เล่าเรื่อง เมืองเก่า ใต้ฟ้าเมืองไทย

เล่าเรื่อง เมืองเก่า ใต้ฟ้าเมืองไทย

เมืองเก่าบ้านเรามีเยอะและโดดเด่นไม่แพ้ต่างชาติ แล้วทำไมไม่ถูกกล่าวถึงในระดับนานาชาติ

 

กาลวลาที่ผันเปลี่ยน ทำให้เมืองที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองกลายเป็นเมืองเก่า และบางทีก็กลายเป็นเมืองร้าง แต่ที่สำคัญคือ เมืองเก่าเหล่านั้นยังสืบทอดเรื่องราว ชีวิตและวัฒนธรรม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งแง่สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม หรือไม่

 

มีการนิยามคำว่า เมืองเก่า ว่า “เมืองหรือบริเวณของเมืองที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะแห่งสืบต่อมาจากกาลก่อน หรือมีรูปแบบของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น หรือมีรูปแบบวิวัฒนาการทางสังคมที่สืบต่อมาของยุคต่างๆ หรือเคยเป็นตัวเมืองดั้งเดิมในสมัยหนึ่ง หรือโดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือสถาปัตยกรรมมีคุณค่าทางศิลปะ โบราณคดี หรือประวัติศาสตร์”

     

ว่ากันว่า รัฐได้กำหนดแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ปีพ.ศ. 2546 โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพื่อเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม โดยปีพ.ศ. 2549-2562 มีการประกาศเขตเมืองเก่าทั้งสิ้น 31 เมือง มีเป้าหมายให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาคุณค่าเมืองเก่าและขณะเดียวกันให้มีการใช้สอยในบริบทสังคมร่วมสมัย

  20200129121325851

-1-

หากถามว่า รูปแบบไหนเรียกว่า เมืองเก่ามีชีวิต

แม้เมืองเก่าในบ้านเราจะมีความหลากหลาย ทั้งด้านโบราณสถาน สถาปัตยกรรม และชุมชน ฯลฯ แต่เหตุใดไม่ถูกกล่าวถึงในระดับนานาชาติ เหมือนเมืองเก่าในปีนัง ประเทศมาเลเซีย หรือเมืองเก่าในหลวงพระบาง ประเทศลาว ฯลฯ 

 

ปัญหาส่วนหนึ่งของเมืองเก่าในประเทศไทย น่าจะมาจากการบริหารจัดการ,งบประมาณ และการเชื่อมต่อองค์ความรู้ฯลฯ

 

“แหล่งมรดกวัฒนธรรม ไม่สามารถแยกขาดจากชุมชน อย่างเราทำงานวิจัยศึกษาเมืองเก่านครศรีธรรมราช ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ ตั้งอยู่บนสันทราย บนถนนราชดำเนินเป็นเส้นทางสำคัญในอดีต ที่นี่มีความโดดเด่นในเรื่องความเชื่อแบบพราหมณ์ที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน ดังนั้นการนำข้อมูลในพื้นที่มาพัฒนาเมืองเก่า สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อให้พวกเขาสะท้อนคุณค่าของเมืองในมิติต่างๆ ” ธนภัทร อานมณี จากสถาบันอาศรมศิลป์ ที่ปรึกษาเมืองเก่านครศรีธรรมราช เล่าถึงการทำงานวิจัยเก็บข้อมูลในช่วง 9 เดือนในการเสวนาเรื่อง ทิศทางการพัฒนาเชิงอนุรักษ์เมืองเก่าจากแผนแม่บทสู่การปฏิบัติ ของสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม

 

ว่ากันว่านครศรีธรรมราช จัดเป็นเมืองเก่าประเภทที่มีหลักฐานทางกายภาพ มีโครงสร้างเมืองหรือโบราณวัตถุสถานในอดีต และมีการใช้สอยในลักษณะของเมืองที่ยังมีชีวิตอย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ด้วยรูปแบบชุมชนเมืองขนาดใหญ่ 

 

