ชีวิตเลือกได้...ที่ใต้แป้น

ชีวิตเลือกได้...ที่ใต้แป้น

ถึงจะมีไม่ครบ 32 ถึงจะมีไม่พร้อมอย่างคนอื่น ถึงจะไม่มีสองขาให้ลุกยืน แต่พวกเขาใช้ทั้งหมดที่มีเพื่อทวงคืนความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียม

“เลือกเกิดไม่ได้” เป็นคำกล่าวที่ได้ยินกันมานักต่อนัก บางคนใช้ด้วยความหมายเชิงจำยอมต่ออุปสรรคปัญหาที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต แต่อีกหลายคนมองข้ามความ ‘ไม่มี’ แล้วพัฒนาตัวเองสู่ชีวิตที่ดีกว่าเดิม

 

  • คำอธิษฐานบนภูเขาลูกนั้น

ในโลกของผู้พิการ สิ่งที่ติดตัวพวกเขาไม่ว่าจะโดยกำเนิดหรือจากอุบัติเหตุใดๆ ก็ตาม คือ การดำเนินชีวิตอันยากลำบาก การไม่เป็นที่ยอมรับจากคนในสังคม ไปจนถึงความรู้สึกที่ถูกมองไม่เหมือนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่ความจริงอันโหดร้ายเหล่านี้กลับเป็นแรงผลักดันให้ผู้พิการกลุ่มหนึ่งพาตัวเองขึ้นรถวีลแชร์ แล้วฝึกฝนกีฬาบาสเก็ตบอล กระทั่งมีธงชาติติดที่หน้าอก

ที่ประเทศอัฟกานิสถาน เราต่างรู้ดีว่าเรื่องมนุษยชนยังเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาดังกล่าวยังคุกรุ่นไม่แพ้ไฟสงครามและความไม่สงบ Shahpoor Surkhabi ชายชาวอัฟกันวัย 24 ปี เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม

วันหนึ่งมีเสียงดังสนั่นหวั่นไหวตรงที่ที่เขาอยู่ Shahpoor ในวัย 4 ขวบ กำลังไปซื้อน้ำมันให้ที่บ้าน ไม่ใช่แค่เสียงดัง แต่แรงระเบิดส่งผลให้กระดูกขาของเขาแหลกละเอียด ตอนนั้นเขาจำอะไรไม่ได้อีกเลย แต่เมื่อลืมตาขึ้นมาอีกครั้งเขากลายเป็นผู้พิการไปเสียแล้ว

“ตอนนั้นผมเด็กมาก ผมคิดว่าผมจะหายเป็นปกติแล้วกลับมาเดินได้ แถวบ้านผมมีภูเขาแล้วบนภูเขามีก้อนเมฆอยู่ ผมเข้าใจว่าหลังภูเขามีพระเจ้าอยู่บนก้อนเมฆ ถ้าโตขึ้นผมจะขึ้นไปบนภูเขาแล้วไปขอพระเจ้าให้ผมกลับมาเดินได้ แต่พอโตมาถึงรู้ว่ามันไม่ใช่ ไม่มีพระเจ้าบนนั้น ผมหวังเพียงแค่ว่าจะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มาทำให้ผมเดินได้

ผมมีความหวังมาตลอด จนถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าเดินไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เรายังมีชีวิตอยู่ เราควรจะทำอย่างอื่นที่ดีกว่ามานั่งรอความหวังที่จะเดินได้แล้วชีวิตถึงจะเดินต่อ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่แบบนั้น”

เมื่อคำอธิษฐานไม่มีจริง เขากล้ำกลืนความเจ็บปวดในฐานะผู้พิการมาจนถึงวันที่บังเอิญได้ยินเสียงลูกบาสเก็ตบอลกระทบแป้น แต่เสียงนั้นไม่ได้ดังมาจากนักกีฬาบาสปกติ ภาพที่เขาเห็นคือคนนั่งวีลแชร์กำลังเล่นกีฬานี้อย่างสนุกสนาน จากเสียงระเบิดที่ทำให้ชีวิตพังทลาย เสียงลูกบาสลงห่วงกำลังจะทำให้เขามีชีวิตใหม่

