สังขละบุรี แดนดินถิ่นมอญ

สังขละบุรี แดนดินถิ่นมอญ

ล่องแม่น้ำ ข้ามสะพาน เรียนรู้วิถีพื้นบ้านของชาวมอญ บนแผ่นดินที่เรืองรองด้วยศรัทธา

ดวงตะวันโผล่พ้นขอบฟ้า ไม่ได้มีแต่แสงสีส้มกับไออุ่นเท่านั้นที่กำลังทำหน้าที่ แต่มีอีกหลายชีวิตกำลังขยับเขยื้อนเคลื่อนที่อยู่บนสะพานไม้ซึ่งทอดยาวพาดข้ามแม่น้ำซองกาเรีย อันที่จริงผู้คนเหล่านั้นตื่นมาดำเนินชีวิตก่อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเสียอีก

เป็นประจำทุกวันที่ สะพานมอญ จะได้ต้อนรับนักเดินทางจากทุกมุมโลก และเป็นประจำเช่นกันที่สะพานไม้แห่งนี้จะเป็นเสมือนห้องทำงานของเด็กๆ ชาวมอญ ตั้งแต่หอบหิ้วตะกร้า ข้างในนั้นมีขันใส่แป้งทานาคา พร้อมแต่งแต้มบนใบหน้าของนักท่องเที่ยวที่อยากเปลี่ยนโฉมเป็นสาวมอญสักวัน เด็กบางคนหิ้วดอกไม้ช่อสวย เสนอขายให้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้ซื้อไปเป็นพร็อพถ่ายภาพ เด็กอีกหลายคนไม่ต้องหอบหิ้วอะไร เพียงแค่มาเป็นนางแบบนายแบบให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพเก็บความประทับใจและความสดใสของพวกเขา

83779411_2796934080365386_7694476108837683200_o

83764245_2796933977032063_6717855534193573888_o

สะพานมอญ หรือ สะพานอุตตมานุสรณ์ ได้ชื่อว่าเป็น ‘สะพานไม้ยาวที่สุดในประเทศไทย’ และเป็นอันดับสองรองจากสะพานไม้อูเบ็งในประเทศเมียนมา จึงไม่น่าประหลาดใจที่สะพานไม้ยาวราว 850 เมตร แห่งนี้จะเป็นแลนด์มาร์คของอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี แต่ก่อนที่สะพานมอญจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ จุดประสงค์หลักของการสร้างคือเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนทั้งสองฝั่ง แล้วยังเป็นสัญญะของความเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่ออุตตมะ พระเกจินักพัฒนาผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมอญอีกด้วย

จากดำริของหลวงพ่ออุตตมะเมื่อปี พ.ศ.2529 ว่าต้องการให้มีสะพานเชื่อมผู้คนสองฝั่งทั้งชาวมอญและชาวไทย ใช้สัญจรไปมาหาสู่กันได้สะดวก ด้วยความศรัทธาในหลวงพ่อทำให้ชาวมอญร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสะพานไม้นี้ขึ้น โดยใช้ไม้จากต้นไม้ที่ยืนต้นตายอยู่ใต้เขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนเขาแหลม) มาเป็นส่วนประกอบของการสร้าง จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2530 เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ของชาวไทย-มอญ นับตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2556 พายุฝนได้ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากจากทุ่งใหญ่นเรศวร พัดตอไม้ลงสู่แม่น้ำซองกาเลีย แล้วไหลมาชนกับเสาสะพานจนพังเสียหาย สะพานไม้แห่งศรัทธาขาดกลางยาวเกือบ 100 เมตร

การซ่อมแซมสะพานแห่งนี้ใช้เวลาร่วมหนึ่งปีกว่าจะเสร็จ โดยชาวบ้านทั้งฝั่งไทยและมอญร่วมมือกับทหารช่างจากกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) ค่ายสุรสีห์ โดยในช่วงที่ซ่อมแซมกันอย่างจริงจังใช้เวลาเพียงแค่ 29 วัน เท่านั้น เป็นอีกหนึ่งครั้งที่สะพานมอญได้เป็นจุดยึดโยงพลังศรัทธาและความสามัคคีของผู้คน

เสียงฝีเท้าของผู้คนมากมายจนแยกไม่ออกว่าต้นเสียงมาจากใครบ้าง ขัดเกลาแผ่นไม้ทุกแผ่นจนเรียบเนียนไร้เสี้ยนตอ ทั้งรายได้และบรรยากาศอันคึกคักของผู้คนบนสะพานตั้งแต่เช้าจรดเย็น สร้างพ่อค้าแม่ค้าตัวจิ๋วให้ออกมาหา ‘ทุนการศึกษา’ ในขณะเดียวกัน สิ่งเร้าเหล่านี้ก็กำลังขัดเกลาและเลือกเฟ้นเส้นทางของแต่ละคนว่าจะยังรักษามนต์เสน่ห์ของสะพานที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งศรัทธาเอาไว้ได้หรือไม่

