ที่ทำงานผมคือที่เที่ยวคนอื่น ‘เอิบเปรม วัชรางกูร’

ที่ทำงานผมคือที่เที่ยวคนอื่น ‘เอิบเปรม วัชรางกูร’

สไตล์การเดินทางท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร ของนักโบราณคดีใต้น้ำ คนแรกๆ ของเมืองไทย

 

“วิธีเที่ยวของผมไม่เหมือนชาวบ้าน ไอ้ที่เขาไปกันก็ไม่ค่อยอยากไป ช่วงวัยรุ่นจะไปผจญภัย เข้าป่า ดำน้ำ ดูปะการัง ที่พัทยา เกาะล้าน เกาะสาก อุปกรณ์ดำน้ำหายากมาก อิมพอร์ตหมดเลย ไปเจอสังคโลกที่อยู่ใต้น้ำ ทำให้ต้องไปทำงานด้วย ตั้งแต่เริ่มเรียนที่คณะโบราณคดีจนกระทั่งปัจจุบัน ที่ทำงานผมคือที่เที่ยวของคนอื่น อยู่ศิลปากรข้ามถนนไปเรียนที่วัดพระแก้ว เรื่องจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องสถาปัตยกรรม ศาลาจตุรมุข จากนั้นก็ไปอยุธยา สุโขทัย หลังเรียนจบสอบบรรจุเป็นข้าราชการกรมศิลปากร เขาส่งไปอยู่ที่สุโขทัย นั่งทำงานอยู่ นักท่องเที่ยวก็เดินมาดู”

เอิบเปรม วัชรางกูร ผู้อำนวยการกองโบราณคดีใต้น้ำคนแรกของไทย พูดถึงการท่องเที่ยวของตัวเอง ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านโบราณคดีของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

“ตอนนี้เป็นนักโบราณคดีอยู่ที่วังมฤคทายวัน ที่ชะอำ ไปๆ มาๆ อยู่ที่โน่น 5 วัน 7 วันกลับมาบ้านทีหนึ่ง เดือนหนึ่ง 15-20 วัน พระราชนิเวศน์มฤคทายวันสร้างสมัยรัชกาลที่ 6 มีตำหนักต่างๆ เขาจะปรับภูมิทัศน์ให้เหมือนสมัยโน้น แต่บันทึกและข้อมูลมีน้อย จึงต้องใช้นักโบราณคดีค้นหาว่าอะไรที่ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ 6 มีถนน ระบบประปา ระบบไฟฟ้า ทางรถไฟ ที่ยังหาไม่เจอคือที่ๆ ร.6 เสด็จรถไฟมาลงที่สถานีห้วยทรายเหนือ นั่งรถพระที่นั่งเข้าวัง ถนนที่รถพระที่นั่งวิ่ง เราเจอแล้ว เป้าหมายจะให้เสร็จปี 66 วังอายุครบ 100 ปี ทำงานกันหลายฝ่าย โบราณคดี สถาปนิก สถาปัตย์” 

ด้วยความที่ทำงานด้านโบราณคดี มีความรักในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เมื่อไปเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจึงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ

“ล่าสุด เพิ่งไปอียิปต์มา ไปดูปิรามิด เป็นครั้งแรกที่ได้ไป ไม่เคยเห็นของจริง แต่พอได้เห็นของจริงแล้วก็รู้สึกว่า... เอ้อ ไม่เหมือนที่เรียนมา ไม่เหมือนภาพฝันที่ฝันไว้ ของจริงมันกระจอกกว่าที่คิด อะไรว้า แค่นี้เองเหรอ... จริงๆ มีเนื้อหาสาระอยู่นิดเดียว เขาขยายความ วิเคราะห์ความน่าจะเป็น สันนิษฐานเป็นเรื่องเป็นราว มาให้เราเรียน 

ก่อนหน้านี้ ไปญี่ปุ่น ไปอินเดีย ที่เกรละ เจ๋งมาก ไปเจอช่างต่อเรือ ที่ต่อด้วยเทคนิคเมื่อพันปีก่อน ใช้ไม้เจาะรู ใช้เชือกถักเรือทั้งลำ เหมือนเย็บผ้า เราไม่เคยเห็น ก็ช็อค กลับมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ เรือเครื่องผูก สำนักพิมพ์ยิปซี วางขายแล้ว ใครที่สนใจเรื่องการต่อเรือด้วยวิธีผูกเชือก ก็ไปหามาอ่านได้” 

สำหรับสถานที่ที่อยากไปแต่ยังไม่ได้ไป ทั้งหมดล้วนอยู่ในหมวดของแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี 

“ที่ศึกษาแล้วยังไม่ได้ไปมี กรีก วัฒนธรรมกลุ่มเดียวกับโรมัน มีเรื่องราวสลับซับซ้อน โรมันมายึดกรีก มีอิสลามมาสู้กับโรมัน แล้วก็ ลุ่มน้ำสินธุ ต้นกำเนิดของวัฒนธรรมอินเดีย ที่เป็นความฝันคือ มาชูปิคชู เมืองบนยอดเขา ไปยาก ไกลด้วย นั่งเครื่องบิน 24 ชั่วโมง เที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-เปรู ไม่มี ต้องไปพักที่ยุโรปแล้วไปลงบราซิลแล้วไปต่อ เป็นชุมชนเมืองสมัยโบราณพันปี วัฒนธรรมอินคา แอ็ซเท็ก เป็นกลุ่มวัฒนธรรมรุ่นแรกๆ ของอารยธรรมมนุษย์ 