นครศรีธรรมราช จึงเป็นเมืองที่มีพลวัต 

แต่ยังมีเมืองเก่าอีกประเภท...ไม่มีลักษณะเด่นของโครงสร้างเมืองในอดีต แต่เป็นชุมชนโบราณ มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ แต่ต่อมาถูกทิ้งร้าง ไม่มีการพัฒนาสืบเนื่อง เหลือร่องรอยเพียงคูคันดินและซากฐานรากโบราณสถาน ดังตัวอย่างเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีีทุกภูมิภาคของไทยจากการสำรวจโบราณคดีพบเมืองหรือชุมชนลักษณะดังกล่าวกว่า 1,208 แหล่ง

 

ส่วนเมืองเก่าที่ต่างจากสองประเภทที่กล่าวมา แม้จะมีลักษณะเด่นของโครงสร้างเมืองหรือโบราณวัตถุสถานในอดีต แต่ปัจจุบันไม่มีผู้คนพักอาศัยอยู่ หรือพักอาศัยน้อยมาก คล้ายๆ เมืองร้าง จึงมีการอนุรักษ์อาจในรูปแบบอุทยานประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งเมืองในกลุ่มนี้เป็น “เมืองโบราณ”

 

และเมืองเก่าประเภทสุดท้าย แม้โครงสร้างเมือง โบราณสถานจะมีการใช้สอยต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบันในลักษณะชุมชนเมืองขนาดเล็ก หรือเมืองที่ไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคม การบริหารจัดการของจังหวัด เมืองเก่าประเภทนี้จัดอยู่ในกลุ่มเมืองโบราณ แต่เป็นชุมชนขนาดเล็กที่ยังมีพลวัตอยู่ อาทิ เมืองเชียงแสน เมืองถลาง

 

ถ้าอย่างนั้น...เมืองเก่าที่จะมีการพัฒนาและอนุรักษ์ จึงต้องมีพลวัตทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สืบเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางของรัฐจารีต ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 หรือเป็นเมืองที่ตั้งของชุมชนค้าขาย  รวมถึงไม่ได้ถูกทิ้งร้าง มีป้อม ประตู คูเมือง วัดวาอาราม ที่เป็นซากโบราณสถาน และวัดเก่าทีมีการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างต่อเนื่อง มีการใช้สอยจนถึงปัจจุบัน อาทิ เมืองเก่านครศรีธรรมราช เมืองเก่าเชียงใหม่ เมืองเก่าแพร่ ฯลฯ  

 

ดร.พิเศษ เสนาวงษ์ ที่ปรึกษาเมืองเก่าสกลนคร สตูล ระนอง และตาก ยกตัวอย่างเมืองเก่าตากว่า เป็นเมืองที่ยึดโยงกับเส้นทางแม่น้ำ โดยกำหนดเขตเมืองเก่าไว้ที่ตรอกบ้านจีน เนืื่องจากมีการตั้งถิ่นฐานชุมชนตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน

 

“คนที่นั่นก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าต้องเป็นตรอกบ้านจีน เพราะพวกเขาคิดว่า ความเก่าของเมืองอยู่ที่ประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนเรศวร ตำบลปากมะม่วง อำเภอเมือง และตำบลแม่ท้อ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เราจึงต้องปรับแผนบางอย่าง เนื่องจากคนที่นั่นไม่ได้แยกแยะคำว่า เมืองโบราณ เมืองประวัติศาสตร์ และเมืองเก่าออกจากกัน”

 

ส่วนเมืองเก่าสกลนคร มีการสืบเนื่องอารยธรรมขอมโบราณและขอมเขมรที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน และปัจจุบันมีร่องรอยของการผสมผสานศิลปะล้านนาและล้านช้าง เมืองเก่าแห่งนี้ ดร.พิเศษบอกว่า ในอนาคตถ้าแผนแม่บทเมืองเก่าทำสำเร็จ พื้นที่เมืองเก่าของหนองหารจะถูกเปิดให้คนเข้าถึงได้ เนื่องจากที่นั่นยังมีโครงสร้างคมนาคมแบบขอมโบราณ บารายก็ยังใช้อยู่ กระจายไปทั่วในปัจจุบัน

 

