‘เนติพงศ์’ คราฟต์สงขลา

‘เนติพงศ์’ คราฟต์สงขลา

ทายาทช่างศิลป์ไฟแรง ผู้รีโนเวตลูกปัดบนชุดมโนราห์ สู่งานคราฟต์สไตล์โบฮีเมียนฝีมือคนไทย

 

ใครๆ ก็อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากจะโบกมือลาตำแหน่ง ‘พนักงานออฟฟิศ’ มุ่งสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจอะไรสักอย่าง ธุรกิจอาหารจึงมักอยู่ในอันดับต้นๆ ที่นักลงทุนหน้าใหม่จะนึกถึง อย่างเทรนด์ในปีนี้ ก็ยังคงเป็นยุคที่ชานมไข่มุกฟีเวอร์อยู่วันยันค่ำ หรือเป็นการขายของออนไลน์ที่เฟื่องฟูกันข้ามปีในยุค 4.0 เช่นนี้ แต่จะมีสักกี่คนที่คิดสร้างแบรนด์จากของดีที่อยู่ใกล้ตัว รีโนเวตสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นงานชิ้นใหม่ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

ความหลากสีของลูกปัดบนชุดมโนราห์ เสมือนความซุกซนที่ซ่อนอยู่ภายในเจ้าเม็ดกลมจิ๋วนี้ เมื่อร้อยเป็นลวดลายต่างๆ และประกอบกันเป็นรูปทรงใหม่ๆ ผ่านไอเดียของหนุ่มไฟแรง เจ้าของรางวัลทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560 งานหัตถกรรมลูกปัดมโนราห์ชุมชนบ้านขาว จากลูกปัดที่แสนจะธรรมดา ก็กลายเป็นของตกแต่งบ้านสไตล์โบฮีเมียน และของเครื่องประดับสำหรับสาวๆ ได้

เนติพงศ์ ไล่สาม หรือ ป้อม ในวัย 30 ต้นๆ คือชื่อของผู้ที่ถูกกล่าวถึง เขาเกิดและเติบโตมาในครอบครัวมโนราห์ และ ‘Natipong’ ก็เป็นชื่อแบรนด์ของเขา

เอกลักษณ์ของ Natipong และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์หัตถกรรมลูกปัดมโนราห์บ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา คือ เครื่องประดับสีสดลวดลายแปลกตาคล้ายชุดมโนราห์ ซึ่งเป็นความงดงามของวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ถูกถ่ายทอดผ่านผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบทั้งเครื่องประดับ กระเป๋า เสื้อผ้า หรือจะเป็นของแต่งบ้านอย่างโคมไฟ แจกัน

  2

เนติพงศ์ ไล่สาม  เจ้าของรางวัลทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560

 

  • เริ่มต้นก็แค่ล้ม

“ผมจบสถาปัตยกรรมมา ก่อนหน้านี้ก็ทำงานออกแบบบ้าน ซึ่งงานประจำมันไม่ตอบโจทย์ชีวิตเรา ง่ายๆ ก็คือรู้สึกว่ามันรวยช้า ซึ่งผมมีกิเลสเยอะมาก ยิ่งทำก็ยิ่งรู้สึกว่ามันขัดแย้งกับตัวเอง ไม่ได้ปล่อยของที่เรามี ทำให้เรามองหาสิ่งใหม่” ความรู้สึกแรกที่เขาอยากเป็นเจ้าของธุรกิจถูกถ่ายทอดผ่านคำพูดที่ไม่ได้สวยหรู ทว่ากินใจนัก

หนึ่งสิ่งที่เขามองเห็นว่าน่าจะทำเป็นธุรกิจส่วนตัวได้ นั่นก็คือพวงกุญแจ เพราะเป็นของแทนใจยามคิดถึงบ้านที่เขาซื้อจากป้าตั้งแต่สมัยเรียน

“วันหนึ่งที่เราอยากมีธุรกิจส่วนตัวแล้วเห็นพวงกุญแจลูกปัดมโนราห์ จำได้ว่าป้าเป็นคนทำ เริ่มมองเห็นสตอรี่ของความเป็นแบรนด์ขึ้นมาลางๆ ที่มีความเป็น DNA ส่งต่อมา เราก็ศึกษาคุณสมบัติของการจะเป็นแบรนด์ว่ามีอะไรบ้างที่จะเอื้อให้เราประสบความสำเร็จ และก็รู้ว่าสิ่งนี้เองที่ผมตามหาแล้วมันตอบโจทย์เราจริงๆ”

