงว่าลูกจะไม่สึก

 

ในอนาคตท่านคิดจะกลับไปอยู่ต่างประเทศไหม

                อาตมาไม่คิดไปจากเมืองไทย

  ...................................

หมายเหตุ : จากข้อเขียนตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกาย  กรุงเทพธุรกิจเมื่อปี 2012 แม้ช่วงเวลาจะเปลี่ยนไป  แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่่ยนคือ ธรรมะของพระพุทธเจ้า