“ผมเล่นกีฬาวีลแชร์บาสเก็ตบอลมาเกือบ 10 ปีแล้ว ตอนแรกที่เริ่มเล่นยังมีไม่กี่เมืองที่มีทีมวีลแชร์บาสเก็ตบอล แล้วก็ยังเป็นลีกเล็กๆ คนเล่นไม่เยอะมาก ตอนนั้นผมยังสงสัยว่ากีฬานี้คืออะไรจึงลองไปเล่น ทีแรกผมไม่ชอบกีฬานี้เลย เพราะรู้สึกว่าทำไมเราต้องมาทำอะไรแบบนี้ ผมเห็นสายตาคนอื่นที่มองพวกเราเหมือนเราเป็นตัวประหลาด จนแทบจะเลิกเล่น แต่ก็มีคนชักชวนให้ผมเล่นต่อโดยบอกว่าจะให้บิสกิตกับนมฟรีๆ ตอนนั้นผมยอมรับว่าผมมาเพราะหวังจะได้ของกิน แต่เล่นไปเล่นมาเริ่มสนุก แล้วสิ่งที่ผมได้ต่อมาคือได้มีสังคม ได้มีเพื่อน ผมรู้สึกว่าชีวิตมีจุดมุ่งหมาย ทำให้ผมเล่นมาตลอดเลยจนถึงตอนนี้”

80357603_2700944176631044_7107087757142392832_o

79813310_2700944899964305_2410432248919621632_o

Shahpoor เล่าว่าการเป็นผู้พิการว่ายากแล้ว แต่การเป็นผู้พิการในประเทศอัฟกานิสถานนั้นยากกว่า เพราะเมื่อก่อนคนอัฟกันส่วนมากยังมองว่าความพิการเป็นเรื่องน่าอับอายของครอบครัว และผู้พิการคือภาระของสังคม แต่ปัจจุบันความสามารถของผู้พิการได้เปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม แม้จะไม่ทั้งหมดแต่มีแนวโน้มดีขึ้น

“กีฬาวีลแชร์บาสเก็ตบอลกลายเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ที่เราได้แข่งไปถึงระดับสากลได้แล้ว พวกเราซึ่งเป็นคนพิการก็มีความสามารถ ทำงานได้ไม่แตกต่างจากคนธรรมดา เราหารายได้ให้ครอบครัวได้เหมือนกัน เริ่มแรกที่ผมไปเล่นกีฬานี้เพราะจะเอาขนมก็คิดว่าจะเอามาให้คนที่บ้านนั่นแหละครับ ผมคิดว่านั่นคือการช่วยเหลือครอบครัว การเอาบิสกิตมาให้ที่บ้านก็จะทำให้คนที่บ้านดีใจว่าผมก็ทำอะไรได้เหมือนกันนะ”

ถึงจะพยายามทำประโยชน์ให้ครอบครัว แต่ลึกๆ แล้ว สิ่งที่เขาพยายามทำในตอนนั้นก็เพื่อปิดบังความน้อยเนื้อต่ำใจเอาไว้ ประโยชน์เพียงเล็กน้อยก็สร้างความภาคภูมิใจหล่อเลี้ยงชีวิตของเขาได้ ทว่านั่นเป็นแค่อดีต ทุกวันนี้มุมมองต่อชีวิตและความภาคภูมิใจได้เปลี่ยนไปแล้ว

“ผมเคยรู้สึกอับอาย รู้สึกแย่ที่ตัวเองกลายเป็นภาระของครอบครัวและสังคม แต่ก่อนตอนที่อยู่อัฟกานิสถานผมไม่ได้สวมกางเกงธรรมดานะ แต่เป็นกางเกงขายาว ขาบานๆ ผมบอกช่างตัดกางเกงว่าให้ทำยาวๆ กว่านี้หน่อยเพื่อคนจะได้ไม่เห็นว่าผมใส่ขาเทียม เวลามีใครหัวเราะ ผมมักจะคิดว่าพวกเขาหัวเราะเยาะผม ซึ่งไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วพวกเขาหัวเราะผมหรือเปล่า ผมกลัวว่ามีคนมองว่าผมเป็นตัวตลก

