‘คลองเตยดีดี’ ปรับพื้นที่ สร้างโอกาส

‘คลองเตยดีดี’ ปรับพื้นที่ สร้างโอกาส

โครงการที่มีฝันของชาวชุมชนคลองเตยเป็นฐาน มีพันธมิตรทั้งภาคธุรกิจและวิชาการเป็นตัวขับเคลื่อน

เมื่อเอ่ยถึง ‘ชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่’ น้อยคนนักที่จะรู้จัก แต่ถ้าพูดว่า ‘ชุมชนคลองเตย’  หลายคนคงมีภาพจำด้านลบจากข่าวสารในอดีต ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด หรือความรุนแรงต่างๆ เดิมชุมชนแห่งนี้เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ที่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางความเจริญของกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อม่ีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น ได้ขยายพื้นที่ออกไปจนปัจจุบันมีขนาดถึง 70 ไร่ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชุมชนคลองเตยได้พยายามปรับตัวและแก้ปัญหาของตนเอง โดยร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จนวันนี้พวกเขาอยากบอกกล่าวกับสังคมว่า...คลองเตยมีดี

 

บ้านแห่งโอกาส

“ผมเป็นคนที่นี่ แต่ไม่ได้เกิดที่นี่ ย้ายมาจากสมุทรปราการตั้งแต่อายุ 12 ตามญาติมาเปิดร้านขายของ ทำขนมขาย สมัยก่อนที่นี่เป็นสลัม ทางเดินไม้กระดานแผ่นเดียว เวลาเดินลำบากมาก จากนั้นก็มีคนมาอยู่มากขึ้น มาจากต่างจังหวัดบ้าง มาทำงานบ้าง มาเป็นกรรมกรบ้าง มาขายของบ้าง เมื่อก่อนแถวนี้เป็นท้องไร่ท้องนา ทางท่าเรือไม่ได้เข้มงวดกวดขันมากนัก เป็นเนื้อที่ว่างๆ เปล่าๆ” ทองคำ แซ่โค้ว รองประธานชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ ย้อนอดีตและว่า เขามีความผูกพันจนลงสมัครเป็นคณะกรรมการชุมชนตอนอายุ 20 กว่าๆ

“เพื่อนชักชวนมา เราเห็นว่าพอจะช่วยเหลือสังคมได้บ้างก็มาทำ แต่มาลงเต็มตัวเต็มที่ตอนอายุ 30 ดูแลเรื่องน้ำ เรื่องขยะ เรื่องความปลอดภัยในชุมชน น้ำไฟเราก็ติดต่อทางเขตทางหน่วยงาน พออายุ 53 ก็เป็นประธานชุมชน รับผิดชอบมากขึ้น หลายเรื่อง คนไหนมีปัญหาเรื่องทะเบียนบ้าน ผมจะพาเขาไปที่เขต ไปรับรองเขา ตอนนี้ในชุมชนมีความรักใคร่กันดี 70 ไร่นี่ไม่น้อยนะ 1183 หลังคาเรือน แล้วยังมีคนที่อยู่โดยไม่มีทะเบียนบ้านอีกเยอะ ผู้นำ 49 ชุมชน เรารู้จักกันหมด เป็นมิตรกัน มีปัญหาอะไรก็ปรึกษากัน

ปัญหาเมื่อก่อนกับตอนนี้จะต่างกัน เมื่อก่อนจะลบตลอด ออกข่าวหนังสือพิมพ์บ่อย เป็นนักเลง เป็นมาเฟีย เป็นพ่อค้ายา มีเฮลิคอปเตอร์บินมาลงที่ 70 ไร่แห่งนี้ ปัญหาเรื่องยาเสพติด การพนัน นักเลง ตอนนี้ไม่มีแล้ว มีความเจริญเข้ามาเยอะ ทางเขต ทางสน.ก็ให้ความร่วมมือกับชุมชน ปัญหาตอนนี้คือเรื่องขยะ ยังทิ้งขยะสะเปะสะปะกันอยู่ อันดับสองเรื่องท่อระบายน้ำ เราไม่ได้วางแผนวางท่อให้ใหญ่โต ท่อที่มียังเล็กอยู่ ส่วนปัญหาไฟไหม้ลดน้อยลง เพราะเรามีถังดับเพลิงเยอะ คอยป้องกัน พยายามสื่อตามสายให้ชาวบ้านดูแลเรื่องสายไฟ” 