จุดเริ่มต้นบนเส้นทางชีวิตที่แสนจะอิสระกำลังจะเริ่มขึ้น ทว่าทุกเส้นทางไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ แต่ระหว่างทางมักมีหนามให้ต้องฝ่าฟัน แบรนด์ในหัวของป้อมมีเค้าโครงของความสำเร็จลอยอยู่ไกลๆ นอกจากเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของลูกปัดมโนราห์ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นที่มีอยู่ในมือ สตอรี่ที่เขาจะใส่ลงไปในแบรนด์ก็คือของแทนใจยามไกลบ้าน ส่งต่อความรู้สึกดีๆ ให้กับผู้ซื้อในอนาคต ทว่าการจะไปถึงเป้าหมายของเขายังคงเป็นเรื่องยาก

ของแทนใจในวันนั้นทำให้เขามีวันนี้ เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาสร้างธุรกิจเล็กๆ ที่ไม่เล็กแล้วในตอนนี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นภายใน 8 เดือน เขาเปลี่ยนงานเป็น 10 แห่ง เพราะสิ่งที่ทำอยู่มันไม่ใช่ตัวเอง เขาวนอยู่ในลูปเดิมเช่นนี้ซ้ำๆ กระทั่งมันทำให้เขาเอ่ยปากกับตัวเองว่า “…กลับบ้านเถอะ”

“ตอนที่กลับบ้านไม่มีเงินทำทุนสักบาท คนเดียวที่ช่วยได้ในตอนนั้นก็คือแม่ เราให้เหตุผลว่า อยากจะมีอะไรสักอย่างเป็นของตัวเอง ก็เริ่มจากเปิดร้านกาแฟเล็กๆ กำไรที่ได้เอาไปซื้อลูกปัดมาฝึกร้อยโดยได้ป้าเป็นครูคนแรกของทางสายนี้”

  ‘เนติพงศ์’ คราฟต์สงขลา

 

  • ความพยายามคือต้นทุนที่ดี

ฝึกปรือสกิลไปเกือบปีก็ทำให้เขาได้เรียนรู้วิธีการร้อย ข้อจำกัดของการร้อยเป็นลวดลายต่างๆ ศึกษาและฝึกฝนไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าตัวเองชำนาญแล้ว เข้าใจในตัวลูกปัดอย่างลึกซึ้งแล้ว จึงคลอดโปรดักซ์แรก นั่นก็คือ โคมไฟ สนนราคา 1,300 บาท

 

ผลงานชิ้นนั้นสร้างความตื่นตาในตลาดออนไลน์อยู่ไม่น้อย จากนั้นโมเดลธุรกิจที่เขามองเห็นก็กว้างขึ้น เริ่มหาหน่วยงานสนันสนุนด้านศิลปหัตถกรรม เพื่อมาซับพอร์ตการสร้างแบรนด์ที่มากกว่าการเป็นแบรนด์โอท็อปของชุมชน เขาเริ่มตีตลาดโรงแรมเพื่อฝากขายสินค้าหัตถกรรมใหม่ๆ ถูกปฏิเสธบ้าง ได้รับการสนับสนุนบ้าง เป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจ

 

แน่นอนว่าดูเหมือนจะไปได้สวย แต่ความไม่ต่อเนื่องของออเดอร์สินค้า ทำให้ธุรกิจนี้สะดุดกลางคัน จนทำให้ป้อมเกือบจะตัดสินใจหวนกลับสู่ชีวิตงานประจำอย่างที่เคยทำมา ด้วยความเป็นห่วงของคนเป็นแม่จึงบอกให้ล้มเลิกเสียก่อนจะขาดทุนไปมากกว่านี้ นั่นกลายเป็นประโยคที่ทิ่งแทงใจเขานัก เมื่อคนสร้างฝันกำลังจะดับฝันเขาลง แต่มันเสมือนแรงผลักดันให้ต้องสู้ต่อไป

