ห้ามถุงพลาสติก ง่ายกว่าห้าม‘ฝุ่นควัน’

ห้ามถุงพลาสติก ง่ายกว่าห้าม‘ฝุ่นควัน’

เหตุผลง่ายๆ เพราะต้นเหตุส่วนใหญ่ของมลพิษฝุ่นควันทั้งจากในป่าในเมืองมันคือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

.....................

ปฏิกิริยาจากการเลิกแจกถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ มีตั้งแต่ความไม่สะดวก การตั้งคำถามว่านโยบายนี้แอบเอื้อให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนและให้ผู้บริโภคแบบรับความไม่สะดวก การไม่เห็นด้วยกับวิธีหักด้ามพร้า ทำไมไม่ใช้ระบบสมัครใจ ไปจนถึงตั้งคำถามกับธุรกิจว่าควรจะลงทุนเอาถุงกระดาษหรืออย่างอื่นมาทดแทนสิ

ทั้งๆ ที่กระแสลดการใช้ถุงพลาสติกเป็นกระแสใหญ่ของโลก ขยะในมหาสมุทรมันชัดเจนมาก ระดับที่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์รายได้สูง Aquaman หยิบกระแสนี้แทรกในหนัง ตอนที่มาเรียมตายตอนนั้นนึกว่าสังคมไทยทั้งสังคมจะเป็นเอกฉันท์ว่าเราควรหยุดถุงพลาสติกได้แล้ว แต่ที่สุดมันก็ยังไม่เอกฉันท์เสียทีเดียว

การจะเปลี่ยนพฤติกรรมและความเคยชินของสังคมเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แม้ว่าประสบการณ์ของมนุษย์เราสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้โดยตลอด

ขาที่เปลี่ยนให้มันสบายขึ้นก็ง่ายหน่อย สมัยก่อนโน้นราว 40 ปีมาแล้ว เดินไปซื้อกาแฟ-โอวัลตินอาเจ่กปากซอย ใส่กระป๋องนมข้นร้อยเชือกฟางมาบ้าน พอมีถุงร้อนอาเจ่กก็สะดวกขึ้นไม่ต้องมาร้อยเชือกกระป๋องเตรียม หรือร้านค้าใหญ่ๆ ในตลาดมีถุงกระดาษตรายี่ห้อตัวเองบรรจุสินค้าให้ แต่เมื่อถุงก๊อบแก๊บที่ง่ายกว่าสะดวกกว่าและถูกกว่ามาถึง พฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไปทั้งร้านและตัวอย่างที่ยกมาคือขาที่ทำเรื่องยากให้ง่าย...

ส่วนขาที่เปลี่ยนจากง่ายมาเป็นยุ่งยากลำบากขึ้น เราก็ปรับเปลี่ยนกันมาเช่นกัน ถนนสองเลนแต่เดิมเลี้ยวขวาเข้าบ้านได้เลย สะดวกจะตาย แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นถนนสี่เลน รถต้องวิ่งไกลขึ้น ยูเทิร์นยาก เราก็ยอมเปลี่ยนตามจนที่สุดก็ชิน อันที่จริงมนุษย์เรานั้นสามารถจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ถ้าเปรียบเทียบว่าเปลี่ยนแล้วจะได้ประโยชน์อะไรอีกอย่างมาแทน

ที่สุดแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกรวมไปถึงการแยกขยะ ฯลฯ คงจะสำเร็จในอนาคตอันใกล้ เพราะกระแสโลกว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศเป็นกระแสหลักไปแล้ว ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างนี้ก็เพียงการไม่เห็นด้วยกับวิธีหักดิบเป็นสำคัญ

ซึ่งดูๆ แล้วการช่วยโลกลดพลาสติก คงง่ายกว่าการพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมสังคมเพื่อแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควัน ที่ยากกว่า ยุ่งกว่า และซับซ้อนกว่าหลายเท่า!

เหตุผลสำคัญก็คือ ต้นเหตุส่วนใหญ่ของมลพิษฝุ่นควันทั้งจากในป่าในเมืองมันคือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของมนุษย์เรานั่นแหละ

ยกตัวอย่าง pm 2.5 จากท่อไอเสียดีเซล รถยนต์นี่เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรง ไม่ต้องรถสิบล้อขนส่งโลจิสติกส์อะไรหรอก รถบ้านไปส่งลูกไปทำงานก็ถือเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเช่นกัน มีผู้ผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดซึ่งต้องเพิ่มมาตรฐานไอเสียซึ่งแน่นอนกระทบสายพานการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์แสนๆล้าน มันจึงเป็นความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์เศรษฐกิจกับฝ่ายได้รับผลกระทบ(ที่กระทบถึงทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจตามมาด้วย)

