รักติดโซลาร์ จรัส Light ด้วยไฟจากฟ้า

 รักติดโซลาร์ จรัส Light ด้วยไฟจากฟ้า

“ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่นี่เป็นทางรอด” ลักขณา คุณาวิชยานนท์ กล่าวถึง จรัส Light Fest นิทรรศการศิลปะแสงกลางแจ้งครั้งแรกของไทยที่นำเสนอผลงานด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar energy)อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความสนใจและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

j4

“ศิลปินยังนำมาสร้างสรรค์งานศิลปะได้ เราอยากบอกว่าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวเราเลย” ลักขณา ที่ปรึกษาโครงการบอกกับเราถึงวัตถุประสงค์หลักของนิทรรศการศิลปะที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2562 (กกพ.)

“ศิลปินสร้างสรรค์ผลงาน โดยมีวิศวกรไฟฟ้ามาช่วยในเรื่องเทคนิคและระบบการทำงาน เป็นการต่อยอดความคิดของคนที่มีแบ็คกราวด์ในการทำงานที่ต่างกัน ศิลปินเองได้เรียนรู้การทำงานของระบบโซลาร์เซลล์ ในขณะที่วิศวกรก็บอกว่าไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อน เรียกว่าเป็นโจทย์ท้าทายใหม่ๆที่เขาต้องคิดในเรื่องการทำให้แสงที่ออกมานั้นมีความงาม มีสุนทรียะตามความคิดของศิลปิน” นั่นเป็นความท้าทายซึ่งที่ปรึกษาโครงการก็รู้สึกตื่นเต้นและสนุกไปด้วย

“นิทรรศการครั้งนี้ อยากกระตุ้นให้เรามาหยุดคิด อย่างน้อยก็ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมมันต้องเป็นพลังงานสะอาด ปกติพลังงานที่เราใช้นี่มันสกปรกเหรอ ? อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย การรณรงค์ให้ทุกคนหันมาใช้พลังงานสะอาดโดยใช้ศิลปะมาเป็นตัวจุดประกาย สื่อให้เห็นว่าโซลาร์เซลล์เป็นหนึ่งในพลังงานสะอาด นำมาใกล้ชิดคนมากขึ้น ให้รู้สึกผ่านงานศิลปะว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเย็นอะไร ศิลปินยังหยิบมาทำงานศิลปะได้เลย”

ลักขณา กล่าวถึงผลงานศิลปะที่วาดหวังให้เป็น “สื่อ”ในการจุดประกาย โดยวิธีที่จะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในชีวิตประจำวันมีขั้นตอนหรือวิธีการอย่างไรนั้น สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ ศูนย์จรัส Lab บนชั้น 3 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

j7

j6

 นพไชย อังควัฒนะพงษ์ เจ้าของผลงานศิลปะ ดั่งแสงรุ้ง ที่ติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่เชื่อมต่อจากทางออกรถไฟฟ้าบีทีเอส และเป็นจุดที่นำทางไปสู่ศูนย์จรัส Lab กล่าวถึงแนวคิดของการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ว่า

“สิ่งที่ผมสนใจคือ เรื่องพื้นที่ ผมเลือกติดตั้งงานที่ตรงนี้โดยเลือกจาก Golden section (อัตราส่วนทองคำ golden proportion/ section/ratio) ของพื้นที่ อัตราส่วนนี้ใช้หลักคำนวณทางคณิตศาสตร์เพื่ออธิบายความงามและนัยการเติบโตที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น อธิบายง่ายๆเป็นฮวงจุ้ยที่ดีที่สุด เป็นจุดที่มีคนมาอยู่มากที่สุดแล้วผมติดตั้งชิ้นงานตรงพื้นที่บริเวณนั้น”

ดั่งแสงรุ้ง เป็นประติมากรรมที่เกิดจากหลอนนีออนดัดที่ถูกรื้อทิ้ง ศิลปินนำมารียูสและให้ความหมายใหม่ด้วยการตัดต่อ เชื่อมโยงทั้งเรื่องราวของวัสดุเดิมมาสู่งานศิลปะรวมทั้งการแปลงพลังงานจากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาหอศิลป์และส่งตรงมาจากห้องจรัส Lab ซึ่งต้องอาศัยวิศวกรไฟฟ้ามาช่วยในการเปลี่ยนพลังงานที่มีแรงดันต่ำให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้าแรงดันสูงที่สามารถกระตุ้นก๊าซนีออนให้เปล่งสีต่างๆออกมาได้