แต่เมื่อได้เล่นวีลแชร์บาสเก็ตบอล เหมือนผมได้รับพลังบางอย่าง มันไม่ใช่เรื่องน่าอายเลย กีฬาทำให้ผมมั่นใจมากขึ้น เหมือนเป็นแสงสว่างในชีวิต ทุกวันนี้ผมไม่แคร์แล้ว บางทีผมใส่กางเกงขาสั้นด้วยซ้ำ”

80574667_2700944943297634_8419863980251545600_o

79374329_2700944319964363_7961955122865504256_o

 

  • อัปสราหน้าแป้น

ทีมชาติอัฟกานิสถานทั้งชายและหญิงเป็นทีมที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of The Red Cross หรือ ICRC) นอกจากนี้ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างกัมพูชายังเป็นอีกชาติหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนเช่นกัน และกีฬาวีลแชร์บาสเก็ตบอลกำลังเติบโตในประเทศนี้อย่างมาก

ในการแข่งขันวีลแชร์บาสเก็ตบอลชิงแชมป์เอเชีย โอเชียเนีย คัดเลือกพาราลิมปิก โตเกียว 2020 ซึ่งจัดขึ้นที่พัทยา เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นักกีฬาวีลแชร์บาสเก็ตหญิงทีมชาติกัมพูชาทำผลงานได้ค่อนข้างดี แม้จะไปไม่ถึงการคว้าโควตาพาราลิมปิก แต่พวกเธอพิสูจน์ความสามารถให้เห็นแล้วว่านักกีฬาผู้พิการชาวกัมพูชามีดีกว่าที่หลายคนคิด

Tom Ton นักกีฬาหญิงทีมชาติกัมพูชาเล่าถึงความเป็นอยู่ของผู้พิการในกัมพูชาว่าค่อนข้างลำบาก อาจไม่หนักหนาอย่างอดีต แต่ขึ้นชื่อว่าประเทศกำลังพัฒนาแล้วระบบสาธารณูปโภคสำหรับผู้พิการย่อมไม่เพียบพร้อม แต่ที่ซ้ำเติมสถานการณ์ยิ่งกว่าคือทัศนคติของผู้คน

“ที่กัมพูชาก็มีทั้งคนที่ไม่อะไรกับคนพิการ และพวกที่ไม่ชอบคนพิการ พวกไม่ชอบบางคนถึงขนาดไม่ยอมให้คนพิการขึ้นรถคันเดียวกับเขา พวกเขาดูถูก มองพวกเราเหมือนชนชั้นล่าง ทำเหมือนเราเป็นสัตว์ประหลาด บางทีเราก็โมโหถามเขาว่าไม่เคยเห็นคนพิการหรือไง มองอยู่นั่นแหละ แต่เดี๋ยวนี้ก็ดีขึ้นหน่อยแล้วเพราะรัฐบาลมีนโยบายให้เปลี่ยนแปลงมุมมองต่อคนพิการ อย่ารังเกียจพวกเรา พวกห้องน้ำสำหรับคนพิการก็เริ่มมีมากขึ้นแล้ว”

จากความพิการที่เกิดจากโดนงูกัดเมื่อ 8 ปีก่อนแล้วไม่ได้รักษาอย่างถูกวิธีทำให้ขาของ Tom Ton พิการจนต้องตัดขา กระทั่งได้มาเจอ Sinet An โค้ชคนแรกของเธอซึ่งทุกวันนี้ก็ยังอยู่ร่วมทีมกันในฐานะโค้ชและกัปตันทีมชาติกัมพูชา จากเล่นไม่เป็นและกลัวมาก โค้ชรับปากว่าจะสอนให้เป็นและเล่นเก่ง