แต่อย่างหนึ่งที่พอเป็นสัญญาณอันดีได้ว่า เด็กๆ ชาวมอญหลายคนเลือกที่จะเป็น ‘มัคคุเทศก์น้อย’ คอยเดินเสนอตัวเพื่อเล่าประวัติสะพานไม้ บางคนเล่าไปได้ถึงเรื่องอื่นๆ ของสังขละบุรี ไม่ว่าหน้าที่ไกด์ของพวกเขาจะเพื่อค่าขนม ทุนการศึกษา หรือว่าอะไร แต่อย่างน้อยที่สุด พวกเขากำลังได้บอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่นของตัวเองให้แขกบ้านแขกเมืองได้รู้จัก

83897135_2796933923698735_7863157178406797312_o

83812423_2796934267032034_5029105274221232128_o

ปะแป้งทานาคาจนแทบจะแยกไม่ออกจากชาวมอญท้องถิ่น เดินถ่ายภาพทั้งสะพาน บรรยากาศ และผู้คนจนหนำใจ หากเดินไปจนถึงฝั่งมอญ ที่นั่นคืออีกสีสันยามเช้าที่หลายคนมา ‘ฝากท้อง’ และกระจายรายได้สู่ชุมชน เพราะที่นี่คือ ตลาดมอญ ความรู้สึกคล้ายตลาดเช้าตามชุมชนต่างจังหวัด แต่เต็มไปด้วยร้านค้าที่ขายเสื้อผ้า ของกิน และของฝากจากเมียนมา โดยเฉพาะเสื้อผ้าน่าจะเป็นสิ่งที่ถ้าเผลอใจเพียงวินาทีเดียวอาจได้ติดมือกลับมาแน่นอน เพราะสีสันและลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวมอญ จะเอาสวมใส่เดินเที่ยวถ่ายภาพในสังขละบุรีก็เท่ จะสวมใส่ไปที่อื่นก็เก๋ไก๋ไม่น้อย ที่สำคัญ ราคาเป็นมิตรต่อกระเป๋าสตางค์

83892305_2796934110365383_3901652431758426112_o

ส่วนอาหารการกินมีทั้งดั้งเดิมอย่างขนมจีนซึ่งว่ากันว่าเป็นต้นตำรับ หรือจะอิ่มสบายท้องกับโจ๊กที่มีหลายร้านให้เลือกลิ้มชิมรส แต่จะพลาดไม่ได้กับของฝากประจำถิ่นอย่าง ปลาหัวยุ่ง ปลาทะเลที่พบได้มากแถบประเทศเมียนมา ปลาชนิดนี้มีมากจนเรียกได้ว่ากินกันไม่ทัน จนต้องนำมาถนอมอาหารเป็นปลาแห้ง แต่แม่ค้าแนะนำว่าก่อนจะเอาไปทอดหรือเอาไปปรุงอาหาร ควรล้างน้ำก่อน เพราะปลาหัวยุ่งตากแห้งค่อนข้างเค็มมาก

หลังจากกระจายรายได้สู่ชุมชนจนสาแก่ใจ สายตาก็ชำเลืองไปเห็นเด็กหญิงตัวน้อยในชุดพื้นเมืองดูสดใสน่ารักตามประสา แต่ที่แปลกตาคือบนหัวของเธอนั้นมีภาชนะที่ไม่มั่นใจว่าจะเรียกอย่างไร แต่มันตั้งอยู่บนหัวของเด็กหญิงอย่างมั่นคงทั้งที่เธอเดินไปเดินมา

พอเห็นก็นึกขึ้นได้ว่าตลอดทางที่เดินมาบนสะพาน มีหญิงชาวมอญทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่เทินของบนหัวแบบเดียวกันนี้ ซึ่งการเทินของบนหัวเป็นวัฒนธรรมของชาวมอญที่ทำเป็นกิจวัตร เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนจนชำนาญ ใช้สมดุลของร่างกาย บางคนถึงขนาดเทินของไปฟ้อนรำไปได้ด้วย

83883781_2796934313698696_8501575101697753088_o

83770875_2796934160365378_1272862297458475008_o

ซึ่งการเทินของบนหัวนั้นก็ไม่ใช่ทำแค่เท่ๆ หรือเพื่อความแปลก แต่มีเหตุผลที่น่าสนใจ คือ เวลานำสำรับอาหารไปถวายพระที่วัดจะหากใส่ปิ่นโต้แล้วหิ้วไปจะทำให้ข้าวกรายชายผ้าถุงซึ่งถือกันว่าเป็นของต่ำ จึงต้องเทินสำรับเอาไว้บนหัวเพื่อถวายพระสงฆ์

