กับดักหัวใจ นาย ‘ซึมเศร้า’

กับดักหัวใจ นาย ‘ซึมเศร้า’

ไทม์ไลน์ความสูญเสียตลอดปีที่ผ่านมาของคนในแวดวงบันเทิง ทำไมพวกเขาเลือกจากไปและทำอย่างไรจะหยุดภัยคุกคามทางใจนี้

 

ดั่งใบไม้ที่ปลิดปลิวก่อนถึงวันโรยรา การจากไปของบุคคลอันเป็นรักอย่างไม่มีวันหวนกลับด้วย ‘ภาวะและโรคซึมเศร้า’ ไม่มีครั้งไหนเลยที่การสูญเสียไม่ทิ้งคราบน้ำตาของความเสียใจไว้ ไม่มีครั้งไหนที่การจากไปของคนรอบกายไม่ทิ้งไว้ซึ่งความเจ็บปวด บ่อยครั้งที่ศิลปิน ดาราเลือกเดินในเส้นทางที่ไปแล้วไม่มีวันกลับคนแล้วคนเล่า 

ช่วงไม่กี่เดือนมานี้เราสูญเสียบุคคลในแวดวงบันเทิงไทยด้วยโรคซึมเศร้าที่เป็นข่าวช็อกวงการไปถึง 2 คนด้วยกัน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่เราได้เห็น ไม่ได้การันตีว่าคนๆ นั้นจะไม่มีบาดแผลในใจ เขาอาจกำลังพยายามต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าของตัวเอง พยายามข่มความเจ็บปวดไว้ข้างใน เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาไม่เป็นไร ยังไหวอยู่ จึงไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจนพอให้คนรอบข้างช่วยเหลือได้ทัน

สถานการณ์ในภาพรวมที่ผ่านมาประเทศไทยจึงมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.32 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน และในปี 2561 ที่ผ่านมามีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จแล้ว 4,137 คน หรือ 1 รายในทุกๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่มีแนวโน้มพบการทำร้ายตัวเองมากขึ้นในคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา

 

ปิดฉากชีวิตคนดัง

ต้นปีกับการเสียชีวิตของคนบันเทิงในฮอลลีวู้ด เริ่มที่ 5 มิ.ย. 2561 เคท สเปด หรือ เคท วาไลนไทน์ นักออกแบบแฟชั่นวัย 55 ปี จบชีวิตด้วยการแขวนคอ ทั้งที่เธอประสบความสำเร็จอย่างสูงบนเส้นทางนักออกแบบสู่การเป็นนักธุรกิจชั้นนำ

8 มิ.ย. 2561 ข่าวช็อกวงการเมื่อ แอนโทนี บอร์เดน เชฟชาวอเมริกัน วัย 61 ปี ผู้เขียนหนังสือเปิดโปงด้านมืดของร้านอาหารหรูในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ก่อนที่จะผันตัวมาดำเนินรายการด้านอาหารและการเดินทาง Parts Unknown ทางช่อง CNN บอร์เดนถูกพบเป็นศพเสียชีวิตที่ฝรั่งเศส ระหว่างเดินทางไปถ่ายทำรายการ Anthony Bourdain: Parts Unknown ของเขาเอง

25 ก.ย. 2562 เป็นวันที่สร้างความสะเทือนใจและช็อกวงการอีกครั้ง หลังการจากไปของ 'เหม' ภูมิภาฑิต นิตยารส นักแสดงค่ายกันตนา ตัดสินใจแขวนคอ ปิดฉากชีวิตในวัย 30 ต้นๆ ไม่มีใครอยากจะเชื่อว่าผู้ชายหน้าตาดี อัธยาศัยดี ทำงานเก่งอย่างเหม จะตัดสินใจเช่นนี้

 

public-speaking-3956908_1920

 

มาที่ฝั่งไอดอลเกาหลีที่ว่ากันว่าเป็นอุตสาหกรรมแห่งการแข่งขันอันดับต้นๆ พบว่าช่วงปลายปีในระยะเวลาไล่เลี่ยกันมีการจากไปของไอดอลขวัญใจวัยรุ่นถึง 2 คน โดย 14 ต.ค. 2562 ซอลลี่ หรือ ชเวจินรี นักร้อง นักแสดงวัย 25 ปี จากค่ายยักษ์ใหญ่ SM Entertainment อดีตสมาชิกวง ‘F(x)’ ป่วยจากโรคซึมเศร้ารุนแรง เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาดาราสาวต้องเผชิญหน้ากับความเกลียดชังบนโลกออนไลน์

