แคมเมอรอน คาร์เพนเตอร์

แคมเมอรอน คาร์เพนเตอร์

พบกับเรื่องราวของนักดนตรี นักแต่งเพลง วาทยกรระดับโลกที่มีความหลากหลายทางเพศว่าต้องฝ่าฝันอะไรกันมาบ้าง

การแถลงข่าวที่รัฐสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจำนวนหนึ่ง และกลุ่มผู้ “หลากหลายทางเพศ” พร้อมจบลงด้วยการ “จูบปาก” กันของชายรักชาย ทำให้ผู้เขียนหวนคิดมาถึงวงการดนตรีคลาสสิก เกี่ยวพันกับนักดนตรี, นักแต่งเพลง, วาทยกร ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ซึ่งทั้งในอดีตและปัจจุบันมีอยู่จำนวนหนึ่ง ในอดีตค่อนข้างเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด ไม่สามารถเปิดเผย หรือเป็นที่ยอมรับกันได้ เหมือนเช่นในปัจจุบัน เท่าที่ผู้เขียนนึกได้ ประกอบด้วย นักแต่งเพลงคลาสสิก อาทิ ปีเตอร์ อิริช ไชคอฟสกี้ ชาวรัสเซีย, เบนจามิน บริตเทน ชาวอังกฤษ

วาทยกร อาทิ เลอะนาร์ด เบิร์นสไตน์, ไมเคิล ทิลซัน โทมัส ชาวอเมริกัน และที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ปีนี้ ในวัย 92 ปี คือ เรย์มอนด์ เลพพาร์ด วาทยกรชาวอังกฤษ หนึ่งในผู้ “พลิกฟื้น” นำโอเปร่าอิตาลี ยุคบาโรก มาบรรเลงและแสดง สร้างกระแสความสนใจในสีสันอุปรากรยุคนี้ขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง

หนึ่งในนักดนตรีที่ช่วงหลายปีมานี้ สร้างความฮือฮา ผ่านการแสดงคอนเสิร์ต และสื่อผลิตซ้ำทางดนตรีหลายชุด ด้วยการบรรเลงเครื่องดนตรี ซึ่งน้อยคนจะมีโอกาสได้ชมได้ฟังการแสดง เพราะเป็นเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ ต้องติดตั้งอยู่กับที่ มีเฉพาะในโบสถ์ขนาดใหญ่เท่านั้น นั่นคือ ออร์แกนขนาดใหญ่ มีโครงสร้างซับซ้อน เรียกขานว่า ไพพ์ ออร์แกน (Pipe Organ)

ในอดีตนักเล่นออร์แกนดนตรีคลาสสิกและดนตรีในโบสถ์ เกือบทุกคนมักนิยมบรรเลงบทเพลง ผลงานของ โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค ด้วย ไพพ์ ออร์แกน ในโบสถ์ ด้วย “มาด” และ “เครื่องแต่งกาย” ที่เป็นทางการ ค่อนข้างจริงจังกับการแสดง

มายุคนี้ เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซีกของนักเล่นออร์แกน ที่อดีตมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากและค่อนข้างล่าช้า แต่ก็ยังมีนักเล่นออร์แกนหนุ่ม (?) กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ สร้างภาพลักษณ์การแสดงคอนเสิร์ต ผ่านเครื่องแต่งกาย, เครื่องประดับต่างๆ, พร้อมทัศนะการตีความเพลง และการแสดงดนตรีที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ที่สำคัญคือ ด้วยเครื่องดนตรีที่เปลี่ยนจาก ไพพ์ ออร์แกน ไปเป็น “ดิจิทัล ออร์แกน” ขนาดใหญ่ สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษโดยเฉพาะ เพื่อให้มีคุณสมบัติประการหนึ่ง คือ สามารถเคลื่อนย้าย นำไปแสดงตามหอแสดงดนตรีต่างๆ ได้ (ค่อนข้าง) สะดวกและง่ายดาย

ทำให้สามารถ “ขยายฐาน” กลุ่มผู้ชมผู้ฟัง ผู้สนใจ ผลงานเพลงคลาสสิกและดนตรีแนวอื่นๆ บรรเลงด้วยออร์แกน ไปได้ทั่วโลก นักเล่นออร์แกนผู้นั้น คือ แคมเมอรอน คาร์เพนเตอร์ (Cameron Carpenter) นักดนตรีชาวอเมริกัน