นอกจากจะแก้ปัญหาสะสมภายในชุมชน ชาวคลองเตยยังพยายามสร้างโอกาสให้กับเยาวชน โดยหนึ่งในโครงการที่ทำต่อเนื่องมาถึง 3 ปีแล้ว นั่นคือ ‘คลองเตยดีดี’ 

“ผมภูมิใจที่คุณแป้ง(นวลพรรณ ล่ำซำ) เขามองเห็นชุมชน ดีใจมาก ที่เมืองไทยประกันภัยลงมา ชุมชนขาดเหลืออะไรเขาก็ช่วยเหลือเต็มที่ ดีมากเลยครับ เรารู้จักเขามา 3 ปี เขาเข้ามาให้คำปรึกษา พาเด็กไปสอน ไปหัดฟุตบอล ให้มีทักษะ หาอุปกรณ์มาให้ เรามีสนามบอล เขาบอกว่าจะปรับปรุงสนามฟุตบอลใหม่ให้เป็นมาตรฐาน เขาไม่ใช่คนคลองเตย แต่เขารักคนคลองเตย เวลามีอะไรดีๆ เขาก็มาช่วยคนคลองเตย มีคนอย่างคุณแป้งมาสนับสนุนหรือมาแก้ไขชุมชน ผมว่าดีที่สุด" ทองคำ บอกถึงความรู้สึก ก่อนจะเล่าถึงความฝันในการพัฒนาชุมชนของตนเองว่า

"นอกจากปรับปรุงสนามใหม่แล้ว ผมอยากให้มีการจัดระเบียบชุมชน ให้ความรู้กับชุมชน ด้านขยะ ด้านกีฬา แล้วก็เรื่องเด็ก เยาวชน เพราะเด็กๆ ยังมีความอ่อนไหวเยอะ” 

 

หาคนร่วมฝัน

หลังจากร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนมาระยะหนึ่งแล้ว ในปีนี้โครงการเมืองไทยดีดีได้สานต่อแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่เพื่อคุณภาพชีวิตของชุมชนคลองเตย โดยการจับมือกับ

Harvard Graduate School of Design สถาบันบัณฑิตศึกษา Harvard University สาขาสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมภูมิทัศน์ การวางแผนเมือง การออกแบบเมือง ภายใต้โครงการ

The New Landscapes of Equity and Prosperity การพัฒนาพื้่นที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตเพื่อความเท่าเทียมและความมั่นคง ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วในหลายประเทศตั้งแต่ปี 2555 โดยในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มี 4 ประเทศ ได้แก่ มะนิลา ฟิลิปปินส์,  กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย,  จาการ์ตา อินโดนีเซีย, เซียเหมิน จีน และล่าสุดกำลังจะเกิดขึ้นในเมืองไทย นั่นคือที่คลองเตย

“เรามุ่งเน้นบูรณาการวิชาสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตย์ การออกแบบผังเมือง ไปสู่แขนงต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาในสังคมโลก เช่น ปัญหาในคลองเตย ก็เป็นหนึ่งในพันธกิจเช่นเดียวกัน เรามีนักศึกษาทั้งหมด 900 คน สตาฟอีกกว่า 100 คน เป็นผู้ชำนาญการด้านการออกแบบพัฒนาพื้นที่สู่สังคม นอกจากนี้ยังมีพันธกิจพัฒนาพื้นที่ทั่วโลกเพื่อต่อต้านด้าน Climate Change รวมถึงสร้างสาธารณูปโภคให้กับพื้นที่นั้นๆ ด้วย การออกแบบสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นแก่โลกนี้ได้ 

เราเห็นเมืองไทยประกันภัยเข้าไปพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคมอย่างใกล้ชิดกับชุมชนคลองเตยมาโดยตลอด ผ่านกีฬาหรือกิจกรรมอื่นๆ ทำให้เห็นความเชื่อมโยงบางอย่าง ที่เราจะสามารถแก้ปัญหาในชุมชนได้อย่างง่าย มองเห็นว่าสามารถทำอะไรได้บ้างในชุมชนนี้ เราได้ไปลงพื้นที่แล้วเห็นว่า ชุมชนนี้สิ่งที่ยังขาดน่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ นี่เป็นโอกาสอันดีที่ทางฮาร์วาร์ดจะได้ร่วมมือกับเมืองไทยประกันภัยสร้างสิ่งดีๆ พัฒนาคลองเตยอย่างยั่งยืน เป็น New Shutter หน้าใหม่ๆ ของคลองเตย