การเผาในพื้นที่เกษตรเป็นวิธีการจัดการที่มีต้นทุนถูกสุด ไม้ขีดก้านเดียวเมื่อเทียบกับต้องจ้างแรงงานถางและรถไถ แปลงเกษตรในภาคเหนือที่มีฝุ่นควันเยอะๆ ไม่ใช่มีแค่พื้นราบเท่านั้น หากยังอยู่ในเขตป่าแต่ตัวเลขของทางการดันไปชี้เป็นไฟในเขตป่า บางพื้นที่เป็นดอยสูงลาดชัน เอาเครื่องจักรขึ้นไปแพงและเสียเวลา ชาวบ้านยากจนจะมีปัญญาใช้เครื่องจักรได้อย่างไร มันจึงยังต้องใช้ไฟ ยกเว้นรัฐจะอุดหนุนเท่านั้นจึงเป็นไปได้

ขนาดอุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลที่มีไฟและหิมะดำรบกวนผู้คน ภาคอีสานที่ไม่เคยเจอมลพิษก็ได้เจอ แต่เมื่อจะจัดการจริงๆ กลับต้องใช้เวลา 3 ปีเพื่อจัดการเปลี่ยนเทคโนโลยีไม่ให้มีการเผาไร่อ้อย นี่ขนาดเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกหนุนหลังยังต้องขอเวลา

การเผาที่เกิดในประเทศส่วนใหญ่เป็นไฟที่มนุษย์จุดขึ้น แม้กระทั่งไปหาของป่า ล่าสัตว์บางคนก็ใช้ไฟ แถมบางถิ่นก็มีความเชื่อด้วยว่าต้องใช้ไฟล้างป่าเพื่อให้เห็ดและผักป่างอกงาม นี่ก็ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตรงๆ

ยิ่งในพม่าลาวยิ่งชัดเจนขึ้นเพราะการบุกเบิกป่าเป็นแปลงเกษตรก็เพื่อส่งออกไปยังตลาดประเทศใหญ่กว่า ฮอตสปอตสีแดงรอบๆ พรมแดนมาจากการเกษตรเป็นหลัก นี่ก็ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ดังนั้นการที่จะพยายามแก้ปัญหาโดยการห้ามเผามันจึงแทบเป็นไปไม่ได้

ไม่ได้ไปห้ามเพื่อนบ้านหรอก เอาแค่ในบ้านตัวเองนี่แหละ จะห้ามรถวิ่งได้อย่างไร มีแต่รัฐต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็น B10 นี่เป็นการแก้ปัญหาที่ละมุนละม่อม เพราะผลประโยชน์ของผู้ค้าน้ำมันไม่ได้ลดลงมาก แต่หากถึงขั้นสั่งให้เปลี่ยนมาตรฐานเครื่องยนต์ อันนี้วางไว้ก่อน ยิ่งสั่งหยุดหรือสลับไม่ให้รถวิ่ง นี่จะถูกแรงกระแทกกลับมาแน่นอน เพราะผลประโยชน์ด้านสุขภาพ นั้นขัดแย้งกับ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจปากท้อง โดยตรง

นี่คือหัวใจของปัญหามลพิษฝุ่นควันที่ลึกลงไปกว่าคำว่า ‘ดับไฟ’!

เพราะหากจะดับไฟหรือแหล่งกำเนิด pm2.5 ให้ได้ผล ที่แท้ก็ต้องไปเปลี่ยนแปลงการผลิต หรือเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน ซึ่งนี่ควรจะเป็นหัวใจของนโยบายแก้ปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควันที่แท้จริง

แต่ปรากฏว่า การพยายามแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันของเรายังไปไม่ถึงขนาดนั้น อย่างเก่งก็แค่เปลี่ยนเทคโนโลยีการตัดอ้อย และเปลี่ยนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น B10 และหากมองเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่ประสบปัญหาเป็นประจำทุกปี แหล่งกำเนิดของพื้นที่ก็ไม่เกี่ยวกับไร่อ้อย หรือปริมาณรถมหาศาลแต่อย่างใด มีแต่จังหวัดเชียงใหม่จังหวัดเดียวกระมังที่มีประชากรรถมาก ส่วนลำพูน ลำปาง พะเยา รถยนต์ไม่มากแต่ก็อ่วมฝุ่นควัน นั่นเพราะสัดส่วนของมลพิษฝุ่นควันของภาคเหนือมาจากการเผาป่า/เผาเกษตร เป็นสัดส่วนใหญ่สุด

จะไปเปลี่ยนการผลิตของภาคเกษตร ที่แท้ก็คือ การยกระดับการผลิตของชนบทให้ยั่งยืนกว่า ได้ผลตอบแทนมากกว่า

การแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันในภาคเหนือกับการเปลี่ยนภาคการผลิตในชนบท และดอยสูงเป็นเรื่องเดียวกัน แน่นอนมันยุ่งยากเพราะดันมีปัญหาเรื่องที่ทำกินทับซ้อนมากมาย ขนาดตำบลทั้งตำบลอยู่ในเขตป่า ชาวบ้านจะปลูกอะไรที่ยืนต้นก็ไม่ได้ (เพราะติดเงื่อนไขไม่ได้เป็นที่ดินของตน จะมีความผิดตามกฎหมายป่าไม้) ปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินเลยเป็นปมสำคัญของการแก้มลพิษฝุ่นควันไปอีกเรื่อง เห็นไหมว่ามันซับซ้อน

ถึงได้บอกว่า การห้ามถุงพลาสติกน่ะง่ายกว่าห้ามมลพิษฝุ่นควันเป็นไหนๆ