อีกเมืองที่อาจารย์พิเศษลงไปเก็บข้อมูลและทำแผนที่เมืองเก่า คือ เมืองเก่าสตูล พบว่าเคยเป็นเมืองท่าริมทะเล ค้าขายกับจีน มาเลเซีย ปีนัง คนที่นั่นจะคุ้นเคยกับคำว่า มำบังนครา ก็คือเมืองเก่าสตูล มีจารึกคำๆ นี้ ไว้ในสิ่งของเครื่องใช้ และจุดเด่นของเมืองเก่าสตูล ก็คือ มีความเป็นพหุวัฒนธรรม มีมัสยิด วัดไทย ศาลเจ้า อยู่บนถนนเมืองเก่า

 

“อย่างสตรีทอาร์ตสตูล ก็เริ่มจากโครงการนำร่องเมืองเก่าสตูลที่เราทำ บ้านเรือนที่สตูลอายุไม่ถึงร้อยปี มีอาคารพาณิชย์ที่เป็นโบราณสถาน ที่นี่ความหลากหลายจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องชื่อ และเมืองต่างๆ " อาจารย์พิเศษเล่า และบอกว่า คนที่นั่นอยากพัฒนาเมืองเก่า แต่ปัญหาคือของบประมาณไม่ได้ เมื่อโครงการเข้าไปจึงได้รับความร่วมมือจากชุมชน

20200129121321255  

-2-

ถ้าพูดถึงเมืองเก่าระนอง ประวัติศาสตร์ของเมืองไม่ได้ยาวนาน เป็นเมืองที่ในหลวงเกือบทุกรัชกาลเสด็จมา คนที่นั่นจึงเรียกว่า เมืองแห่งความจงรักภักดี

 

“ที่เราค้นพบคือ ถนน 4 สายที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานนาม เป็นชื่อที่มีความคล้องจองกัน ทำให้คนในพื้นที่คุ้นชิน อาทิ ถนนท่าเมือง เรืองราษฎร์ ชาติเฉลิม เพิ่มผล ชลระอุ ลุวัง กำลังทรัพย์ ฯลฯ เราก็เข้าไปทำแผนพัฒนาเรื่องราวของเมืองเก่าขึ้นมา ส่วนสถาปัตยกรรมอาคารชิโนโปรตุกีสเหลืออยู่ 11 หลัง ก็จะเขียนไว้ในแผนแม่บทการพัฒนาฯ ด้วย คนที่นั่นอยากให้เมืองของเขาเป็นแหล่งเรียนรู้ " ที่ปรึกษาเมืองเก่าระนอง บอกและเล่าถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยว่า คนที่นั่นบอกว่า ซาลาเปาทับหลีของแท้ ต้องใช้ซีอิ๋วตรานกแก้ว ซึ่งผลิตและขายในเมืองระนองเท่านั้น เพราะกรรมวิธีหมักซีอิ๋วแบบโบราณทำสองเดือน พักสองเดือน

 

“อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ แผนจัดทำคู่มือหรือโปสเตอร์ กรรมการบอกว่า ถ้าทำสื่อให้เมืองเก่าระนองต้องแปลเป็นภาษาเมียนม่าร์ด้วย เพราะคนส่วนใหญ่เป็นแรงงานพม่า ซึ่งเป็นกรณีที่ต่างออกไป ผมเชื่อว่า เมืองเก่าต้องมีเรื่องราว ต้องมีคนอยู่อาศัย มีความเคลื่อนไหว แต่บางคนก็ไปเทียบกับเมืองประวัติศาสตร์ อย่างอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าเป็นเรื่องท่องเที่ยวชุมชนเข้ามาร่วมเยอะ แต่ถ้าเป็นเมืองเก่าชุมชนจะเข้าร่วมน้อย 

 

และเวลาพูดถึงเมืองเก่า คนส่วนใหญ่จะพูดถึงหอนาฬิกา ไม่ค่อยพูดถึงพิพิธภัณฑ์ชุมชน และการบริหารจัดการยังไม่มีการทำคู่มือเมืองเก่า ดังนั้นตอนทำงานเรื่องนี้ เราก็เลยพาคนที่่นั่นไปดูงานที่ปีนัง ต่อไปด้านหน้าอาคารพาณิชย์สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส ก็จะได้งบของรัฐพัฒนา 