“วันนั้นนั่งคุยกับงานบนฝาผนังเลยว่า ถ้าเกิดเราทำด้วยใจจริงๆ แล้วคิดว่าจะไปได้ ช่วยแสดงให้เห็นได้ไหม ช่วยส่งโอกาสมาให้หน่อย แล้วปาฏิหารย์ก็มีจริง เพราะหลังจากนั้นไม่กี่วันศูนย์ศิลปาชีพก็ติดต่อมาบอกว่าเราได้รับรางวัล แล้วก็เชิญเราไปออกงานแสดงสินค้า iicf 2017 งานคราฟต์ที่ใหญ่ของศูนย์ศิลปาชีพ”

และนี่เองที่เป็นช่องทางให้เนติพงศ์ได้เฉิดฉายและเปิดตลาดที่กว้างขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า หลายคนเดินเข้ามาพูดดูด้วยความสงสัย ด้วยความตื่นตาในความแปลกใหม่ และหลายคนยังเข้าใจว่าชุดมโนราห์เป็นเพียงผ้าที่มีสีสันฉูดฉาดเท่านั้น นอกจากเขาจะได้สร้างโอกาสให้ตัวเองแล้ว ยังได้บอกต่ออีกว่าชุดมโนราห์มีความงดงามอย่างไร

 

  • เจียระไนลูกปัดเม็ดงาม

ลูกปัดนับหมื่นเม็ดถูกร้อยอย่างพิถีพิถันที่ละเม็ดๆ จนเป็นชุดมโนราห์ที่ใช้ทำการแสดงอย่างสมบูรณ์ ซ่อนลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์และมีความเป็นมาไว้ กว่าที่แบรนด์ natipong จะเป็นรูปเป็นร่าง เขาต้องเริ่มจากการศึกษาความเป็นลูกปัดมโนราห์ที่มีอยู่ใกล้มือเสียก่อน

“เมื่อก่อนชุดมโนราห์ไม่ได้มีส่วนประกอบของลูกปัดเลย แต่ด้วยวิวัฒนาการในการทำการค้าของชวาและอินเดียที่เป็นคนนำลูกปัดเข้ามา ซึ่งเราได้รับอิทธิพลจากฝั่งอินโดนีเชียก็มีการนำความเป็นลูกปัดเข้ามาผสมผสานในชุดมโนราห์ และที่ต้องมีสีสันนั้นก็เพราะว่าในการแสดงแต่ละครั้งจะเป็นตอนกลางคืน สีสันของลูกปัดเมื่อถูกกับแสงไฟจะสวยสะดุดตากว่าสีเรียบ”

 

เมื่อชิ้นส่วนถูกประกอบเข้าด้วยกัน ลวดลายและสีสันของชุดมโนราห์ที่คล้ายกินรีโลดแล่นเหนือพื้นน้ำ คือจุดเด่นของลูดปัดมโนราห์ By เนติพงศ์ เจ้าของหนุ่มไฟแรงบอกว่าด้วยท่วงท่าและคุณสมบัติของลูกปัดจะมีองค์ประกอบหลักๆ เป็นดอกกับส่วนต่อระย้า เมื่ออยู่ในตัวของมโนราห์และเมื่อสะบัดจะคล้ายๆ ขนนกที่พลิ้วไหว

 

“ส่วนลวดลายนั้น มีวิวัฒนาการจากลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด และส่วนหนึ่งอ้างอิงมาจากลวดลายไทยเข้ามาใส่ในตัวของลูกปัด จึงเกิดเป็นเอกลักษณ์คือมีลวดลายของความเป็นไทย สีสันที่มีความสนุกสนาน สุดท้ายแล้วมันจะอยู่ในตัวของมโนราห์ในลักษณะของกินรีหรือตัวนก”

เขาพยายามดึงความเป็นชุดมโนราห์ออกมาเป็นจุดขาย ผ่านของตกแต่งบ้านที่ไม่บ้านๆ อย่างที่คิด ซึ่งมีตั้งแต่แจกัน โคมไฟ ม่านมูลี่ ผ้าปูโต๊ะ และอื่นๆ ตามออเดอร์ที่ลูกค้าต้องการ โดยหลักๆ แล้วเน้นช่องทางออนไลน์ทางเพจเฟซบุ๊ค 'natipong ลูกปัดมโนราห์' ทั้งยังออกบูธตามงานแสดงสินค้าต่างๆ อย่างเมื่อต้นปีที่แล้วกับงาน ‘อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 9' ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, งาน ‘อะเมซิ่ง พรีเมี่ยมคราฟต์ @มิวเซียมสยาม’ ช่วงต้นเดือนสิงหาคม และล่าสุดสำหรับงานกาดชาดประจำปี ที่สวนลุมพินี