เรื่องราวเกี่ยวกับแรงศรัทธาที่อยู่คู่กับสังขละบุรีไม่ได้มีเพียงเท่านี้ หากใครได้มาที่นี่จะต้องไม่พลาดการล่องเรือไปบนแม่น้ำซองกาเรีย เพื่อไปชมสถานที่สำคัญของอำเภอนี้

สายน้ำที่ถูกเรือลำน้อยๆ แหวกผ่าน เกิดเป็นคลื่นเล็กๆ กระทบแสงอาทิตย์ระยิบระยับ ถึงจะไม่เห็นว่าคลื่นเหล่านี้ไปไกลถึงชายฝั่งหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือเรือได้พาเรามาถึงจุดที่มีสถาปัตยกรรมบางอย่างโผล่พ้นน้ำขึ้นมา นั่นก็คือ วัดวังก์วิเวการาม (เดิม) หรือ วัดบ้านเก่า ในอดีตบริเวณนี้เป็นชุมชนชาวมอญ ตรงนี้เรียกกันว่า ‘สามประสบ’ เพราะเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำซองกาเรีย, แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี จนกระทั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก่อสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ ส่งผลให้น้ำท่วมตัวอำเภอเก่ารวมทั้งหมู่บ้านชาวมอญ และวัดวังก์วิเวการาม (เดิม) หรือที่เรียกกันว่าวัดหลวงพ่ออุตตมะเดิม จะมีเพียงแค่อุโบสถและหอระฆังที่โผล่พ้นน้ำให้นักท่องเที่ยวได้ล่องเรือชม แต่ถ้าหากเข้าไปใกล้จะสังเกตได้ว่าใต้น้ำนั้นยังมีสิ่งโครงสร้างของวัดจมอยู่ ในช่วงยามที่น้ำลดอย่างฤดูร้อน จะลงไปเดินชม ‘วัดใต้น้ำ’ ได้เลย แต่ในช่วงที่เราไปน้ำยังขึ้นสูง จึงทำได้เพียงแล่นเรือไปรอบๆ เพื่อชมซากโบราณสถาน และก้มมองลงไป เพื่อมองประวัติศาสตร์ที่กำลังจมอยู่ใต้บาดาล

84228018_2796933817032079_8629046355198738432_o

83833298_2796933803698747_5732259663311798272_o

ต่อจากนั้นเรือพาไปจอดอีกที่หนึ่ง ลงจากเรือแล้วเดินเข้าไปอีกเล็กน้อยคือเนินเขา ขึ้นบันไดไปไม่สูงนักก็ต้องประหลาดใจว่ามีวัดเก่าๆ แต่เปี่ยมมนต์ขลังตั้งอยู่บนนี้ด้วยหรือ ซึ่งวัดนี้คือ วัดสมเด็จ (เก่า) สร้างโดยพระครูวิมลกาญจนคุณ เจ้าคณะตำบลหนองลู เป็นวัดที่ไม่ได้จมน้ำ แต่ถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งย้ายอำเภอสังขละบุรี ตอนสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ อุโบสถของวัดสมเด็จมีพระประธานสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ รอบตัวโบสถ์มีต้นไทรใหญ่ปกคลุมดูเข้มขลัง

ที่นี่เป็นอีกแห่งที่มีเด็กน้อยชาวมอญคอยเข้ามาพูดคุยกับนักท่องเที่ยว ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์น้อย แม้จะมีรูปแบบการนำเสนอเดียวกันหมด แต่ก็ดูน่ารักและใสซื่อไปอีกแบบ

83987383_2796933850365409_4832236875454349312_o

ตอนที่เรือกำลังพากลับไปยังท่าเรือ ทางทิศตะวันตกดวงอาทิตย์กำลังจะลับฟ้า ทว่าจุดที่ดวงอาทิตย์จะตกนั้นตรงกับตำแหน่งของเจดีย์ที่คุ้นตาอย่างบังเอิญ ชื่นชมวิวอาทิตย์ตกจนฟ้าเริ่มมืด ทั้งสิ่งที่ค้างคาในใจเรื่องวัดใต้น้ำและเจดีย์ที่เพิ่งผ่านตามาเมื่อครู่นี้ถูกเก็บไว้เพื่อไปพบคำตอบในวันรุ่งขึ้น

84248658_2796933943698733_2944116643078340608_o

...