 

ทั้งๆ ที่ เมืองเก่าระนองมีบริบทไม่ต่างจากปีนัง แต่การจัดการต่างกัน ในเมืองไทยที่ขาดทุกเมืองเก่าคือ ผลิตภัณฑ์และของที่ระลึกที่สะท้อนความเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์"

 

-3-

“เมืองเก่าภูเก็ต เป็นตัวอย่างที่ดีของเมืองท่า เมืองการค้าแร่ดีบุกในอดีต บริเวณที่ตั้งดั้งเดิมมีความสำคัญเชิงพื้นที่ ระหว่างพื้นที่ท่าเรือ ริมทะเล และแหล่งดีบุกบนภูเขา นอกจากนี้เมืองเก่ายังเป็นพื้นที่สำคัญมีมรดกทางวัฒนธรรม ย่านเมืองเก่าภูเก็ตยังแสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนโพ้นทะเล ภูมิปัญญาวัฒนธรรมฮกเกี้ยน สยามและตะวันตก ที่พัฒนาจากกาลเวลาจากอดีตถึงปัจจุบัน เมืองเก่าภูเก็ตเป็นตัวอย่างของการผสมผสานการอนุรักษ์และพัฒนาที่ยังรักษาวิถีชีวิต จารีตดั้งเดิม และเป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมสมัย” ผศ.ปริญญา ชูแก้ว สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ปรึกษาเมืองเก่าภูเก็ต เล่า และบอกว่า   

 

“เราเขียนแผนแม่บทเพื่อต่อยอดโครงการอนาคต ดังนั้นแผนต้องเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนมากที่สุด”

 

ส่วน ผศ.ดร.เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร ที่ปรึกษาเมืองเก่าพะเยา เล่าว่า  ที่นี่มีหลักฐานหลงเหลือเชิงประจักษ์ ทั้งวัด พระพุทธรูป ในพุทธศตวรรษที่ 20 เนื่องจากพะเยาเคยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา และกว๊านพะเยา มีอายุเฉียดร้อยปี นอกจากนี้ยังมีบ้านพระยา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้า และบ้านไทใหญ่ที่เป็นแหล่งพาณิชยกรรม  

 

“ดังนั้นเมืองเก่าพะเยา จึงเน้นไปที่เรื่องราวพุทธศาสนา กว๊านพะเยา และย่านพาณิชย์กรรมทางการค้าดั้งเดิม”

.............

 

เมืองเก่าแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ

กลุ่มที่ 1 เป็นเมืองที่ให้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นเมืองขนาดใหญ่ เคยเป็นศูนย์กลางของรัฐจารีตโบราณ หรือเมืองในเครือข่ายรัฐโบราณ อาทิ เชียงใหม่ พิมาย ลำพูน ฯลฯ

กลุ่มที่ 2 เป็นเมืองสำคัญรองลงมาจากกลุ่มที่ 1 ทั้งในเรื่องขนาดเมือง มิติความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ ยังมีกระบวนการกลายเป็นเมืองที่ยังไม่สูงมาก อาทิ พะเยา ภูเก็ต จันทบุรี

กลุ่มที่ 3 เป็นเมืองโบราณขนาดเล็ก มีหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรมไม่มาก รวมทั้งมีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่ไม่มาก มีความหนาแน่นชุมชนระดับตำบลหรืออำเภอ บางแห่งมีลักษณะเป็นเมืองร้าง อาทิ เมืองเชียงแสน เวียงกุมกาม เมืองศรีเทพ เมืองกำแพงแสน ฯลฯ

จากเกณฑ์การจำแนกกลุ่มเมืองเก่า ตามมติคณะรัฐมนตรี ประกาศเมืองเก่า 31 เมือง ซึ่งล้วนอยู่กลุ่มที่1 และกลุ่มที่ 2 

(ข้อมูลจากหนังสือการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าในประเทศไทย และแนวคิดภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์์ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ) 

 นิทรรศการเล่าเรื่องผ่านเมืองเก่า จัดตั้งแต่วันนี้- 09 กุมภาพันธ์ 2563 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  ชั้น 3-5 และห้อง Friend of BACC ชั้น 6