ฝุ่นข้ามปี PM 2.5

ฝุ่นข้ามปี PM 2.5

แม้จะเข้าสู่ปีใหม่ แต่สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ดีขึ้น เมื่อวิกฤตนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ คงต้องหาทางกันว่าจะอยู่อย่างไรให้ยังมีชีวิตรอดถึงปีหน้า

 

ตื่นตัวกันหนักมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา กับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 หลายมาตรการถูกเข็นออกมารับมือ แต่ผลลัพธ์คือทันทีที่อากาศนิ่งคราใด ฝุ่นร้ายก็กลับมาปกคลุมขึ้นตัวแดงครานั้น

 

  • ปีนี้สีแดง

ตลอดปีนี้ที่กำลังจะผ่านไปนับเป็นอีกปีที่วิกฤตฝุ่นพิษยังแผลงฤทธิ์อย่างรุนแรง ถึงแม้ในปีก่อนๆ ผู้คนจะตระหนกตกใจจนทำให้หน้ากากอนามัยประเภท N95 ขาดตลาด พ่อค้าแม่ขายถึงขนาดกักตุนสินค้าแล้วบวกราคาจนกลายเป็นซ้ำเติมสถานการณ์ก็มีให้เห็นมาแล้ว

ในขณะที่กระแสสังคมเริ่มสร่างซา บางคนรับรู้ว่าปัญหายังมีอยู่ แต่ปฏิบัติตัวอย่างคุ้นเคยเหมือน PM 2.5 เป็นเพื่อนบ้านที่เห็นหน้ากันทุกวี่วัน ซึ่งในความเป็นจริง สถานการณ์ยังอยู่ในชั้นวิกฤต หลายพื้นที่ยังมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน มิหนำซ้ำยังกระทบต่อสุขภาพ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร เวลา 13.00 น. ของวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ตรวจวัดค่าได้ 28 - 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) แม้ปริมาณฝุ่นละอองจะมีแนวโน้มลดลงจากช่วงเช้าของวันเดียวกัน แต่ยังพบว่าเกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีส้ม) มากถึง 5 สถานี ได้แก่ ริมถนนพระราม 3-เจริญกรุง เขตบางคอแหลม 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ 58 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และ ต.ปากน้ำ อ.เมือง สมุทรปราการ 53 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ในวันดังกล่าวยังพบคุณภาพอากาศในระดับปานกลางอีก 40 สถานี ซึ่งตัวเลขค่าฝุ่นละอองนั้นแปรผันอยู่เกือบทุกวัน บางวัน บางพื้นที่ รุนแรงจนเป็นพื้นที่สีแดง ทั้งหมุนเวียนและซ้ำเดิมอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน

 

  20190120155213979

 

ความเลวร้ายที่เป็นดั่งฝุ่นตลบอลอวลมาตลอดปี เคยขึ้นถึงขีดสุดมาแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เองจนถึงขั้นทำให้เมืองหลวงของไทยได้ติดอันดับโลกแบบที่ไม่มีใครอยากติด ข้อมูลจากแอพพลิเคชั่น Air Visual ระบุว่า สภาพอากาศโดยทั่วไปของกรุงเทพมหานคร ตามมาตรฐาน US AQI อยู่ที่ 136 (PM 2.5 อยู่ที่ 57.8 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ติดอันดับที่ 12 เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก

ซึ่งดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) คือระบบสำหรับการรายงานความรุนแรงของระดับคุณภาพอากาศ โดยระดับ 0-50 แสดงถึงอากาศดี ระดับ 51-100 ปานกลาง 101-150 ไม่ดีต่อสุขภาพสำหรับกลุ่มที่อ่อนไหว 151 – 200 ไม่ดีต่อสุขภาพ 201 – 300 ไม่ดีต่อสุขภาพมาก และ 301 – 500 เป็นอันตราย

นั่นหมายความว่าปีนี้ที่กำลังผ่านไปเราคนไทยก็ยังได้รับสิทธิสูดฝุ่นพิษกันจนชุ่มปอดเหมือนเดิม

 