เพราะต้องรอแสงสว่างจะได้เห็นเต็มตา แม้จะได้ยินชื่อ วัดวังก์วิเวการาม หรือ วัดหลวงพ่ออุตตมะ มาช้านาน แต่ก็ยังไม่เคยได้ไปเยือน ยิ่งได้เห็นวัดเก่าจมอยู่ใต้น้ำ ยิ่งอยากรู้ว่าวัดปัจจุบันจะเป็นอย่างไร และแรงศรัทธาในหลวงพ่ออุตตมะจะยังเปี่ยมล้นหรือไม่

ที่เนินเขาไม่ไกลจากตัวอำเภอสังขละบุรี เป็นที่ตั้งของ วัดวังก์วิเวการาม (ปัจจุบัน) ถึงจะเรียกว่าใหม่แต่ก็ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ที่นี่สร้างด้วยศิลปะแบบมอบผสมไทยประยุกต์ สถานที่สำคัญในวัดคือวิหารศิลปะมอญ ปัจจุบันเป็นที่เก็บสังขารของหลวงพ่ออุตตมะ สังขารของท่านอยู่ในโลงแก้ว มีพุทธศาสนิกชนทั้งในพื้นที่และที่อื่นแวะเวียนมากราบสักการะกันไม่ขาดสาย ยืนยันได้ถึงบารมีของหลวงพ่อที่มีต่อพุทธศาสนิกชนทั้งชาวมอญและชาวพุทธโดยทั่วไป นอกจากสรีระสังขารของหลวงพ่อ ที่วัดนี้มีหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าคนจริงของหลวงพ่ออุตตมะ นั่งอยู่บนบัลลังก์หน้าปราสาทหลังใหญ่ที่ใช้เก็บสังขารของท่าน เมื่อมองที่แววตาของผู้คนที่มากราบไหว้ พอจะเดาได้ว่าเหตุใดหลวงพ่ออุตตมะจึงเป็นที่รักใคร่ศรัทธามากถึงเพียงนี้

83699259_2796934453698682_8497785561858179072_o

83672179_2796934527032008_6480114873723256832_o

หมดข้อสงสัยเกี่ยวกับวัด ถึงเวลาไขข้อสงสัยสุดท้าย คือ เจดีย์องค์ใหญ่ยักษ์ ประดิษฐานอยู่บนเนินเขาใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ มีสีเหลืองทอง มองเห็นได้จากแม่น้ำซองกาเรีย ทันทีที่ได้ยินชื่อเจดีย์นี้ก็รู้เลยว่าทำไมจึงคุ้นตา เพราะนี่คือ พระเจดีย์พุทธคยาจำลอง สร้างจำลองแบบจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยที่เจดีย์องค์นี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.2521

ด้านหน้าเจดีย์มีสิงห์แบบมอญ 2 ตัว นั่งเฝ้าบันไดลทางขึ้นที่ทอดยาวสู่องค์เจดีย์ ภายในองค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งหลวงพ่ออุตตมะอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา พุทธศาสนิกชนมากมายจึงเดินทางมาสักการะบูชา เพื่อความสิริมงคล และที่นี่คือศูนย์กลางการพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ของชาวมอญ รวมถึงประเพณีสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ด้วย

83745520_2796934420365352_653725173848997888_o

84563365_2796934387032022_391418245338365952_o

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงศรัทธาสร้างเสน่ห์และเป็นจุดแข็งของสังขละบุรี จนกระทั่งเรียกแขกให้มาเยือนได้อย่างมหาศาลในทุกปี ขณะที่เม็ดเงินหลั่งไหลมากับนักท่องเที่ยว มีอีกไม่น้อยที่พาความเปลี่ยนแปลงเข้ามาด้วย ทั้งในแง่ค่านิยม พฤติกรรมไม่เหมาะสม และเรื่องขยะ ซึ่งเรื่องนี้ ปิยพัชร์ วงศ์โดยหวัง ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานกาญจนบุรี บอกว่าเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปีนี้เดินหน้านโยบายเรื่องการการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบอย่างเต็มตัว

“ถ้าเราสร้างจิตสำนึกบ่อยๆ พูดบ่อยๆ นักท่องเที่ยวจะรับทราบ เพราะหน่วยงานเราปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ในฐานะที่เป็นหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ถ้าเราทำให้นักเที่ยวไปเที่ยวแล้วสร้างขยะ เราก็ละอายใจนะ...”

แล้วยังบอกด้วยว่าได้เริ่มวางแนวทางกำหนดพื้นที่สังขละบุรีเป็น ‘แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์’ โดยเน้นเรื่อง ‘การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ’ ซึ่งได้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงชุมชนเพื่อร่วมมือกันสร้างสังขละบุรีให้ดี โดยเริ่มจากเรื่องลดจำนวนขยะ เพราะนี่คือภาระของชุมชน

ถึงการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นทุกพื้นที่บนโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งสังขละบุรี แต่เชื่อว่ารากฐานของชาวมอญ ผสานพลังความศรัทธา เมื่อรวมกับการเป็นผู้มาเยือนอย่างรับผิดชอบ จะทำให้คนจากทั่วโลกอยากมาดูอาทิตย์ขึ้นเหนือสะพานมอญตลอดไป

83990856_2796934227032038_3932477356207243264_o