โปรเจ็กท์นี้ The New Landscapes of Equity and Prosperity มี ศาสตราจารย์ Anita Berrizbeitia หัวหน้าแผนกภูมิสถาปัตยกรรม อาจารย์สาขาการวางแผนเมือง การออกแบบเมืองและสถาปัตยกรรม รวมถึงคณะอาจารย์ สตาฟต่างๆ ที่ฮาร์วาร์ด และผู้มีประสบการณ์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย รวมถึงเมืองไทยประกันภัยช่วยรวมรวมข้อมูลให้เราสามารถกำหนดกรอบการดำเนินงานได้ง่าย ตรงจุดยิ่งขึ้น เพื่องานที่มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน" Sarah M. Whiting คณบดี Harvard Graduate School of Design พูดถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้น

การทำงานทั้งหมดถูกกำหนดไว้ 3 ลำดับขั้น ขั้นแรกคือเตรียมพร้อม เตรียมข้อมูลพื้่นที่ ศึกษาวิจัย ก่อนลงพื้นที่จริง ตามมาด้วยการปฏิบัติให้นักศึกษาเข้ามาสำรวจในพื้นที่และร่วมออกแบบว่าหน้าตาคลองเตยดีดีจะออกมาเป็นอย่างไรในลักษณะผลงานวิจัย และในส่วนสุดท้ายคือการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตร เพื่อนำแผนแม่บทนี้ไปพัฒนาได้อย่างแท้จริง 

ฝันที่เป็นจริง

ไม่ใช่แค่ฝันของคนคลองเตย แต่ก็แบ่งปันโอกาสให้กับคนในสังคมถือเป็นฝันของผู้บริหารหญิงเก่งอย่าง นวลพรรณ ล่ำซำ เช่นกัน ในโอกาสการเปิดตัวโครงการคลองเตยดีดี ที่ได้พาร์ทเนอร์ระดับโลกของฮาร์วาร์ด กรรมการเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเมืองไทยประกันภัยจำกัดมหาชน ประธานสโมสรการท่าเรือเอฟซี กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการทำโครงการนี้ว่า

“เมืองไทยประกันภัย เราเป็นหน้าอกเสื้อของนักฟุตบอลท่าเรือมาโดยตลอด พนักงานเมืองไทยประกันภัยมีทั้งหมด 1,400 กว่าชีวิต เมื่ีอปี 57 เราได้ตั้งโปรเจ็กท์อาสากล้าใหม่ จากปี 57 ถึงปี 62 เราผลิตอาสากล้าใหม่ได้ 56 ชุด พนักงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน บริษัทจะให้เงิน 10,000 บาท แก่ทุกคนเพื่อไปทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม คนที่ชอบเรื่องสัตว์สงวนก็ไปทำเรื่องเลียงผา บางคนไปปลูกป่าชายเลน บางคนทำเรื่องขยะ เรามีโรงเรียนอะคาเดมี่กับปทุมคงคา เรามีคลินิกฟุตบอลในคลองเตย

ล่าสุดจับมือกับสถาบันการศึกษาระดับโลกอายุกว่า 370 ปี คือ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งทำโปรเจ็กท์นี้มาแล้วในหลายๆ เมืองด้วยกัน เราภูมิใจที่เขาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์และเลือกชุมชนคลองเตยเป็นการจุดพลุ เขาจะส่งอาจารย์และนักศึกษามาลงพื้นที่่คลองเตย ผลสรุปเป็นยังไง จะเป็นรีเสิร์ชออกมา”