  • ปีหน้าอย่าชะล่าใจ

ถึงบางคนจะเริ่มละเลยที่จะปกป้องตัวเอง มองเป็นเพียงฝุ่นผงที่เข้าตา แต่อย่าลืมว่าข้อมูลทางการแพทย์ยังตอกย้ำเสมอว่านี่คือภัยร้ายที่ถึงตายได้เลย

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ หัวหน้าหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัด วิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่าฝุ่นละอองทั่วไปจะมีอนุภาคขนาดเล็ก คือเล็กกว่า 10 ไมครอน เข้าไปในระบบทางเดินหายใจได้ แต่ฝุ่นที่กำลังปกคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองใหญ่อีกหลายเมือง มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน จะเข้าสู่กระแสเลือดได้ทันที ทั้งสองชนิดส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพ โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า ทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่นละออง จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิต (ที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ อาชญากรรม และการฆ่าตัวตาย ) 0.6 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นการตายจากโรคระบบทางเดินหายใจ จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คือ 1.3 เปอร์เซ็นต์ และในระยะยาวอัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ ในทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้น

ด้วยความที่ฝุ่น PM 2.5 ไม่มีกลิ่น มีขนาดเล็กมาก จึงผ่านเข้าไปในร่างกายได้ถึงถุงลมปอด บางส่วนเล็ดลอดผ่านผนังถุงลมปอดเข้าไปในเส้นเลือดฝอยล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายได้

“ฝุ่น PM 2.5 ที่เข้าไปในร่างกายนั้น จะกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ รบกวนสมดุลต่างๆ ของร่างกาย และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบ ซึ่งมีอันตรายต่อเนื้อเยื่อในร่างกาย และส่งผลกระทบต่างๆ ตามมา เช่น กระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง กระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

สำหรับผลระยะยาวจะทำให้การทำงานของปอดถดถอย อาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้ แม้ว่าคุณจะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และเพิ่มโอกาสทำให้เกิดมะเร็งปอดได้อีกด้วย”

 

20190121163433829

 

นอกจากนี้ นพ.ชายชาญ ยังเปิดเผยข้อมูลการเสียชีวิตรายวันและความเจ็บป่วยของประชาชนใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2559 และ 2560 ที่เขาใช้เป็นพื้นที่ศึกษาว่า โรงพยาบาลเชียงดาว มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในห้องฉุกเฉิน 950 ราย สาเหตุจากโรคถุงลมโป่งพอง 360 ครั้ง ปอดอักเสบ 319 ครั้ง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 30 ครั้ง โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) 221 ครั้ง เสียชีวิตในโรงพยาบาล 68 ราย นอกจากนี้ยังมีเสียชีวิตในชุมชนถึง 477 ราย ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกว่าระดับมลพิษที่เข้มข้นขึ้นนั้นสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพในระดับรุนแรง

“ทางสถิติพบว่า การเสียชีวิตรายวันในโรงพยาบาล สัมพันธ์กับระดับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ทุกๆ 10 ไมโครกรัม อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น 0.15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของ PM 10 และ PM 2.5 สัมพันธ์กับการนอนโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ในปี 2549-2552 ผมได้ศึกษาในตัวเมืองเชียงใหม่ ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลใหญ่ๆ พบว่าคนไข้ที่เป็นหอบหืดกับถุงลมโป่งพองกำเริบมากขึ้นในช่วงนี้”

ในต่างประเทศก็มีงานวิจัยคล้ายกัน และผลวิจัยก็น่าตกใจคือ ทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่ PM 2.5 เพิ่มขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด 8-14 เปอร์เซ็นต์ และอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและโรคปอดเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์

และจากข้อมูลขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ถ้าค่าเฉลี่ยทั้งปีมีฝุ่น PM 2.5 เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าอันตรายแล้ว

คำถามคือแล้วค่าเฉลี่ยของประเทศไทย...ปาไปเท่าไร?

