ก้าวที่กล้า...'โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม'

ก้าวที่กล้า...'โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม'

ความพยายามลดน้ำตาลเพื่อสุขภาพเด็กไทย ต้องไปไกลกว่านโยบายงดจำหน่ายน้ำอัดลมภายในโรงเรียน

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีข่าวเล็กๆ แต่น่าสนใจอย่างยิ่งโดยเฉพาะคนในแวดวงการศึกษาและสาธารณสุข เมื่อกรุงเทพมหานครประกาศให้ทุกโรงเรียนในสังกัด กทม. งดจำหน่ายน้ำอัดลมภายในโรงเรียน

ถือเป็นก้าวสำคัญมากและน่ายกย่องผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่กล้าประกาศนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นความพยายามมานานพอสมควรของหลายองค์กรที่จะทำให้ ‘โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม’ แต่ดูเหมือนมีอะไรบางอย่างบังตา ทำให้ความพยายามนั้น ไปไม่ถึงไหน

รถตู้, พื้นยางอาคารพละ, หลังคาโรงอาหาร, เครื่องคอมพิวเตอร์ 20 ตัว พร้อมไวไฟกำลังสูงทั่วโรงเรียน ฯลฯ เหล่านี้คือตัวอย่างสิ่งของที่ได้มาเมื่อแลกกับการมีตู้แช่น้ำอัดลม หรือร้านขายน้ำอัดลมพ่วงด้วยไอศครีมในโรงเรียนด้วยสัญญา 3 ปี หรือ 5 ปี แล้วแต่จะตกลงกัน

ข้อเสนอเหล่านี้ ยากจะปฏิเสธสำหรับโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่าง ‘จำกัด’ จากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งหลักๆ มาจากงบประมาณตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะค่าจัดการเรียนการสอน ถ้าระดับประถมศึกษาจะได้คนละ 1,900 บาทต่อปี (ถ้าโรงเรียนขนาดเล็กต่ำกว่า 120 คนจะได้เพิ่มอีกคนละ 500 บาท) เท่านั้นเอง

ถ้าอยากได้รถไว้ใช้ เพื่อจะได้ไปทำธุระที่ไหนหรือบรรทุกนักเรียนไปทำกิจกรรมได้สะดวก หากผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ขอบริจาคจากศิษย์เก่าหรือผู้ปกครอง ก็ต้องพึ่งหลวงพ่อ ขอผ้าป่าซักกองมาทำทุนซื้อรถ แต่ง่ายที่สุดเพื่อให้ได้มา คือการรับข้อเสนอของผู้ขายสินค้าต่างๆ โดยแลกกับสิ่งที่โรงเรียนอยากจะได้

แต่ก็นั่นแหละ ไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะมีคนเอารถมาเสนอ หากโรงเรียนไหนมีนักเรียนต่ำกว่าร้อย ก็คงต้องให้นักเรียนนั่งกระบะท้ายรถของผอ.เหมือนเดิม โรงเรียนที่มีนักเรียนระดับ 800 คนขึ้น ถึงจะเป็นโรงเรียนเป้าหมาย เพราะกำลังซื้อสูง คุ้มที่จะลงทุนมากกว่า

เมื่อผู้ใหญ่ยกเอาความจำเป็นต้องใช้ หรือ ‘ต้องมี’ มาเป็นเหตุผลในการตัดสินใจ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนจึงถูกมองข้าม ความหวังที่ใครต่อใครมองว่า นอกจากจะให้ความรู้วิชาการและเพิ่มทักษะการใช้ชีวิตแล้ว โรงเรียนต้องสร้างเสริมสุขภาพเด็กได้ด้วย แต่เมื่อมีการอนุญาตให้ขายน้ำอัดลมในโรงเรียน ก็ได้สร้างพฤติกรรมการบริโภคแบบผิดๆ ขึ้นมาทันที ผลที่ตามมาคือสุขภาพฟันของนักเรียน