“ผมพยายามจะบอกว่า บางครั้งเราไปคิดในเรื่องของนวัตกรรมที่จะช่วยโลก แต่จริงๆมันไม่ใช่ คุณทำของใหม่แล้วคุณทิ้งของเก่า ของเก่าก็กลายเป็นขยะอยู่ดี อันนี้คือมลพิษ

ผมเลือกที่จะนำหลอดเก่าซึ่งเป็นขยะเทคโนโลยีที่ไม่มีใครใช้อีกแล้ว รียูสแล้วอัพเกรดจากกองขยะมาเป็นอะไรที่สร้างสรรค์ขึ้น”

  j3

 ในขณะที่ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินเซรามิก นำเสนอแนวคิดเรื่องของพลังงานผ่านผลงาน ไม่มีชื่อ 2019 ประกอบด้วยประติมากรรมเซรามิก 5 ชิ้นหลัก และเครื่องประกอบ 3 ชิ้น รวม 8 ชิ้น

“การเกิดของเครื่องปั้นดินเผา ผมมองว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนของการใช้พลังงานของมนุษย์โลกเลยเพราะสมัยก่อนสังคมมนุษย์เป็นสังคมเร่ร่อน มีการคิดเทคโนโลยีในการเครื่องปั้นดินเผาต่างๆขึ้นมาทำให้เกิดการสะสมของอาหารธัญพืชต่างๆทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงจากสังคมเร่ร่อนกลายเป็นสังคมที่ตั้งหลักแหล่ง

ส่วนโซล่าเซลล์ผมมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งของการใช้พลังงาน กับวิธีในการดำเนินชีวิตของคนในวันนี้”

j1

สำหรับแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ วศินบุรีนำเอารูปทรงของภาชนะบรรจุอาหาร โลงศพ และลูกปัด มาใช้เป็นสื่อสะท้อนความหมายและคุณค่าของการใช้พลังงานของมนุษย์ในอดีตที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหน้าประวัติศาสตร์ของการดำเนินชีวิตของคนเราอีกครั้ง

“รูปทรงโลงศพแทนความหมายของพิธีกรรม ภาชนะแทนค่าภาชนะบรรจุเก็บธัญพืช ที่ทำให้เกิดสังคมขึ้นมา ลูกปัดแทนความเชื่อของคนโบราณที่มักจะฝังเครื่องประดับลงไปในหลุมฝังศพ ผลงานเหล่านี้มีช่องให้ส่องเข้าไปดูสิ่งที่อยู่ข้างในได้

บางชิ้นส่องเข้าไปดูจะเห็นหัวกระโหลก บางชิ้นเป็นรูปบ้านสีทอง บางชิ้นมีดอกไม้บานอยู่ข้าง ผมต้องการสื่อความหมายถึงการเกิดของสังคมอุดมคติ สุดท้ายแล้วคนเราไม่ต้องการอะไรมากมายนอกจากชีวิตที่เรียบง่าย นั่นคือ ความสวยงามของชีวิต

j2

ในขณะที่หัวกระโหลกสีชมพูสื่อถึงเรื่องชีวิต คนเราเมื่อตายไปแล้วสิ่งที่เหลืออยู่คือความดีงามที่เราสร้างไว้ให้คนได้จดจำ ส่วนดอกไม้ คือ ความงดงามของชีวิตที่มีวันเหี่ยวเฉา ความตายคือความจริงแท้ที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ งานทุกชิ้นล้วนมีความเชื่อมโยงต่อกัน”

ในนิทรรศการ จรัส Light Fest ยังมีผลงานของ พงษ์ธัช อ่วยกลาง กฤช งามสม ศิลปินกลุ่ม open call ที่ผ่านการคัดเลือก 2 คน และ 3 กลุ่ม ได้แก่ ขจรศักดิ์ โภคกุล คมกฤษ เทพเทียน อภิรัฐ สว่างหล้า รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์ เอกชญงค์ พรขจรกิจกุล กลุ่ม conscious X KIMBAB:) กลุ่ม H-Lab Collective และกลุ่ม ZIEGHT Project จัดแสดงบริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันนี้ - 2 กุมภาพันธ์

รักติดโซลาร์ แสงสว่างจากพลังงานจากฟ้า เป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่จะนำไปสู่ทางรอด