  88

 

  • สู่แบรนด์งานคราฟต์พรีเมียม

นอกจากการเป็นคนสร้างแบรนด์ เขายังมีอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญคือ การเป็นวิทยากรสอนชาวบ้านตามโครงการฝึกอาชีพให้คนในชุมชนมโนราห์ สอนทำพวงกุญแจลูกปัดมโนราห์ ซึ่งประสบการณ์นี้เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศเห็นว่าเขาสามารถถ่ายทอดความรู้ได้สู่ชุมชนได้และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจริงๆ

ที่นี่มีกิจกรรมเวิร์คชอป แบ่งออกเป็น 2 โซนด้วยกัน ด้านหน้าจะเป็นการร้อยพวงกุญแจลูกปัดน่ารักๆ สีสันสะดุดตา โดยจะมีครูผู้สอนประกบอยู่ข้างๆ และถ้าเดินไปตามสะพานไม้อีกสักหน่อย ก็จะเป็นโซนทำไร่ไถนา กับบรรยากาศริมทุ่งที่มีเพียงต้นตาล ทุ่งนา สายลมและแสงแดด

“ตอนนี้แบรนด์ยังต้องพัฒนาอยู่เรื่อยๆ เราตั้งต้นจากการทำของแต่งบ้านขายผ่านเพจเฟซบุ๊คและเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ที่บ้านขาว จังหวัดสงขลา ถามว่าตอนนี้เราก้าวไปไกลถึงระดับโลกไหม ก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ถ้าถามถึงผลงานที่เราภูมิใจและสร้างรายได้ให้กับชุมชนเกือบ 4 แสนบาทในเวลาไม่ถึง 2 เดือน เป็นผลงานที่ใช้ตกแต่งอาคารที่โรงแรมหนึ่งบนเกาะมัลดีฟส์ ซึ่งคนที่ทำงานกับเรา 200 คน ตั้งแต่เด็ก 4-5 ขวบ ไปจนถึงพ่อแก่แม่เฒ่า พวกเขาต่างได้รับผลประโยชน์นี้ร่วมกัน”

 

แม้แบรนด์จะเป็นตัวสร้างชื่อเสียงความเป็นเอกลักษณ์ไทยสู่สายตาโลก แต่จริงๆ แล้ว เขาบอกว่าเน้นการสร้างชุมชนเข้มแข็งในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ลูกปัดมโนราห์ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 18 คน แต่ยังมีเครือข่ายชุมชนที่คอยผลิตสินค้าให้กว่า 8 ชุมชน และมองว่าการรวมกลุ่มกันเช่นนี้จะทำให้รัฐบาลสามารถส่งเสริมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะสนับสนุนเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาแพ็คเกจจิ้ง

 

หลังจากนั้นแบรนด์ natipong ก็กลายเป็นที่น่าจับตามองของลูกค้านักธุรกิจมากขึ้น แต่นี่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ เขาบอกว่าเป้าหมายที่ตั้งใจไว้เปลี่ยนแปลงได้เสมอ

“ตอนนั้นเราอยากสร้างแบรนด์และกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งก็สำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่มากไปกว่านั้นคือ อยากจะทำให้ที่นี่...บ้านเกิด กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ครบวงจร มีร้านอาหาร ที่วิวทะเลสวยๆ มีงานคราฟต์ให้ได้มาเรียนรู้ มีโฮมสเตย์เล็กๆ เป็นของชุมชนเอง เพื่อที่ว่าจะส่งต่อความรู้และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ชุมชนให้มากกว่าที่เคยเป็น ผมมองว่าศักยภาพของคนที่นี่สามารถทำได้”

ผลงานทุกชิ้นจาก natipong แม้จะมีเขาเป็นจุดเริ่มต้นแต่คงจะมาไม่ได้ไกลนักและคงจะเป็นเพียงธุรกิจซื้อขายธรรมดาๆ ถ้าขาดผู้เชี่ยวชาญในการผลิตนั่นก็คือคนจากชุมชน ที่ล้วนเติบโตมากับลูกปัดมโนราห์ทั้งนั้น ทุกคนคือแรงผลักดันที่พลิกโฉมของดีในชุมชนและสานต่อมรดกล้ำค่าจากรุ่นสู่รุ่น