79963669_2700945119964283_2812790974256775168_o

“ตอนนั้นกลัวจนมือเท้าสั่น แต่โค้ชบอกว่าทุกคนเข้ามาไม่มีใครเป็นทั้งนั้นแหละ แต่พอเราได้ลองฝึกสองสัปดาห์ก็เริ่มเล่นได้ โค้ชบอกว่าตอนที่เห็นเราว่าเป็นคนพิการเหมือนกันก็สงสาร เลยอยากให้กำลังใจ อยากให้มาเล่นด้วยกัน เพราะรู้ว่ากีฬานี้จะช่วยสร้างโอกาสให้คนพิการได้”

ทันทีที่ได้รับโอกาส นักกีฬาทุกคนในทีมต่างตั้งใจฝึกฝน หนึ่งคือเพื่อผลักดันตัวเองให้เป็นนักกีฬาอาชีพได้ สองคือเพื่อลบคำสบประมาทจากคนที่เคยดูถูกดูแคลนพวกเธอไว้ หลังจากที่ทีมชาติกัมพูชาเดินทางมาไกลถึงการแข่งขันระดับนานาชาติได้ เมื่อหันหลังกลับไปยังบ้านเกิด สิ่งที่พวกเธอเห็นคือการยอมรับมากขึ้น และแน่นอนว่าจากฐานะทางการเงินไม่ดีปัจจุบันเธอคือกำลังหลักที่หารายได้จุนเจือครอบครัว

“เราเล่นมากับทีมชาติ 2 ปีแล้ว เมื่อก่อนพูดตรงๆ คือไม่มีเงินใช้ เราทำอะไรไม่ได้เลย ตอนนั้นเราต้องให้คนแก่ในบ้านหาเงิน ก็คิดนะว่าเรายังอายุแค่นี้แต่ทำไมเราหาเงินให้ครอบครัวไม่ได้ จนเราได้มาเข้าทีมก็มีเบี้ยเลี้ยง มีเงินเดือน ได้ส่งให้คนที่บ้านใช้จ่าย เราได้เงินเดือนละประมาณ 200 ดอลล่าร์สหรัฐ ในกัมพูชาถือว่าเยอะมากเลยนะคะ”

80539358_2700944793297649_3014354815955238912_o

79143753_2700944596631002_5199983885282181120_o

 

  • เบื้องหลังพลังติดล้อ

กีฬาวีลแชร์บาสเก็ตบอลก็เหมือนกีฬาอื่นๆ ที่ต้องฝึกซ้อมและแข่งขัน สำหรับคนที่ไม่เคยดูการแข่งกีฬานี้อาจเข้าใจว่าต้องเหมือนบาสเก็ตบอลแน่นอน แต่ด้วยความที่นักกีฬาต้องใช้รถวีลแชร์การเลี้ยงบอล แย่งบอล ยิงประตู หรือแม้แต่การปะทะ จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคมากมาย หากตั้งใจดูจะเห็นกลยุทธ์และทักษะความสามารถพิเศษที่คนธรรมดาทำไม่ได้

ซึ่งเบื้องหลังของทีมบาสเก็ตบอลติดล้อย่อมต้องมีโค้ชหรือผู้ฝึกสอน ซึ่งแต่ละทีมก็มีโค้ชทั้งที่เป็นผู้พิการและเป็นคนปกติ แต่กับทีมชาติอัฟกานิสถาน Abbas Aghakouchaki แม้จะเป็นคนปกติ แต่เขาเข้าใจลูกทีมที่สภาพร่างกายแตกต่างกัน จากประสบการณ์การคุมทีมมาอย่างโชกโชนทั้งทีมบาสคนปกติและทีมวีลแชร์ฯ อาทิ คุมทีมอิหร่าน ทีมไทย ซึ่งแต่ละทีมมีพัฒนาการดีขึ้นแบบก้าวกระโดด จนมาถึงได้รับเทียบเชิญให้ทำทีมอัฟกานิสถาน

“กีฬาวีลแชร์บาสเก็ตบอลในประเทศตะวันตกค่อนข้างมีศักยภาพดีกว่า แต่ผมมีความฝันว่าอยากทำทีมวีลแชร์ฯในเอเชียทุกทีมขึ้นไปได้ถึงระดับเดียวกับประเทศตะวันตก อยากให้คนเห็นว่านี่เป็นกีฬาที่มีศักยภาพ ผมจึงมีอินเนอร์กับประเทศแถบเอเชียอย่างมาก