24 พ.ย. 2562 คูฮารา ไอดอลสาวอดีตสมาชิกวง KARA จบชีวิตด้วยสาเหตุจากภาวะความเครียด ความเศร้า และการถูกโซเชียลบูลลี่อันหนักหน่วงในสังคมเกาหลีที่เผชิญมายาวนาน

ล่าสุด ช็อกวงการบันเทิงไทยอีกครั้งเมื่อ 29 พ.ย. 2562 'คิว' ภูริวัฒน์ สุวรรณมณี นักร้องนำวง FridayNight to Sunday เจ้าของเพลง 'ห้องนอน' เสียชีวิตจากการกินยาเกินขนาด เขาทิ้งท้ายก่อนจากไปด้วยการไปคอนเมนท์ใต้โพสต์ข่าวการจากไปของคูฮาราว่า “...ต่อไปถึงคิวผมแล้ว”

 

ไม่เพียงในปีนี้ที่มีการสูญเสียเช่นนี้เกิดขึ้น ทว่าหลายปีที่ผ่านมา เรามักเห็นข่าวการจากไปของบุคคลสาธารณะคนแล้วคนเล่า เพราะปัญหาสุขภาพจิต คนแวดวงบันเทิงทั้งในและต่างประเทศต้องจบชีวิตเพราะไม่สามารถเอาชนะโรคซึมเศร้าที่เผชิญอยู่ได้

แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้ารับการรักษา และสามารถประคับประคองมันได้ พวกเขาพยายามถ่ายทอดประสบการณ์ของโรคซึมเศร้าที่ต้องเผชิญเพื่อเป็นกำลังใจและที่พึ่งให้กับคนที่กำลังเผชิญโรคนี้

อย่าง อินทิรา เจริญปุระ หรือ ทราย นักแสดงหญิงมากความสามารถที่เปิดเผยว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อครั้งประสบอุบัติเหตุรถชนจนเกิดภาวะช็อก ซึ่งเธอเองต้องดูแลแม่ที่ป่วยเช่นเดียวกัน และยังมีกระแสวิจารณ์ด้านลบๆ จากโซเชียล ทำให้เธอตัดสินใจรักษาอาการป่วยด้วยการไปพบแพทย์และกินยาอย่างสม่ำเสมอ ปรับทัศนคติเลือกมองโลกบวกมากกว่าลบ เพื่อเดินไปพร้อมๆ กับโรคนี้ อย่างสุขใจ

หรือ 'เอิน' กัลยกร นาคสมภพ อดีตนักร้องสาวที่ช่วงหลังมานี้ชื่อของเธอมักจะปรากฎบนโซเชียลอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากว่าเธอเป็นนักสื่อสารตัวยงเรื่องโรคซึมเศร้า หลังจากที่ต้องเผชิญโรคนี้มา 10 ปี เอินเคยให้สัมภาษณ์กับจุดประกายถึงประเด็นนี้ และปัจจุบันใช่ว่าจะหายขาด นอกจากยาใจจากคนข้างๆ เธอยังต้องพึ่งยาเคมีจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ

 

ความคาดหวังคือแรงกดดัน

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า 2 ใน 3 ของคนที่ฆ่าตัวตายมีอาการของโรคซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษา และจากการศึกษาในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พบว่า นักเขียนและศิลปิน เมื่อเทียบกับประชากรทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 8-10 เท่า และมีโอกาสฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง 6-18 เท่า 

ทั้งนี้ยังมีงานวิจัยที่ชัดเจนว่า อาชีพที่มีความเสียงที่จะเกิดโรคซึมเศร้าได้มาก คืออาชีพที่ก่อให้เกิดความเครียดสูง พักผ่อนน้อย ไม่มีเวลาให้ตัวเองเพียงพอ และมีความคาดหวังจากสังคมสูง เช่น แพทย์ นักกฎหมาย ทนายความ ผู้พิพากษา ทหาร ตำรวจ รวมถึงศิลปิน นักแสดง ซึ่งจะมีความเครียดสูงมาก