ข้อมูลการสำรวจระดับประเทศของกรมอนามัย พบว่า เด็กไทยอายุ 5 ปี เป็นโรคฟันผุร้อยละ 80.64 ไม่แปลกที่มีข่าวเมื่อสองสัปดาห์ก่อน เมื่อทันตแพทย์ที่จังหวัดภูเก็ตต้องถอนฟันน้ำนมของเด็กอายุ 4 ขวบคนหนึ่งหมดปากทั้ง 20 ซี่ เด็กต้องทรมานจากการปวดฟัน และเจ็บปวดยิ่งขึ้นเมื่อโดนฉีดยาชาถึง 14 เข็ม เย็บอีก 18 เข็ม สาเหตุเพราะผู้ปกครองปล่อยลูกไว้กับสถานรับเลี้ยงเด็ก แล้วกินตามใจปาก โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวและน้ำอัดลม จนฟันผุในที่สุด

ผลการสำรวจระดับชาติของกรมอนามัย ยังระบุด้วยว่าด็กอายุ 12 ปี ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน ร้อยละ 11.65 และดื่มเพิ่มมากเป็น 2 เท่า คือร้อยละ 22.76 ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15 ปี และจากข้อมูลการสำรวจ กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ปี 2558 ปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยที่เด็กได้รับจากเครื่องดื่ม คือนมหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มอื่นๆ คิดเป็น 6.96 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลสูงสุดร้อยละ 10 -14

เราทราบกันดีว่าน้ำอัดลมเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ไม่มีสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์กับร่างกาย การที่มีน้ำตาลมากถึง 8-12 ช้อนชา เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กอ้วน นอกจากนี้ยังมีสารปรุงแต่งที่เรียกว่าหัวน้ำเชื้อที่ให้กลิ่น สี และกรดบางชนิด ที่ส่งผลให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกหักง่ายด้วย

การตระหนักถึงพิษภัยต่อเด็กนี้ มีในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาห้ามขายน้ำอัดลมในโรงเรียนทุกแห่ง ที่คอนเนคติกัต สภาแห่งรัฐลงมติด้วยคะแนนเสียง 76 ต่อ 71 สนับสนุนร่างกฎหมายห้ามจำหน่ายน้ำอัดลมในโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีอีก 38 รัฐ กำลังดำเนินการผ่านร่างกฎหมายนี้เช่นกัน

ที่สิงคโปร์ มีนโยบายห้ามขายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 8 กรัม แคนาดามีการระบุปัญหาเด็กอ้วนที่มาจากการดื่มน้ำอัดลม ส่วนไทยก็เคลื่อนไหวล่าสุดโดยกรุงเทพมหานคร

ดังนั้นจึงเชื่อว่า นโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมจะส่งผลในการคุ้มครองสุขภาพเด็กและลดการบริโภคน้ำตาลได้มาก เพราะเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียน อย่างการศึกษาของ ผศ.สุภาวดี พรหมมา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช พบว่า เด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่ขายน้ำอัดลมมีการดื่มน้ำอัดลมบ่อยกว่าโรงเรียนที่ปลอดน้ำอัดลมถึง 7.3 เท่าทีเดียว

ดังนั้นเพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปกป้องสุขภาพเด็กอย่างแท้จริง ขั้นตอนที่ควรทำคือการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพสำหรับเด็ก แม้ว่าน้ำอัดลมจะยังคงมีการจำหน่ายอยู่ทั่วไป แต่การกำจัดออกไปจากโรงเรียนเป็นเรื่องจำเป็นและมีความหมาย โรงเรียนจำเป็นต้องมีมาตรการบังคับเพื่อเอาสิ่งไม่ดีต่อสุขภาพออกไปจากโรงเรียน

หลายคนอาจแย้งว่าเมื่อเด็กกลับไปถึงบ้าน พ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ตามใจเด็กอยู่ดี เรื่องแบบนี้ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านไม่ตระหนักรับรู้ ก็คงเหมือนกับเด็กที่ต้องถอนฟันน้ำนมหมดปากนั่นแหละ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าถ้าโรงเรียนมีการจัดสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เด็กได้เห็น ได้ซื้อ ได้กินสิ่งที่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพของเขา ประสบการณ์การบริโภคที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจะส่งผ่านสู่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว ทุกคนก็จะได้ความรู้ไปด้วย

การไม่ขายน้ำอัดลมในโรงเรียนยังสะเทือนไปถึงตู้เย็นในบ้านของเด็กๆ ด้วย ไม่เชื่อลองดู!