เร็วๆ นี้ มีนาคมจะไปดู ทุ่งไหหิน ประเทศลาว เพื่อนทำงานอยู่กรมมรดกของลาว มีโครงการร่วมกับออสเตรเลียจะขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่ทุ่งไหหิน ก็จะไปแจมด้วย แทนที่จะไปเดินดูแบบนักท่องเที่ยวทั่วไป เราก็ลงลึกไปถึงข้างล่าง เขาจะขุดหาฐานว่าวางอยู่ยังไง ทำไมถึงอยู่ตรงนี้เยอะแยะไปหมด” 

นอกจากประเทศหรือเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางแล้ว ไม่ว่าที่ไหน...สถานที่ที่เขาจะไม่ยอมพลาดเด็ดขาดนั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์

“เวลาไปต่างประเทศอันดับหนึ่งเลยที่พลาดไม่ได้คือ พิพิธภัณฑ์ มันเหมือนศูนย์รวมที่เขาเอามาวางไว้ที่เดียวกัน แทนที่เราจะต้องไปที่โน่นที่นี่หลายที่ เราก็ไปที่เดียว เหมือนคนบ้าเลย โฟกัสที่เดียว ไม่มองอย่างอื่นเลย มันคือแกนของเรื่องทั้งหมด อย่างพิพิธภัณฑ์ที่ไคโร ไปเดินวันเดียว ไม่ไหว สามเดือนก็ดูไม่หมด ของเขาเยอะ ตอนนี้กำลังสร้างห้องจัดแสดงใหม่ จะเปิดปี 64 คือเอาที่มีอยู่ ที่มันอัดแน่น ขยายออกไป ในพื้่นที่สองตารางกิโลเมตร แล้วก็มีปิรามิด สุสานต่างๆ” 

แม้จะเป็นสายวิชาการ เดินทางไปยังจุดหมายที่เต็มไปด้วยข้อมูลความรู้ แต่ระหว่างการเดินทางบางครั้งก็มีเรื่องราวน่าตื่นเต้น เกิดสิ่งที่คาดไม่ถึงด้วยเช่นกัน

“ตอนไปศรีลังกา เช่ารถขับไปสิคีริยา สามทุ่มกว่าแล้ว ขับข้ามเมืองไปถึงสามแยก เกิดกบฎพยัคฆ์ทมิฬอีแลมที่จาฟนา มีทหารโบกให้ไปอีกทาง ถ้าไปทางซ้ายไปจาฟนาที่กำลังยิงกัน เราก็ไปทางขวา เข้าป่า เจอช้างป่าอยู่กลางถนน 3-4 ตัว กลัวมันจะมากระทืบรถ ต้องค่อยๆ ขับ จนผ่านมาได้แล้วเร่งเครื่องหนีไป"

ทว่าเหตุการณ์ระทึกที่ว่า ก็ยังไม่ร้ายเท่าประสบการณ์นานนับชั่วโมงในสนามบินสุวรรณภูมิ "เป็นสนามบินที่แออัดยัดเยียดจริงๆ ถ้าลองคูณจำนวนคนกับพื้นที่มันไม่แออัดนะ แต่ทำกันไม่เป็น การจัดเส้นทางเดิน การเข้าถึงจุดต่างๆ ผิดพลาดหมดเลย ครั้งหนึ่งผมกลับมา มองเห็นคนมารอรับบอกเขาว่า โอเค รอตรงนั้นนะ ปรากฏว่า 45 นาทียังไปไม่ถึง เพราะทางเขาบังคับให้ขึ้นอันนี้ให้ลงอันนั้น คุณต้องเตรียมเวลาไว้มากกว่านั้นสัก 2 ชั่วโมงหรือ 3-4 ชั่วโมง เป็นระบบการบริหารพื้นที่เส้นทางที่ห่วยที่สุด 

ผมเดินทางมากว่า 30 ประเทศ ไม่มีที่ไหนห่วยกว่าที่นี่เลย เวลาเราจะไปเรียกแท็กซี่ คิวก็ยาว ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นของแท็กซี่สุวรรณภูมิ เราก็ไม่เอา ขึ้นมาเรียกแท็กซี่ข้างบนที่เขามาส่งผู้โดยสาร ก็ไม่มีทางออก ต้องยกกระเป๋าปีนข้ามรั้ว ทุเรศมั้ย”

คำตอบอาจตรงกับใจของหลายๆ คน แต่ไม่ว่าจะราบรื่นหรือติดขัดอย่างไร ความหมายของการท่องเที่ยวในความรู้สึกของเอิปเปรมก็คือ ‘การเรียนรู้’

“การท่องเที่ยวเป็นการเรียนรู้ มันเกิดมาเพราะมนุษย์ต้องการเรียนรู้ ต้องการศึกษาสิ่งอื่นๆ ที่อยู่นอกตัว ไม่ได้อยู่ในครอบครัว ไม่ได้อยู่ในแวดวงกลุ่มเพื่อน สิ่งอื่นๆ ที่อยู่วงถัดออกไป การท่องเที่ยว เป็นศัพท์ที่เพิ่งเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อก่อนนี้คนไทยไม่เที่ยว เที่ยวไม่เป็น มีแต่ไปเยี่ยมญาติ ไปหาวัตถุดิบ ไปหาทรัพยากร ไปหาของป่า ไปล่าสัตว์ ไปทำบุญ จนพระบรมวงศานุวงศ์ไปเรียนที่ยุโรปกลับมา ถึงมีกำเนิดการท่องเที่ยวในประเทศไทย”