ผมเคยทำทั้งทีมคนปกติและทีมวีลแชร์ฯ มีความแตกต่างกันมาก อย่างเรื่องความรู้สึก ทีมวีลแชร์ฯมักจะมีคนที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกค่อนข้างมาก จะต่อว่าแรงๆ ไม่ได้ ถ้าเป็นทีมปกติก็อาจพูดได้เต็มที่ ส่วนเรื่องทักษะส่วนมากก็คล้ายกัน เพียงแต่เลี้ยงบาสกับพื้นไม่ได้ ผมจึงนำความรู้มาประยุกต์ใช้ทำให้ทีมที่ไม่เก่งกลายเป็นทีมที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้”

79314725_2700944533297675_7374871417495486464_o

ถึงจะสร้างทีมวีลแชร์บาสเก็ตบอลที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้ แต่ในแง่อาชีพโค้ช การทำทีมบาสปกติอาจดีมากกว่าทั้งรายได้และชื่อเสียง ทว่า โค้ชทีมอัฟกานิสถานคนนี้เลือกที่จะทำทีมวีลแชร์ฯต่อไป เพราะความสำเร็จที่เคยได้จากทีมบาสปกตินั้นเพียงพอแล้ว นี่เป็นช่วงเวลาทำเพื่อคนอื่น

“ตั้งแต่ผมมาทำทีมวีลแชร์ฯ ผมได้รับความสุขทางใจ ผมอยากทำอะไรดีๆ ก่อนที่จะตาย ถ้ามีคนเอาเงินล้านมาให้ผม เทียบกับได้เห็นลูกทีมวีลแชร์ยิ้มหรือร้องไห้ไปด้วยกัน มันแลกกับเงินไม่ได้ ผมจึงไม่ได้สนใจแล้วว่าจะได้เงินเท่าไร แต่ผมสนใจว่าผมได้ทำอะไรให้สังคม และผมได้มีความสุขไหม ผมให้คุณค่ากับหัวใจของผมมากกว่า

วันที่ผมต้องย้ายไปคุมอีกทีมหนึ่ง ทุกคนในทีมเก่าร้องไห้ ผมปลื้มใจนะที่ทุกคนเห็นผมเป็นเสมือนพี่ชาย เสมือนพ่อ เสมือนครอบครัวของเขา นั่นคือสิ่งที่มีค่าที่สุดแล้ว”

ในทัวร์นาเมนท์ล่าสุด แม้ทีมชาติอัฟกานิสถานจะยังไม่ได้ตั๋วไปพาราลิมปิกที่โตเกียว แต่ทั้งนักกีฬา โค้ช และทีมงาน ยังเดินหน้าฝึกซ้อมเพื่อสร้างทีมที่แข็งแกร่งต่อไป อย่างน้อยสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือโอกาสของผู้พิการที่จะได้มีชีวิตใหม่ ได้ประกาศให้โลกรู้ว่าพวกเขามีความสามารถ ไม่แตกต่างจากคนปกติ บางทีเขาอาจมีสิ่งที่แข็งแรงยิ่งกว่า ที่เรียกว่า...หัวใจ

  “สำหรับคนที่พิการ ต่อไปคุณไม่ต้องรู้สึกว่าไร้ค่าหรือไม่มีความสามารถ เพราะแท้จริงแล้วคุณทำอะไรได้มากกว่านั้น กีฬาวีลแชร์บาสเก็ตบอลก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้คุณเปล่งประกายได้ เราไม่ได้เป็นภาระของครอบครัวหรือรอให้คนมาช่วยเหลืออย่างเดียว เราจะเห็นได้ว่ามีผู้พิการมากมายเลยที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ทำหน้าที่ได้ดีกว่าคนปกติอีก ไม่ใช่ทุกคนที่พิการแล้วชีวิตจะจบลง” Shahpoor ลูกทีมของ Abbas กล่าว

79383252_2700944193297709_6901054980497604608_o

79425867_2700944756630986_6916961512137424896_o

79453063_2700944409964354_3074838808865275904_o

80071327_2700944359964359_9171878677510619136_o