นวลพรรณเปิดใจต่อว่า “ย้อนกลับไปเมื่อปี 58 แป้งมีโอกาสได้รับเกียรติให้มาเป็นประธานสโมสรการท่าเรือเอฟซี มีคำถามมากมายว่า ผู้หญิงจะมาทำทีมฟุตบอล ที่มีตำนาน ก่อตั้งเมื่อปี 2510 ได้หรือไม่ เพราะว่าเคยทำแต่ฟุตบอลหญิง เป็นผู้จัดการทีมชาติฟุตบอลหญิงมา 12 ปี จะมาทำฟุตบอลผู้ชายที่เป็นฟุตบอลอาชีพได้ไหม คำตอบคือ ปีแรกเราตกชั้นลงไป แต่แฟนบอลยังมีความภาคภูมิใจในทีมท่าเรือ คนอาจจะมองว่าเราฮาร์ดคอร์ สนาม PAT Stadium ของเราได้ชื่อว่า นรกของทีมเยือน การตกชั้นเป็นบทเรียนที่ได้เรียนรู้ ตลอดชีวิตในการทำงานของแป้ง แป้งเริ่มนับหนึ่งตลอด 

ปี 58 ในวันสุดท้าย ได้สัญญากับแฟนบอลและนักฟุตบอลของเราทุกคนว่า เราจะนำทีมกลับมาให้ได้ ในปีถัดไป เราก็ทำได้สำเร็จ สิ่งนี้ไม่สามารถทำได้ด้วยคนๆ เดียว ต้องทำเป็นทีม โดยเฉพาะฟุตบอล มันเป็นทีมเวิร์ค รวมทั้งแฟนบอล ทุกอย่างทำให้เราได้ก้าวขึ้นมา ปีที่แล้วเราได้แชมป์เอฟเอคัพ ในรอบ 10 ปี และเป็น 5 ปีที่แป้งได้ทำ เราจบลงด้วยลำดับที่ 3 ในไทยลีก เป็นความภาคภูมิใจของชาวท่าเรือ ทีมท่าเรืออย่างแท้จริง"

สำหรับการได้ร่วมงานกับสถาบันการออกแบบระดับโลก Harvard Graduate School of Design นวลพรรณมองว่าเป็นการรวมพลังแบบ East Meets West ใช้ความรู้และนวัตกรรมของ Harvard Graduate School of Design ผสมผสานกับความรู้และประสบการณ์ในพื้นที่ของคนคลองเตย รวมถึงความตั้งใจจริงของเมืองไทยประกันภัยพัฒนาชุมชนคลองเตยที่เปรียบได้กับบ้านของชาวเมืองไทยประกันภัยและแฟนฟุตบอลสโมสรการท่าเรือ

“ปัญหาในชุมชนคลองเตยทางกายภาพ คือเรื่องขยะ เรื่องแสงสว่างในชุมชน เรื่องไฟไหม้ ส่วนปัญหาทางสังคมศาสตร์คือ เรื่องความไม่มั่นคงทางที่อยู่อาศัย ความรุนแรงในครอบครัว เรื่องยาเสพติด แป้งและทีมงานจะค่อยๆ ทำ เสมือนฟันเฟืองตัวเล็กๆ เราจะเริ่มนับหนึ่ง พยายามทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น แต่จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากเจ้าของบ้านคือคนในชุมชนคลองเตย เราจะก้าวไปด้วยกัน ถ้าเรามีความฝัน แป้งเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้ในวันต่อๆ ไป”

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาขยะอาจจัดให้มีธนาคารขยะ เพื่อนำเงินมาตั้งเป็นกองทุน ขยะที่รีไซเคิลไม่ได้อาจแปรรูปเป็นพลังงานเพื่อตอบโจทย์เรื่องแสงสว่างที่ไม่เพียงพอในชุมชน ปัญหาเรื่องไฟไหม้ เน้นการป้องกันที่ต้นเหตุ ด้วยการให้ความรู้ การดูแลระบบไฟ และการดับเพลิง 

"อีกปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากคือ แม่วัยใส หรือท้องไม่พร้อม ปี 56-57 ประเทศไทยมีแม่อายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นอันดับสองของโลก เป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย แล้วมีการเกิดท้องซ้ำไปเรื่อยๆ เราต้องทำให้ผู้หญิงเข้มแข็งขึ้น นี่คือเส้นทางที่เราจะทำในปีนี้” นวลพรรณ กล่าวทิ้งท้าย

 แน่นอนว่าถ้าโครงการทั้งหมดนี้สำเร็จลุล่วง คลองเตยดีดีจะเป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจเอกชน วิชาการและชุมชน ในการสร้างสังคมดีดีต่อไป