บลูเรย์ชุด The Sound of My Life

เรื่องราว หรือ ประวัติ (บางส่วน) ที่น่าสนใจของ แคมเมอรอน คาร์เพนเตอร์ นักเล่นออร์แกนผู้นี้ กับ ตำนานการสร้าง ดิจิทัล ออร์แกน มีชื่อเรียกกันว่า อินเตอร์เนชั่นเนล ทัวริง ออร์แกน (International Touring Organ) หรือเรียกในชื่อย่อว่า ITO ต้องใช้เวลาคิดค้น ออกแบบ และสร้างออกมาประมาณ 10 ปี ใช้เงินไปกว่า 2 ล้านดอลล่าร์

ล้วนสะท้อนผ่านสื่อผลิตซ้ำทางดนตรี แผ่นบลูเรย์ สังกัดโซนี มิวสิค ชุด The Sound of Life ความยาวประมาณ 53 นาที ได้เป็นอย่างดี

แคมเมอรอน คาร์เพนเตอร์ เกิดเมื่อปี ค.. 1981 ในแถบชนบท รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวัยเด็กเขาเรียนหนังสือผ่านแนวคิด “โฮม สกูล” ซึ่งเขาบอกว่า ทำให้เขามีอิสระกับชีวิตเป็นอย่างมาก

เขาเรียนต่อระดับมัธยมใน รัฐนอร์ท แคโรไลน่า หลังจากนั้นเรียนดนตรีจนจบปริญญาตรีและโท จาก สถาบันดนตรีจูลลิอาร์ด นครนิวยอร์ค

เส้นทางดนตรีของเขา ประกอบด้วยการเป็นนักเล่นออร์แกนในโบสถ์แห่งหนึ่งย่าน อีส วิลเลจ นครนิวยอร์ค, การแสดงคอนเสิร์ตเดี่ยวออร์แกน และมีผลงานสื่อผลิตซ้ำทางดนตรี สังกัด เทลาร์ค และ โซนี มิวสิค หลายชุด ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

คาร์เพนเตอร์ เป็นนักเล่นออร์แกน ที่คอเพลงแนวนี้ และผู้สนใจดนตรีทั่วไปจดจำได้ง่าย ผ่านทรงผม, เครื่องแต่งกาย, เครื่องประดับ บ่งบอกความเป็นหนุ่มร่วมสมัย ความเป็น “หนึ่งเดียว” ได้อย่างชัดเจน

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะเมื่อคาร์เพนเตอร์ เริ่มโด่งดัง มีผลงานการแสดงคอนเสิร์ต และสื่อผลิตซ้ำทางดนตรี เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้สนใจดนตรี เขาให้ความสนใจกับการสร้าง “ภาพลักษณ์” ต้องการความเป็นหนึ่งเดียวอย่างจริงจัง ผ่านการขอคำปรึกษา คำแนะนำ จากผู้สันทัดเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ปรากฎให้ชมและฟัง ในตอนหนึ่งของสารคดีชุด “เดอะ ซาวด์ ออฟ ไลฟ์” เรื่องราวชีวิต (ส่วนหนึ่ง) ของคาร์เพนเตอร์

ความโดดเด่นประการต่อมา คือ ความสามารถทางดนตรี ความสันทัดจัดเจนในการเล่นออร์แกนขนาดใหญ่ ที่ต้องเพิ่มความชำนาญ และเทคนิคการใช้ “เท้า” ทั้งสองข้าง เล่นแนวเบส เสียงต่ำๆ ด้วย

เบธ เอตเตอร์ ครูเปียโนหญิง ซึ่งสอนเขาตอนเป็นเด็ก บอกว่า คาร์เพนเตอร์มีความสามารถในการจดจำเพลงได้เก่งมาก เล่นเพลงให้ฟังเพียงครั้งเดียว เขาก็สามารถเล่นตามได้อย่างรวดเร็ว

คาร์เพนเตอร์เล่าถึงชีวิต ช่วงเรียนระดับมัธยมว่า เขาเป็น “เด็กเนิร์ด” ครั้งเมื่ออายุ 18 ปี ต้องไป ออดิชั่น เพื่อสอบเข้าเรียนดนตรีที่ สถานบันดนตรีจูลลิอาร์ด นครนิวยอร์ค เขาบอกว่าชอบชีวิตในเมืองใหญ่นี้มาก เพราะเต็มไปด้วยพลังความเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งต่างๆ ที่เข้มข้น การได้อยู่กับสภาพแวดล้อมลักษณะนี้ คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา

ความเป็นตัวของตัวเองในการใช้ชีวิต รวมไปถึงการเล่นออร์แกนของคาร์เพนเตอร์ นอกจากจะมีผู้ชื่นชมการแสดงดนตรีของเขาแล้ว แต่ก็มีคอเพลงคลาสสิก และนักวิจารณ์ดนตรีบางคน แสดงทัศนะเกี่ยวกับการเล่นออร์แกน การตีความเพลงของเขาว่า “นอกรีต” แหวกไปการบรรเลงบทเพลงมาตรฐานสำหรับออร์แกน โดยเฉพาะสุ้มเสียงเพลงที่เขาเล่นออกมาอย่างเป็นอิสระมากๆ โดยไม่ติดยึดกับ “ขนบ” การบรรเลงของนักเล่นออร์แกนทั่วไป

คาร์เพนเตอร์ เคยเสนอความเห็น เกี่ยวกับการแสดงคอนเสิร์ตของเขาว่า ไม่ต้องการให้ผู้ชมผู้ฟังคิดว่าต้องมาฟังเพลงคลาสสิก แต่ส่วนหนึ่งที่ผู้ชมผู้ฟังต้องการมาฟังคอนเสิร์ต ก็เพราะ

ต้องการมาชมตัวผมเองแสดงครับ คุณไม่ได้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตเพื่อฟังเสียงออร์แกน และคุณก็ไม่ได้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตเพื่อฟังเพลงของบาค แต่คุณซื้อบัตรคอนเสิร์ต เพราะคุณต้องการมาฟัง นักดนตรีคนหนึ่ง เล่นออร์แกน ผลงานเพลงของบาค”

-------------------------

ความฝันประการหนึ่งของคาร์เพนเตอร์ คือ ต้องการมีออร์แกนของตัวเอง มีสุ้มเสียงเฉพาะ เป็นเสียงดนตรีที่บ่งบอกความเป็น แคมเมอรอน คาร์เพนเตอร์ นอกจากนั้นเขายังอยากทำให้เสียงและบทเพลงออร์แกนแพร่หลายออกไป ซึ่งเดิมผู้ชมผู้ฟังที่สนใจเสียงออร์แกน ต้องเดินทางไปที่โบสถ์ เพื่อฟังการแสดง ทำให้เป็นอุปสรรคการเข้าถึงบทเพลงเดี่ยวออร์แกน นำไปสู่ผู้ชมผู้ฟังที่มี “จำนวนน้อย” เมื่อเทียบกับการบรรเลงเครื่องดนตรียอดนิยมอื่นๆ

เขาคิดว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้บทเพลงออร์แกน เข้าถึงผู้ฟังจำนวนมากขึ้น สามารถชมการแสดงได้ง่ายดาย ไม่น้องเดินทางไกล ในที่สุดกลายเป็นที่มาของ “อินเตอร์เนชั่นเนล ทัวริง ออร์แกน” เครื่องดนตรีคู่ชีพในปัจจุบันของคาร์เพนเตอร์ ออร์แกนที่ประกอบด้วยคีย์บอร์ด 5 ชั้น พร้อมลำโพงเสียงขนาดใหญ่ สำหรับช่วงความถี่เสียงต่างๆ ของออร์แกน มากมายหลายสิบตัว

สร้างโดยบริษัท มาร์เชลและออคเลทรี แห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้แนวคิด และการออกแบบของคาร์เพนเตอร์ สร้างเสร็จใช้แสดงครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.. 2014 คาร์เพนเตอร์ เล่าถึงที่มาของออร์แกนตัวนี้ว่า

สิ่งที่บันดาลใจให้ผมอยากมีออร์แกนตัวนี้ คือ เทคโนโลยี ความรักดนตรีของผม และความปรารถนาของผมที่อยากแสดงดนตรี ออร์แกนตัวนี้ทำให้ผมสามารถแสดงคอนเสิร์ตได้ในหอแสดงดนตรีมากมายหลายแห่ง นำเสียงดนตรีสู่ผู้ชมผู้ฟังที่ไม่มีโอกาสฟังการเดี่ยวออร์แกน และบทเพลงสำหรับออร์แกน”

ผมต้องการสร้างออร์แกน ซึ่งจะต้องบรรลุเป้าหมาย 3 ประการ คือ หนึ่ง ต้องสามารถเคลื่อนย้ายได้ สอง ต้องเป็นเครื่องดนตรีที่ เนี้ยบ จริงๆ และ ประการสุดท้าย ต้องมีสุ้มเสียงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่คงทนถาวร ไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น”

และในที่สุด แคมเมอรอน คาร์เพนเตอร์ ก็สามารถนำเสียงออร์แกน สู่ “มหาชน” จำนวนมากได้สมปรารถนา

สุขสันต์ วันคริสต์มาส และ ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน มีความสุขตลอดปี 2020 ครับ