 

mirror-3864155_1920  

 

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต เคยกล่าวไว้ว่า สาเหตุที่กลุ่มศิลปินมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ เพราะบุคลิกของตัวศิลปินเอง เช่น มีความสันโดษมากกว่าผู้อื่น มีอารมณ์ร่วม หรืออ่อนไหวต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้ง่าย บวกกับสภาพแวดล้อม และความคาดหวังจากสังคมที่ศิลปินต้องเพอร์เฟค เช่น ไอดอลเกาหลี จะมีความเครียดสูงกว่าไทยมาก ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย หมายความว่าถ้าวันหนึ่งแฟนคลับแอนตี้ขึ้นมาก็หมายถึงอนาคตของเขาดับวูบ 

นอกจากนี้ เรื่องการรักษาภาพพจน์ก็เป็นสาเหตุหนึ่งด้วย เพราะศิลปินที่มีชื่อเสียงบางครั้งไม่สามารถแสดงออกหรือระบายปัญหาของตนให้ใครรับทราบได้ และเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้ยาก เพราะกลัวกระทบภาพลักษณ์ ซึ่งคนทั่วไปมองว่าศิลปินดาราจะต้องสมบูรณ์แบบ รวมไปถึงได้รับความคาดหวังสูงจากคนในสังคม ทำให้บางคนรับแรงกดดันไม่ไหว 

ทั้งนี้โลกโซเชียลมีส่วนทำให้คนซึมเศร้ามากขึ้นเช่นกัน เนื่องด้วยต้องเผชิญกับการถูกเปรียบเทียบ และเสี่ยงถูกกลั่นแกล้งจากนักเลงคีย์บอร์ด แต่ในทางกลับกันก็ช่วยให้เข้าถึงคนที่กำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้าด้วย

 

สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจาก สสส. ที่เปิด 10 พฤติกรรมสุขภาพคนไทยน่าจับตามอง ปี 2563 ระบุว่า อิทธิพลจากโลก Social media ส่งผลต่อสุขภาพคนไทยโดยรวมในหลายมิติ ปัจจุบัน 2 ใน 3 ของโรคที่เกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและปัจจัยแวดล้อมทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ

Social Trend เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมด้านสุขภาพที่น่าจับตามอง 10 ประเด็น หนึ่งในนั้นคือ ความเสี่ยงของการเป็นโรคซึมเศร้า ‘แค่เครียดหรือซึมเศร้า’ ที่อาจนำไปสู่ ‘การฆ่าตัวตาย’ ได้ 

ขณะที่ พิยะดา พาชัยภูมิ หรือ ‘หมอเอิ้น’ คุณหมอนักแต่งเพลง เคยพูดถึงสาเหตุของการป่วยไว้ว่า มักเริ่มจากสารสื่อประสาทที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กลไกการทำงานของจิตใจเปลี่ยนไป ซึ่งความสูญเสียก็เป็นกลไกหลักที่จะเกิดขึ้นได้ รวมถึงปัจจัยภายนอกทั้งบริบทแวดล้อมต่างๆ ความกดดันในการทำงาน ก็ล้วนเป็นหนึ่งในปัจจัยทั้งสิ้น ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ คนทำงานอาชีพไหนก็เป็นเหยื่อของโรคซึมเศร้าได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าคนในวงการบันเทิงเขาอยู่ในที่ที่คนมองเห็นได้ง่ายเท่านั้นเอง

 

เยาวชนฆ่าตัวตายปีละ 300 ราย

ความรุนแรงในสังคมที่คนๆ หนึ่งต้องเจอซ้ำๆ การเป็นคนเพอร์เฟคท์ที่ถูกคาดหวัง หน้าที่การงานที่สร้างแรงกดดันมหาศาล สภาวะคนตกงานที่น่ากังวล วิถีชีวิตความเป็นเมืองที่เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตมากเกินไปและผลักให้ไกลจากความเป็นเราไปทุกที หรือการถูกกลั่นแกล้งบนจากใครก็ไม่รู้บนออนไลน์ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยของโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของปัญหาเด็กและเยาวชนที่ขอคำปรึกษาจากสายด่วนสุขภาพจิต

ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันจากแพทย์แล้วว่า ‘โรคซึมเศร้า’ เป็นส่วนหนึ่งจากการทำงานของระบบสมองที่ผิดปกติ ดังนั้นการทำความเข้าใจภาวะซึมเศร้าจึงมีความสำคัญทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อป้องกันผลกระทบและความสูญเสียให้ได้มากที่สุด เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงมากขึ้น

 

  pay-phone-1489568_1920

 

ด้านข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ปี 2562 พบว่า ทุก 1 ชั่วโมงจะมีคนพยายามฆ่าตัวตาย 6 ราย โดยมีกลุ่มเด็กเยาวชนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึงปีละ 300 ราย และยังพบแนวโน้มการเข้ารับคำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น สิ่งที่น่าสนใจจากกระแสบนโลกออนไลน์พบว่า สาเหตุที่ทำวัยรุ่นเครียด อันดับ 1 มาจากปัญหาความสัมพันธ์โดยเฉพาะครอบครัว ตามด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง และความรุนแรง ซึ่งช่วงเวลาที่วัยรุ่นโพสต์ข้อความอยากฆ่าตัวตายมากที่สุดในสื่อทวิตเตอร์คือ 'วันอังคาร 4 ทุ่ม' และ 'วันศุกร์ 1 ทุ่ม' หากช้อนความรู้สึกได้ทันจะสามารถลดความเสี่ยงจากการคิดสั้นได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

 

แสงสุดท้ายที่ปลายอุโมงค์

ไม่ต้องเดาก็คงจะรู้กันดีว่า ทางออกที่ดีที่สุดของโรคซึมเศร้า คือการพาตัวเองเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง ทั้งสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นปรึกษาปัญหาใจ เช่น บริการ ‘OOCA (อูก้า)’ ที่สามารถวีดีโอคอลตัวต่อตัวกับจิตแพทย์ได้เลย ทั้งนี้โรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะมีแผนกจิตเวชด้วย สามารถไปใช้บริการได้ด้วยสิทธิประกันสังคม 

ทว่ามันอาจไม่ง่ายสำหรับคนที่กำลังจมอยู่กับภาวะซึมเศร้านัก เขาอาจยังหาทางออกไม่เจอ หรือยังไม่ยอมรับว่าตัวเองกำลังต้องการความช่วยเหลือ ความเข้าใจจากคนข้างๆ จึงสำคัญและมีอิทธิพลต่อชีวิตเขาไม่น้อยทีเดียว

  falling-4352856_1920

 

ก่อนจะสายเกินไป เราสามารถเช็คตัวเองและคนรอบข้างได้ง่ายๆ ผ่านแบบประเมินของกรมสุขภาพจิต กับ 9 คำถามสั้นๆ เพื่อเช็คความเสี่ยงในเบื้องต้น ดังนี้

รู้สึกเบื่อ ไม่สนใจไม่อยากทำอะไร, ไม่สบายใจ ซึมเศร้า ท้อแท้, นอนไม่หลับหรือนอนมากไป, มีอาการเบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป, เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง, รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าตัวเองล้มเหลว ทำให้คนในครอบครัวผิดหวัง, ไม่มีสมาธิในการทำงาน, ทำอะไรช้าลงจนสังเกตได้ชัดหรืออยู่ไม่นิ่ง และคิดทำร้ายตัวเอง อยู่ไปก็ไร้ค่า สู้หายไปจากโลกนี้ยังดีเสียกว่า

หากมีความถี่ของอาการเช่นนี้ 7-12 คะแนน นั่นแสดงว่าภาวะซึมเศร้าเริ่มแทรกตัวเข้ามาในชีวิตคุณเสียแล้ว

และไม่ว่าคุณจะเป็นคนธรรมดาหรือคนที่มีชื่อเสียง นอกจากดูแลจิตใจตัวเองให้ดี อย่าลืมใส่ใจคนรอบข้าง สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนให้กับสังคมที่เราอยู่ร่วมกัน