 

  • เราจะรอดตายไปด้วยกัน

มาทบทวนกันอีกสักรอบฉบับย่อว่าฝุ่น PM 2.5 คืออะไร แล้วทำไมจึงมีมากในประเทศไทย

โดยฝุ่น PM 2.5 เป็นอนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมหาศาลจะมองเห็นเป็นหมอกควันอย่างที่หลายคนยังเข้าใจผิดแล้วเผลอสูดเข้าไปเต็มปอด

ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝุ่น PM 2.5 สะสมรวมกันอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก็เพราะกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่รายล้อมไปด้วยตึกสูง มีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 ปกติแล้วฝุ่นเหล่านี้จะลอยขึ้นไปรวมตัวกันในอากาศในช่วงกลางคืน ก่อนที่จะถูกลมพัดฟุ้งกระจายจางหายไปในยามเช้า

แต่หากวันไหน อากาศนิ่ง ไม่มีลมพัด จะทำให้ฝุ่น PM 2.5 ไม่ฟุ้งกระจาย เกิดการสะสมของฝุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนระดับความเข้มของฝุ่นในพื้นที่นั้นๆ เข้าสู่ระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนกลายเป็นปัญหาทางมลภาวะทางอากาศในที่สุด

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เรารับรู้ถึงปัญหานี้ หลายฝ่ายต่างหาวิธีการแก้ไขและรับมือ ยกตัวอย่างเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รถไฟฟ้าบีทีเอสและกรุงเทพมหานครได้ร่วมกันติดตั้งระบบพ่นละอองน้ำบริเวณสถานี แม้ไม่ใช่ทางออกของปัญหา ทว่ายังช่วยบรรเทาได้

 

20190930125133814  

 

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส บอกว่า รถไฟฟ้าบีทีเอสได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ดำเนินการติดตั้งระบบพ่นละอองน้ำที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่กระจายอยู่ในระดับเกินมาตรฐาน PM 2.5 และ PM 10 โดยได้ติดตั้งเพิ่มบริเวณสถานีศาลาแดง สถานีสยาม และสถานีอโศก ซึ่งมีประชาชนสัญจรไปมาบริเวณดังกล่าวหนาแน่น หลังจากก่อนหน้านี้ได้ติดตั้งที่สถานีสะพานควาย ซึ่งช่วยลดการกระจายตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี

“หลักการทำงานของเครื่องพ่นละอองน้ำนั้น จะเป็นการจ่ายน้ำผ่านรูขนาดเล็กมาก เพื่อให้หยดน้ำที่พ่นออกมามีการแตกตัวกระจายเป็นอณูเล็กๆ โดยใช้แรงดันน้ำประมาณ 70 บาร์ ผ่านหัวพ่นน้ำ ซึ่งจะสร้างละอองไอน้ำขนาดเล็กมาก ไปดักจับละอองฝุ่นขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

หน่วยงานหรือองค์กรใดทำอะไรได้ก็ทำไป ตราบใดที่ต้นตอก่อให้เกิดฝุ่นพิษยังคงอยู่ ประชาชนคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ต้องรู้จักป้องกันตัวเอง อย่างน้อยก็ให้อยู่รอดปลอดภัยได้ฉลองปีใหม่กับคนที่รัก

วิธีการง่ายๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ ได้ออกมาบอกแล้วบอกอีก ได้แก่ ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ, หลีกเลี่ยงการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง เช่น การเผาพื้นที่เพื่อเตรียมการทำเกษตรกรรม การเผาขยะ หรือวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น, ควบคุมกระบวนการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด, ออกกำลังกายในที่ร่ม หรือที่ฝุ่นน้อย และไม่ควรใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกกำลังกาย, รับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในป้องกันอันตรายที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 เช่น วิตามินซี ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันร่างกายลดปัญหาจากภูมิแพ้ต่อระบบต่างๆ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสารต้านการอักเสบ ช่วยป้องกันความเสื่อมของร่างกายจากการได้รับฝุ่นละออง PM 2.5

และใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่จำเป็นต้องออกข้างนอกบ้าน หรือที่โล่งแจ้ง ซึ่งต้องเป็นหน้ากากอนามัยประเภท N95 เป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจเรื้อรัง

ถึงแม้เรื่องฝุ่น PM 2.5 จะไม่ใช่ปัญหาที่ควรยอมจำนน แต่คงต้องอดทนและดูแลตัวเอง จนกว่าต้นเหตุและปัจจัยจะลดลงหรือหมดไป วันนั้นไม่มีใครรู้ว่าจะต้องผ่านอีกกี่ปีที่เราจะได้สูดหายใจกันได้เต็มปอด

 

  20190123131417643